Posted: 31 Oct 2016 10:51 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
เผยคนไม่พิการร้อยละ 34 หลีกเลี่ยงที่จะพูดคุยกับคนพิการเพราะไม่เข้าใจ ด้านเว็บไซต์สโคปแนะให้ปฏิบัติตัวต่อคนพิการอย่าง ‘ปกติ’ โดยไม่ต้องยกให้สูงหรือสงสาร-เห็นใจ
1 พ.ย. 2559 เว็บไซต์ดิอินดิเพนเดนท์รายงาน ผลสำรวจจากเว็บไซต์สโคป (Scope) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่ทำงานเกี่ยวกับคนพิการ ระบุว่าคนทั่วไปที่ไม่พิการ จากหลากหลายช่วงอายุในอังกฤษร้อยละ 34 หลีกเลี่ยงที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับคนพิการ
ตลอดเวลาที่ผ่านมา คนพิการมักถูกนำเสนอออกมาในภาพของยอดมนุษย์ อย่างนักกีฬาพาราลิมปิก ผู้ซึ่งทำให้คนต้องหลั่งน้ำตากับเรื่องราวที่เป็นเหมือนแรงบันดาลใจ หรือนำเสนอในภาพของลูกแกะตัวน้อยที่น่าสงสาร หรือไม่ก็กลายเป็นคนที่ได้เปรียบผู้อื่นเสมอด้วยการได้รับสิทธิพิเศษ
เจมส์ มัวร์ ผู้เขียนรายงานเรื่องนี้ในดิอินดิเพนเดนท์ตั้งคำถามว่า จะมีนักกีฬาพาราลิมปิกสักกี่คนที่ใช้ชีวิตอย่างปกติกับครอบครัวทันทีหลังจากกลับจากการแข่งขันกีฬาที่ริโอเดอจาเนโร ประเทศบราซิล เพราะโดยทั่วไปแล้วพวกเขามักได้รับการยกยอให้สูงกว่าปกติ ดังเช่นที่ถูกเรียกว่า ยอดมนุษย์พาราลิมปิกแห่งสหราชอาณาจักร
สโคป ได้เปิดเผยผลงานวิจัยซึ่งทำต่อเนื่องมาเป็นปีที่สาม อย่างแคมเปญรณรงค์ “ยุติความอึดอัด” (End the Awkward) โดยพบว่าสองในห้าของผู้พิการอายุระหว่าง 18-34 ปี นั้นปิดบังความบกพร่องของตนเอง เพราะต้องการหลีกเลี่ยงทัศนคติที่คนอื่นมองว่า น่าสงสารและถูกผูกติดอยู่กับความยุ่งยาก
คนไม่พิการร้อยละ 34 กล่าวว่า พวกเขาเลือกที่จะหลีกเลี่ยงการมีปฏิสัมพันธ์กับคนพิการ พนักงานบริการหลายคนเลือกที่จะไม่บริการคนพิการด้วยเหตุผลที่ว่า เขาไม่สามารถเข้าใจคนพิการได้
นอกจากนี้ เหตุผลของผู้ตอบแบบสอบถามยังมีมากมายหลากหลาย บ้างก็ว่าพวกเขามักเผลอบอกให้เพื่อนที่พิการทางการได้ยินรับโทรศัพท์ บ้างก็กลัวว่าจะคุยกับคนพิการด้วยความสงสาร อีกทั้งกลัวว่าจะทำให้คนพิการน้อยใจและละเมิดสิทธิส่วนบุคคลจากคำถามที่ไม่ระมัดระวัง
“ถ้าพวกเขาเหล่านั้นได้เห็นผม คุยกับเพื่อนนักกีฬาบาสเกตบอลพิการ พวกเขาน่าจะเปลี่ยนความคิดได้ เพราะสุดท้ายแล้วคนพิการก็เพียงแต่ต้องการการพูดคุยที่ปกติเหมือนคนทั่วไปเท่านั้น” เจมส์ มัวร์ ผู้เขียนกล่าว
เขาเล่าว่า บ่อยครั้งเมื่อไปสระว่ายน้ำชุมชน เขามักได้ยินการพูดถึงช่องว่ายน้ำ ‘พิเศษ’ ซึ่งเป็นช่องว่ายช้าสำหรับผู้สูงอายุและคนพิการ คนแก่และคนพิการมักถูกแนะนำให้ใช้ช่องนี้เมื่อต้องการว่ายน้ำ แต่ปัญหาก็เกิดขึ้นเมื่อคนพิการไม่ได้ว่ายอยู่ในช่องพิเศษนั้น และดันว่ายชนเข้ากับชายอีกคนที่ว่ายช้ากว่า นั่นก็อาจเป็นข้อพิสูจน์ว่า แท้จริงแล้วชายคนนั้นควรจะไปอยู่ในช่องพิเศษแทนหรือไม่ หรือไม่ควรมีช่องพิเศษตั้งแต่แรก โดยเขาหวังว่า การเลี่ยงที่จะพูดคุยหรือการปฏิบัติที่แตกต่างออกไปนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก อย่างไรก็ดี ยังเป็นเรื่องยากสำหรับคนไม่พิการที่จะมองคนพิการอย่างคน ‘ธรรมดา’ ตราบใดที่ชุดความคิดของสังคมในวงกว้าง และทัศนคติเชิงวัฒนธรรมยังหล่อหลอมให้เชื่อแบบนั้น
เขาเสนอว่า การทำให้ชุดความคิดเหล่านี้หายไป ต้องเริ่มจากทำให้คนพิการกล้าแสดงความพิการของตัวเอง ไม่ต้องปกปิดและแอบซ่อนตัวเองอยู่ในบ้าน รวมทั้งคนไม่พิการเองก็ควรที่จะปฏิบัติต่อคนพิการอย่าง ‘ปกติ’ และพยายามดึงคนพิการกลับสู่ความเป็นปกติ นอกจากนี้ต้องเพิ่มบทบาทของคนพิการในสื่อชนิดต่างๆ หรือในแวดวงอื่น นอกเหนือจากเรื่องพาราลิมปิก ซึ่งจะทำให้ตัวคนพิการเองเกิดความมั่นใจและสบายใจมากขึ้นที่จะใช้ชีวิตโดยไม่รู้สึกเคอะเขินและแปลกแยก
ทั้งนี้เว็บไซต์สโคปแนะนำวิธีพูดคุยกับคนพิการโดยไม่เคอะเขิน โดยส่วนหนึ่งกล่าวถึงสิ่งที่ไม่ควรทำเมื่อพูดคุยกับคนพิการ ดังเช่นคำถามที่กำลังจะกล่าวถึงนี้
“ฉันจะเรียกคุณว่าอะไรดี” เพราะคนพิการแต่ละคนมีความพิการที่แตกต่างกันเหมือนกับคนทั่วไป การค่อยๆ เรียนรู้และทำความรู้จักจะช่วยให้รู้จักคนพิการคนนั้นดีมากขึ้น แต่หากมีความจำเป็นที่จะต้องรู้จักความพิการในขณะนั้น ก็อาจถามไปว่า ‘ฉันจะกล่าวถึงความพิการของคุณได้อย่างไร’
พูดว่า “ไปเดินเล่นกันเถอะ” กับคนนั่งวีลแชร์ได้หรือไม่ แน่นอนว่ามันค่อนข้างตลก แต่ไม่ได้เป็นเรื่องร้ายแรง การพูดแบบนี้เกิดขึ้นตลอดเวลาด้วยความเคยชินและก็เป็นเรื่องหายากมากเช่นกัน ที่คนพิการจะพูดว่า “ไปปั่นวีลแชร์เล่นกันเถอะ”
“คุณกล้าหาญ สร้างแรงบันดาลใจและฉลาดมาก” หลายคนมักพูดคำเหล่านี้เมื่อเจอคนพิการเพราะมองว่า คนพิการนั้นต้องพบปัญหาและอุปสรรคมากกว่าคนไม่พิการ แต่การพูดเช่นนี้ทำให้คนพิการรู้สึกว่าตัวเองได้รับการยกยอเกินจริงอยู่ตลอดเวลา ทั้งที่จริงๆ แล้วพวกเขาก็สามารถมีชีวิตที่คล่องแคล่วได้เหมือนกับทุกคนโดยไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร รวมทั้งมีคนพิการอีกหลายคนที่อาจพูดถึงความพิการอย่างเป็นกันเอง แต่นั่นไม่ได้หมายถึงเขาอยากให้คนอื่นพูดเช่นนั้น หรือเป็นสิ่งที่ควรพูดกับคนพิการคนอื่น
นอกจากนี้ในเว็บไซต์ยังได้ทำไกด์ไลน์สำหรับเพื่อนร่วมงานที่ทำงานกับคนพิการ เช่น
‘การแสดงออกที่เกินจริง’ คนทุกคนชอบที่จะได้รับการต้อนรับที่ดีเมื่อเข้าทำงาน แต่ไม่มีความจำเป็นต้องทำตัวเฟรนลี่เกินเหตุเมื่อพบเจอคนพิการ ควรปฏิบัติกับคนพิการเหมือนเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ
‘พูดคุยไม่ถูกคน’ พูดคุยกับคนพิการโดยตรง แทนที่จะพูดกับเพื่อนร่วมงานคนอื่นหรือล่าม
‘เมื่อมีคำถาม’ ค่อยๆ เรียนรู้คำตอบเหล่านั้นไปขณะทำงาน เพราะบางคำถามอาจทำให้คนพิการอึดอัดใจที่จะตอบต่อหน้าคนอื่นในที่ทำงาน
‘สังสรรค์’ ต้องแน่ใจว่า ได้ชวนเพื่อนร่วมงานที่พิการ รวมทั้งสถานที่ที่ชวนไปจะต้องเข้าถึงได้สำหรับพวกเขาด้วย
‘ปัญหาการสื่อสาร’ หลายคนมีปัญหาการสื่อสารกับคนพิการ ซึ่งนั่นเป็นเรื่องปกติ คนไม่พิการสามารถถามย้ำในเรื่องที่ตนเองไม่เข้าใจ รวมทั้งอาจหาวิธีอื่นในการพูดคุยเช่น เขียนบนกระดาษแทน และไม่ควรแกล้งทำเป็นเข้าใจหากมีเรื่องที่ไม่ได้เข้าใจจริงๆ
‘สิ่งอำนวยความสะดวก’ วิดีโอต่างๆจะต้องทำแคปชั่นเพื่อผู้ที่มีปัญหาทางการได้ยิน การจัดสถานที่ที่เอื้อต่อการเคลื่อนที่ของผู้ใช้วีลแชร์ รวมทั้งหากมีชั้นวางของ ก็จะต้องอยู่ในระนาบที่ผู้ใช้วีลแชร์สามารถเอื้อมถึงด้วย
แปลและเรียบเรียงจาก
Do you avoid talking to disabled people like me because it’s awkward? Here’s an idea: try harder
End the Awkward: talking about disability
End the Awkward: at work
แสดงความคิดเห็น