สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 2-8 เม.ย. 2560
Posted: 08 Apr 2017 01:15 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท) 
 
กระทรวงแรงงานเผยสร้างอาชีพคนพิการไปแล้วกว่า 17,000 คน
 
กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ขานรับนโยบายนายกรัฐมนตรี สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้คนพิการ ช่วยหางานให้คนพิการทำงานในสถานประกอบการ ตามมาตรา 33 พร้อมเปิดโอกาสให้คนพิการขอใช้สิทธิตามมาตรา 35 เช่น ให้สัมปทาน จัดจ้างเหมาช่วงงานเพื่อให้คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการมีอาชีพ มีรายได้หากไม่ประสงค์จะทำงานในสถานประกอบการ เผยสร้างอาชีพไปแล้วกว่า 17,000 ราย พร้อมเน้นย้ำการให้บริการที่เท่าเทียมและเข้าถึงสิทธิด้านการจัดหางานอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
 
กระทรวงแรงงาน โดยนายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้สั่งการให้กรมการจัดหางานเร่งดูแลคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยจ้างงานให้คนพิการได้มีอาชีพ มีรายได้ที่เหมาะสมและได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันตามนโยบายของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยกรมการจัดหางานได้ส่งเสริมให้คนพิการมีงานทำตามมาตรา 33 และ 35 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 โดยมาตรา 33 หน่วยงานของรัฐหรือนายจ้าง/สถานประกอบการรับคนพิการที่สามารถทำงานได้ในสัดส่วนลูกจ้างคนพิการ 1 คน ต่อลูกจ้าง 100 คน ซึ่งกรมการจัดหางานได้ส่งเสริมให้นายจ้าง/สถานประกอบการและคนพิการสามารถเข้าถึงข่าวสาร สร้างโอกาสให้คนพิการ มีงานทำ มีรายได้ พึ่งพาตนเองได้ และอยู่ในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี ทั้งยังกระตุ้นให้คนพิการเห็นถึงความสำคัญของการมีงานทำ โดยรับลงทะเบียนสมัครงานสำหรับคนพิการที่สนใจทำงาน ติดต่อประสานนายจ้าง/สถานประกอบการเพื่อรับแจ้งตำแหน่งงานว่าง จัดส่งคนพิการที่ลงทะเบียนสมัครงานไปพบนายจ้างเพื่อพิจารณาบรรจุงาน จัดงานนัดพบแรงงานคนพิการ ซึ่งในปีงบประมาณ ๒๕๕๙ มีคนพิการขึ้นทะเบียนหางานกับกรมการจัดหางาน จำนวน ๓,๙๕๓ คน และบรรจุงาน จำนวน ๒,๐๘๔ คน และในปีงบประมาณ ๒๕๖๐ (ตุลาคม ๒๕๕๙ – มีนาคม ๒๕๖๐) มีคนพิการขึ้นทะเบียนหางาน จำนวน ๑,๘๔๐ คน และบรรจุงาน จำนวน ๑,๐๑๗ คน ขณะเดียวกันกรมการจัดหางานยังได้จัดโครงการส่งเสริมคนพิการทำงานในหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งขณะนี้ได้จ้างงานคนพิการไปแล้ว จำนวน 87 คน ทำงานในสำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศและในกรุงเทพมหานคร
 
สำหรับคนพิการที่ไม่สามารถทำงานหรือไม่ประสงค์จะทำงานในสถานประกอบการ สามารถดำเนินการตามมาตรา ๓๕ ทดแทนได้ กล่าวคือหน่วยงานของรัฐหรือนายจ้าง/สถานประกอบการให้สัมปทาน จัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ จัดจ้างเหมาช่วงงาน หรือช่วยเหลืออื่นใดเพื่อให้คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการมีงานทำ มีอาชีพ มีรายได้ โดยกรมการจัดหางานจะรับขึ้นทะเบียนคนพิการ/ผู้ดูแลคนพิการที่ประสงค์จะขอใช้สิทธิตามมาตรา ๓๕ และรับแจ้งการขอใช้สิทธิตามมาตรา ๓๕ จากนายจ้าง/สถานประกอบการและคนพิการ ตรวจสอบมูลค่า รวมถึงการให้คำปรึกษาการดำเนินการตามมาตรา ๓๕ ในประเภทต่างๆ ซึ่งในปีงบประมาณ ๒๕๕๙ มีคนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการขึ้นทะเบียนขอใช้สิทธิตามมาตรา ๓๕ จำนวน ๖,๓๕๖ คน และได้รับสิทธิตามมาตรา ๓๕ จำนวน ๖,๓๑๙ คน และในปีงบประมาณ ๒๕๖๐ (ตุลาคม ๒๕๕๙ – มีนาคม ๒๕๖๐) มีคนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการขึ้นทะเบียนขอใช้สิทธิตามมาตรา ๓๕ จำนวน ๘,๑๗๘ คน และได้รับสิทธิ จำนวน ๗,๙๕๔ คน
 
กรมการจัดหางานยังเน้นย้ำเรื่องการให้บริการที่เท่าเทียมและเข้าถึงสิทธิด้านการจัดหางานอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม โดยจัดทำคู่มือสำหรับเจ้าหน้าที่ ยึดหลักเกณฑ์การดำเนินงานเพื่อเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศในการดำเนินการตามมาตรา 35 เช่น มูลค่าต้องไม่น้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำตามที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนด คือ ๑๐๙,๕๐๐ บาท/ปี การจัดทำสัญญาขอใช้สิทธิของทั้งสองฝ่ายเป็นไปโดยสมัครใจ รายชื่อคนพิการที่ขอใช้สิทธิต้องไม่ซ้ำซ้อนกันโดยเจ้าหน้าที่จะต้องลงพื้นที่พบคนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการว่าได้รับสิทธิเป็นไปตามคำขอใช้สิทธิหรือไม่ เป็นต้น สอบถามรายละเอียดหรือติดต่อได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่ศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย (Smart Job Center) อาคาร 3 ชั้น ภายในกระทรวงแรงงาน เขตดินแดง กรุงเทพฯ หรือโทร.สายด่วนกรมการจัดหางาน 1694 นายวรานนท์ กล่าว
 
ที่มา: กระทรวงแรงงาน, 2/4/2560
 
กระทรวงแรงงาน ชี้แจงการช่วยเหลือลูกจ้างสหรัตนนครที่ถูกเลิกจ้าง
 
กระทรวงแรงงาน ชี้แจงการช่วยเหลือลูกจ้างสหรัตนนครที่ถูกเลิกจ้าง โดยประสานให้ลูกจ้างยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานภาค ๑ ให้นายจ้างปฎิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน นัดพิจารณาไกล่เกลี่ย ๒๒ พฤษภาคมนี้
 
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงการดำเนินการให้ความช่วยเหลือลูกจ้าง ๓๗ คน ของบริษัท สหรัตนนคร จำกัด ที่ถูกเลิกจ้างว่ากรณีสืบเนื่องมาจากบริษัท สหรัตนนคร จำกัด ประกอบกิจการจัดสรรที่ดินและบริการสาธารณูปโภคสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่เลขที่ ๖๑๑/๔๐ ถนนเจริญกรุง บางคอแหลม กทม. และมีสาขาอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายจ้างขาดสภาพคล่องทางการเงินและศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ประกาศให้นายจ้างหยุดประกอบกิจการและให้เลิกจ้างพนักงานของบริษัทฯโดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๙ เป็นต้นมา พนักงานตรวจแรงงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้รับคำร้องของลูกจ้างทั้ง ๓๗ คน และได้มีคำสั่งให้บริษัท สหรัตนนคร จำกัดโดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัท สหรัตนนคร จำกัด นายจ้าง จ่ายค่าจ้าง ค่าชดเชย และค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้กับลูกจ้าง ซึ่งทางนายจ้างได้รับคำสั่งแล้วและไม่ได้นำคดีไปสู่ศาลคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานจึงเป็นที่สุด นอกจากนี้กสร.ได้ให้ลูกจ้างมาใช้สิทธิขอรับเงินสงเคราะห์จากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ซึ่งขณะนี้เรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกองทุนฯ ทั้งนี้ เมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๖๐ พนักงานตรวจแรงงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ประสานให้ลูกจ้างยื่นคำฟ้องต่อศาลแรงงานภาค ๑ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อบังคับให้บริษัท สหรัตนนคร จำกัด โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัท สหรัตนนคร จำกัด นายจ้างปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน ซึ่งศาลแรงงานภาค ๑ นัดพิจารณาและไกล่เกลี่ยในวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๖๐ ต่อไป
 
 
เตรียมจัดสอบบรรจุข้าราชการ อปท. 14,000 อัตรา เดือน พ.ค. 2560 นี้
 
นายปรีชา สุขรอด ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) แพร่ ในฐานะ คณะกรรมการกลางข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ก.จ.) และคณะกรรมการกลางการสอบแข่งขันพนักงานส่วนท้องถิ่น (กสถ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ก.กลาง มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์การสอบแข่งขันบุคคลภายนอกเข้ารับราชการ พ.ศ.2560 ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 8/2560 แล้ว โดยแบ่งสนามสอบเป็น 10 เขต มีการขึ้นบัญชีผู้สอบผ่านตามเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อบรรจุแต่งตั้งใน อบจ. อบต. และเทศบาล ตามเขตที่สอบจำนวน 84 ตำแหน่ง 14,653 อัตรา แบ่งเป็นประเภทวิชาการ 58 ตำแหน่ง 6,350 อัตรา และประเภททั่วไป 27 ตำแหน่ง 8,303 อัตรา โดยบรรจุแต่งตั้งผู้สอบแข่งขันได้เรียงตามลำดับที่สอบได้ตามเขตนั้นๆ เมื่อบัญชีสอบเขตใดหมดสามารถขอใช้บัญชีข้ามเขตได้ คาดว่าจะมีผู้สมัครสอบกว่า 6 แสนคนจากทั่วประเทศ
 
“สำหรับการสอบภาค ก. ความรู้ความสามารถทั่วไป กสถ.จะไม่ใช้ผลสอบภาค ก. ของสำนักงาน ก.พ. แต่จะให้สอบใหม่ทั้งหมด และตำแหน่งที่ใช้ วุฒิปริญญาตรีขึ้นไปจะมีการสอบภาษาอังกฤษ ทั้งนี้ การสอบภาค ก. จะมีการออกข้อสอบจากการใช้กฎหมายกลาง ที่ทุกตำแหน่งต้องใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ ส่วนการคัดเลือก มหาวิทยาลัยผู้จัดสอบจะดำเนินการโดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น คาดว่าจะสามารถประกาศรับสมัครสอบทางอินเตอร์เน็ตประมาณเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนนี้ ส่วนปัญหาที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าสถาบันการศึกษาที่มีปัญหาในการออกข้อสอบขอชี้แจงการออกข้อสอบครั้งนี้ กสถ.จะกำหนดขอบเขตให้รัดกุมขึ้น เพื่อไม่ให้มีปัญหาเหมือนการสอบเมื่อปี 2556” นายปรีชากล่าว
 
 
เครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่รับคัดกรองคนยังหละหลวม เสนอรัฐวางมาตรการเพิ่ม
 
นายวิฑูรย์ แนวพานิช ประธานเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ในเขตกรุงเทพมหานคร ยอมรับถึง ข่าวไม่ดีเกี่ยวกับการให้บริการแท็กซี่ที่ออกมาบ่อยครั้งจนกระทบต่อภาพลักษณ์ของผู้ให้บริการแท็กซี่ส่วนใหญ่ โดยเปิดเผยว่า จากนโยบายการเปิดเสรีรถแท็กซี่ในอดีต ทำให้ปัจจุบันรถแท็กซี่ที่จดทะเบียนมีจำนวนมากถึง 170,000 คัน ในจำนวนนี้ มีแท็กซี่ปลดระวาง ราว 60,000 คัน แต่มีรถที่มีคนขับวิ่งให้บริการจริงอยู่ราว 100,000 คัน โดยแต่ละวันประเมินว่ามีการวิ่งให้บริการคันละ 15 เที่ยว เที่ยวละ 2 คน ก็จะมีผู้โดยสารรถแท็กซี่รวมอยู่กว่า 3 ล้านคน ซึ่งหากมีแท็กซี่ที่กระทำผิด 10 เปอร์เซ็นต์ ก็จะมีผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบจำนวนมาก
 
นายวิฑูรย์ ยอมรับว่า ปัจจัยเบื้องต้นคือ ผู้ขับขี่รถแท็กซี่ มีอิสระในการเลือกสหกรณ์ หรือ ขับขี่รถแท็กซี่ส่วนบุคคล การเปิดเสรีฯ ทำให้การควบคุมคุณภาพทำได้ยาก เนื่องจากปัจจัยปัญหาต่างจากในอดีต รวมถึง การเปิดเสรีฯ ทำให้จำนวนแท็กซี่ในตลาดมีจำนวนมาก แต่คนขับมีน้อย จึงเกิดการแย่งตัวคนขับ โดยไม่พิจารณาคุณสมบัติให้รอบคอบ และแต่ละสหกรณ์ก็มีนโยบายการอบรมพนักงานที่แตกต่างกัน
 
ขณะที่กรมการขนส่งทางบก ทำได้เพียงการ จับ และปรับ ตามกฎหมาย แต่ก็ไม่สามารถครอบคลุมได้ทั้งหมดเนื่องจากเจ้าหน้าที่มีจำกัด ส่วนการคัดกรองผู้ขับขี่ ก็ทำได้เพียง การสอบประวัติอาชญากรรม และ สอบความสามารถในการขับขี่ แต่ยังขาดเรื่องการอบรมด้านการบริการ
 
ดังนั้น จึงเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหา สะท้อนจากมุมของผู้ประกอบการรถแท็กซี่ คือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรยกระดับการกลั่นกรองผู้ขับขี่ให้เข้มงวดมากขึ้น กำหนดระเบียบให้ ผู้ประกอบการ หรือ สหกรณ์ ต้องมีการอบรมพนักงานด้านบริการ เพิ่มเติม ที่สำคัญ เสนอให้ กรมการขนส่งทางบก พัฒนาด้านเทคโนโลยี เช่น การติดตั้งระบบจีพีเอส และติดตั้งกล้องในรถแท็กซี่ รวมถึง ติดตั้งเครื่องอ่านบัตรประชาชนของผู้ขับแท็กซี่ ก่อนออกรถ (เช่นเดียวกับมาตรการที่ใช้ในรถตู้โดยสารสาธารณะ) ซึ่งจะส่งข้อมูลการขับขี่ไปยังศูนย์ควบคุมรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งจะช่วยควบคุมพฤติกรรมการขับขี่ของรถแท็กซี่ นอกจากนี้ยังเสนอให้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ฯ เพิ่มการอบรมพัฒนาบุคลากร และผู้ขับขี่รถแท็กซี่ให้มีใจรักด้านบริการ โดยเห็นว่า เมื่อพัฒนาทั้งเทคโนโลยีและพัฒนาคนแล้ว ก็จะช่วยให้ปัญหาแท็กซี่ลดลงได้
 
นายวิฑูรย์ ยังแสดงความเห็นด้วยกับแนวคิดของนักวิชาการด้านโลจิสติกส์ ทีดีอาร์ไอ ที่เสนอให้มีการปรับโครงสร้างระบบรถแท็กซี่ใหม่ ให้อยู่ในรูปของบริษัท เพื่อให้ง่ายต่อการกำกับดูแลคุณภาพ แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาลว่าจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร และอยากให้พิจารณาเรื่องการปรับราคาเพื่อให้จูงใจคนขับไม่ให้ปฏิเสธผู้โดยสาร ยกระดับคุณภาพของแท็กซี่ และสอดรับกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน
 
 
ครม.ไฟเขียวร่าง พ.ร.บ.การกลับเป็นผู้ประกันตน
 
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ว่า ครม.มีมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.การกลับเป็นผู้ประกันตน โดยให้ผู้ที่สิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตน เพราะไม่นำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนเงินประกันสังคมมีโอกาสกลับเป็นผู้ประกันตนอีกได้ เพื่อสร้างหลักประกันและความมั่นคงในการดำรงชีวิตให้แก่ประชาชนผู้เป็นหลักประกันตน
 
สำหรับที่ผ่านมากำหนดให้ผู้ที่อยู่ในประกันสังคม เมื่อสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง หากมีความประสงค์จะเป็นผู้ประกันตนต่อ ให้แสดงความจำนงต่อสำนักงานประกันสังคมภายใน 6 เดือนนับตั้งแต่วันสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันทั้งนี้หากผู้ประกันตนที่ขอต่ออายุขาดส่งเงินสมทบ 3 เดือนติดต่อกันหรือภายในระยะเวลา 12 เดือน จะสิ้นสภาพทันที ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า มีผู้สิ้นสภาพสูงถึง 950,000 ราย ทำให้กระทรวงแรงงานเสนอกฎหมายดังกล่าวเพื่อให้กลุ่มดังกล่าวสามารถกลับมาเป็นผู้ประกันตนได้ โดยไม่ต้องจ่ายเงินสมทบย้อนหลังแม้ขาดส่งเป็นระยะเวลา 20 ปี ทั้งนี้ผู้ประกันตนจะได้รับสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับที่ผ่านมา กรณีเจ็บป่วยหรือประสบอันตราย กรณีทุพลภาพ กรณีตายอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน กรณีคลอดบุตร กรณีสงเคราะห์บุตร และกรณีชราภาพ
 
 
ขยายสิทธิประโยชน์ประกันสังคม ม. 40 เพิ่มเงินชดเชยการขาดรายได้จากวันละ 200 บาทเป็น 300 บาท และปรับเพิ่มเงินชดเชยการเสียชีวิตจาก 20,000 บาท
 
ม.ล.ปุณฑริก กล่าวว่า จะมีการผลักดันให้เป็นของขวัญสำหรับแรงงานนอกระบบให้ทันวันเมเดย์ 1 พ.ค.หรือวันแรงงานแห่งชาติ นั้นจะมีการปรับสวัสดิการตามมาตรา 40 ของกฎหมายประกันสังคม โดยการเพิ่มสิทธิประโยชน์ เช่น การปรับอัตราการการทดแทนรายได้จากการว่างงานของแรงงานนอกระบบจาก 200 บาท เป็น 300 บาท นอกจากนี้จะพิจารณาขยายสิทธิ์ประโยชน์เงินชดเชยกรณีเสียชีวิตจาก 20,000 บาท เป็น 40,000 บาท ตามข้อเรียกร้องของกลุ่มแรงงานนอกระบบ
 
“ระยะสั้นถือเป็นของขวัญให้กับแรงงานนอกระบบคือการปรับสิทธิประโยชน์ในเรื่องอะตราการทดแทนรายได้จากการว่างงานและสิทธิ์ประโยชน์ กรณีการเสียชีวิต ซึ่งคิดในวันเมเดย์นี้น่าจะทำได้" ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว
 
ในการปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์สำหรับแรงงานนอกระบบที่มีการส่งเงินประกันตนเองตามมาตรา 40 ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณานั้น จะมี 3 ทางเลือกในการจ่ายเงินสมทบ คือทางเลือก ที่ 1 จ่ายเงินสมทบ 100 บาทต่อเดือน โดยเป็นการเก็บจากผู้ประกันตน 70 บาทต่อเดือน รัฐบาลร่วมสมทบ 30 บาทต่อเดือน เดิมได้รับการคุ้มครอง 3 กรณี คือ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ และกรณีตาย ส่วนทางเลือกที่ 2 จ่ายเงินสมทบ 150 บาทต่อเดือน โดยเก็บจากผู้ประกันตน 100 บาทต่อเดือนและรัฐบาลร่วมสมทบ 50 บาทต่อเดือน ได้รับความคุ้มครอง 4 กรณี คือ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย และกรณีบำเหน็จชราภาพ
 
ส่วนสิทธิประโยชน์ที่ทีการขยายเพิ่มมี 4 กรณี คือกรณีที่ 1 เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วยถ้านอนรพ.ตั้งแต่ 1 วันขึ้นไป ในอัตราวันละ 300 บาท ไม่เกิน 30 วันต่อปี 2.เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยที่ไม่ได้นอนรพ. แต่แพทย์ให้หยุดพักรักษาตัวตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป ในอัตราวันละ 200 บาท ไม่เกิน 30 วันต่อปี ทั้งนี้ผู้ประกันตนที่ได้รับสิทธิเงินทดแทนตามข้อ 1 และข้อ 2 เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 30 วันต่อปี 3. เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยพบแพทย์แต่ไม่ได้นอนรพ. จะต้องมีใบรับรองแพทย์เพื่อให้ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ อัตราครั้งละ 50 บาท แต่ไม่เกินคนละ 3 ครั้งต่อปี
 
กรณีที่ 2 เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพเดิมชดเชยให้ 500 – 1,000 บาทต่อเดือน นาน 15 ปี ถ้าเสียชีวิตก่อนครบ 15 ปี ก็มีสิทธิได้รับเงินค่าทำศพ 20,000 บาท กรณีที่ 3 เงินค่าทำศพ 20,000 บาท สิทธิที่ปรับปรุงใหม่ก็ยังให้ค่าทำศพ 20,000 บาท แต่ถ้าส่งเงินสบทบมาแล้ว 60 เดือน ก็จะจ่ายเพิ่มอีก 3,000 บาท และ กรณีที่ 4 เงินบำเหน็จกรณีชราภาพ เงินสมทบบำเหน็จ ชราภาพเดือนละ 50 บาท และสามารถออมเงินสมทบเพิ่มได้ไม่เกิน 1,000 บาทต่อเดือน
 
ส่วนทางเลือกที่ 3 จัดเก็บอัตราเงินสมทบ 450 บาทต่อเดือน โดยผู้ประกันตนจ่าย 300 บาทต่อเดือน รัฐบาลสมทบ 150 บาทต่อเดือน ได้รับสิทธิดังนี้
 
1. เงินทดแทนการขาดรายได้จากการเจ็บป่วย โดย เมื่อนอนรพ.ตั้งแต่ 1 วันขึ้นไป หรือแพทย์ระบุให้หยุดงานตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป ในอัตราวันละ 300 บาท ไม่เกิน 90 วันต่อปี ส่วนกรณีไม่ได้นอนพักรักษาตัวในรพ.แต่แพทย์ให้หยุดพักรักษาตัวตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป ในอัตราวันละ 200 บาท ไม่เกิน 90 วันต่อปี เงื่อนไขการเกิดสิทธิยังคงเดิม ทั้งนี้ผู้ประกันตนที่ได้รับสิทธิเงินทดแทนการขาดรายได้ตามข้อ 1 และข้อ 2 เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 90 วันต่อปี
2. เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพอัตราเดือนละ 500 – 1,000 บาทตลอดชีวิต เงื่อนไขการเกิดสิทธิยังคงเดิม
3.เงินค่าทำศพ อัตรา 40,000 บาท เงื่อนไขการเกิดสิทธิยังคงเดิม
4. เงินสงเคราะห์บุตร อัตราคนละ 200 บาทต่อเดือน คราวละ 2 คน โดยอุดหนุนตั้งแต่อายุแรกเกิดจนถึงอายุ 6 ปี เงื่อนไขการเกิดสิทธิภายใน 36 เดือน ผู้ประกันตนได้ส่งเงินสมทบมาแล้ว 24 เดือน และในระหว่างที่ได้รับเงินสงเคราะห์บุตรหากเดือนใดผู้ประกันตนไม่ได้นำส่งเงินสมทบก็ไม่มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์บุตรในเดือนนั้น
5. เงินสมทบกรณีบำเหน็จชราภาพ ในอัตราเดือนละ 150 บาท ทั้งนี้หากส่งเงินสมทบครบ 180 เดือนจะได้รับเงินเพิ่มอีก จำนวน 10,000 บาท
 
 
ไทยอนุญาตแรงงานต่างด้าวกลับบ้านฉลองสงกรานต์ได้ถึงสิ้นเดือน
 
พ.ต.อ.พัลลภ สุริยกุล ณ อยุธยา ผกก.ตรวจคนเข้าเมืองหนองคาย กล่าวว่า จากประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมาที่อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ สามารถเดินทางออกนอกราชอาณาจักร กลับประเทศต้นทางเพื่อไปร่วมงานประเพณีสงกรานต์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 5-30 เม.ย.2560 เจ้าหน้าที่ที่อยู่ประจำด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทย – ลาว ทั้งตรวจคนเข้าเมืองหนองคาย และศุลกากรหนองคาย ต่างเตรียมความพร้อมให้บริการ แรงงานต่างด้าวเหล่านี้เดินทางกลับประเทศ
 
ทางการไทยได้ผ่อนผันให้คนต่างด้าวทั้งสามสัญชาติ ซึ่งเข้ามาทำงานในประเทศไทย ตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการจ้างแรงงาน หรือได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็นกรณีพิเศษ สามารถเดินทางกลับไปบ้านเกิ ดในช่วงเทศกาลสงกรานต์แล้วกลับเข้ามาทำงานได้อีก ซึ่งแรงงานต่างด้าวจะมีบัตรสีชมพูเป็นเอกสารแสดงตัวกับเจ้าหน้าที่ พร้อมทั้งนายจ้างหรือแรงงานต่างด้าว ที่มีนายจ้างคนเดียวกันรวบรวมรายชื่อ พร้อมสำเนาบัตรประจำตัว คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยของคนต่างด้าว ไปยื่นขอหนังสือรับรองจากกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานหรือหน่วยงานในสังกัด สำหรับใช้เป็นเอกสารหลักฐานแสดงต่อเจ้าหน้าที่ ตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองเพื่อประทับตรา ในการเดินทางออกนอกราชอาณาจักร หรือเข้ามาในราชอาณาจักร และได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมในการดำเนินการ หากคนต่างด้าวเดินทางออกนอกประเทศ ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองใดก็ต้องเดินทางกลับด่านเดิม และหากแรงงานต่างด้าวไม่เดินทางกลับเข้ามาภายในวันที่ 30 เมษายน 2560 ถือว่าการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรไทยสิ้นสุด
 
 
สำนักงานประกันสังคม เผยผู้ประกันตนตอบรับใช้บริการส่งเสริมสุขภาพดี เร่งเพิ่ม รพ.ต้นแบบการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคทั่วประเทศอีก 40 แห่ง
 
นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวว่ารัฐบาล และกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญในการดูแลคุ้มครองให้สิทธิประโยชน์กรณีเจ็บป่วยของผู้ประกันตน รวมถึงส่งเสริมคุณภาพชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานประกันสังคม ได้ดำเนินงานเพื่อสอดรับนโยบายดังกล่าว โดยได้ดำเนินการเพิ่มสิทธิให้ผู้ประกันตนกรณีส่งเสริมสุขภาพ ให้ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับบริการตรวจสุขภาพทั่วไป เพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยงภาวะผิดปกติหรือโรคซึ่งนำไปสู่การป้องกันหรือรักษา อาทิ
 
การตรวจเต้านมเพื่อคัดกรองมะเร็งเต้านม การตรวจความเข้มข้นของโลหิต เพื่อคัดกรองภาวะโลหิตจาง การตรวจน้ำตาลในเลือด การตรวจการทำงานของไต การตรวจไขมันในเส้นเลือด เพื่อหาความเสี่ยงโรคเรื้อรัง โดยการเข้ารับบริการตรวจสุขภาพตามข้างต้นจะไม่เสียค่าใช้จ่าย เพียงยื่นบัตรประจำตัวประชาชนและบัตรรับรองสิทธิการรักษาพยาบาล ณ สถานพยาบาลตามที่ผู้ประกันตนเลือกไว้
 
โดยผลดำเนินงานการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตนสามารถตรวจสุขภาพได้ดังกล่าว ข้อมูลจากสำนักจัดระบบบริการทางการแพทย์ สำนักงานประกันสังคม ณ วันที่ 1 มกราคม ถึง 16 มีนาคม 2560 พบว่ามีโรงพยาบาลที่ให้บริการตรวจสุขภาพแก่ผู้ประกันตนทั้งหมด 176 แห่ง (คิดเป็นร้อยละ 73.64) แยกเป็น โรงพยาบาลรัฐบาล 105 แห่ง (คิดเป็นร้อยละ 66) โรงพยาบาลเอกชน 71 แห่ง (คิดเป็นร้อยละ 88.75) และผู้ประกันตนเข้ารับบริการตรวจสุขภาพ จำนวน 73,943 ครั้ง โดยสำนักงานประกันสังคมจะต้องจ่ายเงินให้แก่สถานพยาบาลเป็นเงินทั้งสิ้น 41.24 ล้านบาท ผ่านระบบ e – claim ของสำนักงานประกันสังคม
 
นายสุรเดช กล่าวในตอนท้ายว่า การเพิ่มสิทธิให้ผู้ประกันตน สามารถตรวจสุขภาพได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สะท้อนให้เห็นถึงความพร้อมและความร่วมมืออย่างดียิ่งของสถานพยาบาลในโครงการประกันสังคม และเพื่อขยายผลโครงการดังกล่าว สำนักงานประกันสังคมได้จัดทำโครงการสถานพยาบาลต้นแบบการส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรคทั่วประเทศ จำนวน 40 แห่ง เพื่อให้ผู้ประกันตนเข้าถึงการบริการตรวจสุขภาพและสร้างทัศนคติที่ดีต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รวมถึงเพื่อให้โรงพยาบาลได้ติดตามดูแลการรักษาผู้ประกันตนอย่างต่อเนื่องหากพบความผิดปกติ
 
นอกจากนี้สำนักงานประกันสังคมยังสำรวจความร่วมมือของสถานพยาบาลในการบริการและความพึงพอใจของผู้ประกันตน เพื่อนำมาพัฒนาสิทธิประโยชน์การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป
 
 
แรงงานพม่าแห่กลับฉลองสงกรานต์บ้านเกิดแน่นด่านฯ แม่สอด
 
(5 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หน้าด่านพรมแดนแม่สอด สะพานมิตรภาพไทย-พม่าข้ามแม่น้ำเมยคึกคัก เต็มไปด้วยแรงงานต่างด้าวชาวพม่าที่มายืนรอเวลาทำเอกสารเพื่อเดินทางกลับประเทศพม่า เนื่องจากวันนี้เป็นวันแรกที่ ครม.มีมติอนุมัติผ่อนผันแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว พม่า เดินทางกลับประเทศเพื่อร่วมงานประเพณีสงกรานต์ประจำปี 2560 ระหว่างวันที่ 5-30 เม.ย.นี้ จำนวน 26 วัน โดยยกเว้นค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการเดินทางออกนอกประเทศ และกลับเข้าประเทศ ทั้งแรงงานที่ถือทั้งบัตรสีชมพู และพาสปอร์ต
 
โดย พ.ต.อ.สมชาย เดชแพ ผกก.ด่าน ตม.แม่สอด จ.ตาก พร้อมเจ้าหน้าที่ ได้เปิดช่องทางเพื่อบริการเต็มอัตราจำนวน 16 ช่องทาง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้แรงงานชาวพม่าโดยเฉพาะ อีกทั้งเพื่อแก้ปัญหาไม่ให้แออัดบริเวณด่าน ผู้ใช้บริการจะได้ทยอยเข้าคิวทำเอกสารเพื่อเดินทางข้ามฝั่งกลับบ้านเกิดโดยเร็ว ขณะเดียวกัน รถบริการรับผู้โดยสารจากฝั่งต่างพม่าขาเข้าก็แน่นด่านล้นจนถึงบนสะพาน เพื่อมารอรับคนพม่าที่จะเดินทางกลับบ้าน
 
นายหม่องโม อายุ 28 ปี ชาวผาอัน พม่า กล่าวว่า ตนไปทำงานที่โรงงานไวไว จ.นครปฐม รู้สึกดีใจที่รัฐบาลไทยได้ยกเว้นค่าธรรมเนียมทั้งขาเข้า-ขาออก ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับบ้านไปได้ส่วนหนึ่ง หลังจากเสร็จการฉลองงานสงกรานต์จะเดินทางกลับไปทำงานที่เดิมอีก
 
 
แรงงานลาวเริ่มทยอยกลับ หลังครม.งดเว้นค่าธรรมเนียมผ่านแดนช่วงสงกรานต์ เริ่มวันนี้วันแรก
 
เมื่อเวลา 9.00 น. วันที่ 5 เมษายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้เป็นวันแรกหลังคณะรัฐมนตรีมีมติผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ คือ เมียนมา ลาว และกัมพูชา ที่ถือบัตร สีชมพูให้สามารถกลับภูมิลำเนาได้ในช่วงเทศกาลสงกรานต์และต้องกลับเข้าประเทศไทยภายในวันที่ 30 เมษายนนี้เท่านั้น โดยบรรยากาศเช้าวันนี้ที่บริเวณด่านศุลกากรบึงกาฬเจ้าหน้าที่ที่อยู่ประจำด่าน ทั้งตำรวจตรวจคนเข้าเมือง เจ้าหน้าที่ศุลกากร เตรียมความพร้อมให้บริการแรงงานต่างด้าวเดินทางกลับประเทศภูมิลำเนาในช่วงวันเวลาดังกล่าว ซึ่งก็มีแรงงานชาวลาวเริ่มทยอยกลับบ้านไปบ้างแล้วเป็นบางส่วน
 
สืบเนื่องจากคณะรัฐมนตรีมีมติผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ คือ เมียนมา ลาว และกัมพูชา ที่ถือบัตรสีชมพูให้สามารถกลับภูมิลำเนาได้ในช่วงเทศกาลสงกรานต์และต้องกลับเข้าประเทศไทยภายในวันที่ 30 เมษายนนี้เท่านั้น ซึ่งนายจ้างและแรงงานต่างด้าวจะต้องไปขอหนังสือรับรองการออกนอกประเทศจากกรมการจัดหางาน หรือสำนักงานจัดหางานจังหวัดในพื้นที่ที่ทำงานอยู่ เพื่อนำไปเป็นหลักฐานคู่กับบัตรสีชมพูประกอบการยื่นที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง ตามแนวชายแดนที่แรงงานต่างด้าวจะเดินทางออกนอกประเทศ เพื่อตรวจลงตราประทับวีซ่า โดยไม่มีค่าธรรมเนียม และต้องเดินทางกลับมาตามระยะเวลาที่กำหนด ในจุดผ่านแดนเดิมที่เดินทางออกไป ส่วนแรงงาน ที่ถือหนังสือเดินทางออกนอกประเทศในช่วงเวลาดังกล่าว และกลับมาไม่ทันจะต้องไปดำเนินการขอกลับเข้าประเทศไทยในรูปแบบ Re-Entry ซึ่งจะไม่ได้รับการงดเว้นค่าธรรมเนียมในการเดินทางเข้าออกประเทศไทย
 
คาดการณ์ว่าจะมีแรงงานเดินทางกลับภูมิลำเนาจำนวนมาก ทั้งนี้ก่อนถึงเทศกาลสงกรานต์กระทรวงมหาดไทยจะต้องออกประกาศรองรับการผ่อนผันให้แรงงานกลับภูมิลำเนาได้ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ควบคู่กับการแก้กฎหมายรองรับการงดเว้นค่าทำเนียมการผ่านแดน
 
 
เปิด 3 สาเหตุทำพยาบาลขาดแคลน คนรุ่นใหม่ออกจากวิชาชีพเร็วขึ้
 
ปิด 3 สาเหตุทำพยาบาลขาดแคลน 1.รักษาในระบบไว้ไม่ได้ รุ่นใหม่ออกจากวิชาชีพเร็วขึ้น 2.กระจายบุคลากรไม่ดี 3.ใช้ประโยชน์จากพยาบาลไม่เต็มประสิทธิภาพ เหตุให้ทำงานอื่นจนกระทบงานหลัก ระบุอนาคตต้องการพยาบาลมากขึ้นตามสถานการณ์สังคมที่มีผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรังเพิ่มขึ้
 
เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2560 ดร.กฤษดา แสวงดี นักวิจัยอาวุโสด้านนโยบายกำลังคน และอุปนายกสภาการพยาบาล กล่าวในเวที สช.เจาะประเด็นหัวข้อ “ล้นตลาดหรือขาดแคลน! ถึงเวลา ‘สแกน’ กำลังคนด้านสุขภาพ”ว่า นโยบายการกระจายบริการสุขภาพ ในรูปแบบ ‘คลินิกหมอครอบครัว’ ใกล้บ้าน เริ่มเกิดขึ้นเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการสุขภาพพื้นฐานที่จำเป็น รวมทั้งการรักษาพยาบาลและดูแลต่อเนื่องในผู้ป่วยโรคเรื้อรัง มีแพทย์ พยาบาล และบุคลากรสุขภาพประจำครอบครัวคอยให้คำปรึกษา บุคลากรต่างๆ ทำงานร่วมกันเป็นทีม ดูแลสุขภาพแบบองค์รวมทั้งรักษาพยาบาล ส่งเสริม ป้องกันโรค และการฟื้นฟู โดยกำหนดให้แพทย์ 1 คน รับผิดชอบประชาชน 10,000 คน และมีพยาบาล 1 คนต่อประชาชน 2,500 คน
 
“การแบ่งความรับผิดชอบเป็นทีมเช่นนี้ เสมือนว่าประชาชนทุกครัวเรือนมีญาติเป็นแพทย์ เป็นพยาบาล เป็นบุคลากรสุขภาพที่พึ่งพาได้ ทำให้ประชาชนได้รับการบริการดูแลอย่างใกล้ชิด แล้วยังลดความแออัดของโรงพยาบาลอีกด้วย โครงการในลักษณะนี้อาจมีชื่อเรียกต่างๆ กัน เช่น คลินิกใกล้บ้านใกล้ใจ คลินิกชุมชนอบอุ่น ทีมหมอครอบครัว หรือคลินิกหมอครอบครัว”
 
สำหรับรูปแบบการทำงานของระบบสุขภาพในอนาคต ควรเป็นแบบ ทีมทักษะผสม (Skill Mixed) เช่น การตรวจรักษาโรคง่ายๆ พยาบาลเวชปฏิบัติทำได้เอง ช่วยลดจำนวนแพทย์ที่ต้องทำงานนี้ลง หรือในการสร้างเสริมสุขภาพ เป็นทักษะที่นักสาธารณสุขทำได้ดี ก็จะช่วยลดในส่วนนี้ของพยาบาลได้
 
ในส่วนของวิชาชีพพยาบาล ดร.กฤษดา ในฐานะอุปนายกสภาการพยาบาล มองว่า ปัจจุบันปัญหาการขาดแคลนพยาบาลเป็นผลจาก 3 สาเหตุ คือ
1.ไม่สามารถรักษาพยาบาลไว้ในระบบบริการสุขภาพได้ พยาบาลรุ่นใหม่ออกจากวิชาชีพเร็วขึ้น
2.การกระจายพยาบาลในแต่ละหน่วยบริการยังไม่ดีพอ มีการกระจุกตัว บางพื้นที่ขาดอัตรากำลังอย่างรุนแรง บางพื้นที่มีกำลังคนเหลือ
3.การใช้ประโยชน์จากพยาบาลไม่เต็มศักยภาพ มอบหมายงานอย่างอื่นให้พยาบาลทำ จนกระทบหน้าที่หลัก
 
“ความต้องการอัตรากำลังพยาบาลในอนาคตจะมากขึ้นตามสภาพสังคมที่มีผู้ป่วยเรื้อรังและผู้สูงอายุมากขึ้น ต้องการการดูแล (Care) และการดูแลระยะยาว ดูแลที่บ้าน มากกว่าการรักษา (Cure) ดังนั้น นอกจากเพิ่มการผลิตให้เพียงพอแล้ว ที่สำคัญคือต้องธำรงรักษาพยาบาลไว้ในระบบให้ได้ และต้องหามาตรการสนับสนุนให้พยาบาลที่ออกจากวิชาชีพไปแล้วหรือเกษียณอายุมีโอกาสเข้ามาเป็น พยาบาลประจำครอบครัว หรือดำเนินกิจการดูแลผู้สูงอายุ หรือ long term care ก็จะช่วยเพิ่มกำลังคนได้อีกส่วนหนึ่ง”
 
ดร.กฤษดา กล่าวว่า สำหรับการผลิตบุคลากรด้านสาธารณสุขนั้นจะต้องเป็นการผลิตเพื่อบทบาทใหม่รองรับแนวทางการส่งเสริมป้องกันโรค จากผู้รักษาเป็นผู้ให้ความรู้ที่ถูกต้องกับประชาชน เพื่อให้ปฏิบัติสุขภาพของตนเองได้ถูกต้อง
 
 
กระทรวงแรงงานร่วมมือ สสส.และภาคี MOU แผนบริหารแรงงานนอกระบบ หวังยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน 21 ล้านคน
 
วันที่ 5 เม.ย. ที่โรงแรมเซนจูรี่ปาร์ค กรุงเทพฯ กระทรวงแรงงาน ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ พ.ศ.2560-2564 สู่การปฏิบัติ เพื่อทำแผนกลยุทธการขับเคลื่อนงานในจังหวัดต้นแบบ 16 พื้นที่ ร่วมกับภาคีเครือข่าย และได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วม (MOU) เพื่อการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ฯ ฉบับที่ 2 สู่การปฏิบัติอย่างมีพลัง สร้างสรรค์ และสานพลังประชารัฐร่วมกัน โดยมีตัวแทนแรงงานนอกระบบจากกรุงเทพมหานครและอีก 15 จังหวัด สถาบันวิชาการ และหน่วยงานภาครัฐที่ทำงานเกี่ยวข้องกับแรงงานนอกระบบหลายภาคส่วน
 
นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน ตัวแทนกระทรวงแรงงานกล่าวว่า เป้าหมายหลักของความร่วมมือครั้งนี้ คือ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนคนไทยที่ทำงานนอกระบบ ซึ่งมีสิทธิต่างๆที่ไม่เท่าเทียมกับอาชีพในระบบทั่วไป จึงจำเป็นต้องศึกษาแนวทางจาก15 จังหวัดที่มีเครือข่ายแรงงานนอกระบบมาถอดบทเรียน ประสบการณ์และเดินหน้าทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดศักยภาพที่เหมาะสมและขยายแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตนี้สู่จังหวัดต่างๆในประเทศไทย มีแนวคิดผลักดัน 3 เรื่อง คือ 1.รายได้ จะมีการพัฒนาทักษะเพื่อเพิ่มรายได้ ครอบคลุมทุกกลุ่มอาชีพ โดยส่วนหนึ่งจะนำเอาการขึ้นทะเบียนคนจนมาพิจารณาเพิ่มทักษะด้วย 2.ผลักดัน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานนอกระบบ ให้แล้วเสร็จในปี 2560 ขณะนี้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น และ 3.บริหารจัดการระบบการดูแลแรงงานนอกระบบแบบบูรณาการ สร้างเครือข่ายระดับพื้นที่ครอบคลุมแรงงานนอกระบบทุกกลุ่ม
 
“อาชีพนอกระบบมีหลายอาชีพ ทั้งคนสวน คนไร่ คนขับรถรับจ้าง แม่ค้า พ่อค้า คนงานก่อสร้าง เราจึงต้องเอาเรื่องนี้มาคุยกันแต่ที่เราเน้นให้ความสำคัญ อันดับต้นๆ คือ การใช้สิทธิรักษาพยาบาลตามหลักประกันสังคม และเรื่องความปลอดภัยในระหว่างเวลางาน ตามมาตรา40 ซึ่งหากทำได้จะช่วยให้คนไทยที่ทำงานนอกระบบเข้าถึงสิทธิด้านดังกล่าวอย่างเท่าเทียมกัน ส่วนตัวเชื่อว่าจะช่วยให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในทุกด้าน” นายอนุรักษ์ กล่าว
 
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า วัตถุประสงค์ในการร่วมลงนามความร่วมมือครั้งนี้ เนื่องจากสสส. ได้ตระหนักถึงปัญหาสุขภาพและความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงระบบสวัสดิการของกลุ่มแรงงานนอกระบบ จึงสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ และประสานความร่วมมือกับ กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข สมาคมวิถีทางเลือกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มูลนิธินิคม จันทรวิทุร เครือข่ายนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาที่ให้ความสนในด้านแรงงานนอกระบบ และกลไกภาคประชาชนที่เป็นแรงงานนอกระบบในพื้นที่เป้าหมาย ภายใต้การสนับสนุนการดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้อง 4 โครงการได้แก่ 1. โครงการการบริหารจัดการเพื่อขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ พ.ศ.2556-2559 สู่การปฏิบัติ ที่ 2. โครงการพัฒนานโยบายและกลไกการเข้าถึง ระบบการสร้างเสริมสุขภาพ ความปลอดภัยและอาชีวอนามัยสำหรับกลุ่มแรงงาน 3. โครงการจัดการความรู้เพื่อการขยายผลและพัฒนากระบวนการเชิงนโยบายการสร้างเสริมสุขภาวะแรงงานนอกระบบ และ 4. โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ นำและกลไกการนำนโยบายเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะกลุ่มแรงงานนอกระบบสู่การปฏิบัติระดับจังหวัด สสส. และภาคีดำเนินงานจึงได้ร่วมกันพัฒนาจังหวัดต้นแบบ 16 พื้นที่ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยอาศัยกระบวนการพัฒนาเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาวะแรงงานนอกระบบ รวมถึงการศักยภาพบุคคล ผู้นำแรงงาน องค์กร กลไกการจัดการ และรวบรวมองค์ความรู้ที่ใช้สนับสนุนการดำเนินงาน เพื่อบูรณาการทรัพยากรการทำงานในระดับจังหวัดให้เกิดการปฏิบัติอย่างแท้จริง ส่งผลให้แรงงานนอกระบบมีงานทำ มีรายได้ที่ดี เข้าถึงบริการของรัฐได้อย่างสะดวก ทั่วถึง จนเกิดเป็นพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ นำไปสู่การขยายผลความสำเร็จต่อไป
 
ด้านนายอ๊อค สำเภาแก้ว อายุ 55 ปี อาชีพขับรถจักรยานยนต์รับจ้าง สมาชิกเครือข่ายแรงงานนอกระบบ สมุทรปราการ กล่าวว่า ตนทำอาชีพรับจ้างขับรถมอเตอร์ไซต์ อำเภอพระประแดงมานานกว่า 15 ปี อยากให้ภาครัฐส่งเสริมสวัสดิการแก่แรงงานนอกระบบในฐานะผู้เสียภาษีประเทศคนหนึ่ง โดยเฉพาะการเจ็บป่วยแล้วต้องหยุดงานหลายวันนั้น บางครั้งสูญเสียรายได้หลายบาท จึงอยากให้มีการปรับปรุงระบบจ่ายเงินชดเชยคืนบ้าง
 
“ขณะนี้ผมใช้สิทธิรักษาพยาบาลยามป่วยด้วยบัตรทอง ใช้ยื่นคู่กับบัตรประกันสังคมในมาตรา 40 ซึ่งรัฐร่วมจ่ายบ้างผมจ่ายเองบ้าง แต่ผมคิดว่ายังได้รับสิทธิไม่เต็มที่ ผมคิดว่าถ้าให้เราจ่ายเพิ่มกว่านี้ก็ยอม แต่ถามกลับว่าแล้วเราจะได้อะไรกลับมาบ้างถ้าเราจะจ่ายเพิ่ม ผมไม่ได้อยากอยู่เฉยๆ แล้วได้เงินฟรีแต่อยากร่วมจ่าย ร่วมรับผิดชอบ อะไรก็ตามที่มีหลักประกันว่าวันหนึ่งผมขับรถแล้วเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา จะตาย จะพิการผมได้เงินบ้าง เพราะไม่มีเงินซื้อประกันเอกชนรายปี เนื่องจากรายได้เราไม่แน่นอน” นายอ๊อดกล่าว
 
นายอ๊อด กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้นอกจากสิทธิการรักษาพยาบาล ความมั่นคง ความปลอดภัยแล้วอยากให้ทุกอาชีพของแรงงานนอกระบบมีขอบเขตการทำงานที่ปลอดภัย ส่วนด้านอื่นๆที่อยากให้มี คือ ช่องทางพัฒนาทักษะเพิ่มเติม เช่น กรณีขับรถรับจ้างน่าจะมีบริการอบรมภาษาอังกฤษ ภาษาจีนบ้างให้คนขับรถทั่วไปได้บริการลูกค้าต่างชาติโดยไม่ผ่านนายหน้ากินหัวคิว
 
อนึ่งข้อมูลจากกระทรวงแรงงานปัจจุบันแรงงานนอกระบบในประเทศไทยมีประมาณ 21 ล้านคน ซึ่งที่ผ่านมากลุ่มแรงงานนอกระบบได้พยามยามผลักดัน ให้มีการปรับสวัสดิการตามมาตรา 40 ตามข้อเรียกร้องของกลุ่มแรงงานนอกระบบ อาทิ ปรับอัตราการชดเชยการขาดรายได้ของแรงงานนอกระบบจาก 200 บาท เป็น 300 บาท ปรับอัตราเงินชดเชยกรณีเสียชีวิตจาก 20,000 บาท เป็น 40,000 บาท และขยายสิทธิรักษาพยาบาลให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายเกี่ยวกลุ่มโรคเจ็บป่วยจากการทำงาน
 
 
รถขนคนงานเข้าตัวเมืองพิษณุโลกกระทบหนักห้ามนั่ง "แคป-กระบะ"
 
พิษณุโลก - บรรดาคนงานก่อสร้างอำเภอต่าง ๆ และจังหวัดใกล้เคียงพิษณุโลกที่นั่งรถยนต์กระบะเข้ามาทำงานในตัวเมืองพิษณุโลกทุกวัน ต่างโอดครวญคงได้รับผลกระทบอย่างหนัก ห้ามนั่งแค็ปและกระบะ เผยเพิ่งได้รับข่าวแต่ไม่แน่ใจว่าจะบังคับใช้จริงจังเมื่อไหร่ หากบังคับจริง คงต้องไปเสียเงินเพิ่มต่อหลังคา
 
วันที่ 5 เมษายน หลังจากรัฐบาลเริ่มบังคับใช้กฎหมายจราจรใหม่ตาม ม.44 ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการใช้รถใช้ถนนของรถยนต์กระบะ ที่วิ่งในเขตตัวเมืองพิษณุโลก หลายคน ก็ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าจะบังคับใช้กฎหมายห้ามนั่งภายในแค็ป และด้านหลังรถกระบะอย่างจริงจังเมื่อไหร่ และการใช้รถยนต์กระบะวันนี้ ก็ยังคงใช้กันตามปกติ ทั้งนั่งในแค็ปและกระบะ ขณะที่การเข้มงวดบังคับใช้อย่างจริงจังนั้น ตำรวจจราจรสภ.เมืองพิษณุโลกที่ตั้งด่านตรวจในวันนี้ ก็เน้นเฉพาะการทำผิดกม.จราจรทั่วไป อาทิ ไม่สวมหมวกนิรภัย ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ภาษีขาด ขณะที่การห้ามนั่งในแค็ปและกระบะนั้น เจ้าหน้าที่ได้ตักเตือน และ ประชาสัมพันธ์เป็นหลัก ยังไม่เน้นจับกุมและกลุ่มที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดกลุ่มหนึ่งคือ กลุ่มคนงานก่อสร้าง ตามอำเภอรอบนอกของตัวเมืองพิษณุโลก ทั้ง อ.บางระกำ อ.พรหมพิราม อ.บางกระทุ่ม รวมถึง อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย แรงงานก่อสร้างเหล่านี้ ใช้รถยนต์กระบะประเภทแค็ป และส่วนมากจะต่อคอกด้านข้าง มีที่นั่งพาดขวาง ให้คนงานได้นั่งกระบะจากหมู่บ้านเข้ามาทำงานก่อสร้างทั่วไปในเขตอ.เมืองพิษณุโลก
 
นายนภดล มั่งระวัง อายุ 50 ปี เจ้าของรถยนต์กระบะแค็ป และเป็นหัวหน้าคนงาน ที่รับคนงานในหมู่บ้าน จากต.ป่าแฝก อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย มาทำงานรับเหมาตกแต่งภายในที่บริษัทแห่งหนึ่งในอ.เมืองพิษณุโลก เปิดเผยว่า เพิ่งขาบข่าวเมื่อเช้า เมื่อเลี้ยวรถเข้ามาถึงที่ทำงาน คนที่ทำงานบอกว่า ต่อไป ถ้านั่งในแค็ป หรือ กระบะ จะผิดกฎหมาย ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ติดตามข่าวมาระยะหนึ่งแล้ว แต่เพิ่งทราบว่าจะมีผลบังคับใช้ ส่วนตัวคิดว่า คงลำบากมาก เพราะพวกตนทำอาชีพรับเหมาก่อสร้าง และ ต้องใช้รถยนต์รับส่งคนงานจากหมู่บ้าน มาทำงานในเมืองพิษณุโลกที่เป็นแหล่งงานใหญ่ ทุกเช้าประมาณ07.00น.ก็จะตระเวนรับคนงานในหมู่บ้าน ขึ้นรถกระบะของตนมาที่พิษณุโลก เย็นก็รับกลับไปส่ง ถ้าบังคับใช้อย่างจริงจัง ก็คงต้องไปต่อเติมเป็นหลังคา และแจ้งขนส่งให้ถูกกฎหมาย เพราะรถตน ต้องวิ่งรับส่งคนงานทุกวัน
นายนิภพ พุ่มอ่วม อายุ 39 ปี หัวหน้าคนงานชาวอ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย เจ้าของรถยนต์กระบะแค็ป ที่ต้องรับส่งคนงานมาที่แคมป์งานในตัวเมืองพิษณุโลกวันละ10กว่าคน เปิดเผยว่า ทราบข่าวการบังคับใช้กฎหมายเมื่อวานนี้ แต่ก็ยังไม่เข้าใจทั้งหมด ถ้าห้ามนั่งแค็ป นั่งกระบะ ก็จะเดือดร้อนมาก ทั้งคนงาน และตัวของตนเอง อาจจะต้องหยุดงาน ตกงาน พวกตนเป็นเกษตรกร ที่ว่างเว้นจากอาชีพทำนา ทำการเกษตร ก็มาขายแรงงานในตัวเมืองพิษณุโลก คิดว่า คงเดือดร้อนกันทั่วประเทศ ตอนนี้ก็ยังไม่ได้คิดว่าจะทำอย่างไร เมื่อก่อน ที่ต่อคอก ก็ได้นำรถไปแจ้งขนส่ง ไม่เช่นนั้นก็จะโดนปรับ อนาคต ถ้าบังคับใช้จริงจัง ก็คงต้องไปดัดแปลงรถ ใช้เงินเพิ่มอีก จะไปขายรถก็ไม่ได้ ใครจะมาซื้อ
 
นางสำเนียง อิมพิทักษ์ อายุ 38 ปี เปิดเผยว่า ตนกรรมกรทั่วไปที่ได้ค่าแรงวันละ 300 บาท คงได้รับกระทบหนัก หากมีกฎหมายออกมาใช้จริง ก็อาจจะมาทำงานไม่ได้ จะให้เอารถจักรยานยนต์มาเองก็ลำบาก เพราะมันไกลด้วย ขี่ไม่ไหว ทุกวันนี้ มากับผู้รับเหมา นั่งรถกระมาทำงานในตัวเมืองพิษณุโลก ก็เสียค่ารถวันละ 50 บาท เหลือกลับไปบ้านวันละ 250 บาท ไม่แน่ใจว่าถ้าดัดแปลงรถเพิ่ม จะเสียค่ารถเพิ่มหรือไม่
 
 
ดัน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานนอกระบบให้เสร็จปีนี้ มอเตอร์ไซรับจ้างวอนขอหลักประกันสุขภาพเพิ่มขึ้น-จี้รัฐปราบมาเฟีย
 
เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560 ที่โรงแรมเซนจูรี่ปาร์ค กรุงเทพฯ กระทรวงแรงงาน ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ พ.ศ.2560-2564 สู่การปฏิบัติ เพื่อทำแผนกลยุทธการขับเคลื่อนงานในจังหวัดต้นแบบร่วมกับภาคีเครือข่าย และลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วม (MOU) เพื่อการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ฯ ฉบับที่ 2 สู่การปฏิบัติอย่างมีพลัง สร้างสรรค์ และสานพลังประชารัฐร่วมกัน โดยมีตัวแทนแรงงานนอกระบบจากกรุงเทพมหานครและอีก 15 จังหวัด และเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำงานเกี่ยวข้องกับแรงงานนอกระบบหลายภาคส่วน นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า เป้าหมายหลักของความร่วมมือครั้งนี้คือ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนคนไทยที่ทำงานนอกระบบ ซึ่งมีสิทธิต่าง ๆ ที่ไม่เท่าเทียมกับอาชีพในระบบทั่วไป จึงจำเป็นต้องศึกษาแนวทางจาก 15 จังหวัดที่มีเครือข่ายแรงงานนอกระบบมาถอดบทเรียน ประสบการณ์และเดินหน้าทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดศักยภาพที่เหมาะสม และขยายแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตนี้สู่จังหวัดต่าง ๆ ในประเทศไทย มีแนวคิดผลักดัน 3 เรื่อง คือ 1.รายได้ จะมีการพัฒนาทักษะเพื่อเพิ่มรายได้ ครอบคลุมทุกกลุ่มอาชีพ โดยส่วนหนึ่งจะนำเอาการขึ้นทะเบียนคนจนมาพิจารณาเพิ่มทักษะด้วย 2.ผลักดัน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานนอกระบบ ให้แล้วเสร็จในปี 2560 ขณะนี้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น และ 3.บริหารจัดการระบบการดูแลแรงงานนอกระบบแบบบูรณาการ สร้างเครือข่ายระดับพื้นที่ครอบคลุมแรงงานนอกระบบทุกกลุ่ม
 
“อาชีพนอกระบบมีหลายอาชีพ ทั้งคนสวน คนไร่ คนขับรถรับจ้าง แม่ค้า พ่อค้า คนงานก่อสร้าง เราจึงต้องเอาเรื่องนี้มาคุยกัน แต่ที่เราเน้นให้ความสำคัญ อันดับต้น ๆ คือ การใช้สิทธิรักษาพยาบาลตามหลักประกันสังคม และเรื่องความปลอดภัยในระหว่างเวลางาน ตามมาตรา 40 ซึ่งหากทำได้จะช่วยให้คนไทยที่ทำงานนอกระบบเข้าถึงสิทธิด้านดังกล่าวอย่างเท่าเทียมกัน ส่วนตัวเชื่อว่าจะช่วยให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในทุกด้าน” นายอนุรักษ์ กล่าว
 
ด้านนายอ๊อค สำเภาแก้ว อายุ 55 ปี อาชีพขับรถจักรยานยนต์รับจ้าง สมาชิกเครือข่ายแรงงานนอกระบบ สมุทรปราการ กล่าวว่า ตนทำอาชีพรับจ้างขับรถมอเตอร์ไซต์ อำเภอพระประแดงมานานกว่า 15 ปี อยากให้ภาครัฐส่งเสริมสวัสดิการแก่แรงงานนอกระบบในฐานะผู้เสียภาษีประเทศคนหนึ่ง โดยเฉพาะการเจ็บป่วยแล้วต้องหยุดงานหลายวันนั้น บางครั้งสูญเสียรายได้หลายบาท จึงอยากให้มีการปรับปรุงระบบจ่ายเงินชดเชยคืนบ้าง
 
“ขณะนี้ผมใช้สิทธิรักษาพยาบาลยามป่วยด้วยบัตรทอง ใช้ยื่นคู่กับบัตรประกันสังคมในมาตรา 40 ซึ่งรัฐร่วมจ่ายบ้างผมจ่ายเองบ้าง แต่ผมคิดว่ายังได้รับสิทธิไม่เต็มที่ ผมคิดว่าถ้าให้เราจ่ายเพิ่มกว่านี้ก็ยอม แต่ถามกลับว่าแล้วเราจะได้อะไรกลับมาบ้างถ้าเราจะจ่ายเพิ่ม ผมไม่ได้อยากอยู่เฉย ๆ แล้วได้เงินฟรี แต่อยากร่วมจ่าย ร่วมรับผิดชอบ อะไรก็ตามที่มีหลักประกันว่าวันหนึ่งผมขับรถแล้วเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา จะตาย จะพิการผมได้เงินบ้าง เพราะไม่มีเงินซื้อประกันเอกชนรายปี เนื่องจากรายได้เราไม่แน่นอน” นายอ๊อดกล่าว
 
นายอ๊อด กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้นอกจากสิทธิการรักษาพยาบาล ความมั่นคง ความปลอดภัยแล้ว อยากให้ทุกอาชีพของแรงงานนอกระบบมีขอบเขตการทำงานที่ปลอดภัยและอยากให้รัฐบาลแก้ปัญหาเรื่องมาเฟีย หรือผู้มีอิทธิพลเป็นเจ้าของพื้นที่ขับรถจักรยานยนต์ด้วย ส่วนตัวอยากให้รถจักรยานยนต์วิ่งได้อย่างเสรีเหมือนแทกซี่ และผู้โดยสารมีสิทธิเลือกใช้บริการใครก็ได้ตามใจชอบ ส่วนด้านอื่น ๆ ที่อยากให้มี คือ ช่องทางพัฒนาทักษะเพิ่มเติม เช่น กรณีขับรถรับจ้างน่าจะมีบริการอบรมภาษาอังกฤษ ภาษาจีนบ้าง ให้คนขับรถทั่วไปได้บริการลูกค้าต่างชาติโดยไม่ผ่านนายหน้ากินหัวคิว
 
อนึ่งข้อมูลจากกระทรวงแรงงานปัจจุบันแรงงานนอกระบบในประเทศไทยมีประมาณ 21 ล้านคน ซึ่งที่ผ่านมากลุ่มแรงงานนอกระบบได้พยามยามผลักดันให้มีการปรับสวัสดิการตามมาตรา 40 ตามข้อเรียกร้องของกลุ่มแรงงานนอกระบบ อาทิ ปรับอัตราการชดเชยการขาดรายได้ของแรงงานนอกระบบจาก 200 บาท เป็น 300 บาท ปรับอัตราเงินชดเชยกรณีเสียชีวิตจาก 20,000 บาท เป็น 40,000 บาท และขยายสิทธิรักษาพยาบาลให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายเกี่ยวกลุ่มโรคเจ็บป่วยจากการทำงาน
 
 
สนช.รับหลักการร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ “นร.-นศ.-คนแก่-คนพิการ”
 
พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า เมื่อวันที่ 5 เม.ย. ที่ผ่านมา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการวาระแรกร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ส่วนสาเหตุที่ต้องแก้ไขร่าง พ.ร.บ. ฉบับใหม่ เนื่องจาก พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน และมีบทบัญญัติบางประการที่ไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น จึงต้องเพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับกับการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับลูกจ้างบางกลุ่มหรือบางประเภท เช่น นักเรียน นักศึกษา คนพิการ และผู้สูงอายุ เพื่อให้มีการส่งเสริมการจ้างงานและคุ้มครองแรงงานสำหรับลูกจ้างบางกลุ่มหรือบางประเภทดังกล่าว ซึ่งอาจมีลักษณะการทำงานที่แตกต่างจากลูกจ้างทั่วไป รวมถึงต้องปรับปรุงบทบัญญัติเรื่องข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเพื่อลดภาระของนายจ้างในการส่งสำเนาข้อบังคับดังกล่าว ปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานให้สอดคล้องกันและเหมาะสมยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการลดระยะเวลาในกระบวนการเริ่มต้นธุรกิจให้มีความสะดวก รวดเร็ว เป็นกลไกดึงดูดนักลงทุน และเพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการเกษียณอายุและการจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างกรณีเกษียณอายุ เพื่อคุ้มครองลูกจ้างกรณีเกษียณอายุ สร้างความมั่นคงให้แก่ลูกจ้างหลังเกษียณอายุและเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งเพิ่มบทกำหนดโทษกรณีนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างกรณีเกษียณอายุ
 
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า ร่างกฎหมายมุ่งคุ้มครองสิทธิให้กับลูกจ้างกลุ่มพิเศษดังกล่าว ขณะที่การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับลูกจ้างกลุ่มพิเศษไว้ชั่วโมงละ 40 บาท ไม่ขัดกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เมื่อคำนวณตามชั่วโมง และยังช่วยให้เกิดการทำงานภายใต้เงื่อนไขข้อจำกัดของบุคคลเหล่านี้อย่างเหมาะสม และเป็นการช่วยโน้มน้าวให้เกิดการจ้างงานผู้สูงอายุมากยิ่งขึ้น ซึ่งขอย้ำว่า คณะกรรมการกำหนดอัตราค่าจ้างฯ จะไม่กำหนดสิทธิของลูกจ้างกลุ่มพิเศษต่ำกว่าสิทธิโดยปกติอย่างแน่นอน พร้อมระบุว่า ข้อกำหนดในกฎหมายนี้ต่างกับข้อกำหนดในกฎหมายประกันสังคม เพราะในร่างกฎหมายนี้ กำหนดให้นายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบการจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้เกษียณอายุ โดยลูกจ้างอายุ 60 ปี จะทำงานต่อไปก็ได้ หรือสามารถแจ้งขอเกษียณตามกฎหมายนี้เพื่อขอรับสิทธิค่าชดเชยได้ ซึ่งนายจ้างจะต้องดำเนินการจ่าย ภายใน 30 วัน เมื่อลูกจ้างใช้สิทธิ และยืนยันว่าลูกจ้างสามารถรับสิทธิประโยชน์ได้ทั้งตามกฎหมายประกันสังคมและกฎหมายฉบับนี้
 
 
เล็งร้องนายกฯกระทบสิทธิ์แรงงานคำสั่ง คสช.ที่ 21 เอื้อนายจ้าง
 
เมื่อวันที่ 5 เม.ย.60 นายบรรจง บุญรัตน์ ประธานองค์การแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 21/2560 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเพื่ออํานวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ จำนวน 18 ข้อ ว่า ในใจความข้อ 8 กรณีแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานให้นายจ้างประกาศข้อบังคับที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นภายใน 7 วัน นับตั้งแต่ที่มีการประกาศใช้ข้อบังคับที่แก้ไขเพิ่มเติมนั้น คำสั่งดังกล่าวกระทบสิทธิ์ของลูกจ้างแรงงานทั้งระบบ และก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ เนื่องจากการประกาศของนายจ้างต่อไปนี้จะไม่ต้องผ่านอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ดังนั้นทุกอย่างจะขึ้นอยู่กับนายจ้าง ที่จะกำหนดข้อบังคับใดขึ้นมาก็ได้ เช่น การเลิกจ้าง หรือไม่จ่ายค่าชดเชยก็ได้
 
นายบรรจงกล่าวอีกว่า ในส่วนข้อที่ 11 ที่กำหนดว่าในกรณีสุดวิสัย หรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่น ให้รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของครม.มีอำนาจขยายหรือเลื่อนกำหนดเวลาตามมาตรา39หรือมาตรา47 ในพ.ร.บ.ประกันสังคมพ.ศ.2533ได้ ทั้งที่ปกติแล้วต้องเป็นคณะกรรมการประกันสังคม ที่ต้องเสนอยื่นครม.เอง ซึ่งมองว่าเป็นการให้อำนาจกับคนคนเดียว ที่เราไม่สามารถรู้ได้ว่าคนคนนั้นจะเป็นอย่างไร ซึ่งไม่เป็นไปตามเจตนารมย์ของกฎหมาย
 
อย่างไรก็ตาม นายบรรจง ระบุด้วยว่า ได้พูดคุยกับนายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานแล้ว ได้ให้เหตุผลว่า คำสั่งดังกล่าวว่าเป็นไปเพื่อส่งเสริมการลงทุน ซึ่งตนมองว่าเป็นการส่งเสริมเฉพาะในส่วนของนายจ้างมากกว่า โดยไม่ได้ฟังความเห็นลูกจ้างแรงงาน ดังนั้นตนและคณะจะเข้ายื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. และกระทรวงแรงงาน เพื่อให้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าว หรือขอให้เพิ่มเติมข้อความแบบเดิม ในวันที่ 10 เม.ย. เวลา 12.00 น. ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล สำนักงานกพ. โดยหากไม่มีการดำเนินการใดๆ จะยื่นตีความต่อศาลรัฐธรรมนูญ และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ
 
 
ครม.อนุมัติกำลัง 1,000 อัตรารอตรวจแรงงานยกไอแอลโอ
 
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า เมื่อไม่นานมานี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติเพิ่มกรอบอัตรา กำลังข้าราชการให้แก่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจำนวน 1,049 อัตรา ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอเพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพการตรวจและดูแลแรงงานในระบบ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) และมีส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาการค้า มนุษย์ ปัจจุบันเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญ ที่ไอแอลโอมองว่าเป็นอุปสรรคสำคัญทำ ให้ไทยไม่สามารถแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ได้ คือ ความเพียงพอของเจ้าหน้าที่
 
สำหรับแผนการเพิ่มอัตรากำลังข้าราชการ ที่กระทรวงแรงงานเสนอนั้น จาก1,049 อัตราที่ ครม.ให้การอนุมัติ จะแบ่งการเพิ่มเป็น 5 ระยะ ในปีแรก คือ 2561 จะเพิ่ม 186 อัตราเพื่อปฏิบัติภารกิจเร่งด่วนเน้นตรวจแรงงานในกลุ่มเสี่ยง คือประมงทะเลและที่เกี่ยวเนื่องในกิจการสินค้ากุ้ง เครื่องนุ่งห่ม อ้อยและปลาและห่วงโซ่การผลิต กิจการก่อสร้าง ผลิตภัณฑ์สับปะรด แปรรูปไก่ และโรงแรม รวมสถานประกอบการ 51,902 แห่ง แรงงาน 1,539,363 คน เพื่อลดแรงกดดันของไอแอลโอ ส่วนระยะที่ 2-3 คือปี 2562-2563 จะเพิ่มอัตรากำลังปีละ 21% และระยะที่ 4-5 คือปี 2564-2565 เพิ่มปีละ 20%
 
 
กระทรวงแรงงานแจงนายจ้างทำข้อบังคับฯขัดกับกฎหมายใช้บังคับไม่ได้ ฝ่าฝืนกฎหมายมีโทษอาญา
 
กระทรวงแรงงาน แจงแก้กฎหมายแรงงานเพื่อประโยชน์นายจ้าง ลูกจ้าง สร้างความคล่องตัวในการประกอบการ พร้อมเพิ่มโอกาสในการทำงาน ย้ำนายจ้างจัดทำข้อบังคับต้องไม่ขัดกับกฎหมาย หากฝ่าฝืนใช้บังคับกับลูกจ้างไม่ได้ และมีความผิดตามกฎหมายด้วย
 
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงแรงงาน โดย กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้มีการแก้ไข ปรับปรุงพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เพื่อให้กฎหมายสอดคล้องกับสภาพการณ์ด้านแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งขณะนี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ได้มีมติรับหลักการในร่างกฎหมายแล้ว สำหรับประเด็นสำคัญที่มีการปรับปรุงแก้ไขในร่างพ.ร.บ. ดังกล่าว 3 ประเด็นด้วยกัน คือ 1. เพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับลูกจ้างบางกลุ่มหรือบางประเภท เช่น กำหนดค่าจ้างรายชั่วโมงสำหรับนักเรียน นักศึกษา คนพิการและผู้สูงอายุ 2. เพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการเกษียณอายุและการจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างกรณีเกษียณอายุ และ 3.ปรับปรุงบทบัญญัติเรื่องข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเพื่อลดภาระของนายจ้างในการส่งสำเนาข้อบังคับฯให้กับเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายแรงงานจะเป็นประโยชน์แก่นายจ้างและลูกจ้าง ทั้งในเรื่องของความคล่องตัวในการประกอบการลดระยะเวลาในกระบวนการเริ่มต้นธุรกิจให้มีความสะดวก รวดเร็ว เป็นกลไกดึงดูดนักลงทุน เพิ่มโอกาสในการมีงานทำ และก่อให้เกิดการจ้างงานแก่แรงงานเฉพาะกลุ่ม เช่น นักเรียน นักศึกษา และผู้สูงอายุ มากยิ่งขึ้น รวมทั้งก่อให้เกิด ความชัดเจนในการบังคับใช้กฎหมายและสร้างความมั่นคงให้แก่ลูกจ้างหลังเกษียณอายุ
 
อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับข้อห่วงใยกรณีที่นายจ้างไม่ต้องส่งสำเนาข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานให้แก่เจ้าหน้าที่ จะทำให้นายจ้างจัดทำข้อบังคับฯโดยมีการเอารัดเอาเปรียบลูกจ้าง นั้น นายจ้างไม่สามารถทำได้เพราะข้อบังคับฯที่ขัดกับพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ไม่สามารถใช้บังคับได้ ขณะเดียวกันการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมายของนายจ้างก็เป็นความผิดทางอาญาโดยมีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 2 ปี ปรับตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง 800,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นายจ้าง ลูกจ้างมีข้อสงสัยสอบถามได้ที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 - 10 สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด หรือที่โทรศัพท์สายด่วน 1546
 
ที่มา: กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, 7/4/2560
 
กระทรวงแรงงานฝึกเด็กไทยทำงานช่วงปิดภาคเรียน เตรียมพร้อมสู่โลกอาชีพจริง
 
กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เตรียมตำแหน่งงานว่างรองรับนักเรียน นักศึกษาทำงานช่วงปิดภาคเรียนหรือช่วงว่างจากการเรียน กว่า 1,700 อัตรา จากสถานประกอบการทั่วประเทศกว่า 240 แห่ง เพื่อฝึกเด็กรู้จักรับผิดชอบ ใช้เวลาอย่างมีคุณค่า เตรียมพร้อมสู่โลกอาชีพจริง
 
กระทรวงแรงงาน โดยนายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า ในทุกๆ ปีจะมีนักเรียน นักศึกษาหางานทำในช่วงปิดภาคเรียนหรือช่วงว่างจากการเรียนกันเป็นจำนวนมาก และในปีนี้กรมการจัดหางานก็ได้ประสานกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนเตรียมตำแหน่งงานว่างสำหรับนักเรียน นักศึกษา ซึ่งขณะนี้มีสถานประกอบการแจ้งความประสงค์รับสมัครนักเรียน นักศึกษาทำงาน จำนวนทั้งสิ้น 243 แห่ง อาทิ บจก.เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม (ห้างสรรพสินค้าโลตัส) ,บจก.ยัมเรสเทอรองต์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) (ร้านเคเอฟซี) ,บจก.นพรส (ซานตาเฟ่สเต็ก) ,บจก.ฮอต พอท ,บจก.เอ็ม ที ทองพันชั่ง กรุ๊ป (ร้านสเวนเซ่นส์) ,บมจ.เอ็มเค เรสโตรองค์ (ร้านเอ็มเค) ,บมจ.ซี พี ออลล์ (ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น),บจก.เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล ,บจก.บอสตัน ปาร์ค (โรงแรม รีสอร์ท) และหน่วยงานราชการ เช่นกรมการจัดหางาน เป็นต้น ตำแหน่งงานว่าง จำนวน 1,760 อัตรา เช่น ตำแหน่งพนักงานธุรการ/ประจำสำนักงาน พนักงานขายสินค้า พนักงานทั่วไป พนักงานบริการลูกค้า พนักงานจัดเรียงสินค้า พนักงานบรรจุ พนักงานแคชเชียร์ พนักงานเสริ์ฟ ช่างเทคนิค/ช่างไฟฟ้า/ช่างยนต์ เป็นต้น ในส่วนของกรมการจัดหางานก็ได้จัดจ้างนักเรียน นักศึกษา จำนวนทั้งสิ้น 60 คน เป็นระยะเวลา 19 วัน วันละ 300 บาท ตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน ถึง 11 พฤษภาคม 2560
 
การทำงานในช่วงปิดภาคเรียนหรือช่วงว่างจากการเรียนของนักเรียน นักศึกษา จะเป็นการฝึกความอดทน ความรับผิดชอบ รู้จักใช้เวลาว่างอย่างมีคุณค่า ทั้งยังช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง ซึ่งเด็กก็จะเกิดความภาคภูมิใจ และยังได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง รู้ว่าตนเองถนัดงานด้านใด เป็นการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงานจริงเมื่อจบการศึกษาต่อไป โดยคุณสมบัติจะต้องมีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป วุฒิการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นขึ้นไป มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ขยัน อดทน ได้รับค่าตอบแทนในการทำงานภาครัฐวันละ 300 บาท โดยปฏิบัติงานเต็มวันไม่น้อยกว่า 7 ชั่วโมง ไม่รวมเวลาหยุดพัก หากปฏิบัติงานครึ่งวันไม่น้อยกว่า 3 ชั่วโมง ได้รับค่าตอบแทน 150 บาท สำหรับภาคเอกชนจะได้รับค่าจ้างเป็นชั่วโมงๆละ 40 บาท โดยช่วงเปิดภาคเรียนปกติ ทำงานได้ไม่เกินวันละ 4 ชั่วโมง และในช่วงปิดภาคเรียน ทำงานได้ไม่เกินวันละ 7 ชั่วโมง ซึ่งลักษณะงานที่ทำจะเป็นงานที่ไม่อันตรายต่อสุขภาพ ไม่ขัดประเพณีและวัฒนธรรมที่ดี หากนักเรียน นักศึกษาสนใจจะสมัครงาน สามารถติดต่อได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพ มหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่ ศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย (Smart Job Center) บริเวณด้านหน้ากระทรวงแรงงาน เขตดินแดง กรุงเทพฯ หรือสอบถามได้ที่สายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694 นายวรานนท์ กล่าว
 
ที่มา: กระทรวงแรงงาน, 8/4/2560
 
แรงงาน ย้ำนายจ้างมีลูกจ้างครบสิบ ต้องจัดทำข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน
 
กระทรวงแรงงาน ย้ำนายจ้างมีลูกจ้างตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ต้องจัดทำข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน และต้องเป็นไปตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน หากฝ่าฝืนมีความผิดทางอาญา
 
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงานเปิดเผยว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กำหนดให้นายจ้างซึ่งมีลูกจ้างรวมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไปต้องจัดทำข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน และเก็บไว้ ณ สถานประกอบกิจการพร้อมให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบโดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับ วัน เวลาทำงาน การจ่ายค่าจ้าง การลงโทษทางวินัย เป็นต้น ทั้งนี้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานถือเป็นกฎ กติกา ในการทำงานร่วมกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ซึ่งจะช่วยให้การบริหารจัดการด้านแรงงานเป็นไปด้วยความราบรื่น เกิดความร่วมมือร่วมใจและความสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้างและลูกจ้างในสถานประกอบกิจการ เพราะทั้งสองฝ่ายได้ทราบและเข้าใจข้อกฎหมายและกติกาในการทำงานร่วมกัน ทั้งนี้ข้อบังคับฯที่ขัดต่อกฎหมายจะไม่สามารถใช้บังคับกับลูกจ้างได้ และนายจ้างมีความผิดตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 2 ปี ปรับตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง 800,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีที่มีการแก้ไข ปรับปรุงพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน(ฉบับที่..) พ.ศ..... ซึ่งมีข้อกำหนดให้นายจ้างไม่ต้องส่งสำเนาข้อบังคับฯให้กับเจ้าหน้าที่ เพื่อลดภาระของนายจ้าง เกิดภาพลักษณ์ที่ดีต่อประเทศไทยในการลดขั้นตอนการประกอบธุรกิจ ซึ่งส่งผลดีต่อการจูงใจในการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยตามนโยบายของรัฐบาล และเมื่อมีการลงทุนเพิ่มมากขึ้นก็จะก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวไม่ได้ทำให้สิทธิที่มีอยู่ตามกฎหมาย เช่น สิทธิเกี่ยวกับการลา วันหยุด ค่าจ้าง ของลูกจ้างลดลง เพราะนายจ้างยังคงต้องปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน นายจ้าง ลูกจ้างมีข้อสงสัยสอบถามได้ที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 - 10 สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด หรือที่โทรศัพท์สายด่วน 1546
 
ที่มา: กระทรวงแรงงาน, 8/4/2560

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.