สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 26 มี.ค.-1 เม.ย. 2560


Posted: 01 Apr 2017 09:59 PM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

แรงงาน แจงสถานการณ์การเลิกจ้างและแนวโน้มการเลิกจ้างมีทิศทางที่ดีขึ้น

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน แจงข้อมูลเรียกสิทธิประโยชน์กรณีเลิกจ้างให้ลูกจ้างกว่า 123 ล้านบาท จากจำนวนลูกจ้าง 4,230 คน ที่ถูกเลิกจ้าง 5 เดือนที่ผ่านมา วิเคราะห์สถานการณ์ การเลิกจ้างและแนวโน้มการเลิกจ้างมีทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ผ่านมาของรัฐบาล

นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ( กสร. ) กล่าวว่า สถานการณ์การเลิกจ้าง ในภาพรวมของประเทศ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2560 พบว่า สถานการณ์การเลิกจ้างและแนวโน้มการเลิกจ้างมีทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ผ่านมาของรัฐบาล ที่เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการลงทุนภาครัฐและให้สถาบันการเงิน เช่น ธนาคารออมสิน ช่วยเหลือสถานประกอบกิจการขนาดใหญ่ และธุรกิจ SMEs กู้ยืมเงินโดยคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำ รวมทั้งนโยบายด้านอื่นๆ เพื่อแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศ เมื่อเศรษฐกิจของประเทศไทยขยายตัวดีขึ้น ทำให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น ทั้งในกรุงเทพมหานครและภูมิภาคต่างๆ ในส่วนของการเลิกจ้างมีแนวโน้มลดลงโดยจะเห็นได้จากข้อมูลจำนวนลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างและมายื่นคำร้องลดลง โดยในช่วงระยะเวลาดังกล่าวมีสถานประกอบกิจการที่เลิกจ้างลูกจ้างทั้งหมด 172 แห่ง ลูกจ้างยื่นคำร้องรวม 4,290 คน เงินสิทธิประโยชน์ที่ลูกจ้างได้รับรวม 123,149,121 บาท สำหรับประเภทกิจการที่มีการเลิกจ้างมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) กิจการประเภทการผลิตและจำหน่าย คิดเป็นร้อยละ 41 2) กิจการประเภทอื่นๆ (เช่น จัดทำเอกสาร ซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ) คิดเป็นร้อยละ 15 3) กิจการโรงแรม/สถานบันเทิง/งานบริการ คิดเป็นร้อยละ 11 4) กิจการสื่อสารคมนาคม คิดเป็นร้อยละ 9 และ 5) กิจการก่อสร้าง คิดเป็นร้อยละ 7 ทั้งนี้ มีสถานประกอบกิจการที่มีแนวโน้มเลิกจ้าง 4 แห่ง ลูกจ้างจำนวน 882 คน

อธิบดี กสร. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้อัตราการเลิกจ้างในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 มีจำนวนลดลง โดยในเดือนตุลาคม – ธันวาคม 2559 มีจำนวนอัตราการเลิกจ้าง 31,570 คน / 30,570 คน / 29,748 คน ลดลงตามลำดับ เดือนมกราคม 2560 มีจำนวน 29,076 คน ซึ่งเมื่อวิเคราะห์จากภาพรวมแล้วสถานการณ์การเลิกจ้างและแนวโน้มการเลิกจ้างมีทิศทางที่ดีขึ้น

ที่มา: กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, 27/3/2560

กอช.ผุดไอเดีย ดึงเอกชน สมาคม จัด กอช. เป็นสวัสดิการให้ลูกจ้าง

กองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. ผุดแนวคิดใหม่ดึงบริษัทเอกชน สมาคม ฯลฯ จัด กอช. เป็นสวัสดิการให้แก่ลูกจ้างให้มีชีวิตในบั้นปลายที่ดีมีคุณภาพ โดยนายจ้างส่งเงินสะสม เพื่อรับเงินสมทบจากรัฐบาล เพิ่มโอกาสเข้าถึงระบบบำนาญ

กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ร่วมกับสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ออกบูธประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ความเข้าใจด้านการออมเพื่อการชราภาพกับ กอช. แก่ผู้พิการทางสายตา โดยประสานกับธนาคารกรุงไทย สาขาวิคตอรี่มอลล์ มาเป็นหน่วยรับสมัครสมาชิกเคลื่อนที่ ณ สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย เมื่อเร็ว ๆ นี้

นายสมพร จิตเป็นธม เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. กล่าวว่า นับเป็นเรื่องดีที่ทางสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเก็บออมเพื่อยามชราภาพ รวมถึงการสนับสนุนให้สมาชิกของสมาคมฯ ได้มีการเก็บออมกับ กอช. โดยทางสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยจะเป็นผู้จ่ายเงินสะสมให้กับสมาชิกที่เป็นผู้จำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลรายย่อย เพื่อให้เป็นเสมือนสวัสดิการรูปแบบหนึ่ง

ซึ่งนอกจากผู้พิการทางสายตาจะได้รับเงินสะสมที่ทางสมาคมจ่ายให้แล้ว ยังจะได้รับเงินสมทบจากทางรัฐบาลตามเงื่อนไขของ กอช. (ตามพระราชบัญญัติ กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๔) เป็นการเปิดโอกาสให้คนกลุ่มนี้ได้เข้าถึงระบบบำนาญ อันเป็นการสร้างหลักประกันความมั่นคงพื้นฐานในการดำรงชีวิตยามชราภาพ ซึ่งการจัดสวัสดิการดังกล่าวถือได้ว่าสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยได้ดูแลสมาชิกในสังกัดของตนให้มีชีวิตในบั้นปลายที่ดีมีคุณภาพ โดยไม่เป็นภาระในการบริหารเงินแก่สมาคม อีกด้วย

"สำหรับโครงการนำร่องแห่งแรกได้จัดขึ้นก่อนหน้านี้ โดย กอช. ร่วมกับบริษัท วอเนอร์ บราเดอร์ส ฟาร์อีส อินคอโปเรชั่น ประเทศไทย จำกัด โดยทางบริษัทฯ เป็นผู้ส่งเงินสะสมให้แก่ลูกจ้างที่เป็นแรงงานนอกระบบ ไม่มีประกันสังคม เพื่อให้ลูกจ้างกลุ่มนี้ได้รับเงินสมทบ จากรัฐบาลอีกส่วนหนึ่ง กอช. จึงเป็นเครื่องมือให้บริษัท ห้างร้าน หรือหน่วยงาน จัดสวัสดิการเพื่อสร้างหลักประกันบำนาญชราภาพให้กับลูกจ้างในสังกัดได้อย่างดี" นายสมพรกล่าว

ที่มา: money.sanook.com, 27/3/2560

มท.ออกกฎกระทรวง ให้แรงงานต่างด้าวกลับบ้านช่วงสงกรานต์

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงหมาดไทย เสนอร่างกฎกระทรวงอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา เดินทางกลับประเทศในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ตั้งแต่วันที่ 5 เม.ย. - 30 เม.ย. นี้ โดยแรงงานสามารถยื่นขอหนังสือรับรองจากสำนักงานจัดหางานจังหวัดได้โดยไม่ต้องเดินทางมาที่กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ทั้งนี้นอกจากแรงงานแล้ว บุตรที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี ยังสามารถร่วมเดินทางกลับได้ด้วย อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี กำชับให้ทุกกระทรวง ทบวง กรม ตำรวจ ทหาร รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง ดูแลอำนวยความสะดวกต่อการเดินทางของแรงงานต่างด้าว โดยไม่มีค่าธรรมเนียมเข้าออกประเทศ พร้อมย้ำห้ามมีการเรียกรับสินบน หากพบการเรียกรับสินบนจะต้องมีการตรวจสอบและเอาผิดต่อเจ้าหน้าที่อย่างเด็ดขาด

ที่มา: Nation TV, 28/3/2560

เครือข่ายแรงงาน ตั้งคำถาม สธ. แก้ พ.ร.บ. สสส. เพื่อใคร


น.ส.อรุณี ศรีโต ประธานเครือข่ายแรงงานนอกระบบ พร้อมด้วย นายภาคภูมิ สุกใส ผู้ประสานงานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่ายกว่า 30 คน เดินทางมายังสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อยื่นหนังสือถึง นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ภายหลังทราบข่าวว่า สธ. เร่งเดินหน้าแก้ไข พ.ร.บ. กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ พ.ร.บ.สสส. โดยมี นพ.กิตติศักดิ์ กลับดี เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้รับหนังสือแทน

น.ส.อรุณี กล่าวว่า ขณะนี้ สธ. เตรียมแก้ไข พ.ร.บ.สสส. โดยในวันที่ 31 มี.ค. และ 3 เม.ย. นี้ จะมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเพียงไม่กี่คน เฉพาะใน กทม. ซึ่งอยู่ในวงจำกัดมาก ขาดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ดังนั้น เครือข่ายฯ จึงขอแสดงจุดยืนและเรียกร้องต่อ สธ. นำไปพิจารณาดังนี้ 1. ขอให้เปิดกว้างในการจัดรับฟังความคิดเห็นการแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ. สสส. โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมให้กว้างขวางและหลากหลาย เพราะกองทุน สสส. มีผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งประชาชนกลุ่มต่างๆ ตลอดจนองค์กร หน่วยงานภาครัฐ จำนวนมาก จึงควรจัดเวทีรับฟังให้ทั่วถึง อย่างน้อยครอบคลุมในระดับภาค ไม่ใช่จัดเพียงแค่ 2 ครั้ง ใน กทม. โดยตัดโอกาสภูมิภาค และการที่แรงงานนอกระบบมาเสนอข้อคิดเห็นเรื่องนี้ ก็เพราะประเด็นสสส. กระทบทุกภาคส่วน

2. ขอตั้งคำถามกับ สธ. ถึงเจตนารมณ์ที่แท้จริงในการแก้ไข พ.ร.บ. สสส. ว่า มีเจตนารมณ์ที่แท้จริงอย่างไรกันแน่ เพราะการตรวจสอบอย่างเข้มข้นจากหน่วยงานต่างๆ ที่ผ่านมา ก็ไม่พบการทุจริต และมีการแก้ไขระเบียบต่างๆ ให้เข้มงวดมากยิ่งขึ้นแล้ว ตลอดจนผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส สสส. ปี 2559 ระบุชัดเจนว่าอยู่ในระดับดีมาก แต่เหตุใดความพยายามตัดตอน สสส. จึงไม่จบสิ้น ทำให้ประชาชนเข้าใจได้ว่ามีวาระซ่อนเร้นบางอย่าง กับภารกิจจัดการ สสส. อย่างเป็นขั้นเป็นตอน 3. ขอเรียกร้องให้ประชาชนช่วยกันจับตา ว่าการแก้ไข พ.ร.บ. สสส. จะเป็นประโยชน์กับประชาชน หรือเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับหน่วยงานใด หรือเข้าทางกลุ่มทุนที่ได้รับผลกระทบจากการทำงานของภาคีที่ทำงานอย่างเข้มข้นตลอดเวลาที่ผ่านมา จึงอยากขอให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแก้ไข พ.ร.บ. นี้ด้วย

ที่มา: ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 27/3/2560

สั่งกระทรวงแรงงานเช็คการจ้างงานผู้พิการให้เป็นจริง หลังพบบางที่บรรจุจ้างเท็จเพื่อลดหย่อนภาษี

พ.อ.หญิงทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำกระทรวงแรงงานว่ามีบริษัทต่างๆที่จ้างงานของผู้พิการให้เข้าไปทำงาน แต่บางบริษัทได้มีการจ้างงานผู้พิการให้เข้าไปทำงานจริง แต่บางบริษัทมีการบรรจุชื่อของผู้พิการเฉยๆแต่ไม่ได้ให้ผู้พิการเหล่านั้นเข้าไปทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการบรรจุชื่อผู้พิการเพื่อไปลดหย่อนภาษีเท่านั้น

โดยมีการเรียกร้องจากผู้พิการว่าพวกเขาอยากจะเข้าไปทำงานในบริษัทต่างๆเหล่านั้น ให้ได้เห็นว่าผู้พิการสามารถที่จะทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ และอยู่ร่วมกับสังคมกับผู้อื่นได้ นายกฯจึงได้ขอให้กระทรวงแรงงานไปตรวจสอบเรื่องนี้ และขอให้มีการจ้างงานผู้พิการจริง

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 29/3/2560

ค้านแบงก์ขายประกัน "ถึงบ้าน" แนะแยกพนักงานขายประกันออกจากเจ้าหน้าที่สาขากันข้อมูลลูกค้ารั่วไหล

ตัวแทนประกันรุมค้าน แบงก์ขอขายประกันถึงบ้านลูกค้าวอนแยกพนักงานขายประกันชีวิตออกจากเจ้าหน้าที่ประจำสาขาให้หมด ไม่ให้มีส่วนรู้ข้อมูลลูกค้า และไม่ให้ใช้ข้อมูลของสาขาในการต่อรองให้ลูกค้าซื้อประกันชีวิต ฝ่าฝืนปรับครั้งละไม่ต่ำกว่า 5 แสนบาท

จากกรณีที่มีข่าวว่าธนาคารพาณิชย์ จะขอธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขายประกันชีวิตถึงบ้านหรือสำนักงานของลูกค้า แทนที่จะขายอยู่ที่สำนักงานสาขานั้น

นายทวีเดช งามขจรกุล นายกสมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน กล่าวว่า ตามกฎหมายกำหนดว่า นายหน้าประกันชีวิตคือผู้ชี้ช่อง คือทำหน้าที่ให้คำแนะนำที่เหมาะสมแก่ลูกค้าที่เดินเข้ามาเพื่อขอคำปรึกษาหารือ โดยผู้ซื้อมีความประสงค์จะซื้อ แต่ต้องการให้นายหน้านำเสนอข้อมูลผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตของหลายๆ บริษัทให้ลูกค้าเลือก เพื่อตัดสินใจซื้อสินค้าที่ดีที่สุดด้วยตนเอง

ดังนั้น ธนาคารจึงไม่ควรเป็นองค์กรที่จะขายประกันด้วยการทำงานเชิงรุก บุกไปชักชวนลูกค้าถึงบ้าน หากนายหน้าบุกไปขายประกันชีวิตถึงบ้านลูกค้าด้วยการเสนอแบบประกันของบริษัทเดียว น่าจะเข้าข่ายผิดพระราชบัญญัติประกันชีวิต เพราะไปทำหน้าที่ทับซ้อนการเป็นตัวแทนประกันชีวิต

“เจ้าหน้าที่ธนาคารถือเป็นบุคคลที่มีส่วนได้ส่วนเสีย มีอิทธิพลต่อการทำธุรกรรมของลูกค้า หากเจ้าหน้าที่ธนาคารจู่โจมถึงที่ทำงานหรือบ้านของลูกค้าได้ ลูกค้าย่อมไม่สามารถหลบหลีกหรือบ่ายเบี่ยงได้ ทุกวันนี้ เราก็ได้ข่าวอยู่แล้วว่า เจ้าของธุรกิจหลายคนเลี่ยงที่จะไม่ไปทำธุรกรรมที่ธนาคารหากไม่จำเป็น แต่จะมอบหมายให้คนรับใช้ หรือคนขับรถไปทำเรื่องแทน เพราะเกรงว่าจะถูกขอให้ทำประกันชีวิต"

นายทวีเดช กล่าวว่า การที่ธนาคารกำหนดให้การขายประกันชีวิตเป็นหนึ่งใน KPI ผลงานพนักงาน ทำให้พนักงานหลายคนได้รับความกดดันต้องขายประกันชีวิตเพื่อความอยู่รอดหรือเพื่อประโยชน์อื่น เช่น เพื่อโบนัส หรือการเลื่อนตำแหน่ง โดยที่พนักงานธนาคารไม่ได้รู้ผลประโยชน์ประกันชีวิตได้ลึกซึ้งแบบตัวแทนประกันชีวิต เพราะต้องขายผลิตภัณฑ์หลายตัว ทำให้ไม่มีความเชี่ยวชาญในการอธิบาย บางครั้งอาจใช้วิธีขอร้องแกมบังคับ

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 29/3/2560

กระทรวงแรงงาน มีแนวคิดการจัดระเบียบเขตที่พักอาศัยแรงงานต่างด้าว เพื่อเป็นไปตามมาตรฐานสากลและหลักสิทธิมนุษยชน

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงานและโฆษกกระทรวงแรงงาน บอกว่า ขณะนี้ทางกระทรวงมีแนวคิดการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวในจังหวัดที่มีแรงงานต่างด้าวมากกว่า 50,000 คน ที่มีอยู่ประมาณ 13 จังหวัด โดยได้ขอความร่วมมือจังหวัดในการพิจารณาจัดเขตพื้นที่ส่งเสริมที่พักอาศัยแรงงานต่างด้าว เพื่อให้สถานประกอบการ นายจ้าง นำแรงงานต่างด้าวเข้าพักอาศัย ที่จะให้นายจ้างดูแลด้านสวัสดิการ และป้องกันปัญหาด้านสาธารณสุข การจัดการปัญหาขยะในพื้นที่ ซึ่งจะส่งผลดีต่อทั้งชุมชนและสังคมโดยส่วนรวม จัดเป็นมาตรการที่เกิดประโยชน์ในภาพรวมของประเทศ และยังเป็นไปตามมาตรฐานสากลและหลักสิทธิมนุษยชน

ที่มา: Nation TV, 29/3/2560

พนักงาน-สหภาพแรงงาน อสมท. จี้ตรวจสอบ ผอ.ฝ่ายดิจิทัล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 28 มีนาคม พนักงาน บมจ.อสมท.ได้ยื่นจดหมายถึงคณะกรรมการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บมจ.อสมท. เพื่อให้ตรวจสอบคุณสมบัติของนายธาม เชื้อสถาปนศิริ ผู้อำนวยการฝ่ายดิจิทัล โดยอ้างว่า หลังจากเข้าปฏิบัติงานตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 จนถึงปัจจุบัน ได้ปรากฏให้เห็นถึงปัญหาการทำงานในหลายๆ ด้าน จึงขอให้คณะกรรมการสหภาพฯ พิจารณาใน 3 ประเด็น ดังนี้

1. การไม่มีวินัยต่อการปฏิบัติงาน ไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่และทุ่มเทเวลาในการปฏิบัติงานให้สมกับความคาดหวังและไม่เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา โดยใช้เวลาการปฏิบัติงานไปเป็นวิทยากร, บรรยาย, สอนหนังสือ จากช่องว่างที่ระดับฝ่ายไม่ต้องมีการลงเวลาระบบการเข้า – ออก

2.ไม่มีความโปร่งใสในการปฏิบัติงานทำเพื่อพวกพ้องของตนเองในการนำเพื่อนที่ไม่ผ่านการสมัครในตำแหน่งผู้จัดการส่วนฝ่ายขาย ฝ่ายดิจิทัล แต่ให้มีการขึ้นสำรองรายชื่อไว้ จากนั้นตนก็มาขอขยายโครงสร้างเพิ่มส่วนงาน คือ ส่วนพัฒนาผลิตภัณฑ์ แล้วเอาเพื่อนมาดำรงตำแหน่งผู้จัดการส่วนฯ ทันที โดยไม่เปิดให้มีการแข่งขันทั้งภายในและภายนอก

3.ขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้อำนวยการฝ่ายคนนี้มีความถูกต้องตามคุณสมบัติการรับสมัครของ บมจ.อสมท หรือไม่ เนื่องจากตามเอกสารคุณสมบัติทั่วไปข้อที่ 1.3 ระบุชัดเจน ผู้สมัครต้อง “มีประสบการณ์การทำงานในระดับผู้บริหาร (Manager) มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี” เนื่องจากตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นไปยัง TPBS ต้นสังกัดเดิมแล้ว ในปี 2558 ตำแหน่งสุดท้ายคือ “นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน” ข้อเท็จจริงข้อนี้ก็จะไปตกที่คณะกรรมการคัดสรร ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ของ บมจ.อสมท ให้ผ่านคุณสมบัติข้อนี้ได้อย่างไร

นอกจากนี้เอกสารดังกล่าวยังมีการแนบประกาศ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ที่ 122/2559, หมายงานในแต่ละวัน และหลักฐานการทำงานในตำแหน่งพร้อม Link ข้อมูลมาด้วย

ที่มา: มติชนออนไลน์, 28/3/2560

แรงงานยันเร่งดำเนินการกรณีลูกจ้างบริติช-ไทยซินเทติคเท็กส์ไทล์ถูกเลิกจ้าง

กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ชี้แจงการดำเนินการให้ความช่วยเหลือลูกจ้าง บริษัท บริติช-ไทยซินเทติคเท็กส์ไทล์ จำกัด ถูกเลิกจ้าง ไม่ได้รับค่าชดเชยขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ พร้อมประสานทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือทั้งในเรื่องที่พักและการหางานใหม่ ส่วนกรณีคนงานหญิง จ. ระยอง ที่ถูกเลิกจ้างเพราะเหตุตั้งครรภ์หากนายจ้างปฎิบัติไม่ถูกต้องจะดำเนินการตามกฎหมาย

นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยภายหลังคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) เข้าพบเพื่อขอปรึกษากรณีบริษัท บริติช-ไทยซินเทติคเท็กส์ไทล์ จำกัด เลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่จ่ายชดเชย และกรณีลูกจ้างหญิงจังหวัดระยองถูกเลิกจ้างในขณะตั้งครรภ์

วันที่ 27 มีนาคม 2560 ณ ห้องประชุมคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ กสร.ว่า กรณีลูกจ้างบริษัท บริติช-ไทยซินเทติคเท็กส์ไทล์ จำกัด ประกอบกิจการตัดเย็บเสื้อผ้า ซึ่งตั้งอยู่ที่ อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2559 นายจ้างได้หยุดกิจการและประกาศเลิกจ้างลูกจ้างเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2560 และขอให้ลูกจ้างย้ายออกจากที่พัก ซึ่งลูกจ้างจำนวน 104 คน ได้ยื่นคำร้องกับพนักงานตรวจแรงงานเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2560 ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อออกคำสั่ง อย่างไรก็ตาม กสร.ได้ประสานกับทางกรมบังคับคดีในฐานะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการดำเนินการให้ลูกจ้างได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายโดยเร็ว ส่วนการให้ความช่วยเหลือเรื่องที่พักอาศัยได้ประสานกับทางธนาคารซึ่งเจ้าของกรรมสิทธิในหอพักลูกจ้างอาศัยอยู่ให้ผ่อนพันให้ลูกจ้างพักอาศัยต่อไป และประสานให้ลูกจ้างได้ใช้น้ำและมีเครื่องปั่นไฟมาให้ความช่วยเหลือ ปัจจุบันมีลูกจ้างอาศัยอยู่ที่หอพัก จำนวน 32 คน และในวันที่ 3 เมษายนนี้ จะได้นัดหารือกับทางธนาคารอีกครั้งโดยฝ่ายลูกจ้างจะร่วมหารือด้วย นอกจากนี้ได้ประสานกับสำนักงานจัดหางานจังหวัดสมุทรสาครในการจัดหางานให้กับลูกจ้างที่ประสงค์จะทำงานใหม่

อธิบดีกสร. กล่าวต่อว่า สำหรับกรณีลูกจ้างหญิงจังหวัดระยองที่แจ้งว่าถูกเลิกจ้างเพราะเหตุตั้งครรภ์นั้น พนักงานตรวจแรงงานกำลังดำเนินการสอบข้อเท็จจริงหากพบว่านายจ้างปฏิบัติไม่ถูกต้องก็จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป อย่างไรก็ตามขณะนี้ทราบว่าลูกจ้างได้กลับเข้าไปทำงานกับนายจ้างแล้ว

"การดำเนินการให้ความช่วยเหลือลูกจ้าง เป็นหน้าที่ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ซึ่งจะต้องดำเนินการให้ลูกจ้างได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายโดยเร็ว อย่างไรก็ตามการดำเนินการต้องเป็นไปตามกรอบและขั้นตอนของกฎหมายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง" อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกล่าว

ที่มา: กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, 31/3/2560

รัฐชี้หาที่พักให้ต่างด้าวแค่แนวคิด เหตุกระจายกันอยู่เสี่ยงปัญหาเพียบ ต้องจัดโซนนิ่งแก้


(31 มี.ค.) พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีที่มีสื่อมวลชนนำเสนอข่าวระบุ รัฐจะจัดหาที่ดินติดทะเลเพื่อเป็นที่พักอาศัยของแรงงานต่างด้าวว่า เรื่องดังกล่าวยังเป็นเพียงแนวคิด ไม่ใช่ข้อยุติ เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงแรงงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมโยธาธิการและผังเมือง และกรมที่ดิน จะต้องหารือร่วมกันถึงความเป็นไปได้ รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน นายจ้าง ลูกจ้าง เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่สมเหตุสมผล

“ขณะนี้มีแรงงานต่างด้าวจำนวนมากในประเทศไทย รัฐบาลจึงต้องจัดระเบียบให้เหมาะสมโดยคำนึงถึงผลประโยชน์หรือผลที่จะกระทบต่อคนไทยก่อนเป็นลำดับแรก ไม่อยากให้มองว่าเป็นการดูแลคนอื่นมากกว่าคนไทย แต่ควรมองอย่างเป็นระบบและเปิดใจกว้าง เพราะอาชีพบางอย่างไม่มีคนไทยอยากทำแล้วจึงต้องอาศัยแรงงานต่างด้าว โดยรัฐต้องทำงานหลายมิติและจัดสวัสดิการดูแลแรงงานกลุ่มนี้ตามหลักสิทธิมนุษยชนด้วย” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ทั้งนี้ ที่ผ่านมาแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ คือ ลาว พม่า กัมพูชา อยู่อาศัยเป็นชุมชนกระจัดกระจายไปในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะ จ.ระนอง และ จ.สมุทรสาคร อันเป็นความสุ่มเสี่ยงต่อปัญหาอาชญากรรมและยาเสพติด โรคติดต่อ ขยะ ที่พักอาศัยไม่ได้มาตรฐาน ฯลฯ จึงเป็นที่มาของแนวคิดสร้างความเป็นระเบียบและป้องกันปัญหาทุกเรื่องในกลุ่มแรงงานต่างด้าวซึ่งมีจำนวนกว่า 50,000 คน ใน 13 จังหวัด โดยให้แต่ละจังหวัดไปพิจารณาจัดเขตพื้นที่ส่งเสริมที่พักอาศัยแรงงานต่างด้าว (Zoning) เพื่อให้สถานประกอบการและนายจ้าง นำแรงงานต่างด้าวเข้าพักอาศัย ควบคุมดูแล และบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ท่านนายกฯ เน้นย้ำว่า การแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวเป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เพราะเกี่ยวข้องกับปัญหาอื่นๆ เช่น การค้ามนุษย์ การทำประมงผิดกฎหมาย และปัญหาสังคม ซึ่งจำเป็นต้องทำอย่างครบวงจร ทั้งการปราบปรามผู้กระทำผิด และการสงเคราะห์ตามหลักสากลหรือพันธสัญญาระหว่างประเทศ โดยอยากให้พี่น้องประชาชนหรือผู้ที่เห็นต่างเข้าใจเจตนารมณ์ที่แท้จริงของรัฐบาล วิพากษ์วิจารณ์บนพื้นฐานของเหตุผล เอาใจเขามาใส่ใจเรา ไม่ใช้ความรู้สึกตัดสินเพียงอย่างเดียว” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว

ที่มา: ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 31/3/2560

นายกสมาคมประมง จ.ปัตตานี วอนรัฐเร่งแก้ปัญหาแรงงานประมงขาดแคลนหนัก


(31 มี.ค.) นายภูเบศ จันทนิมิ นายกสมาคมการประมง จ.ปัตตานี เปิดเผยถึงกรณีปัญหาแรงงานต่างด้าวที่ขาดแคลน จนส่งผลให้การประมง และผู้ประกอบการ และโรงงานอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบอย่างหนักว่า หลังจากที่ไทยได้รับผลกระทบกรณีอียูให้ใบเหลืองเกี่ยวกับการทำประมงนั้น ส่วนหนึ่งมาจากท่าเทียบเรือไม่ได้มาตรฐาน ทั้งสถานที่ ความสะอาด สุขอนามัย และการที่คณะจะลงมาตรวจสอบเพื่อเร่งปรับปรุงให้ได้มาตรฐานที่เชื่อถือได้ในระดับโลก ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี

เช่นเดียวกับการขุดลอกร่องน้ำก็เป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะปัตตานีมีเรือจำนวนมาก และขณะนี้ก็มีเรือสินค้าเข้ามาขนถ่ายพอสมควร และหากขุดลอกร่องน้ำแล้วก็อยากให้ขุดลอกครั้งใหญ่ เพราะตั้งแต่หลังปี 2546 ได้แค่งบ 80 ล้านบาท เพื่อบำรุงรักษาร่องน้ำเท่านั้นเอง ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น หากขุดลอกครั้งใหญ่ก็จะอยู่ได้ถึง 7 ปี ไม่ต้องเสียงบประมาณต่อเนื่องทุกปี และปัญหาน้ำท่วมก็จะหายไปด้วย

ส่วนปัญหาแรงงานประมงที่ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดอยู่ในขณะนี้ ตนขอฝากเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน เพราะที่ผ่านมา รัฐบาลได้เปิดให้แรงงานต่างดาวจดทะเบียนเฉพาะคนที่บัตรหมดอายุเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง รัฐบาลควรมาศึกษา และให้เห็นภาพความเป็นจริงว่า การประกอบอาชีพประมงว่าปัญหาคืออะไร นักวิชาการเองก็ไม่ได้รู้เรื่องจริง จึงทำให้เกิดปัญหาแรงงานขาดแคลน เพราะแรงงานที่จดทะเบียนมีอยู่ในจำนวนจำกัด

แต่เมื่อจดแล้วบางคนก็ย้ายไปทำงานภาคอุตสาหกรรมและก่อสร้าง ทำให้แรงงานประมงขาด เพราะอาชีพประมงถือเป็นอาชีพท้ายๆ ที่แรงงานต่างด้าวเลือก เมื่อจดทะเบียนถูกต้องก็หนีย้ายไปจำนวนมาก ส่วนแรงงานต่างดาวที่ลักลอบเข้ามาเพื่อที่จะทำงานประมงก็ไม่สามารถทำงานได้เพราะผิดกฎหมาย ฉะนั้น สมาคมประมงปัตตานี ก็ได้เสนอว่าขอให้แรงงานที่มีพาสปอร์ตเข้ามาในประเทศ ให้เขาสามารถขอวีซ่า หรือขอใบอนุญาตเพื่อให้ได้ทำงานได้เลย ดีกว่าลักลอบเอาแรงงานเข้ามาทำงานผิดกฎหมาย คนผิดเรายังทำให้ถูกได้ และทำไมไม่เอาคนถูกเข้ามาทำงาน

นายกสมาคมประมง จ.ปัตตานี กล่าวอีกว่า ปัจจุบันนี้ต้องยอบรับว่า เรือประมงจำนวนมากไม่ได้ออกประมง ต้องจอดทิ้งไว้เพราะขาดแรงงาน แต่เมื่อออกหาปลาก็ไม่มีประสิทธิภาพ เพราะคนงานน้อย เรือบางลำต้องมีแรงงาน 20-30 คน แต่หากมีคนงาน 10 กว่าคน การทำงานก็ไม่มีประสิทธิภาพ ขณะนี้ผู้ประกอบการเดือดร้อนหนัก และยังส่งผลกระทบไปยังโรงงานอุตสาหกรรม โรงน้ำแข็งหลายแห่งก็ต้องหยุด และปิดกิจการลง พ่อค้าแม่ค้าก็ไม่มีวัตถุดิบในการขาย กระทบกันเป็นลูกโซ่

ฉะนั้น จึงอยากให้รัฐบาลลงมาแก้ปัญหาแรงงานก่อนเพราะเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ส่วนรัฐบาล หรืออียูจะออกกฎระเบียบอะไรตามมาเราก็ทำ แต่ถ้าทำแล้วไม่มีแรงงานมันก็เปล่าประโยชน์ ที่สำคัญทำให้เศรษฐกิจของประเทศเสียหาย อุตสาหกรรมต่อเนื่องก็กระทบไปหมด และตลอดเวลาที่ผ่านมา เฉพาะปัตตานี มีความเสียหายด้านการประมงหลายพันล้านบาท แต่ยังไม่รวมภาคอุตสาหกรรม และกิจกรรมต่อเนื่องอีกจำนวนมาก เพราะปัตตานีมีรายได้จากประมงประมาณ 50 กว่าเปอร์เซ็นต์ ถือว่าครึ่งหนึ่งของรายได้ ทำให้ปัตตานีขณะนี้มีรายได้อันดับท้ายๆ ของประเทศอยู่แล้ว เมื่อมาเจอปัญหานี้อีกยิ่งส่งผลหนักเข้าไปอีก

ที่มา: ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 31/3/2560

ก.แรงงานผนึกกำลังเอกชน ปั้นดินเป็นดาวสู่รั้วโรงแรม

นายธีรพล ขุนเมือง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตามที่มีนโยบายของพลเอกศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มุ่งเน้นการพัฒนากำลังคนให้มีศักยภาพทันต่อเทคโนโลยี ปัจจุบันได้จัดทำหลักสูตรรองรับด้านเทคโนโลยีชั้นสูง S-Curve และ New S-Curve รวมกว่า 1,000 หลักสูตร เพื่อใช้ฝึกอบรมแรงงานในพื้นที่สถาบันเทคโนโลยีชั้นสูง 12 แห่ง ซึ่งมีจุดเน้นแต่ละด้านแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ รวมถึงสถาบันและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศด้วย ทั้งนี้ มุ่งพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล และสอดรับกับสภาพความเป็นจริง พร้อมก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 ในอนาคต อีกทั้งเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน

หลักสูตรรองรับสถาบันเทคโนโลยีชั้นสูง 12 แห่ง มีทั้งสิ้น 1,371 หลักสูตร เน้นหลักสูตร เทคนิคการผลิตและบริการที่ใช้เทคโนโลยีจากดิจิทัลและระบบเครือข่ายไร้สาย (Internet, Cloud) เทคโนโลยี Automation หรือ Mechatronics จำนวน 8 สาขาอาชีพ ได้แก่ สาขาอาชีพช่างเชื่อม เทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ เกษตรแปรรูปอาหารและแปรรูปผลิตภัณฑ์ยาง ท่องเที่ยวและบริการ สียานยนต์ ดิจิทัล โลจิสติกส์ และไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม แมคคาทรอนิกส์และระบบออโตเมชัน

นายธีรพลกล่าวว่า สำหรับหลักสูตรการฝึกอบรมที่สอดคล้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายรองรับการก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 กลุ่มอุตสาหกรรมเดิม (First S-Curve) มีจำนวน 292 หลักสูตร เช่น หลักสูตรด้านยานยนต์สมัยใหม่มี 56 หลักสูตร อาทิ สาขาการเชื่อมจุดด้วยความต้านทานสำหรับผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ สาขาการใช้เครื่อง CMM เพื่อการตรวจสอบชิ้นส่วนยานยนต์ การใช้เครื่องมือวัด 3 มิติ สาขางานกลึงโลหะ ด้านอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อาทิ การประยุกต์ใช้งาน Smart Relay การควบคุมการผลิตอัตโนมัติด้วยอุปกรณ์ Touch Screen สาขาการควบคุมระบบอุณหภูมิแบบอัตโนมัติในอุตสาหกรรมด้านท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวสุขภาพ อาทิ สาขานักส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวมสปาตะวันตก พนักงานขับเรือโดยสาร การสร้างร้านออนไลน์ และพนักงานบริการห้องอาหาร

นายธีรพลกล่าวอีกว่า หลักสูตรสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) มี 240 หลักสูตร ด้านหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม หลักสูตรที่จัดฝึกอบรม อาทิ สาขาช่างควบคุมเครื่องกลึง CNC ระดับ 1 ระดับ 2 ระดับ 3 สาขาการเชื่อมด้วยหุ่นยนต์ ระดับ 1 ระดับ 2 ระดับ 3 หากเป็นด้านโลจิสติกส์และการบินจะมีหลักสูตรถึง 110 หลักสูตร ตัวอย่างเช่น สาขาอาชีพผู้ควบคุมสินค้าคงคลัง ระดับ 1 ระดับ 2 หรือสาขาการบริหารโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน เป็นต้น

หลักสูตรต่างๆ ที่ได้กล่าวมานั้นเป็นหลักสูตรที่ กพร.ดำเนินการและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมกับเครือข่ายการพัฒนาฝีมือแรงงาน อาทิ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยสถาบันไทย-เยอรมัน สมาคมชิ้นส่วนยานยนต์ไทย สมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (TIFFA) และส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการ จัดฝึกอบรมฝีมือแรงงานให้กับพนักงานในด้านที่รองรับเทคโนโลยีชั้นสูงด้วย โดยมีสถานประกอบการให้ความร่วมมือกว่า 2,000 แห่ง มีพนักงานที่ได้รับการพัฒนาในด้านดังกล่าวแล้วจำนวน 494,385 คน

"กพร.ให้ความสำคัญต่อแรงงานทุกกลุ่ม ทั้งแรงงานที่อยู่ในสถานประกอบกิจการ แรงงานนอกระบบ และแรงงานกลุ่มพิเศษ เช่น ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ทหาร ผู้ต้องขังและผู้ผ่านการบำบัดด้านยาเสพติด เพื่อมุ่งหวังให้แรงงานในทุกกลุ่มมีโอกาสได้รับการพัฒนาทักษะฝีมือ สามารถนำความรู้ที่ได้รับนำไปประกอบอาชีพ สร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัวได้ต่อไป" นายธีรพลกล่าว

ขณะเดียวกัน นายธีรพล ขุนเมือง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และนางสุพัตา จิราธิ วัตน์ รองประธานอาวุโส ฝ่ายองค์กรสัมพันธ์และภาพลักษณ์ โรงแรมและรีสอร์ตในเครือเซ็นทารา ได้ร่วมกันลงนามความร่วมมือในการดำเนิน "โครงการ 4 สร้าง : สร้างโอกาส สร้างฝัน สร้างอนาคต สร้างอาชีพกับเซ็นทารา"

นายธีรพลเปิดเผยว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงานผนึกกำลังกลุ่มโรงแรมและรีสอร์ตในเครือเซ็นทาราตามแนวทางประชารัฐ ดำเนินโครงการดังกล่าวเพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนได้พัฒนาความรู้ ทักษะฝีมือและเพิ่มพูนศักยภาพในการทำงานด้านบริการ และเป็นการขยายฐานกำลังแรงงานให้กว้างขวางและครอบคลุมกลุ่มเยาวชนในทุกภูมิภาคที่มีโรงแรมและรีสอร์ตของกลุ่มเซ็นทาราตั้งอยู่ จะสอดคล้องนโยบาย 8 วาระปฏิรูปมิติใหม่ของการส่งเสริมการมีงานทำ แรงงานทั่วไป คนพิการ ผู้สูงอายุ และยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ

อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงานกล่าวว่า การฝึกอบรมเป็นหลักสูตรเตรียมเข้าทำงานสาขาพนักงานโรงแรม ประกอบด้วย ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับงานโรงแรม การบริการอาหารและเครื่องดื่ม การปฏิบัติงานครัวและงานผู้ช่วยประกอบอาหาร การปฏิบัติงานด้านแม่บ้าน และภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารในงานโรงแรม จะเน้นการฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ รวมถึงการปฏิบัติงานจริงในโรงแรมและรีสอร์ตในเครือเซ็นทารา ในจังหวัดแหล่งท่องเที่ยวทั้งในกรุงเทพมหานคร ประจวบคีรีขันธ์ ชลบุรี ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี ตราด กระบี่ อุดรธานี สงขลา เชียงใหม่ พังงา ระยะเวลาการฝึกอบรม 6 เดือน (840 ชั่วโมง) เริ่มตั้งแต่เมษายน-สิงหาคม 2560 และต้องได้รับการประเมินผล 2 ครั้ง คือช่วงกลางระหว่างการฝึกและสิ้นสุดการฝึก เยาวชนที่ผ่านการฝึกอบรมจะได้รับโอกาสทำงานในโรงแรมและรีสอร์ตในเครือเซ็นทารา

"ในช่วงปี 2555-2559 มีเยาวชนที่ผ่านการฝึกอบรมทั้งสิ้น 493 คน ได้เข้าทำงานในโรงแรมและรีสอร์ตในเครือเซ็นทารา มีรายได้เฉลี่ยไม่น้อยกว่า 18,000 บาทต่อคนต่อเดือน สามารถเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้ ส่วนในปี 2560 มีเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 156 คน สำหรับเยาวชนที่ต้องการเข้าร่วมโครงการต้องมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และจบการศึกษาไม่ต่ำกว่าชั้น ม.6 ส่วนใหญ่จบจากโรงเรียนประชานุเคราะห์ โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ และโรงเรียนโสตศึกษา" อธิบดี กพร.กล่าวในที่สุด

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์, 31/3/2560

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.