10 เมษา กับ 10 เรื่องพื้นฐานที่..อาจจำไม่ได้ อาจไม่เคยรู้

Posted: 10 Apr 2017 12:37 PM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

ครบรอบ 7 ปีเหตุการณ์สลายการชุมนุมเดือน เมษายน-พฤษภาคม 2553 จนถึงบัดนี้คดีความที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของผู้คนจำนวนมากยังคงไม่คืบหน้า คนส่วนใหญ่อาจลืมเลือนเหตุการณ์ รายละเอียดต่างๆ ไปหมดแล้ว คนรุ่นใหม่ก็เติบโตมาไม่ทันได้ซึมซับบรรยากาศและข้อมูลช่วงที่ยังข้นคลัก บางคนอาจจำได้เพียงลางๆ ตอน “บิ๊ก คลีนนิ่ง เดย์” เราจึงขอทบทวนเหตุการณ์นั้นอีกครั้งผ่านคำอธิบายสั้นๆ ง่ายๆ 10 ข้อ

ก่อนไปถึงตรงนั้น อาจมี “ตัวเลข” ที่สั้นกว่ามากและเป็นการทดสอบความทรงจำหรือความรับรู้ของเราๆ ท่านๆ ได้เป็นอย่างดี ตัวเลขเหล่านี้นำมาจาก “หน้าปก” ของรายงานที่ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณี เม.ย.-พ.ค.53 หรือ ศปช.รวบรวมและจัดทำไว้ ตีพิมพ์เมื่อปี 2555

3,000 คือกระสุนสำหรับการซุ่มยิงที่กองทัพเบิกไป (2,120 คือกระสุนที่ใช้ และ 880 คือกระสุนที่ส่งคืน)

117,923 คือจำนวนนัดของกระสุนที่เจ้าหน้าที่ใช้ในการสลายการชุมนุม

700,000,000 คืองบที่ตำรวจใช้กับกำลังพล 25,000 นาย

3,000,000,0000 คืองบที่ทหารใช้กับกำลังพล 67,000 นาย

1,283 คือจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งหมด

1,763 คือจำนวนคนที่ถูกจับกุมระหว่างการชุมนุมและถูกดำเนินคดี

94 คือจำนวนคนเสียชีวิต

88 คือจำนวนผู้เสียชีวิตที่เป็นผู้ชาย

6 คือจำนวนผู้เสียชีวิตที่เป็นผู้หญิง

10 คือเจ้าหน้าที่รัฐที่เสียชีวิต (ส่วนใหญ่เป็นทหาร ในจำนวนนี้มีตำรวจ 3 นาย)

2 คือสื่อมวลชนที่เสียชีวิต (สัญชาติญี่ปุ่นและอิตาลี)

6 คืออาสากู้ชีพ/อาสาพยาบาลที่เสียชีวิต

32 คือผู้เสียชีวิตที่โดนยิงที่ศีรษะ

12 คืออายุของผู้เสียชีวิตที่อายุน้อยที่สุด

1. 10 เมษาคืออะไร ?

เหตุการณ์ที่เรียกสั้นๆ ว่า 10 เมษานั้นเกิดขึ้นในปี 2553 จุดเริ่มต้นคือการชุมนุมประท้วงของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ( นปช.) หรือเรียกกันว่า “คนเสื้อแดง” ที่เริ่มตั้งแต่ 12 มีนาคมจบลงในวันที่ 19 พฤษภาคมปีเดียวกัน

หลัง นปช.ชุมนุมได้เกือบเดือน วันที่ 10 เมษายนเป็นวันแรกที่มีการบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก หลังรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตัดสินใจเข้าสลายการชุมนุม โดยในขณะนั้นใช้คำว่า “ขอคืนพื้นที่” จากผู้ชุมนุมที่ปักหลักที่สะพานผ่านฟ้าฯ ยาวถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จุดที่มีการปะทะและเสียชีวิตมากคือ ถนนดินสอและแยกคอกวัว (อ่านที่นี่) ประชาชนถูกยิงด้วยกระสุนความเร็วสูงเสียชีวิตหลายราย จนในช่วงค่ำปรากฏ “ชายชุดดำ” ยิงตอบโต้ทหาร ทำให้นายทหารเสียชีวิต 5 ราย ในจำนวนนั้นมี พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม รวมอยู่ด้วย ซึ่งต่อมาได้รับการเลื่อนยศเป็นพลเอก ยอดรวมผู้เสียชีวิตในวันนั้นคือ ประชาชน 20 คน ทหาร 5 นาย (มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเติมภายหลังบางแหล่งระบุ 1 คน บางแหล่งระบุ 2 คน)

หลังจากนั้นยังคงมีการชุมนุมของ นปช.ต่อเนื่องไปอีกและการสลายการชุมนุมก็เต็มไปด้วยความรุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะช่วงวันที่ 13-19 พ.ค.มีประชาชนเสียชีวิตเกือบ 70 คน

2. ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมคืออะไร?

ข้อเรียกร้องหลักคือ การเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นยุบสภา หลังจากดำรงตำแหน่งเมื่อเดือนธันวาคม 2551 การดำรงตำแหน่งของอภิสิทธิ์เป็นผลมาจากการที่ศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาให้ยุบพรรคพลังประชาชน (และอีก 2พรรค) ซึ่งมีเสียงข้างมากและเป็นผู้นำรัฐบาลอยู่ในเวลานั้น ทำให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ หัวหน้าพรรคพลังประชาชนพ้นจากตำแหน่งนายกฯ นับเป็นการถูกยุบพรรคเป็นครั้งที่สอง หลังจากไทยรักไทยโดนยุบพรรคไปก่อนหน้านี้ครั้งหนึ่งแล้ว

เรื่องนี้เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสที่สื่อไทยและสื่อต่างประเทศระบุว่าทหารมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ส.ส.ในสภาเข้าร่วมกับพรรคฝ่ายค้าน ไม่ว่าพรรคชาติพัฒนา พรรคภูมิใจไทย โดยเฉพาะกลุ่มเพื่อนเนวิน (เนวิน ชิดชอบ) ที่เป็นอดีตสมาชิกพรรคพลังประชาชนเดิมเปลี่ยนขั้วมาร่วมกับฝ่ายค้าน กระแสข่าวและความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองดังกล่าวทำให้คนเสื้อแดงซึ่งส่วนใหญ่เป็นฐานเสียงของพรรคพลังประชาชนไม่พอใจและรวมตัวกันประท้วงและเรียกร้องให้เกิดการยุบสภามาโดยตลอด

ปี 2553 ไม่ใช่ปีแรกของการชุมนุม ช่วงสงกรานต์ปี 2552 ก็มีการชุมนุมใหญ่ของคนเสื้อแดงบริเวณทำเนียบรัฐบาลเพื่อเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ลาออก มีการปะทะกันระหว่างทหารและผู้ชุมนุมที่บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการถูกยิงหลายราย ในการปะทะไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต แต่มีรายงานชาวบ้านนางเลิ้งเสียชีวิต 2 ราย ขณะเกิดเหตุชาวนางเลิ้งปะทะกับผู้ชุมนุมเมื่อวันที่ 13 เม.ย. 52 นอกจากนี้ยังมีผู้ชุมนุม นปช. ที่หายตัวไปแล้วพบเสียชีวิตคือ ชัยพร กันทัง อายุ 29 ปี ชาว จ.แพร่ และ นัฐพงษ์ ปองดี อายุ 23 ปี ชาว จ.อุดรธานี อาชีพ รปภ.ของกรุงไทยธุรกิจบริการซึ่งขับรถจักรยานยนต์ไปร่วมชุมนุม แล้วหายตัวไปพร้อมกันตั้งแต่วันที่ 14 เม.ย. 2552 ต่อมาเช้าวันที่ 15 เม.ย. 2552 พบเป็นศพลอยน้ำมาติดอยู่ที่ท่าเรือใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฝั่งพระนคร

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ในปีนั้นจบลงด้วยการที่แกนนำ นปช.ยินยอมสลายการชุมนุม

3. เหตุการณ์ก่อน 10 เมษา

10 เมษายนเป็นจุดหักเหที่เกิดความรุนแรงครั้งใหญ่ที่สุดในรอบเกือบสองทศวรรษ เหตุการณ์ความรุนแรงนั้นลากยาวไปจนถึงเดือนพฤษภาคม ซึ่งทำให้มียอดรวมผู้เสียชีวิตในการสลายการชุมนุมเกือบร้อยราย ผู้บาดเจ็บนับพันราย

(ศปช.ระบุมีผู้เสียชีวิต 94 รายโดยมีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยหลังการสลายการชุมนุมเสียชีวิตเพิ่มในภายหลัง, คอป.ระบุมีผู้เสียชีวิต 92 ราย ศอฉ.ระบุมีผู้เสียชีวิต 91 ราย)

ก่อนมาถึงจุดนั้น ในวันที่ 24 ก.พ. 53 แกนนำ นปช. ประกาศนัดชุมนุมใหญ่ในวันที่ 12 มีนาคม โดยการนัดหมายเกิดขึ้น 2 วัน ก่อนที่ในวันที่ 26 ก.พ.53 องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัยคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี 4.6 หมื่นล้านบาท

การชุมนุมของนปช.เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 12 มี.ค.มีความพยายามต่างๆ มากมายในการเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา รวมถึงเหตุการณ์สำคัญก่อนหน้าวันที่ 10 เมษาเพียง 1 วัน นั่นคือ คนเสื้อแดงจำนวนมากบุกยึดคืน “สถานีไทยคม” ที่ลาดหลุมแก้ว ปทุมธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ทหารเข้าคุมและตัดสัญญาณช่องทีวีดาวเทียมพีเพิลชาแนลซึ่งถ่ายทอดสดการชุมนุมของ นปช. ทำให้ทหารถูกประชาชนปลดอาวุธและเดินเท้ากลับขึ้นรถเป็นทิวแถว

เรื่องนี้วาสนา นาน่วม เขียนไว้ในหนังสือลับลวงพรางว่า ฝ่ายทหารรู้สึก “เสียเกียรติเสียศักดิ์ศรีที่ทหารหลายพันคนต้องยอมวางโล่ กระบอง และอาวุธทุกอย่างที่มี ยอมแพ้ต่อผู้ชุมนุมเสื้อแดงที่เวลานั้นยังไม่ปรากฏว่ามีกองกำลังติดอาวุธ ถูกผู้ชุมนุมยึดอาวุธ สั่งการไล่ต้อนให้เดินแถวออกสู่ทุ่งนา” และน่าจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้นำรัฐบาลและผู้นำกองทัพกู้ศักดิ์ศรีคืนด้วยยุทธการ “ขอคืนพื้นที่” ในวันรุ่งขึ้น

(อ่านรายละเอียดในล้อมกรอบการเคลื่อนไหวของ นปช.ก่อนวันที่ 10 เมษา)

4. มีคนถูกยิงที่ท้องเสียชีวิต 1 รายตั้งแต่บ่าย

คนส่วนใหญ่คิดว่าเหตุปะทะวันที่ 10 เมษาและทำให้มีคนตายมากมายนั้นเกิดในช่วงค่ำ แต่อันที่จริงแล้ว เค้าลางการสูญเสียมีตั้งแต่ช่วงบ่ายวันเดียวกัน ตรงจุดปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่บริเวณสะพานมัฆวานฯ วันดังกล่าวมีจุดที่ทหารและผู้ชุมนุมเผชิญหน้ากันในหลายจุด ไม่ว่าจะเป็นแยกวังแดง สะพานชมัยมรุเชษฐ หน้ากองทัพภาค1 สนามม้านางเลิ้ง ถนนดินสอ เป็นต้น “เกรียงไกร คำน้อย” คนขับตุ๊กๆ วัย 23 ปี คือผู้ชุมนุมรายแรกที่ถูกยิงได้รับบาดเจ็บที่สะพานมัฆวานฯ ตั้งแต่ช่วงบ่าย เขาเสียชีวิตในเวลาต่อมา ข้อมูลจากศูนย์การแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) ระบุว่าถูกยิงที่สะโพกด้วยอาวุธสงคราม กระสุนฝังในช่องท้อง ต่อมาในปี 2557 ศาลมีคำสั่งในการไต่สวนการตายว่า กระสุนดังกล่าวมาจากฝั่งทหาร
5. แก๊สน้ำตาจากเฮลิคอปเตอร์-การสลายการชุมนุมเวลากลางคืน

ช่วงราวๆ 4 โมงเย็น เฮลิคอปเตอร์เริ่มโปรยแก๊สน้ำตาบริเวณถนนราชดำเนิน แบ่งเป็น 2 ชุด มีผู้เสียชีวิตจากการโปรยแก๊สน้ำตาดังกล่าวด้วย นั่นคือ ในมนต์ชัย แซ่จอง โดยญาติผู้เสียชีวิตระบุว่ามนต์ชัยอยู่ในพื้นที่ชุมนุมโดยมีโรคประจำตัวอยู่แล้ว และเมื่อโดนแก๊สน้ำตาที่โปรยต่อเนื่องมาจากเฮลิคอปเตอร์ทำให้เขาเริ่มมีอาการราว 1 ทุ่ม หนาวสั่น หัวใจเต้นเร็วผิดปกติจนต้องส่งโรงพยาบาลและเสียชีวิตในช่วงกลางดึกคืนนั้น

หลังการโปรยแก๊สน้ำตา มีการเริ่มต้นใช้กระสุนยางในช่วงเย็น กระสุนยางแม้ไม่มีผลถึงแก่ชีวิตแต่ก็ทำให้มีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือ เบิร์ด หนุ่มวัย 24 ปี ที่วิ่งหลบกระสุนในบริเวณดังกล่าวและโดนกระสุนยางเข้าที่ตาข้างขวาทำให้ตาบอดนับแต่นั้น

6. จำแนกอาชีพ อายุ และรูกระสุนเข้า


จากรายงานข่าวหลายแหล่งระบุว่า เจ้าหน้าที่ทหารส่วนใหญ่เสียชีวิตจากการ M67 ที่ถูกโจมตีตอบโต้กลับในคืนวันดังกล่าว ขณะที่ประชาชนนั้นส่วนใหญ่เสียชีวิตจากกระสุนและทยอยเสียชีวิตตั้งแต่ เวลา 1-2 ทุ่มเศษ (อ่านรายละเอียด)



รายละเอียดอื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น

อาชีพ

- พนักงานบริษัท 3 คน
- ขับแท็กซี่ 4 คน
- ขับรถตุ๊กตุ๊ก 1 คน
- รปภ.จุฬาฯ 1 คน
- รับเหมาทำอลูมิเนียม 1 คน
- ขับรถส่งของ 1 คน
- กำลังศึกษา 2 คน
- ทำไร่อ้อย 1 คน
- ค้าขาย 2 คน
- ช่างเย็บผ้า 1 คน
- ช่างซ่อมรถโดยสาร 1 คน
- นักข่าว (ญี่ปุ่น) 1 คน
- เจ้าหน้าห้องแล็บ มหาวิทยาลัย 1 คน
- ลูกจ้างชั่วคราว สวนสัตว์ดุสิต 1 คน

7. ปริศนาชายชุดดำ

ภาพชายชุดดำที่มักปรากฏซ้ำๆ บนหน้าสื่อในช่วงที่หมอกควันเหตุการณ์ยังไม่จางนั้นอาจอยู่ในความทรงจำของใครหลายคน ต่อมาปี 2555 ข่าวสด สัมภาษณ์บุคคลในภาพดังกล่าวว่าเป็นคนเก็บของเก่าที่เข้าร่วมชุมนุมกับ นปช.ด้วยและไม่ได้เป็นชายชุดดำที่เปิดฉากตอบโต้ทหารแต่อย่างใด

ในด้านคดีความนั้น “คดีชายชุดดำ” ตำรวจจับกุมผู้ต้องหาได้ 5 คนหนึ่งในนั้นเป็นหญิง ผู้ต้องหาหลายรายมีการยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด ระบุว่า พวกเขาถูกซ้อมในกระบวนการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง (อ่าน) ต่อมาศาลพิพากษายกฟ้องคดีแรก คือ คดีครอบครองระเบิดเตรียมคาร์บอม ส่วนคดีครอบครองอาวุธนั้น ศาลพิพากษาเมื่อเดือนมกราคม 2560 ยกฟ้อง 3 ราย อีก 2 รายมีความผิดฐานครอบครองอาวุธสงคราม ลงโทษจำคุกรายละ 10 ปี โดยศาลไม่เชื่อว่าผู้ต้องหารับสารภาพในชั้นสอบสวนเพราะถูกเจ้าหน้าที่ซ้อม อย่างไรก็ตามศาลสั่งให้ขังจำเลยทั้งหมดไว้ระหว่างอุทธรณ์ โดยจำเลยทั้งหมดถูกจำคุกมาตั้งแต่กันยายน 2557 จนปัจจุบันและศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวระหว่างต่อสู้คดี (อ่านสรุปคำพิพากษา)

8. ไต่สวนการตายแล้ว 7 ศพ ศาลสั่งกระสุนมาจากฝั่งทหาร 3 ศพ

การไต่ชันสูตรพลิกศพ หรือที่เรียกภาษาปากว่า “ไต่สวนการตาย” นั้นเป็นกระบวนการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 เพื่อให้ศาลสั่งเบื้องต้นว่า ผู้ตายเป็นใคร ตายที่ไหน เมื่อใด เหตุและพฤติการณ์การตายเป็นอย่างไร ใครกระทำจากนั้นอัยการรวบรวมสำนวนหลักฐานจากพนักงานสอบสวนก่อนส่งฟ้องเป็นคดีอาญา

เท่าที่ทราบจากรายงานข่าว พบว่า มีการไต่สวนการตายแล้ว 7 ราย โดยศาลสั่งว่ากระสุนที่สังหารผู้ตายมาจาก “ฝั่งทหาร” แต่ไม่ทราบผู้ยิงที่แน่ชัด จำนวน 3 ราย ได้แก่ นายเกรียงไกร คำน้อย, นายจรูญ ฉายแม้น, นายสยาม วัฒนนุกูล ส่วนอีก 4 รายศาลสั่งว่าไม่ทราบผู้ยิงและไม่ทราบว่ากระสุนมาจากทิศทางใด ได้แก่ นายฮิโรยูกิ มูราโมโต, นายวสันต์ ภู่ทอง, นายทศชัย เมฆงามฟ้า, นายมานะ อาจราญ (ถูกยิงในสวนสัตว์ดุสิตด้วยกระสุนความเร็วสูง)

9. ไร้หนทางเอาผิดผู้สลายการชุมนุม?

นอกเหนือจากปรากฏการณ์ Big Cleaning Day ที่เกิดขึ้นในวันที่ 23 พ.ค. หลังสลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ 4 วัน นำโดยผู้ว่าฯ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ทีมงานและประชาชนราว 1,000 คน ซึ่ง ศปช.วิจารณ์ว่าอาจเป็นการทำลายพยานหลักฐานที่อาจหลงเหลืออยู่ได้นั้น

หันมองได้ด้านการดำเนินคดี ขณะที่ประชาชนผู้ชุมนุมถูกดำเนินคดีเกือบ 2,000 คน ส่วนใหญ่เป็นคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และมีจำนวนหนึ่งที่เป็นคดีอาวุธและคดีเผาศาลากลาง หลายรายถูกจำคุกมาตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน โทษสูงสุดของคดีเผาศาลากลางที่ศาลพิพากษาคือ จำคุกตลอดชีวิตในกรณีของอุบลราชธานี

ในส่วนของการดำเนินคดีกับกองทัพและผู้นำรัฐบาลหรือผู้เกี่ยวข้องในการสลายการชุมนุมนั้น เคยมีญาติของนายพัน คำกอง ผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุม(พ.ค.2553) ร่วมกับนายสมร ไหมทอง คนขับรถตู้ที่ถูกทหารยิงแต่รอดชีวิต ร่วมกันเป็นโจทก์ร่วมกับอัยการฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 59, 80, 83, 84 และ 288 จากกรณีที่ ศอฉ. มีคำสั่งใช้กำลังเจ้าหน้าที่ในการขอคืนพื้นที่จากการชุมนุมของ นปช. ระหว่าง เม.ย.-พ.ค. 2553

คดีนี้นับเป็นคดีแรกที่อัยการยื่นฟ้อง ส่วนคดีอื่นๆ สำนวนยังคงค้างอยู่ที่ดีเอสไอ อย่างไรก็ตาม คดีตัวอย่างนี้ทั้ง ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ต่างก็ยกฟ้องจำเลยทั้งสอง โดยศาลชั้นต้นระบุเหตุผลว่า เหตุเกิดในช่วงทั้งสองยังดำรงตำแหน่งทางการเมืองคดีจึงอยู่ในอำนาจศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ศาลอุทธรณ์ให้เหตุผลว่า เรื่องฟังไม่ได้ว่าทั้งสองกระทำในฐานะส่วนตัว ถือเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ทางการเมือง ต้องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เป็นผู้ชี้มูลความผิดและยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ดีเอสไอไม่มีอำนาจในการสอบสวน (เปิดคำอุทธรณ์ของญาติผู้ตาย)

ต่อมา ป.ป.ช.ก็มีมติว่า ฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว โดยมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายกับประชาชนผู้บริสุทธิ์ หรือเป็นผู้ก่อหรือใช้ให้มีการฆ่าผู้อื่น โดยเจตนาเล็งเห็นผลแต่อย่างใด คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติให้ข้อกล่าวหาตกไป

ล่าสุด ญาติที่เป็นโจทก์ร่วมยังคงฎีกาต่อ และคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกามาราว 1 ปีแล้ว ขณะนี้ยังไม่มีคำพิพากษา ทนายความในคดีนี้ระบุว่า กระบวนการที่ผ่านมาอัยการสูงสุดได้อนุญาตให้ฎีกาแล้ว และศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์รับรองให้ฎีกาได้ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดผ่านไปแล้ว คาดว่าน่าจะรอผลคำพิพากษาของศาลฎีกาอีกไม่นาน

แน่นอนว่า นี่เป็นเพียงคดีที่มุ่งฟ้องผู้นำรัฐบาลในเวลานั้น โดยที่ “กองทัพ” ยังไม่เคยก้าวมาสู่ปริมณฑลของ “จำเลย” ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาแต่อย่างใด

10. นักโทษการเมือง-“นิรโทษกรรมเหมาเข่ง”-กปปส. และรัฐประหาร

ศปช.ระบุว่า ข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้ถึงเมษายน 2555 พบว่ามีผู้ถูกจับกุมจากเหตุการณ์ในช่วงนั้น 1,857 คน เป็นคดีทั้งสิ้น 1,381 คดี ส่วนใหญ่เป็นคดีฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท ศปช.พบข้อมูลด้วยว่าในช่วงหลังการสลายการชุมนุมไม่นานนัก ศาลลงโทษจำคุกจำเลยหลายรายด้วย โดยจำเลยที่รับสารภาพจะถูกจำคุก 6 เดือน ถึง 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา ส่วนจำเลยที่ปฏิเสธและต่อสู้คดียาวนานทิ้งห่างช่วงเวลานั้น พบว่า ส่วนใหญ่ศาลจะลงโทษปรับและรอลงอาญาโทษจำคุกเกือบทั้งหมด

กรณีของคดีอาวุธและเผาศาลากลางในจังหวัดต่างๆ ในภาคอีสานนั้นเป็นคดีโทษหนัก คดีอาวุธบางรายก็ถูกจำคุกตั้งแต่ชั้นจับกุม ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก 38 ปีแต่ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง เช่นกรณี บัณฑิต สิทธิทุม ผู้ต้องหายิงอาร์พีจีใส่กระทรวงกลาโหม (อ่านที่นี่)

กรณีของการเผาศาลากลาง เช่น จังหวัดอุบล ผู้ต้องขังถูกฟ้อง 21 รายถูกคุมขังอยู่นานนับปีจนบางส่วนได้ประกันตัว มีผู้ต้องขัง 4 รายหนึ่งในนั้นเป็นผู้หญิงที่ถูกขังตั้งแต่วันจับกุมโดยไม่ได้รับการประกันตัว ศาลชั้นต้นสั่งจำคุกพวกเขา 33 ปี 12 เดือนต่อมาศาลฎีกาพิพากษาโทษเหลือ 33 ปี 4 เดือน และพิพากษาแก้ให้จำคุกจำเลยคนอื่นเพิ่มเติม โดยมีบางคนที่ถูกศาลชั้นต้นและอุทธรณ์จำคุก 1 ปีกว่าแต่ศาลฎีกาพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต เช่น ดีเจต้อย (อ่านที่นี่)

ศปช.ตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนจะมีคำพิพากษาศาลฎีกาว่า การออกหมายจับไม่รัดกุมและไม่ยึดหลักการกฎหมาย หลายกรณีใช้เพียงภาพนิ่งว่าจำเลยอยู่ในที่เกิดเหตุ บางภาพเป็นภาพถ่ายระยะไกล มืด มีการออกหมายจับบุคคลอื่นที่ไม่อยู่ในเหตุการณ์ด้วยโดยตำรวจระบุว่าเคยเห็นเขาในเหตุการณ์ครั้งก่อนๆ กระบวนการจับกุมหลายกรณีเป็นไปโดยมิชอบ เช่น หลอกให้มาตัดหญ้าที่สถานีตำรวจ หรือแจ้งว่าต้องการให้มาให้ปากคำในคดีอื่น ไม่มีการแจ้งสิทธิผู้ต้องหา และบางส่วนยังถูกบังคับข่มขู่ให้รับสารภาพ แม้การรับสารภาพในชั้นจับกุมกฎหมายไม่ให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน แต่การลงลายมือชื่อรับรองว่าเป็นคนเดียวกับในภาพถ่ายแนบท้ายหมายจับเป็นหลักฐานที่ศาลรับฟ้อง

นอกจากนี้ศปช.ยังตั้งข้อสังเกตของการพิจารณาตั้งแต่ศาลชั้นต้น โดยระบุว่า ศาลให้น้ำหนักต่อคำให้การจำเลยในชั้นสอบสวนมากกว่าการเบิกความในศาล ด้วยเหตุผลว่า “ในชั้นศาล จำเลยมีเวลาที่จะคิดปรุงแต่งข้อเท็จจริงให้ตนเองพ้นผิด” โดยไม่ตั้งข้อสงสัยต่อกระบวนการสอบสวน, ศาลให้น้ำหนักพยานหลักฐานโจทก์มากกว่าจำเลย แม้พยานโจทก์จะเบิกความเป็นคุณกับจำเลยก็ไม่ถูกหยิบมาเป็นเหตุประกอบการวินิจฉัย เช่น กรณีเจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าว กอ.รมน. ระบุว่าเมื่อมีคนพยายามเผาอาคารกรมธนารักษ์ เขาและจำเลยที่ 12 ไปช่วยกันดับไฟ แต่สุดท้ายศาลยังพิพากษาว่าจำเลยที่ 12 มีความผิดฐานร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ เป็นต้น

นี่เป็นแค่คดีตัวอย่างที่หยิบยกมา และด้วยเหตุที่มีนักโทษในคดีเกี่ยวพันกับการชุมนุมปี 2553 อยู่ในเรือนจำจำนวนไม่น้อย จึงมีแนวคิดเรื่องการออกกฎหมายนิรโทษกรรม โดย คอป.เคยเสนอไว้ว่า

“คอป. เห็นว่าการเคลื่อนไหวเพื่อผลักดันให้รัฐสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ.... ซึ่งมีผลเป็นการนิรโทษกรรมผู้กระทำผิด เป็นการเร่งรัดกระบวนการปรองดองและกระทบต่อบรรยากาศของการปรองดองในชาติ ซึ่งต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย โดยเฉพาะเหยื่อและผู้เสียหายที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการนิรโทษกรรม คอป. ขอให้ทุกฝ่ายเข้าใจว่าการนิรโทษกรรมไม่ใช่เป้าหมายสุดท้ายของการปรองดอง โดยเฉพาะในขณะที่สังคมมีความขัดแย้งสูงเช่นนี้ การนำการนิรโทษกรรมมาใช้จะต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง โดยต้องมีความเหมาะสมในแง่ของเวลา สถานการณ์และกระบวนการ และต้องพิจารณาถึงองค์รวมของหลักความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน...”

กฎหมายนิรโทษกรรมถูกผลักดันชัดเจนในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ก็ถูกกระแสต้านอย่างหนักเมื่อการนิรโทษจะกว้างขวางครอบคลุมคดีของอดีตนายกทักษิณ ชินวัตร, ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมด้วย รวมถึงคดีทางการเมืองก่อนหน้านั้นในทุกฝ่าย ครอบคลุมเวลาตั้งแต่ปี 19 ก.ย.2549-10 พ.ค.2554 การต่อต้านถูกจุดขึ้น และขยายตัวทั้งจากฝ่ายตรงข้ามและแนวร่วมของพรรคเพื่อไทยเอง จนเกิดการก่อตัวชุมนุมของ กปปส.นำโดยสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงที่เป็นผู้อำนวยการ ศอฉ.ในการสลายการชุมนุมปี 2553 การชุมของ กปปส.ต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรม ก่อนจะลามมาถึงข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง การเรียกทหารออกมาจัดการสถานการณ์ปั่นป่วน และลงท้ายด้วยการรัฐประหารโดย คสช.

การเคลื่อนไหวช่วงเดือนเมษายน 2553

16 มี.ค. รวมเลือดผู้ชุมนุมที่ร่วมบริจาค เทที่ทำเนียบรัฐบาลและหน้าที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์

20 มี.ค. ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนการชุมนุมไปย่านต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ

25 มี.ค. อาสาสมัคร 500 คนรวมตัวโกนศีรษะประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา

28-29 มี.ค. การเจราระหว่างตัวแทนรัฐบาลและตัวแทนผู้ชุมนุม ไม่ประสบผลสำเร็จ ผู้ชุมนุมเสนอยุบสภาใน 2 สัปดาห์ รัฐบาลเสนอ 9 เดือน

3 เม.ย. การชุมนุมเริ่มแบ่งเป็น 2 จุด จุดเดิมที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ และจุดใหม่ สี่แยกราชประสงค์

5 เม.ย. ศาลยกคำร้องที่อภิสิทธิ์ ในฐานะ ผอ.รมน.ยื่นคำร้องให้ศาลสั่งให้ผู้ชุมนุมออกจากแยกราชประสงค์ ศาลระบุว่า การชุมนุมดังกล่าวก่อความเดือดร้อน กระทบต่อความมั่งคงในราชอาณาจักร ใช้สิทธิเสรีภาพเกินขอบเขตของรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม ศาลเห็นว่า กอ.รมน.สามารถมีคำสั่งดำเนินการได้เองตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงที่ประกาศใช้ ไม่มีความจำเป็นต้องใช้สิทธิทางศาล

6 เม.ย. กำลังตำรวจจำนวนมากเข้าไปในพื้นที่ราชประสงค์เพื่อกดดันผู้ชุมนุม แต่สุดท้ายเจ้าหน้าที่ประชาชนจับไม้จับมือกัน แล้วเดินทางกลับ

7 เม.ย. ผู้ชุมนุมเคลื่อนไปปิดล้อมรัฐสภา ทำให้นายกฯ และคนสำคัญในรัฐบาลต้องไปอยู่ในกรมทหาราบที่ 11

9 เม.ย. กลุ่มผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งเคลื่อนไปยังสถานีไทยคม มีการตรวจค้นอาวุธทหารและบุกเข้าไปสถานีได้สำเร็จแม้มีการประทะกันบางส่วนโดยเจ้าหน้าที่ใช้น้ำฉีด แก๊สน้ำตา และกระสุนยาง ผู้ชุมนุมยึดอาวุธทหารเอามากองเพื่อให้สื่อถ่ายรูปและให้เจ้าหน้าที่ทหารระดับปฏิบัติการเดินเรียงแถวขึ้นรถกลับกรมกอง อย่างไรก็ตาม กลางดึกคืนวันนั้น ทหารประมาณ 5,000 นายเข้ายึดสถานีไทยคมไว้ได้ตามเดิม

10 เม.ย. เกิดเหตุการณ์ความรุนแรง มีผู้เสียชีวิตเป็นพลเรือน ... ราย ทหาร .... ราย

26 เม.ย. ท่ามกลางฝุ่นตลบของสงครามข้อมูลข่าวสาร พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด นำ “ผังล้มเจ้า” เผยแพร่กับผู้สื่อข่าว






แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.