สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: ย้อนพินิจการต่อสู้ของเสื้อแดง 2552

Posted: 04 Apr 2017 08:51 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม ที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์ จังหวัดพัทยา ได้อ่านคำพิพากษา”คดีอริสมันต์” นั่นคือ กรณีประท้วงปิดโรงแรมรอยัลคลิฟ บีช รีสอร์ท เมืองพัทยา เมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ.2552 ตัดสินให้จำคุก 4 ปีโดยไม่รอลงอาญา และปรับ 200 บาท สำหรับจำเลย 13 คน อันได้แก่ นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง นายนิสิต สินธุไพร นายพายัพ ปั้นเกตุ นายวรชัย เหมะ นายวันชนะ เกิดดี นายพิเชษฐ์ สุขจินดาทอง นายศักดา นพสิทธิ์ พันตำรวจโทไวพจน์ อาภารัตน์ นายนพพร นามเชียงใต้ นายสำเริง ประจำเรือ นายสมยศ พรหมมา นายแพทย์วัลลภ ยังตรง และนายสิงห์ทอง บัวชุม และให้ยกฟ้อง นายธงชัย ศักดิ์มังกร และ พันตำรวจเอกสมพล รัฐบาล ซึ่งเป็นการพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น และทำให้จำเลยทั้ง 13 คนจะต้องรับโทษติดคุกทันที เพราะโอกาสในการยื่นฎีกาคดีนี้มีน้อยมาก

แน่นอนคำตัดสินของศาลครั้งนี้ จะถูกวิจารณ์ในเรื่องสองมาตรฐานที่ดำเนินตลอดมา เพราะขณะที่ฝ่ายพันธมิตรเสื้อเหลือง มีคดียึดทำเนียบ ปิดสนามบิน ซึ่งเกิดขึ้นก่อนคดีอริสมันต์ ก็ยังมิได้มีการนำมาพิจารณาคดีในศาลเลย แต่ที่นี่จะเล่าถึงอีกเรื่องหนึ่ง คือ บริบทของเหตุการณ์ เพราะคนจำนวนมากอาจนึกไม่ออกแล้วว่า กรณีนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งใหญ่ของขบวนการคนเสื้อแดง เมื่อ พ.ศ.2552

เหตุการณ์นี้ เกิดขึ้นหลังจากที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยอาศัยการรวมรวมเสียงสนับสนุนในสภาจากพรรคขนาดเล็ก และการเปลี่ยนข้างสนับสนุนของกลุ่มนายเนวิน ชิดชอบ จากพรรคพลังประชาชน การตั้งรัฐบาลของนายอภิสิทธ์ กลุ่มคนเสื้อแดงที่นำโดย นปช.(แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ) เห็นว่ากระบวนการทั้งหมดไม่มีความชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย แต่กลับได้รับการสนับสนุนจากกองทัพและองคมนตรี จึงได้เคลื่อนไหวคัดค้าน

การชุมนุมใหญ่ของกลุ่มคนเสื้อแดงที่ท้องสนามหลวง เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2552 ผู้นำการชุมนุมก็เช่น วีระ มุสิกพงษ์ ในฐานะประธาน นปช. นอกจากนี้ก็คือ จตุพร พรหมพันธ์ ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ จักรภพ เพ็ญแข และ นพ.เหวง โตจิระการ เป็นต้น ในวันต่อมา นปช.ก็เคลื่อนพลมาตั้งเวทีประท้วงยืดเยื้อที่ข้างทำเนียบรัฐบาล ทางแกนนำเสนอหลักการที่จะให้มีการปฏิวัติประชาธิปไตยโดยประชาชนด้วยสันติวิธี ปรากฏว่ามีประชาชนคนเสื้อแดงมาเข้าร่วมชุมนุมจำนวนมาก โดยเฉพาะจุดสูงสุดของการชุมนุมคือ วันที่ 8 เมษายน ประมาณกันว่ามีผู้เข้าร่วมการชุมนุมมากถึง 3 แสนคน ซึ่งในขณะนั้น ถือเป็นการชุมนุมที่มีคนเข้าร่วมมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย

ในวันนั้น ขบวนการ นปช.ได้ตั้งข้อเรียกร้อง คือ 1. พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และนายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ซึ่งอยู่เบื้องหลังการสนับสนุนตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์ต้องพิจารณาตัวเองด้วยการลาออกจากตำแหน่งองคมนตรี 2. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 3. การบริหารราชการแผ่นดินต้องดำเนินไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยตามหลักสากล โดยยื่นคำขาดให้รัฐบาลตอบภายใน 24 ชั่วโมง

เมื่อครบกำหนดเวลา 24 ชั่วโมง สถานการณ์การชุมนุมก็ยกระดับ โดยกลุ่มแท็กซี่คนเสื้อแดงได้เคลื่อนขบวนไปปิดถนนประท้วงรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ รัฐบาลถือโอกาสประกาศให้วันที่ 10 เมษายนเป็นวันเริ่มต้นหยุดยาวช่วงสงกรานต์ กลุ่มคนเสื้อแดงจึงถูกโจมตีอย่างหนักจากสื่อกระแสหลัก และกลุ่มเสื้อเหลืองว่าเป็นตัวการทำให้การจราจรติดขัด ขณะที่ประชาชนกำลังกลับบ้านสงกรานต์ และถูกใส่ร้ายว่า ปิดทางเข้าโรงพยาบาลราชวิถี ต่อมา ทางฝ่ายคนเสื้อแดงก็ตัดสินใจถอนการปิดอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิในคืนวันนั้น

วันที่ 10 เมษายน กลุ่มคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งได้เดินทางไปยังโรงแรมรอยัล คลีฟ บีช รีสอร์ท พัทยา ในขณะที่กำลังมีการจัดการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศอาเซียน ในวันรุ่งขึ้น กลุ่มคนเสื้อแดงนำโดย นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง และ นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ นำมวลชนไปถึงที่โรงแรมเพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อตัวแทนเลขาธิการสมาคมอาเซียน คัดค้านความชอบธรรมของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่เกิดการปะทะกับกองกำลังจัดตั้งเสื้อน้ำเงินของฝ่ายคุณเนวิน ชิดชอบ นายอริสมันต์จึงนำคนเสื้อแดงบุกเข้าไปในโรงแรม โดยอธิบายว่า สาเหตุที่ต้องเข้ามาภายในโรงแรม เพราะมีคนเสื้อแดงถูกคนเสื้อน้ำเงินยิงได้รับบาดเจ็บ รวมทั้งเรียกร้องให้อภิสิทธิ์ ดำเนินการหาตัวผู้กระทำผิด ภายใน 1 ชั่วโมง

ผลจากการเคลื่อนไหวของฝ่ายคนเสื้อแดง ทำให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ต้องตัดสินใจประกาศยกเลิกการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน และถือโอกาสประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอันร้ายแรงในเขตพัทยาและชลบุรี เหตุการณ์นี้จึงนำมาสู่การที่ฝ่ายสื่อมวลชนกระแสหลักและกลุ่มพันธมิตรเสื้อเหลือง สร้างกระแสโจมตีทำลายความชอบธรรมการเคลื่อนไหวของฝ่ายคนเสื้อแดงว่า ทำลายภาพลักษณ์ของประเทศในสายตานานาขาติ และโจมตีนายอริสมันต์เป็นเป้าหมายหลัก

เหตุการณ์เผชิญหน้ายังดำเนินต่อไป ในวันที่ 12 เมษายน เพราะกลุ่มคนเสื้อแดงได้ข่าวว่า นายอภิสิทธิ์จะไปออกรายการโทรทัศน์เพื่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพระนคร จึงพากันไปขัดขวาง และพยายามปิดกั้นรถยนต์ของที่นายอภิสิทธิ์โดยสาร ทำให้เกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ ในที่สุด รัฐบาลก็ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอันร้ายแรง ในเขตท้องที่กรุงเทพมหานครและเมืองโดยรอบเพื่อควบคุมสถานการณ์

เวลาเช้าวันที่ 13 เมษายน เกิดความรุนแรงที่บริเวณแยกดินแดง เมื่อกำลังทหารและตำรวจบุกเข้ามาสลายการชุมนุมประชาชนคนเสื้อแดง ฝ่ายคนเสื้อแดงรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ แต่กองทัพได้แถลงว่า มีการยิงกระสุนจริงขึ้นฟ้า แต่ฝ่ายองค์กรสิทธิมนุษยชนยืนยันว่า กองทัพยิงกระสุนจริงเข้าใส่กลุ่มผู้ชุมนุม ถึงกระนั้น กรณีนี้ไม่มีรายงานผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตชัดเจน มีผู้นำรถแก๊สไปจอดที่แฟลตดินแดน โดยโจมตีว่า คนเสื้อแดงเตรียมการก่อการร้าย แต่ไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจนเช่นนั้น กลุ่มคนเสื้อแดงตอบโต้การประกาศภาวะฉุกเฉินโดยยึดรถโดยสารประจำทางมาจอดขวางตามถนนหลายสาย จนถึงเวลากลางคืน เกิดเหตุปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุม กับชาวบ้านบริเวณตลาดนางเลิ้ง มีรายงานว่า มีผู้เสียชีวิต 2 ราย

วันที่ 14 เมษายน เวลา 10.00 น. ฝ่ายแกนนำ นปช.โดย นายวีระ มุสิกพงศ์ จึงประกาศยุติการชุมนุม เพื่อป้องกันการสูญเสียที่จะเกิดขึ้น โดยแกนนำการชุมนุมได้เข้ามอบตัวต่อฝ่ายรัฐบาล ในกระแสฝ่ายคนเสื้อแดงในระยะต่อมา มีการโจมตีว่า นายวีระผู้นำการชุมนุม”หักดิบ” โดยประกาศยุติการชุมนุมโดยพลการ ทำให้เกิดความไม่พอใจแก่ผู้นำ นปช.ฝ่ายอื่น สำหรับ ผู้นำฝ่าย นปช.คนสำคัญ คือ นายจักรภพ เพ็ญแข ได้ลี้ภัยทางการเมืองไปต่างประเทศหลังการชุมนุมครั้งนี้ และหลังจากนั้น ทางการตำรวจได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรณีความวุ่นวายที่โรงแรมรอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท และนำมาสู่การดำเนินคดี

ในวันนี้ กรณีการเคลื่อนไหว พ.ศ.2552 ซึ่งจะถูกเรียกว่า “สงกรานต์เลือด” แทบจะถูกลืมเลือนไปแล้ว เพราะในปี พ.ศ.2553 จะเกิดเหตุการณ์เคลื่อนไหวใหญ่ที่มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ถือกันว่าการเคลื่อนไหว พ.ศ.2552 เป็นการเคลื่อนไหว“ซ้อม”ของกลุ่มคนเสื้อแดง และมีบทเรียนหลายเรื่องที่เห็นได้แล้วจากเคลื่อนไหวครั้งนี้ เช่น ความพร้อมในด้านจิตใจของประชาชนคนเสื้อแดงในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แต่วิธีการต่อสู้ดูรุนแรง ไม่มีระบบ ไม่มียุทธศาสตร์ที่ขัดเจน

ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นการชี้ว่า ชนชั้นปกครองไม่ได้สนใจเสียงของประชาชน พร้อมจะใช้ทุกเหตุการณ์ที่เป็นประโยชน์มาใส่ร้ายป้ายสี และยังพร้อมที่จะใช้ความรุนแรงเพื่อปราบปราม สำหรับชนชั้นกลางจำนวนมากและสื่อกระแสหลักก็แสดงท่าทีต่อต้านประชาธิปไตยตามหลักสากล โดยการสนับสนุนให้รัฐบาลอภิสิทธิ์และให้ความร่วมมือสร้างกระแสบิดเบือนภาพลักษณ์ของประชาชนคนเสื้อแดง นี่เป็นจุดสำคัญที่จะนำมาสู่การสนับสนุนความชอบธรรมของการรัฐประหารในระยะต่อมา



หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน โลกวันนี้วันสุข ฉบับ 610 วันที่ 1 เมษายน 2560

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.