ลูกชาวนาตัวจริงรำพันผ่านเสียงเพลง “ทำนาแทบตาย สุดท้ายต้องขายขาดทุน”
ลูกชาวนาจาก อ.สีชมภู จ.ขอนแก่น เจ้าของเสียงเพลง “โลละ 5 บาท” เผยกับบีบีซีไทยว่าได้แต่งเพลงสะท้อนถึงความยากลำบากของชาวนาที่ต้องลงทุนปลูกข้าวในราคาแพง แต่ขายได้ไม่คุ้มทุน ระบุปัญหาของชาวนาเป็น “ปัญหาโลกแตก” แก้อย่างไรก็ยังวนเวียนกลับวังวนเดิม ชาวนายังเป็นหนี้ไม่รู้จบ
นายเกษม สีชมภู ซึ่งเผยแพร่วิดีโอเพลงดังกล่าวทางหน้าเฟซบุ๊ก และได้รับความสนใจอย่างแพร่หลาย เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่าจบการศึกษาด้านกีฏวิทยา ปัจจุบันประกอบอาชีพส่วนตัวและทำนาในที่นาของครอบครัวด้วย ในฐานะ “ลูกชาวนา” นายเกษมเห็นว่าปัญหาของชาวนาคือเรื่องของการลงทุน โดยเฉพาะชาวนาที่อยู่นอกเขตชลประทาน ที่ไม่อาจควบคุมความเสี่ยงในเรื่องน้ำได้ นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายในเรื่องการจัดการทั้งศัตรูพืช แรงงาน ค่าเมล็ดพันธุ์ และอื่นๆ
“ผมแต่งเพลงเพราะอยากสะท้อนความรู้สึกชาวบ้านว่าขายข้าวได้แค่กิโลละ 5 บาท แต่เมื่อดูต้นทุนการทำนาแล้วไม่มีทางคุ้มทุน สำหรับผมเองทำนาจำนวน 9 ไร่ ปัจจุบันยังไม่ได้เก็บเกี่ยวมีค่าใช้จ่ายแล้วไร่ละ 2,357 บาท นี่ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อย่างค่าแรงตัวเอง ค่าแรงคนอื่นที่มาช่วยทำนา ค่าเสื่อมราคาเครื่องจักร ถ้าขายข้าวอย่างข้าวเหนียวได้โลละ 8 บาท คิดที่ค่าเฉลี่ย 500 กิโลต่อไร่ ก็จะได้เงินแค่ 4,000 บาท มันไม่พอหรอกครับ”
นายเกษม กล่าวว่า ลงมือแต่งเพลง “โลละ 5 บาท” เมื่อวันที่ 29 ต.ค.2559 หลังจากได้ยินข่าวว่าราคาข้าวในปัจจุบันถูกกว่าราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เขาเชื่อด้วยว่าการที่มีผู้ระบุว่าชาวนาขายข้าวได้กิโลละ 6 บาทนั้น ในข้อเท็จจริงจะได้ต่ำกว่านั้น เพราะต้องถูกหักค่าความชื้นและสิ่งเจือปน แต่ชาวนาต้องยอมรับเพราะบางส่วนก็ไปรับเงินจากโรงสีมาล่วงหน้าแล้ว
นายเกษม กล่าวด้วยว่าการแก้ปัญหาของชาวนาเปรียบเสมือนการแก้ปัญหาโลกแตก เพราะหากมีการแนะนำให้ชาวนาขุดบ่อ แต่ไม่มีไฟฟ้าไปถึงในนา ชาวนาก็ต้องเสียเงินซื้อน้ำมัน และค่าเครื่องจักรในการขุดบ่อ ส่วนการแนะนำให้ปลูกพืชทดแทนในพื้นที่ทำนานั้น เขามีคำถามว่าจะปลูกพืชใดที่ทนทั้งน้ำและแล้ง
“ลูกชาวนา” จากขอนแก่นบอกด้วยว่าชาวนายังเป็นกลุ่มคนที่ติดหนี้ทั้งกองทุนหมู่บ้านและหนี้ ธ.ก.ส.วนเวียนไม่รู้จบ เขาแทบจะไม่เคยเห็นชาวนาคนใดจ่ายหนี้ได้หมดทั้งปี สิ่งที่เกิดขึ้นคือการนำเงินไปตัดดอก และกู้เพิ่มอีก #Rice

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.