จะแก้ปัญหากรณีเบส อรพิมพ์ ให้ถึงราก ในระยะยาวจะต้องปฏิรูปกองทัพ
Posted: 20 Nov 2016 06:03 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
เราเห็นด้วยกับการต้องช่วยกันวิพากษ์วิจารณ์กรณีนี้ รวมทั้งสิทธิของคนอีสานที่จะบอยคอต “ไม่ฟัง” การบรรยายของคุณเบส อรพิมพ์ แต่การฟ้องร้องต่อคุณเบสจะไม่ก่อประโยชน์ใดๆ มากนัก เพราะกลไกที่ผลักดันให้เกิดปรากฏการณ์นี้ขึ้นยังคงทรงพลังและเดินหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง แม้ว่ากองทัพอาจเลิกใช้บริการของคุณเบส แต่โครงการอบรมในลักษณะนี้ก็จะยังเดินหน้าต่อไปตามแผนงานประจำและงบประมาณอันมหาศาลที่ตั้งไว้
หน่วยงานราชการทุกหน่วยมีตั้งงบประมาณสำหรับการฝึกอบรม และในกองทัพ หน่วยงานที่มีบทบาทแข็งขันในการฝึกอบรม “มวลชน” มากที่สุด ก็น่าจะเป็น กอ.รมน. (แม้ว่าในทางกฎหมาย กอ.รมน. สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี แต่ในทางปฏิบัติ ทั้งในแง่สายการบังคับบัญชา กำลังคน และอุดมการณ์ อยู่ภายใต้กองทัพบกเกือบจะโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุค คสช. เมื่อนายกฯ ซึ่งต้องควบตำแหน่งผู้อำนวยการ กอ.รมน. คือทหาร ฉะนั้น ต้องถือว่า กอ.รมน. คือส่วนหนึ่งของกองทัพ)
องค์กรมวลชนที่อยู่ในการจัดตั้งของ กอ.รมน. มีสารพัด อาทิเช่น องค์กรอาสาสมัครป้องกันชาติ, หมู่บ้านป้องกันตนเองและอาสาสมัครพัฒนา, กองทหารสำรองเพื่อความมั่นคงแห่งชาติ, ไทยอาสาป้องกันชาติ, และโครงการเพชรในตม (ดึงเด็กนักเรียนจากชนบทที่เรียนดีเข้าโครงการและให้ทุนการศึกษาในระดับปริญญาตรี), สมาคมนักธุรกิจรักษาความมั่นคงแห่งชาติ ฯลฯ เครือข่ายของ กอ.รมน. นั้นกว้างขวางมาก ทั้งระดับภาคและระดับจังหวัด มีสาขาอยู่ครบทุก 77 จังหวัด
งบประมาณที่ใช้สำหรับฝึกอบรมประเภทนี้ กระจายอยู่ตามแผนงานและโครงการต่าง ๆ ของกองทัพ เช่น แผนงานรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ, โครงการเทิดทูนสถาบันหลักของชาติ, “กิจกรรมป้องกันรวมทั้งตอบโต้และทำความเข้าใจมิให้มีการล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์” (ชื่อกิจกรรมตามเอกสารงบประมาณปี 2558), โครงการประชาสัมพันธ์เพื่อความมั่นคง, หรือแม้แต่โครงการดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนและเสริมสร้างความเข้าใจ (ของ กอ.รมน.) ฯลฯ
ในความเป็นจริง เมื่อพิจารณาเนื้อหาสาระของโครงการเหล่านี้ เราจะเห็นว่าไม่ใช่กิจกรรมด้านการทหารโดยตรง ในแง่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการรบหรือภัยคุกคามต่อบูรณภาพเหนือดินแดนอันเป็นภารกิจหลักของทหารอาชีพ แต่ต้องถือว่าเป็น “งานด้านพลเรือน” ที่กองทัพไทยเข้ามามีบทบาทอย่างกว้างขวางและมีบทบาทมานานแล้ว
บทบาทนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่ยุคต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ ที่ทหารได้ปรับตัวเองให้กลายมาเป็น “ทหารนักพัฒนา” และงานพัฒนาชนบทก็ถูกครอบงำด้วยแนวคิดความมั่นคงหรือเป็น “การพัฒนาเพื่อความมั่นคง” ซึ่งเปิดโอกาสให้ทหารเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อย แต่เมื่อภัยคอมมิวนิสต์หมดไป บทบาทนี้ก็ไม่ได้หมดไปด้วย เพราะ “ความมั่นคง” ถูกตีความให้ขยายครอบคลุมภัยคุมคามรูปแบบใหม่ เช่น ภัยคุกคามภายในประเทศถูกตีความใหม่ จากภัยคอมมิวนิสต์ไปเป็นคนเสื้อต่างสี, ภัยยาเสพติด, และภัยคุกคามต่อทรัพยากรธรรมชาติและพื้นที่ป่าไม้ เป็นต้น
ฉะนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่หลังการรัฐประหารโดย คสช. เพียงไม่กี่เดือน กองทัพ (โดยมี กอ.รมน.เป็นกลไกสำคัญ) จึงเริ่มปฏิบัติการไล่คนออกจากป่า และเสนอ “แผนแม่บทป่าไม้” ได้ในทันที
กล่าวโดยสรุปก็คือ กองทัพได้เข้ามามีบทบาทในกิจการที่ควรจะเป็นหน้าที่ของหน่วยงานด้านพลเรือนมานานแล้ว และเมื่อเข้าสู่ยุคที่กองทัพมีอำนาจมหาศาล เราจึงได้เห็นวิธีการแก้ปัญหาด้านต่าง ๆ ด้วยวิธีการแบบทหาร
ในอนาคต หากจะมีการปฏิรูปกองทัพให้เป็นประชาธิปไตย ก็ต้องทำความเข้าใจถึงอำนาจหน้าที่นี้ของกองทัพด้วย
0000
แสดงความคิดเห็น