ทำนายแนวโน้มของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ในปีหน้า

Posted: 20 Nov 2016 07:29 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

1. โดนัลด์ ทรัมป์ กับการปฏิบัติตามนโยบายในช่วงหาเสียง

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนเกลียดชังและต่อต้านนายทรัมป์กันมาก เพราะนโยบายและภาพพจน์แบบขวาสุดโต่งของเขาในช่วงหาเสียง แต่ในการเมืองสหรัฐฯ ที่เป็นระบบ 2 พรรคการเมือง และมีการแข่งขันภายในพรรค เพื่อหาตัวแทนลงสมัครตำแหน่งประธานาธิบดี ผู้สมัครจำเป็นต้องสร้างนโยบายที่โดดเด่นหรือตรงข้ามกับคนอื่น เพื่อประสบความสำเร็จ สำหรับทรัมป์ จึงต้องเสนอนโยบายที่ไม่เหมือนใครให้มากที่สุด และสอดคล้องภาพพจน์ของเขาซึ่งทั้งเสียเปรียบและได้เปรียบคู่แข่งในพรรคเดียวกันและต่างพรรคมานาน[1]

กระนั้นในโลกแห่งการเมือง นโยบายหรือภาพพจน์ในช่วงหาเสียง กับการปฏิบัติก็อาจไม่สอดคล้องกันก็ได้ เมื่อทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เขาจะต้องพบกับปัจจัยอื่น ๆ ที่เข้ามามีอิทธิพลต่อนโยบายของเขามากมาย ดังเช่น ความสัมพันธ์กับรัฐสภาซึ่งทรงอิทธิพลไม่แพ้กับฝ่ายบริหาร และสามารถมีอิทธิพลต่อนโยบายของรัฐบาลเขาได้อย่างมหาศาล ที่สำคัญพรรคของทรัมป์ คือ พรรครีพับลิกัน สามารถครองเสียงข้างมากได้ทั้ง 2 สภา อันเป็นปัจจัยสำคัญต่อการออกกฎหมาย พรรคริพับลิกันนั้นต้องคำนึงถึงการเอาใจฐานเสียงเดิมและการหาคะแนนนิยมเพิ่ม ถึงแม้ไม่ได้คำนึงถึงชนสีผิวและชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ แต่อย่างน้อยก็ต้องหันมาเอาใจฐานเสียงเดิมที่หายไปเป็นจำนวนมากช่วงทรัมป์แข่งขันคือกลุ่มคนผิวขาวที่หัวไม่สุดโต่ง อันจะเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อประโยชน์ในการเลือกตั้งครั้งหน้าไม่ว่าระดับสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกผู้แทนราษฎร ผู้ว่าการรัฐ หรือแม้แต่ตำแหน่งประธานาธิบดีในสมัยหน้า พรรคริพับลิกันจึงน่าจะพยายามเข้ามาร่วมกำหนดนโยบายของทรัมป์ให้มากที่สุด และจะทำให้ความแข็งกร้าวลดลง คือถึงแม้จะเป็นอนุรักษ์นิยมอยู่แต่ก็น่าจะอยู่ในขอบเขตที่พอรับกันได้เหมือนในยุคก่อน

เหตุการณ์นี้มีความเป็นได้อยู่มากเพราะแม้ในช่วงหาเสียง ทรัมป์กับบุคคลสำคัญในพรรคจะมีความขัดแย้งกัน แต่ก็ได้มีสัญลักษณ์เบื้องต้นแห่งการประนีประนอมกันอย่างเช่น การที่ทรัมป์แต่งตั้งให้รองประธานาธิบดี คือไมค์ เพน เป็นผู้จัดการการถ่ายโอนอำนาจในทำเนียบขาว และนาย ไรซ์ พรีบัส ประธานพรรครีพับลิกัน ได้กลายเป็นประธานคณะเจ้าหน้าที่ (Chief of Staff) ของรัฐบาลทรัมป์ นอกจากนี้กลไกอื่นที่รัฐสภาสามารถนำมาคานกับประธานาธิบดี ก็คือ การไต่สวนการกระทำความผิด (Impeachment) อันจะทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องพ้นจากตำแหน่ง หากพบว่าได้กระทำความผิดร้ายแรง เคยมีประธานาธิบดีที่ถูกนำขึ้นกระบวนการนี้ถึง 2 ท่าน (การขับออกจากตำแหน่งต้องอาศัยเสียงของสมาชิกถึง 2 ใน 3 ของทั้ง 2 สภา) คือ นายแอนดริว แจ็คสัน และนายบิล คลินตัน แต่ก็รอดมาได้ ในอนาคต นายทรัมป์ก็ต้องระวังแม้แต่พรรคการเมืองของตัวเองสามารถบีบบังคับตน หากเขากระทำผิดบางประการ และประวัติของทรัมป์ที่ผ่านมาดูมีปัญหากับเรื่องทางกฎหมายอยู่หลายเรื่อง

นอกจากนี้ยังมีสถาบันที่ 3 คือ ตุลาการ โดยเฉพาะศาลสูงซึ่งเข้ามามีบทบาทต่อนโยบายของรัฐบาลทรัมป์ได้อย่างมาก เพราะสามารถตัดสินว่านโยบายหรือกฎหมายของเขาในอนาคตสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ศาลสูงยังต้องแอบอิงกับพรรคริพับลิกันเหมือนกัน ถึงแม้ ทรัมป์จะมีอำนาจในการแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงซึ่งมีแนวคิดเหมือนเขา (ปรากฏการณ์นี้จะต้องเกิดขึ้นแน่นอนในปีหน้า ที่เขาจะเสนอชื่อผู้พิพากษาท่านหนึ่งแทนคนที่เสียชีวิตไปเมื่อต้นปี ให้ครบจำนวน 9 คนเหมือนเดิม) แต่ผู้พิพากษาต้องได้รับการยอมรับจากวุฒิสภาภายใต้อิทธิพลของพรรคริพับลิกันซึ่งอาจจะสกัดกั้นคนที่ทรัมป์หนุนหลังก็ได้

ที่สำคัญ ทรัมป์ยังต้องพบกับอำนาจของระบบราชการของสหรัฐฯ นั้นทรงอิทธิพลไม่น้อยต่อนโยบายที่ถูกกำหนดจากทำเนียบขาว อย่างเช่น การลดกำลังทหารลงตามนโยบายโดดเดี่ยวนิยม (Isolationism) ของทรัมป์ ก็ต้องนำไปสู่การตัดงบประมาณทางทหาร และลดกำลังพล ซึ่งจะทำให้ต้องขัดแย้งกับกระทรวงกลาโหมอันทรงอิทธิพล สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะโอบามาเคยพยายามตัดงบประมาณของกระทรวงกลาโหมมาแล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จนัก ทั้งนี้ไม่นับว่ารัฐบาลของทรัมป์ยังต้องพบกับบทบาทที่นักวิ่งเต้นหรือ Lobbyist ของกลุ่มทุน กลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ มีต่อพรรคการเมืองและรัฐสภา เช่นเดียวกับการประท้วงและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของคนอเมริกันอีกเป็นจำนวนมาก และจะมีมากเป็นพิเศษในยุคของนายทรัมป์

จากเหตุผลดังกล่าว ผู้เขียนคิดว่าโดยรวมแล้วมีแนวโน้มที่นโยบายของทรัมป์จะเข้าสู่ตรงกลาง อันส่งผลให้นโยบายดังกล่าวเกิดความไม่ชัดเจนและยืดเยื้อจนไม่เห็นผลในระยะสั้นเหมือนยุคโอบามา ด้วยการปรับเปลี่ยนนโยบายไปเรื่อย ๆ เช่นเดียวกับความพยายามในการสร้างภาพเพื่อคะแนนความนิยม สิ่งนี้สอดคล้องกับบุคลิกของเขาคือขาดประสบการณ์ทางการเมืองและพลิกนโยบายไปมาในช่วงหาเสียง (ทำให้เขายิ่งเสริมภาพการเป็นคนโผงผาง ดุดัน เพื่อกลบเกลื่อนจุดอ่อนตรงนี้) จึงเป็นไปได้อีกทางหนึ่งว่านโยบายของทรัมป์จะไม่ต่างจากโอบามาในหลายแง่มุมนัก ผู้เขียนคิดเล่น ๆ ว่า ในอนาคตอาจจะมีศัพท์ฮิตอีกคำคือ Trumpobama หรือ “ทรัมป์ก็คือโอบามาอีกแบบหนึ่ง” นั่นเอง

ดังตัวอย่างเช่น ทรัมป์หันมากล่าวชมนโยบายประกันสุขภาพ หรือ Obamacare ของ โอบามา ทั้งที่ก่อนหน้านั้นเขาเคยโจมตีนโยบายนี้อย่างหนักเช่นเดียวกับคำสัญญาในการสกัดกั้นไม่ให้มุสลิมเข้าประเทศ ซึ่งเป็นนโยบายขวาสุดโต่งของทรัมป์ ก็อาจลดลงเหลือการคัดกรองอย่างเข้มงวดมากขึ้นต่อผู้ที่อาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ ซึ่งรัฐบาลชุดไหนก็ต้องทำ รวมไปถึงการสร้างกำแพงระหว่างชายแดนเม็กซิโกก็อาจจะสร้างบางด้านที่ถือว่าเป็นจุดสำคัญ ๆ หรือนโยบายต่อต้านการแต่งงานของเพศเดียวกันก็จะทำให้คะแนนความนิยมของตัวประธานาธิบดีลดลง[2] จากการประท้วงโดยกลุ่มพวกเสรีนิยมและกลุ่มหลากหลายทางเพศ อันทำให้ทรัมป์ลดความเข้มข้นลงคือเพียงการตัดสิทธิประโยชน์บางด้านของคนเหล่านั้น


2. โดนัลด์ ทรัมป์ กับประชาธิปไตยแบบอเมริกัน

ทรัมป์ มักถูกประณามว่ามีบุคลิกที่ตรงกันข้ามกับคุณค่าหลัก (Core Value) ของประชาธิปไตยแบบอเมริกันและยังไร้คุณธรรม นั่นคือ เหยียดเชื้อชาติ (จากคำพูดที่ว่า “ชาวเม็กซิโกล้วนเป็นนักข่มขืน”) ต่อต้านมุสลิม (บอกว่าจะไม่ยอมให้เข้าประเทศ) เหยียดเพศ (ล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้หญิงทั้งทางวาจาและการกระทำหลายครั้งในอดีต) และทรัมป์ก็ใช้บุคลิกเช่นนี้เพื่อหาคะแนนเสียงจากคนอเมริกันหัวขวาจัด ไปพร้อมกับบุคลิกภาพอื่น ๆ เช่น การเป็นนักธุรกิจที่ตัดสินใจเด็ดขาด จนประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน เป็นเรื่องชัดเจนว่าการขึ้นมามีอำนาจของเขาเป็นตัวจุดประกายให้พวกเหยียดเชื้อชาติ ในการแสดงท่าทีอหังการและก่ออาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชังต่อคนสีผิวในด้านต่าง ๆ มากขึ้น กระนั้นเองสถิติของอาชญากรรมการเหยียดสีผิว และโดยเฉพาะผู้นับถือศาสนาอิสลามในช่วงของโอบามาเองก็พุ่งสูงขึ้นอยู่แล้ว อันเกิดจากปัจจัยภายนอก เช่น ภัยคุกคามจากกลุ่มไอเอส จึงเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาต่อไปว่าในยุคของทรัมป์ สถิติอาชญากรรมเช่นนั้นในระยะยาวจะดำเนินไปขนาดไหนนอกเหนือไปจากความคลุ้มคลั่งของคนเหยียดเชื้อชาติในช่วงที่ทรัมป์ได้รับชัยชนะและจะแตกต่างจากยุคโอบามามากน้อยเพียงใด

อย่างไรก็ตาม นายทรัมป์ได้ออกโทรทัศน์เพื่อมาปรามไม่ให้มีการเหยียดผิวหรือเชื้อชาติอีกต่อไป ซึ่งก็สามารถมองได้หลายแง่มุมว่าอาจเป็นการเสแสร้งหรือการพลิกท่าทีตามแบบนักการเมืองในช่วงที่มีการประท้วงของคนอเมริกันเป็นจำนวนมาก หรือเป็นจุดเริ่มต้นของการทำตามสัญญาของทรัมป์ในการทำให้คนอเมริกันหันกลับมาปรองดองกันอีกครั้งและจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ก็ต้องดูต่อไปในอนาคต กระนั้นต้องรอดูว่าทรัมป์แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ในรัฐบาลของเขาซึ่งเป็นหัวอนุรักษ์นิยมมากน้อยเพียงใด หากยิ่งมีจำนวนมากก็ยิ่งทำให้สัญญาดังกล่าวมีความเป็นไปได้น้อยลง

แต่ในนโยบายอื่น ๆ ของทรัมป์หลายประเด็นเป็นสีเทา คือ ต้องมีการตีความอันหลากหลายต่อนิยามประชาธิปไตยในสังคมอเมริกัน อย่างเช่น การทรมานผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงของชาติโดยใช้วิธีรุนแรงและลดคุณค่าความเป็นมนุษย์เช่นวอเทอร์บอร์ดดิง (การใช้น้ำฉีดหน้าผู้ต้องหาผ่านผ้าคลุม) ซึ่งเริ่มต้นในสมัยของจอร์จ ดับเบิลยู บุชและได้รับการสนับสนุนโดยพรรคริพับลิกันตลอดมาโดยเฉพาะนายทรัมป์ตอนหาเสียง แม้จะมีกฎหมายออกมาในยุคของ โอบามาเพื่อยุติการกระทำเช่นนี้ แต่ในอนาคตกฎหมายนี้จะต้องได้รับการแก้ไขโดยรัฐสภาที่พรรคริพับลิกันครองเสียงข้างมากแน่นอน ไม่ว่าทรัมป์จะยังคงสนับสนุนหรือพลิกกลับมาแสดงความไม่เห็นด้วยก็ตาม ประเด็นนี้เป็นสีเทาหากพิจารณาถึงปัญหาทางจริยศาสตร์ที่ว่าผู้ต้องสงสัยโดยเฉพาะชาวต่างชาติควรมีสิทธิมากน้อยมากเพียงใด สิทธิของความเป็นมนุษย์สากลควรจะมีการยกเว้นหรือไม่ หากคนผู้นั้นเป็นผู้ก่อการร้ายและเป็นภัยต่อสาธารณชนจริงๆ และรัฐจำเป็นต้องหาข้อมูลอันมีค่าให้ได้ เพื่อความปลอดภัยในทรัพย์สินรวมไปถึงสิทธิและเสรีภาพของคนอเมริกัน (หาดูเพิ่มเติมจากภาพยนตร์เรื่อง Unthinkable) สำหรับโอบามาและนางคลินตันนั้นยังมีข้อถกเถียงว่าได้ใช้ประโยชน์จากการทรมานผู้ต้องสงสัยของซีไอเอหรือไม่เพื่อสืบหาร่องรอยของ อุซามะฮ์ บิน ลาดินจนสามารถสังหารเขาในที่สุดในปี 2011 (หาดูเพิ่มเติมจากภาพยนตร์เรื่อง Zero Dark Thirty)

นอกจากนี้สำหรับประเด็นผู้อพยพผิดกฎหมาย การสนับสนุนสิทธิของคนเหล่านั้นสอดคล้องกับค่านิยมของประชาธิปไตยแบบเอื้ออาทรหรือการคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนแบบสากล ในขณะที่บางกลุ่มเห็นว่าการต่อต้านคนเหล่านั้นจะเป็นการรักษาสิทธิและเสรีภาพของพลเมืองอเมริกันตัวจริง โดยเฉพาะการลดภาระด้านภาษีที่ต้องสนับสนุนคนเหล่านั้น รวมไปถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ล่าสุดทรัมป์ประกาศว่าจะเนรเทศผู้อพยพออกนอกประเทศเป็นจำนวน 3 ล้านคน โดยเฉพาะผู้ที่มีสถิติอาชญากรรม (จากเดิมที่เคยบอกไว้ว่าถึง 11 ล้านคน) ซึ่งแทบไม่แตกต่างจากโอบามาเลย เพราะโอบามาได้ชื่อว่าเป็นประธานาธิบดีที่เนรเทศผู้อพยพมากที่สุดในประวัติศาสตร์ คือ จำนวน 2 ล้านคน ล่าสุดนายกเทศมนตรีของนครนิวยอร์กได้ออกมาประกาศว่าเขาพร้อมจะต่อต้านแผนการเนรเทศดังกล่าวของทรัมป์ เช่นเดียวกับนายกเทศมนตรีเมืองใหญ่อื่น ๆ ที่มีผู้อพยพหนีเข้าเมืองมาเป็นจำนวนมากไม่ว่าจะเป็น นครลอสแอนเจลลิส ซานฟรานซิสโก ชิคาโก ฯลฯ สำหรับการปกครองแบบสหพันธรัฐของสหรัฐฯ ที่มีการกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่นอย่างสูง จึงเป็นไปได้ว่าในอนาคตจะมีการต่อสู้กันอย่างหนักระหว่างรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น อันส่งผลถึงนโยบายของนายทรัมป์

นอกจากนี้ ทรัมป์ยังมีนโยบายแบบประชาธิปไตยเสียกว่าโอบามา อย่างเช่น การต่อต้านการค้าเสรี ซึ่งรัฐบาลของทรัมป์จะไม่เข้าร่วมกับความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี) กลับเป็นการสนับสนุนประชาธิปไตย (แม้จะถูกมองว่าเป็นประชานิยมก็ตาม) เพราะส่งผลประโยชน์ที่แท้จริงแก่คนอเมริกันรากหญ้าที่ไม่ต้องสูญเสียงาน อันแตกต่างจากนางคลินตัน ซึ่งในอนาคตอาจจะหันกลับมาสนับสนุนนโยบายนี้ และเอื้อประโยชน์ต่อต่างประเทศ ซึ่งมีแรงงานที่ค่าจ้างถูกกว่า (เธอหันมาต่อต้านนโยบายนี้ก็เมื่อทราบว่าทรัมป์ได้รับการตอบรับจากประชาชนอย่างดีจากจุดยืนดังกล่าว ทั้งที่ก่อนหน้านี้เธอสนับสนุนทีพีพีมาตลอด)

คนอเมริกันจำนวนไม่น้อยที่ลงคะแนนเสียงให้นายทรัมป์จึงเห็นว่าบุคลิกของเขาเปิดให้พวกเขาสามารถเข้ามาต่อรองได้เพราะความเป็นคนเปิดเผย คนเลวที่ไว้ใจได้มากกว่า(The Lesser of 2 Devils) น่าจะเป็นทรัมป์ไม่ใช่คลินตัน ซึ่งยังถูกมองว่าเป็นคนในกลุ่มอำนาจเดิม (Establishment) และมีบางสิ่งอันน่ากลัวซ่อนเร้นโดยอาจจะละเมิดประชาธิปไตยอย่างแนบเนียน[3] อันเป็นเหตุผลเดียวกับนักปรัชญาชาวสโลวาเนีย คือ สลาวอย ชิเซก ที่บอกว่า ถ้าเขาเป็นคนอเมริกัน เขาจะเลือกทรัมป์ ดังนั้นในทางกลับกันยุคของทรัมป์อาจเป็นยุคเฟื่องฟูที่สุดของประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม นั่นคือภาพพจน์อันไม่ดีไม่งามของเขาจะเป็นตัวกระตุ้นทางอ้อมให้กลุ่มทางสังคมต่าง ๆ ประท้วงและต่อรองเพื่อสิทธิและเสรีภาพของตนได้มากกว่ายุคของโอบามาหรือคลินตัน อันนำไปสู่ภาวะที่ทรัมป์จะไม่สามารถทำตามนโยบายแบบขวาจัดของตนได้ถนัดนัก


3. โดนัลด์ ทรัมป์กับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ตามความเชื่อของคนต่อต้านทรัมป์ เห็นว่าการขึ้นมามีอำนาจของทรัมป์จะเป็นภัยต่อประชาธิปไตยทั่วโลก เพราะบุคลิกของเขาที่เอียงไปด้านขวาจัดแบบประชานิยมจากตัวอย่างที่ได้ยกมาแล้วข้างบน ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้พวกขวาได้กำลังใจและมีบทบาททางการเมืองมากขึ้น ไม่ว่าในสหรัฐฯ ยุโรป และเอเชีย ซึ่งหลายกลุ่มแม้แต่พวกขวาจัดในอินเดียได้ให้การเอาใจช่วยเขาช่วงก่อนวันเลือกตั้ง และสื่อมักจะจัดให้เขาเป็นผู้นำในระนาบเดียวกับวลาดิมีร์ปูติน แห่งรัสเซีย ร็อดริโก ดูเตอร์เต แห่งฟิลิปปินส์ ฮูโก ชาเวช แห่งเวเนซูเอลลา หรือผู้นำพรรคขวาจัดอย่างเช่น มารีน เลอ ปอง แห่งพรรคเนชั่นนัลฟรอนท์ รวมไปถึงนายไนเจล แฟราจ อดีตหัวหน้าพรรคอิสระแห่งสหราชอาณาจักร

การโจมตีเช่นนี้คือการยัดเยียด ภาพของ “จอมเผด็จการ” เข้าในบริบททางการเมืองของสหรัฐฯ ซึ่งฟรานซิส ฟูกุยามา ได้บอกว่า “ไม่มีใครมีอำนาจอย่างแท้จริงในประเทศนี้”เพราะสถาบันต่าง ๆ เข้ามาคานอำนาจและตรวจสอบซึ่งกันและกัน (check and Balance) จนเกินไป ผู้เขียนจึงว่า ทรัมป์นั้นจะเป็น “จอมเผด็จการ” ก็เพียงในช่วงการสร้างภาพต้น ๆ เมื่อเขาได้เป็นประธานาธิบดี เขาก็จะกลายเป็นประมุขของรัฐที่มีอำนาจจำกัดและอาจเป็น “เป็ดง่อย” ในที่สุด อันจะทำให้เขาไม่สามารถเป็นต้นแบบได้อีกต่อไปสำหรับเผด็จการในประเทศโลกที่ 3 ซึ่งสถาบันทางการเมืองอ่อนแอและกระบวนการคานอำนาจบกพร่อง

นอกจากนี้ นโยบายของทรัมป์ยังถูกโจมตีในเรื่องการเป็นมิตรกับมหาอำนาจซึ่งเป็นเผด็จการอย่างเช่น รัสเซีย และจีน รวมไปถึงประเทศเล็กประเทศน้อยอย่างเกาหลีเหนือ ไทย หรือเวียดนาม และจะทำให้สหรัฐฯ เลิกนโยบายการกดดันประเทศเหล่านั้นในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนซึ่งจะเป็นอันตรายต่อประชาธิปไตยทั่วโลก ตามความจริงแล้วในยุคของโอบามา (และอาจจะรวมถึงยุคของนางคลินตันด้วย) ได้ใช้เรื่องประชาธิปไตยในการสร้างแรงกดดันประเทศเหล่านั้น เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจเสียมากกว่าคำนึงถึงตัวประชาธิปไตยที่แท้จริง (แม้ว่าผลที่ได้จะส่งผลอย่างมากมายดังกรณีของพม่า) สำหรับรัสเซีย แม้ว่าก่อนหน้านี้รัฐบาลและรัฐสภาของสหรัฐฯ จะประณามความไม่เป็นประชาธิปไตยและการะล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัสเซียอยู่เรื่อยมา แต่การที่สหรัฐฯ เป็นปรปักษ์กับรัสเซียอย่างชัดเจนเพียงเพราะรัสเซียคุกคามยูเครนและแทรกแซงซีเรียเป็นหลัก

ผู้เขียนยังสงสัยว่าทรัมป์จะสามารถทำให้สหรัฐฯ เป็นมิตรกับรัสเซียได้ตลอดไปหรือไม่ ด้วยเขาต้องพบกับอิทธิพลจากคนรอบข้างและสถาบันทางการเมืองอื่น ๆ อีกมากมาย แม้ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงในอนาคตของทรัมป์อันอาจเป็นนายพลไมเคิล ฟลินน์จะชื่นชอบรัสเซีย แต่ทรัมป์ต้องพบกับแรงกดดันจากพรรครีพับลิกันซึ่งสมาชิกบางคนได้ส่งเสียงเตือนทรัมป์ว่าอย่าอ่อนข้อให้กับรัสเซีย รวมไปถึงกระทรวงต่างประเทศและกระทรวงกลาโหม และวงการอุตสาหกรรมอาวุธ (Military Industrial Complex) ที่สำคัญคือศักดิ์ศรีของประเทศที่คนอเมริกันส่วนใหญ่ยังคงยึดถืออยู่และไม่ต้องการให้ประเทศใดมาลบหลู่ ปัจจัยในการกำหนดมุมมองของประชาชนก็คือสื่อมวลชนนั่นเอง หากสื่อมวลชนช่วยกันประโคมข่าวจนทำให้คนคล้อยตามได้ว่ารัสเซียกำลังคุกคามประเทศอื่นในยุโรปตะวันออกเหมือนกรณียูเครนอย่างลิทิวเนียจะสร้างแรงกดดันให้กับทรัมป์ได้อย่างมาก ผู้เขียนจึงไม่เชื่อว่าเพียงปูตินชอบทรัมป์เพราะมีบุคลิกเหมือนกันหรือเพียงเพราะทรัมป์ต้องการให้รัสเซียร่วมมือในเรื่องซีเรียจะสามารถทำให้สหรัฐฯ สามารถเป็นมิตรที่กับรัสเซียได้อย่างสนิทแนบแน่น หากคำนึงถึงผลประโยชน์ด้านอื่น ๆ ที่ทับซ้อนกันระหว่างมหาอำนาจเดิม คือ สหรัฐฯ กับประเทศที่ทะเยอทะยานอยากกลับมาเป็นมหาอำนาจอีกครั้งอย่างรัสเซีย เมื่อเกิดเหตุการณ์ 9/11 ปูตินเป็นผู้นำประเทศแรกที่โทรศัพท์แสดงความเสียใจกับบุช อันทำให้คนทั้งคู่มีความสัมพันธ์อันดีในช่วงแรก แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถหลีกหนีความเป็นศัตรูกันได้ สมมติว่าข่าวลือที่ปูตินมีส่วนช่วยในการหาเสียงของทรัมป์เช่น การใช้แฮ็คเกอร์เปิดเผยความลับของนางคลินตันเป็นจริง ทรัมป์ก็อาจจะหลบเลี่ยงไม่ทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับปูตินในทุกด้านก็ได้

ในกรณีซีเรียนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่ทรัมป์จะทอดทิ้งประเทศนี้ไปหากพิจารณาจากแรงกดดันจากพรรคริพับลิกันโดยเฉพาะสายเหยี่ยวหรือการประท้วงจากกลุ่มทางสังคมที่ต้องการให้สหรัฐฯ แทรกแซงเพื่อเหตุผลทางมนุษยธรรม อันนำไปสู่ความพยายามสร้างภาพพจน์ที่ดีของรัฐบาล จึงเป็นไปได้ว่านโยบายทางทหารของทรัมป์จะคลุมเครือเหมือนกับโอบามา อย่างเช่น ไม่ใช้กำลังทางทหารชัดเจน แต่เน้นการส่งอาวุธและปัจจัยอื่นช่วยฝ่ายตรงกันข้ามกับรัฐบาลซีเรีย ทว่าอาจประสบความสำเร็จในการสร้างภาพร่วมกับรัสเซียเข้าทำนองชนะทั้งคู่ (Win-Win Situation) หากทรัมป์กับปูตินนั้นมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันไปตลอดรอดฝั่ง แต่สถานการณ์ในซีเรียเปราะบางและซับซ้อนมากจนอาจจะทำให้เหตุการณ์เช่นนั้นเป็นไปได้ยาก

ในเรื่องของซีเรียนั้นผู้เขียนใคร่อธิบายเพิ่มเติมว่ามีผู้มองว่าทรัมป์มีนโยบายสร้างความสัมพันธ์อันดีกับรัสเซีย อันจะทำให้สหรัฐฯ เลิกกดดันรัฐบาลซีเรียซึ่งเป็นเผด็จการภายใต้การสนับสนุนของนายปูติน ซึ่งย่อมส่งผลเสียต่อประชาธิปไตยของซีเรีย แต่ก่อนหน้านี้รัฐบาล โอบามาได้ให้การสนับสนุนฝ่ายขบถบางกลุ่มซึ่งก็ไม่ได้ใส่ใจประชาธิปไตยอยู่แล้ว ดังข่าวการฆ่าอย่างโหดเหี้ยมและล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนของฝ่ายขบถอยู่หลายครั้งและโอบามาก็ไม่ได้เคยคิดจะทำการโจมตีทางทหารต่อรัฐบาลซีเรียอย่างจริงๆ จังๆ สมมติว่ารัฐบาลซีเรียล้มลงจากการช่วยเหลืออย่างชาญฉลาดจากคลินตันซึ่งเป็นเหยี่ยวกว่าโอบามา (ที่ต้องอาศัยฝ่ายขบถซึ่งก็โหดเหี้ยมพอกับรัฐบาล) สหรัฐฯ ก็ต้องสนับสนุนรัฐบาลอื่นที่เป็นเผด็จการและโอกาสกลับเป็นประชาธิปไตยก็ยังแทบเกิดขึ้นได้ยากเพราะแรงกดดันของกลุ่มอำนาจต่างๆ ที่รุนแรงกว่าอิรักยังคงอยู่และที่สำคัญรัฐบาลนั้นต้องภักดีต่อกรุงวอชิงตัน ประเด็นของซีเรียจึงไม่ใช่เรื่องของประชาธิปไตย หากเป็นเรื่องของการขยายวงอิทธิพลของมหาอำนาจโลก เช่นเดียวกับกรณีของอิหร่านซึ่งประเด็นความขัดแย้งระหว่างประเทศดังกล่าวกับสหรัฐฯ คือเรื่องการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ซึ่งสหรัฐฯ เชื่อว่าเป็นภัยต่อโลกมากกว่าประเด็นประชาธิปไตย (สำหรับอิหร่านนั้นทรัมป์มีแผนจะรื้อนโยบายการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่านและหันกลับเน้นนโยบายแข็งกร้าวต่ออิหร่านเหมือนกับบุช ซึ่งมีผู้วิเคราะห์ว่าเป็นไปได้ยากมากและยังขัดแย้งกับนโยบายเป็นมิตรกับรัสเซียซึ่งสนับสนุนอิหร่านอยู่)

กรณีนี้ยังส่งผลถึงกรณีขององค์การนาโต หากสหรัฐ ฯไม่สามารถเป็นมิตรอย่างแท้จริงกับรัสเซียได้ สหรัฐฯ ก็ย่อมไม่อาจถอนตัวออกมาดังนโยบายของนายทรัมป์ และเขาต้องพบกับแรงกดดันจากองค์การนาโตซึ่งกำลังเผชิญหน้าอย่างตึงเครียดกับรัสเซียโดยเฉพาะยูเครน แม้คนอเมริกันจำนวนมากจะเห็นว่าสมาชิกองค์การนาโตเหมือนกับเหลือบที่อาศัยสหรัฐฯ แต่รัฐบาลสหรัฐฯ ก็ใช้ประโยชน์จากองค์การนาโตให้เป็นกันชนกับมหาอำนาจหรือประเทศอื่นๆที่อาจเป็นภัยต่อสหรัฐฯ อันเป็นข้อได้เปรียบทางภูมิรัฐศาสตร์ สมมติว่ารัฐบาลทรัมป์เป็นมิตรกับรัสเซีย สหรัฐฯ ก็จะอยู่ในองค์การนาโตต่อไปเพื่อกดดันให้องค์การนาโตยุติการแผ่อิทธิพลมายังตะวันออกโดยเฉพาะอดีตประเทศที่เคยเป็นบริวารของสหภาพโซเวียตมาก่อน อันจะกลายเป็นความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศสูงมากเพราะหลายประเทศใช้องค์การนี้ในการเสริมสร้างอิทธิพลทางทหารของตน จึงต้องดูต่อไปในอนาคต

สำหรับจีนนั้น สหรัฐฯ ถือว่าเป็นคู่แข่งในเรื่องความยิ่งใหญ่ทางการทหาร ที่ผ่านมาในยุคของบุชและโอบามา สหรัฐฯ ใช้ความเป็นเผด็จการและสถิติการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลปักกิ่งมาเพื่อช่วยสร้างแรงกดดันทางการเมืองอยู่เรื่อยๆ ด้วยภาพลักษณ์ของการแข่งขันนี้มักทำให้คนหลงลืมไปว่าสหรัฐฯ กับจีนนั้นมีความร่วมมือกันในหลายๆ ด้านควบคู่ด้วย อันเป็นได้ว่ารัฐบาลของทรัมป์อาจจะโฆษณาประเด็นนี้ให้โดดเด่นเพื่อทำให้ดูเหมือนสหรัฐฯ กับจีนเป็นมิตรกันทั้งที่ความสัมพันธ์อาจไม่ต่างจากยุคโอบามานัก แต่ในอนาคตจีนกับสหรัฐฯ ต้องทำสงครามทางเศรษฐกิจอย่างแน่นอน (ขึ้นอยู่ว่าความเข้มข้นจะขนาดไหน) หากทรัมป์ปฏิบัติตามนโยบายการปกป้องเศรษฐกิจอย่างเช่นการขึ้นกำแพงภาษี สำหรับด้านการเมืองและการทหาร เกิดคำถามว่าทรัมป์จะสามารถปล่อยให้จีนแผ่ขยายอำนาจในเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้แต่เพียงผู้เดียวได้หรือไม่ เพราะมันเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์อย่างมหาศาลของสหรัฐฯ รัฐบาลของทรัมป์ยังจะสามารถทนทานกับความต้องการของพันธมิตรอื่น ๆ ที่ยังต้องการให้สหรัฐ ฯ เข้ามาคานอำนาจกับจีนเหมือนเดิมหรือไม่ เพราะมันยังเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ในด้านอื่น ๆ เช่น เศรษฐกิจและการค้าที่สหรัฐฯ ต้องพึ่งพิงกับประเทศเหล่านั้น (แน่นนอนว่าย่อมเกี่ยวโยงกับเรื่องนโยบายการตั้งกำแพงภาษีของสหรัฐฯ อีกด้วย) ปัจจัยดังกล่าวน่าจะส่งผลกระทบถึงสัญญาแบบลอย ๆ ของทรัมป์ ที่เคยหาเสียงอย่างแน่นอนอันจะทำให้นโยบายต่างประเทศของรัฐบาลทรัมป์เข้าสู่ตรงกลาง คือ ความชัดเจนและยืดเยื้อไม่เห็นผลชัดเจน ทรัมป์อาจสานต่อนโยบายการปักหมุดในเอเชีย(Pivot to Asia) เพียงแต่ใช้ชื่ออื่นและมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดอื่น ๆ ไปพอสมควรเพื่อไม่ให้ถูกมองว่าทับซ้อนกับนโยบายของโอบามา[4]

ในกรณีเกาหลีเหนือนั้นต้องดูว่าทรัมป์มีความสัมพันธ์กับจีนอย่างไรจึงจะบอกได้ แม้ทรัมป์กล่าวว่าเขายินดีจะพูดคุยกับนายคิม จองอึน ผู้นำของเกาหลีเหนือ และสื่อของเกาหลีเหนือได้แสดงทัศนคติทางบวกแก่เขาเมื่อก่อนหน้านี้ แต่เมื่อ 8 ปีก่อนโอบามาก็เคยสัญญาเช่นนั้นและยังไม่เคยใกล้เคียงกับความเป็นจริงแม้แต่น้อย ผู้เขียนจึงขอเสี่ยงทำนายว่าอย่างไรแล้วสหรัฐฯ จะเปลี่ยนแปลงนโยบายในเชิงกดดันประเทศนี้ได้ยากมากเพราะจะเป็นการรื้อถอนวงอำนาจของสหรัฐฯ ในเอเชียตะวันออก เช่นเดียวกับเป็นการเสียชื่อสหรัฐฯ ในฐานะมหาอำนาจโลก นอกจากนี้สำหรับนโยบายของทรัมป์ที่จะถอนกำลังทหารจากเกาหลีใต้และญี่ปุ่น รวมทั้งให้ทั้ง 2 ประเทศครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ไว้เป็นกันชนกับเกาหลีเหนือ แม้ว่าล่าสุดทรัมป์ก็ออกมาปฏิเสธแล้ว หากพิจารณาสภาพการเมืองของทั้ง 2 ประเทศแล้วยิ่งเป็นไปได้ยากมาก เกาหลีใต้ตอนนี้พบกับการประท้วงครั้งใหญ่จากวิกฤตศรัทธาต่อตัวประธานาธิบดี สมมติว่านางปาร์ค กึน เฮ ต้องลาออกเพราะทนแรงกดดันไม่ได้และมีการเลือกตั้งใหม่ ประธานาธิบดีคนต่อมาจะวางนโยบายอย่างไรต่อสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือ ก็ต้องเป็นสิ่งที่ดูกันต่อไป และมีความเป็นไปได้น้อยมากที่ประธานาธิบดีคนใหม่ (หรือคนเก่าถ้ายังอยู่ได้) จะให้ประเทศมีอาวุธนิวเคลียร์ เพราะเพียงก่อนหน้านี้รัฐบาลเกาหลีใต้วางแผนจะติดตั้งเครื่องป้องกันขีปนาวุธที่เมืองแห่งหนึ่ง คนบริเวณนั้นก็ทำการประท้วงทันที เช่นเดียวกับญี่ปุ่นที่ประชาชนหวาดระแวงนโยบายการทำให้ญี่ปุ่นเป็นรัฐทหารของนายชินโซะ อาเบอย่างมาก สำหรับประเทศที่เคยประสบภัยจากปรมาณูเมื่อสงครามโลกถึง 2 ครั้งและพบปัญหาจากการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสี การวางแผนจะครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ย่อมจุดประกายให้มีการประท้วงนายชินโซะ อาเบครั้งใหญ่ รัฐบาลของประเทศทั้ง 2 จึงต้องขอร้องหรือกดดันสหรัฐฯ ให้คงกองกำลังอยู่ในประเทศตนต่อไป

อย่างไรก็ตามเราต้องคำนึงถึงเหตุการณ์สำคัญซึ่งคุกคามความมั่นคงของสหรัฐ ฯ และประเทศอื่น ๆ ซึ่งบอกไม่ได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไรและอย่างไร อย่างเช่นเหตุการณ์ 9/11 ซึ่งทำให้บุชนำกองทัพสหรัฐฯ ทำสงครามในต่างแดนเช่นเดียวกับกรณีที่รัสเซียทำการคุกคามยูเครน ทรัมป์อาจพยายามทำตามสัญญาในเรื่องการโดดเดี่ยวทางการเมือง แต่หากเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นก็อาจทำให้เขาหันมาดำเนินรอยตามการแทรกแซงทางทหารหรือทำสงครามตามบุชหรือโอบามาก็เป็นได้ เพราะจะได้รับแรงสนับสนุนจากรัฐสภากับสาธารณชนอย่างมหาศาล


4. ทรัมป์กับประชาธิปไตยไทย

สำหรับไทยนั้น สหรัฐฯ ในยุคโอบามาเคยกดดันไทยมากว่า 2 ปีเรื่องการไม่เป็นประชาธิปไตยของไทย แต่ความจริงแล้วสหรัฐฯ เพียงแค่ตัดงบประมาณช่วยเหลือไทยบางส่วนอันเป็นไปตามกฎหมาย การกดดันจึงมักอยู่ในรูปแบบวาทกรรมทางการทูตเสียมากกว่าแม้จะมีประโยชน์ คือรัฐบาลไทยต้องปฏิบัติต่อผู้เห็นต่างอย่างระมัดระวัง แต่การกดดันดังกล่าวเริ่มแผ่วเบา ดังจะเห็นได้จากท่าทีของสหรัฐฯ ในช่วงหลังวันที่ 13 ตุลาคมของปีนี้ที่สหรัฐฯ พยายามย้ำเตือนถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่าง 2 ประเทศ ซึ่งเริ่มอย่างเข้มข้นตั้งแต่ช่วงต้นรัชกาลที่ 9 อย่างเช่นในปี 2503 ที่ทรงเสด็จไปเยือนสหรัฐอเมริกา โดยการกระทำเช่นนี้ของสหรัฐฯ กลายเป็นการส่งเสริมระบอบเผด็จการของประเทศไทยในตัว จนมีนักวิชาการบางคนเรียกร้องให้สหรัฐฯ ทำมากกว่านี้

สำหรับทรัมป์นั้น หากเขาดำรงนโยบายดำรงนโยบายปักหมุดเอเชียที่มีในสมัยโอบามาไม่ว่าในรูปแบบใด รัฐบาลของเขาอาจจะเป็นมิตรกับรัฐบาลทหารเหมือนกับโอบามาหรือคลินตัน(หากได้เป็นประธานาธิบดี) แต่ถ้าทรัมป์คิดจะทอดทิ้งนโยบายดังกล่าว ต้องมาดูว่าพรรครีพับลิกันจะมีท่าทีอย่างไร และทางพรรคจะมีนโยบายต่างประเทศแบบเหยี่ยวเหมือนจอร์จ ดับเบิลยู บุชหรือไม่ในการกดดันไทย มีผู้จัดรายการทางยูทูบผู้หนึ่งเห็นว่าพรรคริพับลิกันจะต้องกดดันรัฐบาลเผด็จการของไทยอย่างแน่นอนเพราะไทยเป็น “ไข่แดง” แห่งเอเชีย ซึ่งทำให้ผู้เขียนเห็นว่าอาจไม่ถูกต้องเพราะในอดีตรัฐบาลของบุชที่มาจากพรรคริพับลิกันนั้นไม่ได้กดดันไทยยุคหลังการทำรัฐประหารในปี 2549 เท่าใดนัก (ในทางกลับกันวิกีลิกส์ชี้ว่ารัฐบาลสหรัฐฯให้การยอมรับการทำรัฐประหารในครั้งนั้นและมีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับรัฐบาลของพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์) หากพรรคริพับลิกันยังมีนโยบายแบบเหยี่ยวและมีอิทธิพลต่อทรัมป์ อย่างมากที่สุดสหรัฐฯ ก็จะปฏิบัติต่อไทยเหมือนช่วงปีแรกของรัฐประหารโดยคสช.นั่นคือเพียงการเล่นโวหารทางการทูตเสียเป็นส่วนใหญ่เหมือนละครตบตา จากการตระหนักว่ารัฐบาลทหารมีความแข็งแกร่งและความชอบธรรมมากขึ้น จากลัทธิราชาชาตินิยมซึ่งมีกระแสพัดแรงอย่างยิ่งภายหลังการสวรรคต

แต่ที่แน่นอนคือฝั่งขวาอำมาตย์นิยมจะได้ประโยชน์จากทรัมป์อย่างมาก เพราะสามารถชูทรัมป์ได้ว่าเป็นภาพของความล้มเหลวของประชาธิปไตยสหรัฐฯ ซึ่งเป็นแม่แบบทั่วโลก สื่อของคนดีอย่างนักเขียนท่านหนึ่งของสำนักพิมพ์มติชนที่เชิดชูรัฐบาลทหารได้เขียนโจมตีทรัมป์อยู่บ่อยครั้ง จนลืมไปว่าผู้นำของประเทศเผด็จการมากมายล้วนมีบุคลิกภาพของทรัมป์หรืออาจจะยิ่งกว่าไม่รู้กี่เท่า และบรรดาคนดีผู้เป่านกหวีดเองในช่วงประท้วงที่นำไปสู่อำนาจของรัฐบาลเผด็จการก็ได้แสดงท่าทีและมุมมองยิ่งกว่าทรัมป์อย่างเช่นด็อกเตอร์ปริญญา 5 ใบได้กล่าวคำปราศรัยที่มีเนื้อหาล่วงละเมิดทางเพศต่ออดีตนายกรัฐมนตรีหญิงอย่างหยาบคายและไร้ความละอายใจ

อนึ่งมีผู้เกรงว่าสหรัฐฯ ในยุคของทรัมป์อาจส่งตัวผู้ลี้ภัยการเมืองจากคดีอาญามาตรา 112 กลับประเทศ ซึ่งผู้เขียนคิดว่ามีความเป็นไปได้น้อยมาก เพราะถึงแม้สหรัฐฯ จะไม่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นจากการที่ทรัมป์คงความเป็นคนชั่วที่ไม่เคารพสิทธิมนุษยชนต่อไปในอนาคตแต่การยอมรับผู้อพยพหรือผู้ลี้ภัยทางการเมืองนั้นเปรียบได้ดังเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อเรื่องประชาธิปไตยโดยเฉพาะเสรีภาพด้านการแสดงออกทางการเมือง (Freedom of Speech) ของสหรัฐฯ เพื่อกลบเกลื่อนนโยบายด้านอื่นที่เอาใจเผด็จการ หรือเอาไว้เป็นเครื่องมือต่อรองทางการเมือง แม้จำนวนผู้อพยพจะน้อย อย่างในปี 2015 สหรัฐฯ รับผู้อพยพมาเพียง 70,000 คน หากเทียบกับหลายประเทศอย่างเช่นตุรกีและเยอรมัน แต่สื่อของสหรัฐฯ จะช่วยเน้นให้โดดเด่นอย่างเช่นผู้ลี้ภัยทางการเมืองจากจีน ดังนั้น ถึงแม้สหรัฐฯ จะเชื่อมความสัมพันธ์อันดีและแนบแน่นกับรัฐบาลทหารมากขึ้น แต่ก็จะยังคงให้ผู้ลี้ภัยเหล่านั้นพักพิงต่อไป[5]

0000


เชิงอรรถ


[1] เราไม่สามารถโจมตีนโยบายในทุกข้อว่าเกิดจากความชั่วร้ายของนายทรัมป์ เพราะนโยบายของเขาต้องสอดคล้องกับอุดมการณ์บางประการของพรรคริพับลิกันซึ่งอาศัยคะแนนเสียงจากคนอเมริกันหัวอนุรักษ์นิยมและยังถูกคัดค้านจากพวกเสรีนิยมที่ครองอำนาจของสื่ออย่างเช่นภาพยนตร์ฮอลลีวูด (อันเป็นสาเหตุว่าทำไมดาราฮอลลีวูดจำนวนมากถึงต่อต้านทรัมป์) เช่นให้ความสำคัญแก่นายทุน ไม่ยอมรับสิทธิของพวกหลากหลายทางเพศ ต่อต้านการทำแท้ง รวมไปถึงเพิกเฉยสนธิสัญญาลดโลกร้อน เพราะจะทำให้กลุ่มทุนเสียประโยชน์และส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐฯ อันเป็นนโยบายเก่าของจอร์จ ดับเบิลยู บุช หากใครชนะนายทรัมป์ในส่วนของตัวแทนของพรรคเพื่อเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีตั้งแต่แรก เขาหรือเธอก็ต้องดำเนินตามนโยบายนี้เหมือนกันแม้บางคนจะไม่สุดโต่งเท่า


[2] มีนักวิชาการท่านหนึ่งชี้ให้เห็นว่าทรัมป์ได้คะแนนเสียงจากประชาชนหรือ Popular vote น้อยกว่าผู้สมัครของพรรคริพับลิกันคนอื่นๆ ที่ผ่านมา ทรัมป์จึงต้องเอาใจพวกคนขาวหัวเอียงขวาให้มากกว่าเดิมเพื่อคะแนนเสียงที่ดีขึ้นโดยการผลักดันนโยบายแบบขวาในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ในกรณีนี้ผู้เขียนไม่ค่อยเห็นด้วยนักเพราะในช่วงการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ทรัมป์ต้องคำนึงถึงคะแนนความนิยม (Approval Rating) ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่ที่เฉพาะคนขาวหัวรุนแรงที่เป็นฐานเสียงให้กับทรัมป์ เขาก็ต้องเอาใจประชาชนกลุ่มอื่นๆ ด้วยแต่นั้นก็เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นว่าทรัมป์มีการปรับเปลี่ยนนโยบายเพื่อกลยุทธ์ทางการเมือง แต่ก็ไม่ทอดทิ้งนโยบายสำคัญ หากยังอยากจะเป็นประธานาธิบดีในสมัยหน้า


[3] นักการเมืองในแวดวงการเมืองสหรัฐฯ ซึ่งโดยมากเป็นคนผิวขาวและเพศชายนั้นล้วนมีบุคลิกและโลกทัศน์ แบบทรัมป์เป็นจำนวนไม่น้อย อาจจะมีความเข้มข้นน้อยกว่าหรือมากกว่า แต่ด้วยเหตุผลทางการเมืองที่ทำให้คนเหล่านั้นต้องแสดงบทบาทหรือมีนโยบายตรงกันข้ามกับบุคลิกหรือความคิดส่วนตัว แม้แต่ฮิลลารี คลินตันเองซึ่งเป็นผู้หญิงก็มีบุคลิกเช่นนี้แฝงอยู่ เธอได้แสดงการดูถูกเพศเดียวกันเองรวมไปถึงการแสดงความดูถูกชนสีผิวในต่างกรรมต่างวาระ (หลายครั้งอาจด้วยความไม่ตั้งใจแต่ก็อิงอยู่บนโลกทัศน์ของคนขาว) ดังนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจว่าการที่เธอจะทำให้แรงงานที่ลักลอบเข้ามาถูกกฎหมายก็เพื่อเป็นฐานคะแนนเสียงในอนาคต และในขณะดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิก เธอเคยสนับสนุนให้สหรัฐฯ ในยุคของจอร์จ ดับเบิลยู บุชทำสงครามในอิรัก ผู้หญิงจำนวนมากที่ลงคะแนนเสียงให้ทรัมป์หรือไม่ลงคะแนนเสียงให้ใครเลยอาจเห็นว่าคลินตันหน้าไหว้หลังหลอก คือเอาใจชนกลุ่มน้อยเพื่อหวังคะแนนเสียงและไม่น่าจะสามารถทำให้คนเหล่านั้นมีความก้าวหน้านัก

แม้แต่นายโอบามาซึ่งดำรงวาระ 8 ปีก็ไม่สามารถทำให้คนดำหรือชนผิวอื่นมีสิทธิและเสรีภาพเพิ่มขึ้นได้อย่างน่าพอใจแม้เขาจะเป็นคนผิวสี แต่ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมากลับเลวร้ายลงอย่างเช่นกรณีตำรวจยิงคนผิวดำที่ไร้อาวุธอยู่บ่อยครั้ง นอกเหนือไปจากการที่โอบามาไม่สามารถผลักดันให้ออกกฎหมายจำกัดอาวุธปืน เพราะถูกถ่วงดุลอำนาจโดยรัฐสภาไม่ว่าระดับประเทศหรือระดับมลรัฐซึ่งมีสมาชิกส่วนใหญ่เป็นคนผิวขาวที่มักไม่ตระหนักถึงความเท่าเทียมกันของคนสีผิวอื่นด้วย อีกทั้งสหรัฐฯ ในยุคของเขาแม้จะถือนโยบายสนับสนุนประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนแต่สหรัฐฯ ถูกจัดอันดับว่ามีการค้าอาวุธให้ประเทศต่างๆ มากที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ โดยหลายประเทศเป็นเผด็จการอย่างเช่นซาอุดิอาระเบียและเวียดนาม


[4] นโยบายการปักหมุดที่เอเชียของโอบามา ที่สหรัฐฯ มาเน้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อทำการโอบล้อมไม่ให้จีนแผ่อิทธิพล ทำให้สหรัฐฯ หันมาเอาใจหลายประเทศที่เป็นเผด็จการอย่างเช่นเวียดนามหรือลาว มีความเป็นไปได้ว่าหากนางคลินตันขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี รัฐบาลสหรัฐฯ ก็จะดำเนินรอยตามนโยบายเหล่านั้นเพราะเธอเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศในยุคโอบามาและยังเคยเดินทางไปเยือนลาวและเวียดนาม ประเทศที่สถิติเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนย่ำแย่ และสหรัฐฯจะต้องมีนโยบายที่เอาใจประเทศเหล่านั้นเสียยิ่งกว่าเดิมเพื่อทำให้การปักหมุดที่เอเชียซึ่งกำลังแสดงท่าทีล้มเหลวเพราะบางประเทศอย่างเช่นฟิลิปปินส์และมาเลเซียที่หันไปเชื่อมความสัมพันธ์อันดีกับจีน จึงเป็นไปได้ว่านางคลินตันจะพยายามคืนดีกับนายดูเตอร์เตโดยเงียบเสียงเรื่องการฆ่าตัดตอนในประเทศของเขาเสียเช่นเดียวกับการลดการเกี่ยวข้องกับกรณีการทุจริตของนายนาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย


[5] ในทางกลับกันผู้ลี้ภัยจำนวนมากจากภัยทางการเมืองเช่นกันดังซีเรีย อิรัก อัฟกานิสถาน ในยุคทรัมป์อาจจะรับน้อยลงเพื่อเป็นการสร้างภาพเอาใจคนอเมริกันที่กลัวการก่อการร้าย (ทั้งที่แทบไม่ได้เกี่ยวข้องกันเลย) กลยุทธ์เช่นนี้ถูกนำมาใช้ตั้งแต่ยุคของโอบามาดังในปีที่แล้วสหรัฐฯ รับผู้อพยพ ชาวซีเรียเพียง 16,218 คน

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.