ศพสุดท้ายอีกกี่ครั้ง?: รวมกรณีซ้อมทรมาน-ตายแปลกในค่าย คุก บ้านพักนายทหาร

Posted: 04 Apr 2017 07:11 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

รวมการตายจากการซ้อมทรมาน ตายแปลก ตายระหว่างฝึก ตายเพราะถูกทำโทษ ของเหล่าทหารเกณฑ์และทหารในระดับอื่นๆ พบ 8 ปีที่ผ่านมาตาย(และเป็นข่าว)อย่างน้อย 8 ศพ ถูกซ้อมทรมานอย่างชัดเจน 4 ตายระหว่างฝึก 1 ตายเพราะถูกทำโทษ 1 และตายโดยยังมีปริศนาคาใจ 2


วันที่ 1 เม.ย. ที่ผ่านมานอกจากจะเป็นวันตรวจคัดเลือกทหารการประจำการ (ทหารเกณฑ์) เป็นวันแรกแล้ว ยังเป็นวันเดียวกันกับวันที่มีข่าวการเสียชีวิตของพลทหารยุทธกินันท์ บุญเนียม ทหารเกณฑ์ค่ายวิภาวดีรังสิต มณฑลทหารบกที่ 45 จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งถูกสั่งขังคุกทหารเมื่อวันที่ 27 มี.ค. ที่ผ่านมา เนื่องจากไม่เป็นเข้าเวรตามที่ได้รับมอบหมาย จากนั้นวันที่ 31 มี.ค. เขาได้ถูกส่งเข้าห้องฉุกเฉินที่โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี ก่อนจะเสียชีวิตในเวลา 05.00 น. ของวันที่ 1 เม.ย.

ดูจะเป็นเรื่องราวที่ไม่ส่งผลดีต่อการเกณฑ์ทหารสักเท่าไหร่นัก มิหนำซ้ำเรื่องราวความสูญเสียยังมาเกิดขึ้นในวันเปิดฉากการตรวจคัดเลือกด้วย อย่างไรก็ตามความคืบหน้าของกรณีดังกล่าว ทางด้าน พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ได้ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งกำชับให้ พล.ต.วิชัย ทัศนมณเฑียร ผบ.มทบ. ที่ 45 ดูแลครอบครัวผู้เสียชีวิตอย่างใกล้ชิด ทั้งยังระบุในลักษณะที่ว่า จะไม่ให้เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก

ด้าน พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวถึงกรณีนี้ด้วยว่า ได้มอบหมายให้พล.ต.วิชัย สอบสวนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นว่าเป็นการกระทำระหว่างนักโทษทหารด้วยกัน หรือมีผู้คุมเรือนจำร่วมด้วย ซึ่งจะได้ความกระจ่างภายใน 2 วันนี้

โดยล่าสุด เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 3 เม.ย. พล.ต.วิชัย ได้แถลงถึงความคาบหน้าของกรณีดังกล่าวว่า หลังจากที่ได้มีการสอบปากคำพยานผู้รู้เห็นเหตุการณ์พบว่า เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างพลทหารยุทธกินันท์ กับทหารยศนายสิบ ซึ่งผู้สั่งการให้ทำร้ายร่างกาย ความสูญเสียที่เกิดขึ้นเกิดจากปัญหาส่วนตัว ไม่เกี่ยวข้องกับการฝึกทหาร

แม้ว่ากระบวนการยุติธรรมที่กำลังจะเดินหน้าไปนั้นจะส่งผลที่ดีต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิตเพราะไม่ต้องออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมเหมือนในกรณีที่ผ่าน แต่ที่ผ่านมาบ่อยครั้งที่เราได้ยินข่าวเรื่องราวความสูญเสียของพลทหารหรือทหารชั้นสัญญาบัตรภายในค่ายทหาร แม้กระบวนการยุติธรรมจะทำงานแต่มันก็คงไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดี เพราะสิ่งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นตั้งแต่ต้น คือ การถูกทำร้ายร่างกาย และความตายที่ไร้เหตุผล

หากว่าการสั่ง “ห้าม” ทำร้ายร่างกายพลทหารหรือนายทหารชั้นอื่นๆ เป็นนโยบายสำคัญของ ผบ.ทบ. คนปัจจุบัน สิ่งหนึ่งน่าจะต้องกลับมาทบทวนกันอีกครั้งคือ เราเดินผ่านเหตุการณ์ความสูญเสียและได้ยินคำพูดว่า “จะไม่ให้กรณีนี้เกิดขึ้นอีก” มาแล้วกี่ครั้ง

ประชาไทรวบรวมกรณีการซ้อมทรมาน การหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย และความตายที่แปลกประหลาดในค่ายทหาร เพื่อเป็นบทเรียนและเพื่อการปรับปรุงคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นของทหารเกณฑ์ทุกกรมกองที่ยังไม่ปลดประจำการ และว่าที่ทหารเกณฑ์อีก 103,097 นายที่จะกำลังจะเข้าประจำการในปีนี้ รวมไปทั้งนายทหารผู้ใต้บังคับบัญชาในส่วนอื่นๆ ทั้งนี้เคสที่หยิบมานำเสนออีกครั้งนี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และปรากฏอยู่บนหน้าข่าวเท่านั้น

000000

ตารางการเสียชีวิตของทหารเกณฑ์ และนายทหารในระดับอื่นๆ เรียงตามปี พ.ศ.



น้าชายถูกซ้อมทรมานจนตาย หลานสาวออกมาเรียกร้อง ล่าสุดอาจถูกฟ้องผิด พ.ร.บ.คอมฯ

หากพูดถึงกรณีความสูญเสียของทหารเกณฑ์ซึ่งถูกซ้อมทรมานจนเสียชีวิต หนึ่งในหลายชื่อที่ผู้คนอาจดจำได้ คือ พลทหารวิเชียร เผือกสม เขาเสียชีวิตเมื่อ 5 มิ.ย. 2554 ซึ่งเป็นเวลาเพียง 2 เดือนหลังเข้ารับการฝึกในค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือค่ายปิเหล็ง จังหวัดนราธิวาส สาเหตุการเสียชีวิตมาจากการถูกทำร้ายร่างกายด้วยของแข็ง กล้ามเนื้อฉีกขาดรุนแรงจนทำให้ไตวายเฉียบพลัน ต้นเหตุของความสูญเสียเกิดจากการสั่งทำโทษของร้อยโท 1 นายร่วมกับพวกรวม 10 คน โดยบรรดาครูฝึกทหารใหม่อ้างว่าพลทหารวิเชียรถูกลงโทษเพราะหลบหนีการฝึกถึง 2 ครั้ง แต่นั่นคงไม่ใช่เหตุผลที่ใครจะมีอำนาจพิพากษา และหยิบยื่นความตายให้เขา

ภายหลังจากเกิดเหตุดังกล่าว แทนที่จะมีการเร่งดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ กลับกลายเป็นว่ามีนายทหารเข้ามาเสนอขอคลุมธงชาติให้ศพพลทหารวิเชียรและพระราชทานเพลิงศพ พร้อมทั้งเสนอเงินเยียวยา เพื่อที่จะยุติเรื่องราวทั้งหมดไว้ใต้พรมลายพราง

เรื่องราวของพลทหารวิเชียร กลับมาถูกพูดถึงอีกครั้งเมื่อ เมย์ นริศราวัลถ์ แก้วนพรัตน์ ผู้เป็นหลานสาวได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลต่างๆ พร้อมทั้งเรียกร้องต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในกับน้าชาย แต่กว่าความเป็นธรรมจะเดินทางมาถึงครอบครัวเธอก็ใช้เวลายาวนานถึง 5 ปี เธอเริ่มเรียกร้องตั้งแต่ยังเรียนปริญญาตรี จนกระทั่งเรียนจบและเริ่มต้นชีวิตการทำงาน

นอกจากจะมีคดีความที่เธอและครอบครัวเป็นโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายแล้ว เธอยังมีโอกาสได้รับคดีความในฐานะที่ตัวเองเป็นจำเลยอีกด้วย วันที่ 26 ก.ค. 2559 เธอถูกถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวในที่ทำงาน โดยแสดงหมายจับข้อหาหมิ่นประมาทเจ้าหน้าที่ทหารและความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 เนื่องจากได้แชร์โพสต์ในเฟซบุ๊กซึ่งมีการเปิดเผยใบหน้าร้อยโทผู้สั่งทำโทษพลทหารวิเชียร

เธอเปิดเผยว่าในช่วงแรกแรกที่ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับน้าชาย มีคนส่งกระสุนปืนบรรจุอยู่ในซองธูปมาให้ที่หน้าบ้าน เคยมีคนเข้ามาในหมู่บ้านแล้วถามว่าบ้านของพลทหารวิเชียรอยู่ตรงไหน และยังเคยมีรถที่ทหารเคยขับมาที่งานศพของน้าชายเธอขับตามรถของเธอด้วย

(อ่านเรื่องราวของพลทหารวิเชียร และการต่อสู้เรียกร้องของนริศราวัลถ์ได้ที่นี่)

พลทหารจับได้ว่า นายสิบขโมยเงิน 5 พันบาท แทนที่จะได้เงินคืนกลับถูกซ้อมข้ามคืนจนตาย

เรื่องนี้เพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับที่ทั่วทั้งประเทศไทยกำลังมีการตรวจคัดเลือกทหารกองประจำการ

วันที่ 4 เม.ย. 2559 มีรายงานข่าวว่า พลทหารทรงธรรม หมุดหมัด พลทหารสังกัด ร.152 พัน 1 ค่ายพยัคฆ์ อ.บันนังสตา จ.ยะลา เสียชีวิตหลังจากถูกทำโทษเนื่องจากกระทำความผิดทางวินัยจนทำให้ได้รับบาดเจ็บสาหัสและถูกส่งตัวมายัง รพ.ยะลา เมื่อ 2 วันก่อนเสียชีวิต ต่อมาอีก 1 วันญาติของพลทหารทรงธรรมเปิดเผยว่า ก่อนหน้าที่ผู้ตายจะถูกสั่งทำโทษด้วยการซ้อมทรมาน ผู้ตายได้มีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกับนายสิบคนหนึ่ง เนื่องจากผู้ตายจับได้ว่านายทหารคนดังกล่าวเป็นผู้ขโมยเงินจำนวน 5,000 บาทไปจึงขอค้นตัวนายสิบแต่ไม่ยอมให้ค้นตัวจนมีการชกต่อยกัน มีปากเสียงกันอย่างรุนแรง หลังจากนั้นต่างแยกย้ายกลับไปที่กองร้อย

ต่อมาหลังจากาลับมาที่กองร้อย ร.ต.ภัฏณัท เลิศชัยกุล ซึ่งเป็นทหารเวรอยู่ในขณะนั้น เป็นผู้ออกคำสั่งให้นายทหารเวรที่อยู่ในขณะนั้น รวมทั้ง 5 คน ได้แก่ สิบโทภษิติ ชาลก สิบโทภัทร เพชรรัตน์ สิบโทอัศนัย ไซยปาญยุทธ สิบตรีณัฐวุฒิ เชิคแสง และสิบตรีจักพงษ์ สังข์มูล ให้ลงโทษปรับปรุงวินัยพลทหารทรงธรรม โดยใช้เท้าเตะที่บริเวณใบหน้า ลำตัวและใช้ไม้ตีตามร่างกาย การทำโทษเริ่มต้นในเวลา 21.00 น ของวันที่ 1 เม.ย. จนถึง 04.00 น. ของวันที่ 2 เม.ย. 2559 พลทหารทรงธรรมอ่อนเพลียจากการถูกปรับปรุงวินัยอย่างหนักจนล้มลงศีรษะฟาดลงกับพื้นไม่รู้สึกตัว หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่หน่วยเสนารักษ์ ได้นำส่งโรงพยาบาลธารโต และส่งต่อไปยังโรงพยาบาลศูนย์ยะลา จากการตรวจสอบปรากฏว่า พลทหารทรงธรรมมีเลือดออกในสมอง ไม่รู้สึกตัว (อ่านข่าวที่นี่)

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ ในวันที่ 4 เม.ย. 2559 พ.อ. วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก ได้ออกมาชี้แจงว่า สาเหตุที่พลทหารทรงธรรมถูกลงโทษนั้น เกิดจากการกระทำความผิดอันเกี่ยวข้องกับยาเสพติด (อ่านข่าวที่นี่) (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องกับกรณีของพลทหารทรงธรรมที่นี่)

สิบโทถูกซ้อมตายในคุกทหาร แต่เจ้าหน้าที่ทหารบอก “นอนหนาวตาย”


นอกจากข่าวคราวการเสียชีวิตของทหารเกณฑ์ที่เป็นข้อกังขาในสังคมไทยแล้ว ยังมีเรื่องราวความสูญเสียของนายทหารชั้นสัญญาบัตรด้วย อย่างในกรณีของสิบโทกิตติกร สุธีพันธุ์ ทหารสังกัด กรมทหารที่ 23 กองพันทหารราบที่ 3 ค่ายวีรวัฒน์โยธิน มณฑลทหารบกที่ 25 จังหวัดสุรินทร์ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2559 ระหว่างถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำมณฑลทหารบก 25

ข้อมูลจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุว่า ก่อนหน้านั้น สิบโทกิตติกร ถูกจับกุมตามหมายจับของศาลจังหวัดทหารบกสุรินทร์ ที่ 14/2558 ข้อหาให้ที่พำนัก ซ่อนเร้นหรือช่วยด้วยประการใดให้ผู้ที่หลบหนีจากการคุมขังตามอำนาจของศาลเพื่อไม่ให้ถูกจับกุมโดยตัวเขาเองถูกจับกุมตัวเมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2559 โดยเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรเมืองสุรินทร์ และเมื่อทำการบันทึกการจับกุมเรียบร้อยก็ถูกส่งตัวไปไปควบคุมที่ เรือนจำมณฑลทหารบก 25 ค่ายวีรวัฒน์โยธินตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2559 ก่อนจะเสียชีวิตในวันที่ 21 ก.พ. ปีเดียวกัน

ภายหลังจากสิบโทกิตติกรเสียชีวิต เจ้าหน้าที่ทหารได้โทรแจ้งให้บุญเรือง สุธีรพันธ์ แม่ของผู้ตายทราบว่าลูกชายเสียชีวิตเพราะทนความหนาวไม่ไหว อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ญาติของผู้ตายได้พยายามขอประกันตัว และขอเข้าเยี่ยมลูกที่คุกทหาร แต่กลับถูกปฏิเสธ โดยบอกเห็นเหตุผลว่าผู้ใหญ่สั่งไม่ให้ประกัน และห้ามเข้าเยี่ยม

เมื่อแม่ผู้ตายได้เดินทางไปรับศพกลับพบว่ามีร่องรอยถูกทำร้ายตามรางกาย มีรอยฟกช้ำที่คอ ใบหน้าบวมอย่างเห็นได้ชัด และยังพบว่าเสื้อที่ใส่ในครั้งแรกของผู้เสียชีวิตจะมีชื่อและต้นสังกัด ร.23 แต่หลังเสียชีวิตกลับใส่เสื้ออีกตัวซึ่งมีชื่อของทหารอีกคนและสังกัดกองทัพบก เรื่องนี้ทางญาติมองว่าน่าจะเป็นการจัดฉาก เพราะเสื้อที่ใส่อยู่ก่อนตายคงมีคราบเลือดของผู้เสียชีวิตอยู่ ซึ่งขัดแย้งกับที่เจ้าหน้าที่ทหารที่โทรไปบอกว่านอนหนาวตาย

กรณีดังกล่าวถูกนำมาเปิดเผยโดย คราศรี ลอยทอง ที่นำเสนอข่าวทางวิทยุในรายการ ”ทันสถานการณ์ข่าว” ทางวิทยุวีอาร์กู้ชีพ 104 MHz หลังจากมีการนำเสนอข่าวไป เขาได้รับโทรศัพท์ลึกลับข่มขู่โดยอ้างว่าเป็นนายทหารยศพันโทและเป็นญาติกับผู้เสียชีวิต การนำเสนอข่าวแบบนี้ทำให้เกิดความเสียหาย อย่างไรก็ตามเมื่อตรวจสอบก็พบว่าทางทหารผู้เสียชีวิตไม่มีญาติเป็นนายทหาร

กรณีดังกล่าวมีการชันสูจตรพลิกศพ และไต่สวนการตายตามกระบวนการทางกฎหมาย ซึ่งพบว่าเหตุและพฤติการณ์ที่ตายคือ มีการบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างรุนแรงร่วมกับกระเพาะอาหารแตก เนื่องจากถูกทำร้ายร่างกาย โดยพลอาสาสมัครชูเกียรติ นันทะพันธ์ พลทหารนลทวัช ใจมนต์ พลทหารยุทธพิชัย เสนพาท พลทหารจีระศักดิ์ สิทธิษร ร่วมกันทำร้ายจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย

ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2560 แม่ของผู้ตายและทนายความจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้เดินทางไปยื่นฟ้องคดีละเมิดที่ศาลแพ่งรัชดา โดยแม่ของผู้ตายเป็นโจทก์ยื่นฟ้องแพ่งกองทัพบกเป็นจำเลยในข้อหาละเมิด เพื่อเรียกค่าเสียหาย ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 จากเหตุการณ์บุตรชายของตนเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวภายในเรือนจำ

โดยโจทก์เห็นว่า กองทัพบกเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ทหารที่กระทำละเมิดต่อร่างกายและชีวิตสิบโทกิตติกรในระหว่างการควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ทหารผู้เกี่ยวข้องได้จงใจร่วมกันทำร้ายร่างกายสิบโทกิตติกรจนได้รับบาดเจ็บสาหัส ทั้งยังละเลยไม่นำตัวสิบโทกิตติกรเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงทีจนเป็นเหตุให้เสียชีวิตในเวลาต่อมา

(อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องกับกรณีสิบโทกิตติกรที่นี่)


กรณีการเสียชีวิตที่ยังมีข้อคาใจ (ตายแปลก)


ตายคาบ้านพักของแม่ทัพภาค 1 ช่วง “สงกรานต์เลือดปี 2552” ผลชันสูตรระบุ “กะโหลกแตก” ไม่ฟันธงแตกเพราะอะไร

อีกหนึ่งกรณีความสูญเสียที่ยังเป็นเรื่องที่ไม่อาจพิสูจน์ความจริงได้ คือความตายของพลทหารอภินพ เครือสุข ชาวจังหวัดเลย ทหารรับใช้ประจำบ้านพักของพล.ท.คณิต สาพิทักษ์ (ยศในปัจจุบัน พล.อ) อดีตแม่ทัพภาคที่ 1 ซึ่งเสียชีวิตที่บ้านพักแม่ทัพภาค 1 ภายในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็ก รักษาพระองค์ โดยเสียชีวิตในช่วงระหว่างวันที่ 14-15 เม.ย. 2552 หลังจากที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคงได้เข้าไปพักเมื่อวันที่ 12-13 เม.ย.ปีเดียวกัน ช่วงเวลาดังกล่าวมีการชุมนุมของกลุ่ม นปช.อยู่บริเวณทำเนียบรัฐบาล

พล.ท.คณิต ปฎิเสธว่า ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตายของพลทหารอภินพ ในวันที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และสุเทพ เทือกสุบรรณ เข้าพักค้างคืนหลังจากเดินทางกลับจากพัทยา ทั้งนี้ พลหทารคนดังกล่าวเสียชีวิตในช่วงเช้าวันที่ 15 เม.ย. ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า จากการส่งศพชันสูตรพลิกศพที่โรงพยาบาลรามาธิบดีพบว่า สมองได้รับความกระทบกระเทือนอย่างแรง เพราะลื่นล้มในห้องน้ำในคืนวันที่ 14 เม.ย.

อย่างไรก็ตาม ปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข อดีต ส.ส.เลย พรรคเพื่อไทย เคยให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ฝ่ายค้าน(พรรคเพื่อไทย) หยิบยกการเสียชีวิตของพลทหารเกณฑ์อภินพ เครือสุก ขึ้นมาอภิปรายในที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 25 เม.ย. ว่า หลังการอภิปรายดังกล่าว ญาติของพลทหารผู้เสียชีวิตได้แจ้งให้ทราบว่า ถูกคนใช้เบอร์โทรศัพท์ลึกลับโทรมาข่มขู่ว่าไปให้ข้อมูลฝ่ายค้านได้อย่างไร และขอให้รีบฌาปนกิจ ทั้งที่ญาติยังติดใจถึงปริศนาการเสียชีวิตว่าเกิดจากอะไรกันแน่ จึงทำการเผาหลอก และนำศพขึ้นมาแจ้งให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตรวจสอบเมื่อช่วงเช้าวันที่ 25 เม.ย. ถึงสาเหตุการณ์การเสียชีวิตที่แท้จริง

ปรีชากล่าวด้วยว่า ก่อนเสียชีวิตพลทหารได้เข้าเวรอยู่บ้านพักแม่ทัพภาคที่ 1 ในคืนที่อภิสิทธิ์ และสุเทพ ได้เข้าไป โดยในคืนดังกล่าวพลทหารอภินพได้ส่งเอสเอ็มเอสถึงแฟนสาวและแม่ของตัวเองมีข้อความว่า อยู่บ้านแม่ทัพภาค 1 และมีนายกฯมานอนที่บ้านแม่ทัพภาค 1 หลังจากนั้นก็ไม่สามารถติดต่อกันได้ จนทราบล่าสุดว่าเสียชีวิตและมีร่องรอยคล้ายการถูกตีที่ท้ายทอย (อ่านข่าวที่นี่)

ด้านดีเอสไอระบุหลังจากที่ได้รับเรื่องร้องเรียนแล้วว่า ดีเอสไอไม่มีหน้าที่ชันสูตรศพจึงมอบให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์เป็นผู้ดำเนินการ ผลการชันสูตรศพถูกเปิดเผยเมื่อวันที่ 27 เม.ย.2552 โดย รศ.นพ.วิสูตร ฟองศิริไพบูลย์ ประธานคณะกรรมการตรวจศพ ระบุว่า มีรอยซ้ำที่ด้านหลังของต้นคอ มีการแตกของกะโหลกศีรษะ โดยเนื้อส่วนฐานของศีรษะด้านซ้ายมีรอยร้าวต่อเนื่องจากด้านซ้ายไปถึงบริเวณกึ่งกลางกะโหลกศีรษะยาว 5-7 ซ.ม. นอกจากนี้ยังพบเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มไขสันหลังบริเวณต้นคอชัดเจน และยังพบว่าเนื้อสมองส่วนหลังด้านซ้ายมีรอยกดบุ๋มลงไปชัดเจน ซึ่งสัมพันธ์กับเลือดที่ออกบริเวณส่วนกะโหลกที่แตก

ส่วนสาเหตุการเสียชีวิต คือ กะโหลกศีรษะส่วนหลังแตก ทำให้เลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นหนาที่กดเนื้อสมองซึ่งมีลักษณะเป็นรอยกดที่เกิดจากเลือดยุบลงไปทับเนื้อสมองความลึกประมาณ 0.5 ซ.ม. เป็นบริเวณกว้าง ดูจากเนื้อสมองที่เหลืออยู่จากการผ่าศพครั้งแรก เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า สาเหตุที่กะโหลกแตกมาจากการมีของแข็งมากระทบใช่หรือไม่ นพ.วิสูตร ตอบว่า ต้องมีของแข็งมากระทบ หรือผู้ตายไปกระทบของแข็ง แต่ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดในขณะนี้ ซึ่งกะโหลกบริเวณดังกล่าวเป็นการแตกร้าวเป็นรอยยาวแบบครั้งเดียว การกระทบที่ทำให้กะโหลกแตกได้นั้นถือเป็นการกระทบที่ค่อนข้างรุนแรงพอสมควร เพราะหากไม่รุนแรงก็จะไม่ทำให้กะโหลกศีรษะแตกได้ขนาดนี้ แต่ต้องดูในข้อเท็จจริงด้วยว่าตำแหน่งและสภาพของการถูกกระทบกระแทกเป็นอย่างไร ซึ่งแพทย์ตอบไม่ได้ อาจจะต้องอาศัยพนักงานสอบสวนไปดูในที่เกิดเหตุว่าที่เกิดเหตุมีลักษณะเป็นอย่างไร เบื้องต้นแพทย์รู้เพียงว่าศีรษะบริเวณนั้นมีการกระทบกระแทกกับของแข็งเท่านั้น (อ่านข่าวที่นี่)

ต่อมาวันที่ 20 พ.ค. 2552 พล.ต.ต .พงษ์สันต์ เจียมอ่อน รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ตำแหน่งในเวลานั้น) กล่าวถึงการสอบสวนคดีการเสียชีวิตของพลทหารอภินพโดยสันนิษฐานว่า ผู้ตายเสียชีวิตโดยผิดธรรมชาติ ซึ่งเกิดจากอุบัติเหตุ เนื่องจากยังไม่พบว่ามีใครทำให้ตายหรือทำให้เสียชีวิต สำนวนการสอบสวนทั้งหมดจะได้ส่งให้พนักงานอัยการต่อไป ยกเว้นมีผู้ใดร้องว่ามีคนทำให้ตายจึงจะสั่งการให้มีการสอบสวนเพิ่มเติม(อ่านข่าวที่นี่)

ลูกชายตายระหว่างเป็นทหารเกณฑ์ แม่เชื่อถูกซ้อมทรมาน แต่ผลชันสูตรระบุตายเพราะติดเชื้อไข้หวัดนก

เป็นอีกหนึ่งกรณีที่ชุดความจริงสองชุดวิ่งเข้าปะทะกัน สำหรับความตายของพลทหารสมชาย ศรีเอื้องดอย ทหารกองประจำการที่ค่าย กาวิละ จังหวัดเชียงใหม่ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2557 ที่โรงพยาบาลเทพปัญญา จังหวัดเชียงใหม่ หลังแพทย์จากโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ทำการชันสูตรพลิกศพ ผลลัพธ์ระบุว่า ร่างกายไม่มีบาดแผล สาเหตุการตายคือ ติดเชื้อไข้หวัดนก ปอดอักเสบ ในระหว่างรักษาตัวที่โรงพยาบาลเทพปัญญา

อย่างไรก็ตาม สายสุดา ศรีเอื้องดอย แม่ของผู้ตายเปิดเผยว่า พลทหารสมชายบอกให้ทราบก่อนเสียชีวิตว่าเขาถูกซ้อมทรมานในช่วงวันที่ 21-23 ม.ค. 2557 โดยเจ้าหน้าที่ทหาร 3 นายลงโทษด้วยการใช้ปี๊บคลุมศีรษะ ใช้อาวุธตีที่ศีรษะ แผ่นหลัง หน้าอก จำนวน 20 ครั้ง ต่อมาวันที่ 28 ม.ค. 2557 พลทหารสมชายถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลค่ายกาวิละ ด้วยอาการไอ เจ็บคอ มีอาการเหนื่อย หอบ และเหงื่อแตก เจ้าหน้าที่พยาบาลโรงพยาบาลกาวิละ ตรวจสอบอาการแล้วเห็นว่ามีอาการหนัก เข้าใจมีอาการติดเชื้อ จึงส่งตัวไปยังโรงพยาบาลเทพปัญญาก่อนจะเสียชีวิตในวันถัดมา

อย่างไรก็ตามระหว่างรักษาตัวที่โรงพยาบาลเทพปัญญา พบว่า มีคนไข้ติดเชื้อไข้หวัด จำนวน 20 ราย แต่มีพลทหารสมชาย ฯ เสียชีวิตเพียงผู้เดียว โดยก่อนหน้าที่พลทหารสมชายฯ มีสุขภาพร่างกาย แข็งแรง

ต่อมาวันที่ 23 พ.ค.2558 นางสายสุดา มารดา ได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ทหารผู้กระทำละเมิดต่อศาลแพ่ง โดยเรียกค่าเสียหายต่อสิทธิและเสรีภาพในชีวิต ร่างกายหรือจิตใจ

วันที่ 31 พ.ค. 2559 ศาลแพ่งรัชดาพิพากษายกฟ้อง โดยชี้ว่าการตายเป็นผลโดยตรงจากอาการปอดอักเสบจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ พยานฝ่ายจำเลยเป็นแพทย์ผู้ให้การรักษาจึงมีน้ำหนักที่น่ารับฟัง ขณะที่พยานฝ่ายโจทก์เป็นเพียงพยานบอกเล่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าพลทหารสมชายเสียชีวิตจากอาการปอดอักเสบจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ ไม่ได้เกิดจากการถูกทำร้ายอันเป็นการละเมิดแต่อย่างใด พร้อมทั้งพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่ทหารได้แสดงให้เห็นว่าได้ใช้ความระมัดระวังต่อพลทหารสมชายซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างเพียงพอแล้วจึงไม่เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยละเว้นอันเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงแต่อย่างใด (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)


กรณีการเสียชีวิตเพราะถูกสั่งทำโทษ และเสียชีวิตระหว่างฝึก

นายทหารเสียชีวิตระหว่างฝึก ถูกสั่งลงโทษเกินขีดความสามารถของร่างกาย


ยังมีข้อมูลการตายของนายทหารชั้นสัญญาบัตรซึ่งเสียชีวิตระหว่างฝึกอีก 2 ราย รายแรกคือ สิบโทปัญญา เงินเหรียญ นักเรียนนายสิบฝ่ายการเงิน รุ่น 16 สังกัดกองพันทหารราบที่ 3 กรททหารราบที่ 19 (ร.19 พัน 3) กองพลทหารราบที่ 9 ค่ายสุรสีห์ หมู่ 1 ต.ลาดหญ้า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี ซึ่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2559

โดยสาเหตุการเสียชีวิตเกิดจากการถูกสั่งทำโทษทางวินัย โดยนายทหารยศร้อยเอกเป็นผู้สั่งให้วิ่งรอบสนามหลายรอบ เนื่องจากสิบโทปัญญาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งที่ได้รับมอบหมาย เจ้าหน้าที่ทหารแจ้งสาเหตุของการทำโทษว่าสิบโทปัญญาอยู่หน่วยการเงิน มีนายร้อยอีกนายหนึ่งทำงานกันอยู่ 2 คน เมื่อผู้บังคับบัญชาที่สูงกว่ามอบงานให้ทำ เขาก็ไม่ทำ ไปเตือนอีกครั้งหนึ่งก็ไม่ทำ เตือนครั้งที่ 3 ก็ไม่ทำจึงมีการสั่งลงโทษ แต่เนื่องจากสภาพร่างกายของผู้เสียชีวิตไม่พร้อมจึงการอาการฮีทสโตรก (โรคลมแดด) และเสียชีวิตในที่สุด

มีผู้ให้ข้อมูลว่าสาเหตุที่สิบโทปัญญาปฏิเสธคำสั่งผู้บังคับบัญชา อาจเกิดจากการที่ต้องเตรียมสอบในอีกไม่กี่วันข้างหน้า เนื่องจากกำลังเรียนต่อในระดับปริญญาตรี อย่างไรก็ตาม นายทหารยศร้อยเอกผู้สั่งทำโทษได้เดินทางไปขอขมาพ่อและแม่ขอผู้ตายในงานศพด้วย โดยพ่อของผู้ตายได้พูดกับร้อยเอกคนดังกล่าวสั้นๆ ว่า “อย่าใช้แต่ อำนาจ” (อ่านข่าวที่นี่)

ต่อมาคือกรณีของ ร.ต.สนาน ทองดีนอก เข้ารับการฝึกในหลักสูตรมหาดเล็กรักษาพระองค์(UKBT) รุ่นที่ 11 ในหน่วยฝึกกรมทหารราบที่ 1 กองพันทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ หลักสูตรดังกล่าวกำหนดเวลาการฝึกระหว่างวันที่ 17 พ.ค. - 27 ก.ค. 2558 และจัดให้มีช่วงที่ผู้เข้ารับการฝึกต้องผ่านการทดสอบความสามารถในการว่ายน้ำ โดยจะมีเจ้าหน้าที่ในสังกัดของกองทัพบกเป็นครูฝึกและมีหน้าที่เป็นผู้กำกับดูแลการฝึก

วันเกิดเหตุ 6 มิ.ย. 2558 ในระหว่างการฝึกว่ายน้ำตามหลักสูตร ร.ต.สนาน ได้ถูกบังคับให้ว่ายน้ำเกินกำลังความสามารถที่ร่างกายจะทนได้ โดยว่ายน้ำไป-กลับภายในสระว่ายน้ำโดยไม่มีการหยุดพักหลายสิบรอบและเป็นเวลานาน จนเป็นเหตุให้ ร.ต.สนานจมลงไปในก้นสระเป็นเวลานานจนขาดอากาศหายใจ โดยที่ครูฝึกไม่ดำเนินการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ในคำฟ้องคดีแพ่งดังกล่าวระบุว่า การเสียชีวิตของร้อยตรีสนานเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของครูฝึก ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ (อ่านเรื่องราวคดีความต่อได้ที่นี่1,2)

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.