บีบีซีไทย - BBC Thai
ดร. วิโรจน์ ณ ระนอง มองปัญหาราคาข้าวและทางออก
ดร. วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ ให้สัมภาษณ์บีบีซีไทยถึงวิกฤติราคาข้าวที่ตกต่ำเป็นประวัติการณ์ว่าเป็นแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นต่อไปในระยะยาวเนื่องจากผลผลิตล้นเกินความต้องการของตลาด ชี้ราคาข้าวไทยขึ้นกับตลาดโลก จึงมิใช่การสมคบกำหนดราคาของพ่อค้าคนกลางและโรงสี ส่วนการแก้ปัญหาระยะสั้นคือเงินอุดหนุนของรัฐ ขณะที่ระยะยาวคือลดจำนวนคนทำนา
ดร. วิโรจน์ อธิบายว่าผลผลิตข้าวของโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด ทำให้ราคาข้าวในระยะยาวมีแนวโน้มที่จะตกลง มีเพียงในสถานการณ์พิเศษที่ราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้นชั่วคราว เช่น ช่วงที่เกิดวิกฤตด้านอาหารโลกในปี 2551-2552 ขณะที่ในไทยราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่มีการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์” แต่ก็มีส่วนดึงราคาข้าวในตลาดให้ลดลงในช่วงนั้น ซึ่งหลังจากนั้น แม้ทั่วโลกจะประสบกับภัยแล้ง แต่ก็ไม่ได้ดึงราคาข้าวในตลาดโลกให้สูงขึ้น
ดร. วิโรจน์ ระบุว่าสถานการณ์ข้าวในไทยขณะนี้แยกได้เป็นสองส่วนคือ 1. ผลผลิตข้าวที่จะออกมาจำนวนมากทั้งจากการชะลอทำข้าวนาปรังในช่วงต้นปี รวมกับข้าวนาปีที่กำลังจะออก 2. ปัญหาสต็อกข้าวที่ยังเหลือค้างอีก 9 ล้านตัน แม้จะเป็นข้าวด้อยคุณภาพ แต่ยังมีโอกาสระบายออกดังนั้นจึงจะมีผลต่อราคาข้าวเช่นกัน ในเวลาเดียวกันผลผลิตข้าวในประเทศอื่นก็จะดี โดยกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ประเมินว่าปลายปีนี้จะมีสต็อกข้าวมากถึง 120 ล้านตัน ซึ่งสูงสุดในรอบ 15 ปี ทุกฝ่ายจึงคาดการณ์ว่าราคาข้าวจะดิ่งลงอีก
● ทฤษฎีสมคบคิดทำราคาข้าวร่วง?
ดร. วิโรจน์ บอกกับบีบีซีไทยว่า ไม่คิดว่าพ่อค้าคนกลางและโรงสีในประเทศสมคบกันทำให้ราคาข้าวตกลง เพราะราคาข้าวถูกกำหนดโดยตลาดโลก ผู้ส่งออกไทยตัดสินใจรับคำสั่งซื้อล่วงหน้าแล้วจึงตั้งราคารับซื้อในประเทศ โดยเมื่อผู้ส่งออกเชื่อว่ามีข้าวรอการรับซื้อจำนวนมากจึงไม่ยอมรับซื้อในราคาแพง ทำให้ผู้ขายต้องลดราคาลง ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ว่าในบางสถานการณ์ตลาดอาจคาดการณ์ผิดและกำหนดราคาที่ต่ำเกินไป (overshooting) ซึ่งหากผลผลิตข้าวไม่ได้ออกมามากเท่าที่คิด ราคาก็จะปรับตัวขึ้นเองในไม่ช้า
ส่วนกรณีที่โรงสีจำนวนหนึ่งหยุดซื้อข้าวเพราะคาดว่าราคาข้าวจะลงไปอีกนั้น ดร.วิโรจน์ไม่เชื่อว่าเป็นการสมคบคิดกันกับผู้ส่งออก แต่น่าจะเป็นการคาดการณ์ซึ่งอาจจะถูกหรือผิดก็ได้
“ทหารชอบมองว่าคนนั้นสมคบกับคนนี้ วางแผนกัน มันไม่ใช่ ก็เหมือนกับ “ทักษิณ” ที่พยายามวางแผนกำหนดราคาข้าว แต่ไม่ได้ผล ตลาดข้าวถึงแม้จะเป็นตลาดที่เบาบาง (Thin Market) แต่ก็ยังใหญ่เกินกว่าที่ใครว่าจะมาสร้างราคาข้าวในระดับโลกได้ แม้กระทั่งผู้ส่งออกรายใหญ่ในประเทศไทย” ดร. วิโรจน์ กล่าว
● ขายข้าวด้วยตัวเอง - ทางรอด?
ดร. วิโรจน์ ระบุถึงกระแสที่มีชาวนา กลุ่มเกษตรกรและหน่วยงานต่างๆ ออกมารณรงค์ให้ขายข้าวด้วยตัวเอง ว่าวิธีนี้อาจทำให้เกษตรกรบางกลุ่มทำกำไรจากการขายข้าวในราคาที่ดีขึ้นได้ แต่ไม่ใช่ทางออกของประเทศ เพราะข้าวส่วนใหญ่ยังต้องส่งออก นอกจากนี้ ข้าวของชาวนาที่ไม่ได้สีจากโรงสีคุณภาพสูงจะไม่สามารถแข่งขันกับข้าวจากบริษัทใหญ่ได้ ดังนั้นกิจกรรมซื้อขายแบบนี้คงทำได้เพียงในวงจำกัด หากสามารถหาตลาดเครือข่ายของตัวเองได้ และถ้ามีการกลุ่มลักษณะนี้จำนวนมาก ก็น่าเป็นห่วงชาวนาจำนวนหนึ่งที่อาจจะยิ่งขาดทุนมากขึ้น
“ถึงแม้ว่าจะมีผู้บริโภคอยากจะซื้อ ช่วยเหลือชาวนา แต่อย่าลืมว่าเรากินข้าวปีละ 104 กก. ต่อคน หรือประมาณ 8.5 กก. ต่อเดือน ในจำนวนนี้รวมข้าวที่กินนอกบ้านจำนวนมากด้วย ในช่วงแรกอาจจะขายกันได้เยอะ พอคนเริ่มซื้อเข้าบ้านมามาก ๆ ก็จะชะลอหรือหยุดซื้อ นอกจากนี้ข้าวเหล่านี้อาจขายแข่งกับข้าวที่ขายในตลาดได้ยากเพราะคุณภาพคงจะแย่กว่าที่ข้าวถุงเคยซื้อกัน”
● ทางออกระยะยาว : ลดจำนวนคนทำนา
ดร. วิโรจน์ กล่าวถึงการแก้ปัญหาราคาข้าวในระยะยาวว่ารัฐบาลไม่สามารถและไม่ควรยกระดับราคาในระยะยาวเพราะราคามีแนวโน้มตกลงตามธรรมชาติ แต่ควรหาทางทำให้ชาวนาจำนวนมากในประเทศไทยอยู่รอดภายใต้สถานการณ์ที่ราคาข้าวยังตกต่ำ
ดร. วิโรจน์ กล่าวว่า ในระยะยาวการปลูกข้าวไม่ใช่อาชีพที่เหมาะสำหรับทุกคน ถึงแม้ว่าไทยได้ชื่อว่าเป็น “ชามข้าวของเอเชีย (Rice Bowl of Asia)” มาเนิ่นนาน แต่ผลผลิตที่ออกมามากขึ้นกว่าในอดีตถึง 10 เท่า จึงมาถึงวันที่ข้าวของไทยไม่สามารถที่จะเพิ่มการผลิตมากขึ้นไปเรื่อย ๆ ดังนั้นจึงต้องมีชาวนาจำนวนหนึ่งจาก 10 กว่าล้านคน เลิกอาชีพปลูกข้าว ซึ่งตลอด 50 ปีที่ผ่านมาก็มีชาวนาบางส่วนที่ทำเช่นนั้นแล้ว
สำหรับวิธีแก้ปัญหาข้าวในระยะเร่งด่วนที่รัฐทำได้อย่างตรงไปตรงมาที่สุดคือการอุดหนุน และการดึงข้าวต้นฤดูไม่ให้ออกสู่ตลาดมากนัก ก็คือโครงการจำนำจ้าวในยุ้งฉางสำหรับข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียว
ดร. วิโรจน์ ระบุว่า สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลทำได้เสมอคือเอาเงินไปให้ชาวนา อีกวิธีหนึ่งก็คือสิ่งที่รัฐบาลทำอยู่ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา คือการพยายามชักจูงให้ชาวนาชะลอการขายด้วยโครงการรับจำนำ แต่วิธีการเช่นนี้นอกจากจะไม่ได้แก้ปัญหาระยะยาวแล้ว ก็ไม่เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าจะสามารถช่วยดึงราคาข้าวในตลาดขึ้นมาได้หรือไม่
แสดงความคิดเห็น