Posted: 31 Oct 2016 04:00 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
ประยุทธ์นั่งหัวโต๊ะ นบข. เคาะมาตรการผลักดันราคาข้าวเปลือกหอมมะลิฤดูการผลิตปี 59/60 ผ่านโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีของ ธ.ก.ส. โดยปล่อยสินเชื่อให้สัดส่วนร้อยละ 90 ของราคาตลาด ชงเข้า ครม.พิจารณาพรุ่งนี้
31 ต.ค. 2559 เมื่อเวลา 09.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว ครั้งที่ 6/2559 โดยมี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม
เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล รายงานกรณีนายกรัฐมนตรีกล่าวเปิดการประชุมซึ่งสรุปสาระสำคัญว่า ขอขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ตั้งใจแก้ไขปัญหาราคาข้าวตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิที่มีปัญหาราคาตกต่ำ ทั้งนี้ปัญหาเกิดจาก 2 ประเด็นคือการปรับโครงสร้างการเกษตรที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ทั้งหมด 100% และอีกประเด็นคือการเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่มีนักการเมืองร่วมมือกับโรงสีบางพื้นที่ กำหนดราคาข้าวให้ต่ำลง ทำให้เกิดความเดือดร้อนกับกลุ่มเกษตรกร ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจทั้งระบบ ซึ่งการประชุมในวันนี้จะกำหนดมาตรการการช่วยเหลือและการดูแลในข้อกฎหมายเพื่อทำให้เกิดความรัดกุม โดยต้องได้ข้อสรุปโดยเร็วที่สุดเพื่อให้นำไปปฏิบัติได้ในวันพรุ่งนี้ และยืนยันว่าเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกร แม้รัฐบาลจะต้องขาดทุนก็ต้องดำเนินการ
ภายหลังการประชุม อภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้แถลงผลการประชุม สรุปสาระสำคัญว่า จากสถานการณ์ข้าวโลกในปัจจุบันได้ส่งผลต่อปัญหาข้าวของไทยในปัจจุบันด้วย เพราะผลผลิตข้าวของโลกเพิ่มขึ้น 2.4% ในขณะที่แนวโน้มการบริโภคของคนทั่วไปได้ลดการบริโภคอาหารประเภทแป้ง ซึ่งรวมถึงข้าวลงด้วย ดังนั้น จึงทำให้การบริโภคข้าวของโลกลดลง 1.5% ขณะที่ข้าวในสต็อกโลกมีเพิ่มขึ้นประมาณ 4.3% จึงมีผลให้กดดันราคาข้าวของไทยรวมถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา เวียดนาม อินเดีย ที่ก็ประสบปัญหาเดียวกัน ฉะนั้นรัฐบาลจึงต้องหามาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ทั้งนี้ จากสภาพภูมิอากาศปีนี้ที่มีปริมาณฝนดี ทำให้เริ่มมีผลผลิตข้าวออกมาในเดือนตุลาคมประมาณ 10% และจะออกมามากในเดือนพฤศจิกายน 80% แล้วส่วนที่เหลือจะออกมาในเดือนธันวาคมอีก 5-10% แต่ในช่วงที่ข้าวเริ่มออกนี้ได้มีฝนตก ชาวนาจึงเร่งเกี่ยวข้าวหนีน้ำ ทำให้ข้าวที่ออกในช่วงแรกมีความชื้นสูงมากกว่า 30% ซึ่งเกินจากค่าความชื้นมาตรฐานที่ 15% ดังนั้นจึงได้ผลผลิตข้าวที่ยังไม่สุกเต็มที่หรือที่เรียกว่าข้าวเขียวออกมา ทำให้ราคาข้าวไม่ได้อย่างที่ควรจะเป็น ประกอบกับสภาพภูมิอากาศช่วงปี 2558 ถึงต้นปี 2559 ที่แล้งจัดปลูกข้าวไม่ได้ ดินจึงได้พัก ทำให้ผลผลิตข้าวในปีนี้ออกมาเป็นจำนวนมากถึง 10 ล้านตัน ที่ประชุม นบข. วันนี้จึงได้พิจารณาปัญหาทั้งหมดเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร กำหนดเป็นโครงการต่อเนื่องจากปีที่แล้ว โดย นบข. ได้เห็นชอบมาตรการช่วยผลักดันราคาข้าวเปลือกหอมมะลิฤดูการผลิตปี 2559/2560 ผ่านโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อให้ ธ.ก.ส. ปล่อยสินเชื่อให้กับเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน โดยเป็นการปล่อยสินเชื่อให้สัดส่วนร้อยละ 90 ของราคาตลาด ปัจจุบันที่ราคา 9,700 บาทต่อตัน ทำให้เกษตรกรได้รับสินเชื่อ 8,730 บาทต่อตัน และหากโครงการนี้ได้ผลดี ก็อาจจะปรับราคาที่คำนวณสินเชื่อให้เพิ่มขึ้นได้
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า นอกจากนี้ จะมีค่าช่วยเหลือในการเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวหอมมะลิเพื่อให้มีความชื้น 15% อีกไร่ละ 500 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ เป็นเงินประมาณ 1,295 บาทต่อตัน และจะมีค่าเก็บรักษาข้าวเปลือกในยุ้งฉางของเกษตรกรที่เข้าโครงการ อีก 1,500 บาทต่อตันโดยจะจ่ายทันที 1,000 บาทต่อตัน และอีก 500 บาทจะจ่ายให้เมื่อไถ่ถอน เพราะฉะนั้นเมื่อรวมทั้งหมดแล้ว ชาวนาจะได้รับเงิน 11,525 บาทต่อตัน ซึ่งเป็นอัตราสำหรับผู้ที่มียุ้งฉาง มีเป้าหมายช่วยเหลือ 2 ล้านตัน ส่วนชาวนาที่ไม่มียุ้งฉางก็จะได้รับความช่วยเหลือเช่นเดียวกับผู้ที่มียุ้งฉาง แต่จะหักค่ารักษาข้าวในยุ้งฉางออก 1,500 บาท ดังนั้น ชาวนาที่ไม่มียุ้งฉางเมื่อนำข้าวไปขาย ก็จะได้ราคา 10,995 บาท หากขายข้าวที่ราคาตลาด 9,700 บาท ก็จะได้เงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพอีกไร่ละ 1,295 บาทเช่นกัน โดย ธ.ก.ส. สามารถดำเนินโครงการได้ทันที
“ส่วนราคาข้าวเปลือกเจ้าขณะนี้ราคายังไม่ออกมา โดยปกติแล้วเมื่อดึงราคาข้าวหอมมะลิได้ ราคาข้าวเปลือกก็จะตามขึ้นมา ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะมีมาตรการเสริมออกมา ซึ่งที่สำคัญโรงสีก็จะมีการควบคุมกำหนดโรงสีด้วยกันไม่ให้มีการกดราคารับซื้อ โดยคณะกรรมการกำกับราคาของกระทรวงพาณิชย์จะกำหนดให้โรงสีที่รับซื้อต้องปิดป้ายราคาที่รับซื้อให้สามารถตรวจสอบได้ รวมทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะต้องจัดเครื่องมือวัดความชื้น เพื่อเป็นการยืนยันกับโรงสีไม่ให้เกิดการเอาเปรียบระหว่างกัน ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์จะออกตรวจสต็อกของผู้ส่งออกทุกรายอย่างเข้มงวด ซึ่งตามกฎหมายแล้วผู้ส่งออกจะต้องมีสต็อกอยู่ 500 ตัน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ระหว่างวันที่ 13-15 พฤศจิกายนนี้ กระทรวงพาณิชย์จะนำผู้นำเข้าข้าวจาก 15 ประเทศทั้งรายเดิมและรายใหม่ รวมทั้งผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับข้าว ทั้งเครื่องสำอาง ขนมขบเคี้ยว อาหารและอาหารเสริมจากข้าว มาพบกับผู้ค้าข้าวของไทยทั้งเกษตรกร กลุ่มสหกรณ์ โรงสี และผู้ส่งออกข้าว โดยคาดว่าจะสามารถมีการซื้อขายข้าว ระบายข้าวออกจากประเทศได้ ขณะเดียวกันกระทรวงพาณิชย์ก็กำลังจะได้รับคำสั่งซื้อข้าวใหม่เข้ามา ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนการเจรจา รวมทั้งกระทรวงพาณิชย์ได้เดินสายไปพบปะกับต่างประเทศ เพื่อเจรจาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือ G to G ซึ่งทางประเทศอิหร่านได้ส่งผู้ตรวจสอบข้าวเข้ามาตรวจสอบข้าวของไทยแล้ว โดยอิหร่านเคยสั่งซื้อข้าวจากไทย 7 แสนตัน ดังนั้น จึงจะได้เชิญอิหร่านเข้ามาเจรจาซื้อขายข้าวกับไทยด้วย นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างการนำเสนอขอจัดตั้งสถาบันนวัตกรรมเกษตร โดยหากดำเนินการได้สำเร็จ จะสามารถนำกลุ่มนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่คิดค้นนวัตกรรมด้านข้าว หรือสินค้าเกษตรอื่น ๆ ให้เป็นสินค้าอาหารที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ทั้งอาหารเสริม วิตามิน หรือส่วนประกอบของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งหากประเทศไทยสามารถมีนวัตกรรมขั้นสูงของข้าวได้ ก็จะช่วยเพิ่มมูลค่าของข้าวได้อีกมากและจะช่วยทำให้สินค้าเกษตรของไทยมีอนาคตไปได้อีกไกล
ขณะที่ สุพัฒน์ เอี่ยวฉาย รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ธ.ก.ส. ได้เตรียมวงเงินรองรับโครงการสินเชื่อชะลอการขาย 27,300 ล้านบาท เพื่อรองรับเกษตรกรภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งเงินค่าปรับปรุงคุณภาพข้าวหรือตากข้าวอีก 8,600 ล้านบาท โดยจะเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในวันพรุ่งนี้ (1 พ.ย.59 รวมทั้ง ธ.ก.ส. ยังมีแนวทางช่วยเหลือระยะสั้นผ่านโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร โดย ธ.ก.ส.จะให้สินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร เพื่อนำไปซื้อข้าวจากสมาชิกเพื่อจำหน่ายหรือแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า สถาบันเกษตรกรจะรับภาระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 1 กำหนดเป้าหมายช่วยเหลือ 2.5 ล้านตัน
ด้าน อนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ทำแผนข้าวครบวงจร โดยวันนี้จะเห็นว่ากำลังการผลิตข้าวของไทยมีมากกว่าที่ตลาดต้องการ กระทรวงเกษตรฯ จึงได้พยายามปรับลดพื้นที่การปลูกข้าวลง โดยใช้ Agri Map และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของนาแปลงใหญ่ ซึ่งที่ประชุม นบข. วันนี้ได้มีมติอนุมัติเพิ่มจำนวนพื้นที่และเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวไปปลูกพืชที่หลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2560 โดยให้ขยายพื้นที่เป้าหมายเพิ่มเติมจาก 300,000 ไร่ เป็น 323,000 ไร่ และให้ขยายจำนวนเป้าหมายเกษตรกรเพิ่มเติมจาก 60,000 รายเป็น 66,800 ครัวเรือน ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำลังจะปรับระบบในระยะยาวเพื่อให้สภาพการผลิตกับการตลาดมีความสอดคล้องกัน
แสดงความคิดเห็น