ขุดคุ้ยประวัติศาสตร์กับ 'ธำรงศักดิ์': หมุดคณะราษฎร ‘เสี้ยน’ ที่บ่งไม่ออก (สักที)


Posted: 19 Apr 2017 12:57 PM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

ท่ามกลางความมึนงงสงสัยว่าหมุดคณะราษฎรที่ฝังไว้ที่ลานพระบรมรูปทรงม้าหายไปได้อย่างไร ใครนำไป พร้อมกับมีน้ำจิตน้ำใจเปลี่ยน “หมุดหน้าใส” มาใส่แทนที่ อาจพูดได้ว่าบรรยากาศทางการเมืองในช่วงเวลานี้คล้ายมีหมอกควันทึมเทามาบดบังความจริง และหมอกควันที่ว่าอาจมีผลข้างเคียงทำให้คนที่พยายามค้นหาความจริงสำลัก กระอักกระอ่วน ดีไม่ดีอาจถึงขั้นน้ำตาไหลและหายใจไม่ออก

หากเป้าหมายของการณ์นี้คือ ความต้องการรื้อถอนประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎร เห็นทีคงไม่ใช่เรื่องง่ายดายนัก และอาจจะเป็นดังที่ ชาตรี ประกิตนนทการ ให้สัมภาษณ์กับประชาไทไว้ก่อนหน้านี้ว่า นี่คือความอ่อนหัดทางการเมืองของฝ่ายอนุรักษ์นิยม เพราะนอกจากจะไม่สามารถสร้างประวัติศาสตร์ของ “หมุดหน้าใส” ให้มีคุณค่าทดแทนหมุดคณะราษฎรที่หายไปได้ กลับยิ่งทำให้ผู้คนตั้งคำถามและย้อนกลับไปหาความรู้เกี่ยวกับคณะราษฎรอย่างหนักอีกครั้ง

อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งที่คนที่สนใจประวัติศาสตร์การเมืองไทยน่าจะพอรับรู้คือ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่หมุดคณะราษฎรหายไป เพียงแต่ครั้งก่อนหน้านี้ไม่มีหมุดใหม่มาใส่แทน คำถามสำคัญคือ ทั้งสองปรากฏการณ์มีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร ไล่เรื่อยไปจนถึงคำถามถึงมรดกอื่นๆ ของคณะราฎรที่ยังคงอยู่และถูกทำให้หายไปก่อนหน้านี้มีอะไรบ้าง ประชาไทชวน ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อีกหนึ่งนักประวัติศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการเปลี่ยนการปกครอง พ.ศ. 2475 มาพาผู้อ่านย้อนเวลาหาอดีตกันอีกครั้งท่ามกลางหมอกควันทึมเทาของปัจจุบัน


คณะราษฎรทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง วันที่ 24 มิถุนายน 2475


หมุดคณะราษฎร คือ หมุดที่ฝังไว้ในจุดที่มีการอ่านประกาศวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง


แต่การวางหมุดจริงๆ เกิดขึ้นในอีก 4 ปีต่อมา โดยวางวันที่ 10 ธันวาคม 2479 (วันที่ ร.7 พระราชทานรัฐธรรมนูญ)


ในอดีตวันชาติ คือ วันที่ 24 มิถุนายน กำหนดเป็นวันหยุดราชการถึง 3 วัน


หมุดถูกเอาออกครั้งแรกในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ปี 2503


เลขาฯ สภาผู้แทนราษฎรนำหมุดไปเก็บไว้ที่สภาจนกระทั่งจอมพลสฤษดิ์เสียชีวิตจึงให้ กทม.นำมาวางคืน


หมุดคณะราษฎร กับ พระบรมรูปทรงม้า ทุกฝ่ายเคยให้ยอมรับว่าไปด้วยกันได้ในทางอุดมการณ์บางอย่าง


ประวัติศาสตร์คณะราษฎร-2475 ถูกอธิบายจากพระเอกเป็นผู้ร้าย หลังสิ้นสุดอำนาจในปี 2490


แวดวงวิชาการเริ่มส่งเสียงรื้อฟื้นคุณูปการคณะราษฎรในวาระครบรอบ 50 ปีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


คำตอบต่อคำถาม ทำไมคณะราษฎรต้องยึดอำนาจบ่อยๆ


ธรรมศาสตร์เป็นมรดกคณะราษฎร จุฬาลงกรณ์ก็เช่นกัน


อีกมรดกที่สำคัญมาก คือ หลัก 6 ประการ คือ 1. เอกราชในบ้านเมือง ศาล เศรษฐกิจ 2. รักษาความปลอดภัยในประเทศ 3. บำรุงความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ จัดหางานให้ราษฎรทำ วางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ 4. ให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน ไม่ใช่ให้พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่ 5. ให้ราษฎรมีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลักก่อนหน้า 6. ให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

ประชาไท: หมุดคณะราษฎรเคยถูกเอาออกไปแล้วในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เจตนาของครั้งนี้และครั้งนั้นต่างกันอย่างไร

ธำรงศักดิ์: ถ้าเรามองปรากฎการณ์ของการนำหมุดของคณะราษฎร หรือหมุด 2475 ออกจากลานพระบรมรูปทรงม้าในครั้งสมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี 2503 กับครั้งนี้ ทั้งสองเหตุการณ์ชี้ให้เห็นว่า ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ที่ถูกเขียนขึ้นหลังการรัฐประหารปี 2490 เป็นประวัติศาสตร์ที่เป็นคู่ตรงข้ามของการปฏิวัติ 2475 ของคณะราษฎร เพราะมันเป็นประวัติศาสตร์การสร้างรัฐทหารในรูปแบบใหม่ที่ปฏิเสธการมีอยู่ของคณะราษฎร และรื้อฟื้นจิตวิญญาณของระบอบเก่าขึ้นมาในกรณีของยุคจอมพลสฤษดิ์ ครั้งนั้นเป็นการนำหมุดออกไปและไม่ได้มีอะไรมาทดแทน เป็นการเอาออกไปจากพื้นถนน

ในยุคนั้นเราจะเข้าใจได้ทันทีว่า ยุคของจอมพลสฤษดิ์คือยุคทหารโดยสมบูรณ์ การกระทำของจอมพลสฤษดิ์เป็นการกระทำที่ไม่อาจมีคนโต้แย้งใดๆ อย่าลืมว่าการรัฐประหารปี 2501 นั้นหลังจากรัฐประหารแล้วได้กวาดทำลายปัญญาชน นักข่าว นักหนังสือพิมพ์ ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเผด็จการเข้าคุกทั้งหมด ดังนั้นเสียงที่ปฏิเสธจึงถูกทำให้เงียบงันตามมาตรา 17 ซึ่งก็คือบิดาของมาตรา 44 ในปัจจุบัน

การทำให้หมุดหายไปยังสัมพันธ์กับการยกเลิกวันชาติ ซึ่งคือวันที่ 24 มิถุนายน หมุดของคณะราษฎรเป็นหมุดที่ระบุว่า เหตุการณ์ในวันที่ 24 มิถุนายนคือการสร้างชาติใหม่ สร้างระบอบทางการเมืองใหม่ และต่อมาถูกสถาปนาให้เป็นวันชาติ ซึ่งมีวันหยุดราชการถึง 3 วัน

ส่วนหมุดคณะราษฎรได้วางจริงๆ ในวันที่ 10 ธันวาคม 2479 มันเป็นการตอกย้ำอีกครั้งว่าวันที่ 10 ธันวาคมคือ วันรัฐธรรมนูญ มันเท่ากับว่าหมุด 24 มิถุนาแต่วางในวันที่ 10 ธันวา มันก็คือการยืนยันว่าสองเหตุการณ์นี้คือวันสำคัญ

รัฐธรรมนูญได้มาโดยคณะราษฎรไม่ได้มาจากการพระราชทาน ดังนั้นหมุดนี้จึงเป็นเสมือนประวัติศาสตร์เชิงประจักษ์ ที่อธิบายต่อรัฐทหารหลัง 2490 ว่า สิ่งที่คณะราษฎรจะเดินไปคือประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้ง หมุดคณะราษฎรจึงเป็นเสมือนเสี้ยนที่ตำเท้ารัฐทหาร และระบอบเก่า



หมุดคณะราษฎรถ่ายในปี 2553 ที่มาของภาพ Jo Shigeru/Wikipedia


ภาพการแจกประกาศคณะราษฎร 24 มิถุนายน 2475

เมื่อจอมพล สฤษดิ์ ยกเลิกวันชาติที่ 24 มิถุนายนลงในปี 2503 คณะทหารใหม่ที่สถาปนาอำนาจได้เบ็ดเสร็จและสามารถขับไล่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ทายาทของคณะราษฎรคนสุดท้ายออกจากตำแหน่งทางการเมืองไปแล้ว จึงต้องทำให้หมุดนี้สาบสูญไป เพราะพื้นที่ตรงนั้นจอมพลสฤษดิ์จะใช้เป็นพื้นที่สวนสนามของกองทัพอย่างเป็นกิจจะลักษณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการสวนสนามในวันที่ 4 ธันวาคม ดังนั้นจึงไม่เพียงแค่กำจัดคณะราษฎรออกไปจากทุกมุมการเมือง แต่ยังต้องกำจัดเอาเสี้ยนตรงนี้ออกไปด้วย แล้วก็ทำให้เป็นเพียงพื้นปูนเปล่า

เพียงแต่มีคนที่ยังเห็นความสำคัญอยู่ คือเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรในเวลานั้น ที่เห็นว่าถ้าไม่มีหมุด 2475 ตรงนี้ก็จะไม่เกิดสภาผู้แทนราษฎร (นายประเสริฐ ปัทมสุคนธ์ เลขาธิการสภาฯ สมัยนั้น เห็นความสำคัญ จึงเก็บไว้ที่สภาฯ กระทั่งจอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อสัญกรรมในปี 2506 จึงได้ให้ กทม. นำมาฝังไว้ที่เดิม-ประชาไท) นี่คือสำนึกที่เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรยังมีความรับรู้ที่เกี่ยวพันกันว่า หมุด 2475 ทำให้เกิดระบอบใหม่ และระบอบใหม่ทำให้เกิดสภาผู้แทนราษฎร

ความแตกต่างของการถอนหมุดสมัยจอมพลสฤษดิ์กับครั้งนี้คือ ครั้งนี้ไม่ได้ทำให้หมุดหายอย่างเดียว แต่ยังให้สิ่งหนึ่งปรากฏ และการปรากฏครั้งนี้แตกต่างจากสมัยจอมพลสฤษดิ์


ยุคจอมพลสฤษดิ์ต้องการให้เห็นถึงอำนาจของรัฐบาลทหารที่เป็นเผด็จการ แต่หมุดที่ปรากฏในครั้งนี้ คือ หมุดหน้าใส ที่มีแนวโน้มชี้ให้เห็นถึงพลังราชานิยมไม่ใช่ทหารนิยม เป็น ultra royalist ไม่ใช่ militarism ถ้าเรามองแบบเปรียบเทียบ เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลง

ประชาไท: พูดให้ชัดก็คือ การเปลี่ยนหมุดครั้งนี้ก็คือความพยายามรื้อถอนประวัติศาสตร์ของคณะราษฎรอีกรอบใช่ไหม

ธำรงศักดิ์: โดยตัวของการกระทำมีแนวโน้มคือ ทำให้หลักฐานเชิงประจักษ์หายไปจากลานพระบรมรูปทรงม้า แต่สิ่งที่ควรตั้งข้อสังเกตก็คือการวางหมุดความทรงจำของคณะราษฎรไม่กระเทือนถึงพระบรมรูปทรงม้า เพราะคณะราษฎรยอมรับว่าในยุคสมัยของพระจุลจอมเกล้าฯ เป็นการนำไทยเข้าสู่โลกสมัยใหม่แบบโลกตะวันตก ส่วนคณะราษฎรก็นำไปสู่ความศิวิไลซ์ในแนวทางเดียวกัน เพียงแค่เลือกระบอบทางการเมืองที่แตกต่าง รัชกาลที่ 5 ใช้แนวทางวิธีรวมศูนย์อำนาจไว้ที่พระองค์ ในขณะที่คณะราษฎรมองถึงการกระจายทำอาจไปที่ท้องถิ่น และเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง

นี่คือ 2 เส้นทาง และ 2 อย่างนี้ต่างกัน 40 ปีเท่านั้นเอง ระหว่างเส้นทางที่รวมศูนย์อำนาจในปี 2435 กับการสร้างว่าประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของอำนาจร่วมกันและกระจายอาจในปี 2475


ดังนั้น การวางหมุดไว้เคียงข้างกันเป็นผลมาจากการยอมรับการดำรงอยู่ของยุคสมัยแห่งการสร้างชาติ อีกด้านหนึ่งก็ยืนยันตัวตนการสร้างชาติของคณะราษฎรในการสร้างชาติ แต่ตอนนี้หมุดหน้าใสกลายเป็นความชิงชังโกรธแค้น เกลียดชังหมุดคณะราษฎร


ถ้าเป็นการทำให้หายไป ความหมายก็อย่างหนึ่ง แต่การเอาหมุดหน้าใสมาแทนหมุดของคณะราษฎร เราแปลความได้ว่านั่นคือ การลบประวัติศาสตร์ที่เคยเกิดขึ้นจริงและพยายามสร้างเรื่องราวใหม่ ประวัติศาสตร์ที่พึ่งแต่งขึ้นใหม่ ณ จุดที่ตัวเองไม่มีความเกี่ยวพันเลย คำถามก็คือมันยิ่งก่อให้เกิดคำถามว่า “ทำไม” ซึ่งกลายเป็นพลังที่จะโจมตีหรือว่าโต้กลับหมุดหน้าใส ไม่ว่าอย่างไรหมุดหน้าใสก็ไม่อาจช่วงชิงพื้นที่ของหมุดราษฎรได้

เรื่องนี้สัมพันธ์กับการขยายและเติบโตของการศึกษาเกี่ยวกับการปฏิวัติ 2475 ในรอบ 5 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วง 50 ปีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เริ่มมีการตั้งคำถามย้อนกลับ เช่น จากเดิมหลังรัฐประหาร 2490 วงวิชาการจะอธิบายว่า การปฏิวัติ 2475 เป็นการชิงสุกก่อนห่าม แต่งานฉลองครบรอบ 50 ปีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สรุปข้อมูลใหม่เพื่อตั้งคำถามว่า มันสุกงอมแล้วหรือเปล่า เขย่าทีเดียวแล้วร่วงเลย แสดงว่าปัจจัยภายในของสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นกลวงข้างใน เพียงเจอกลุ่มคนเล็กๆ กลุ่มหนึ่งก็พังและถอยร่น และระบอบทางการเมืองในทางรัฐศาสตร์อธิบายว่า ระบอบทางการเมืองใดไม่อาจปรับตัวให้เข้ากับบริโลกและบริบทของสังคมตัวเองได้ ระบอบนั้นก็จะถูกทำลายโดยตัวของตัวเอง

คำถามใหม่ๆ ในทางรัฐศาสตร์ และการศึกษาทางประวัติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงทิศทางของการบริหารงบประมาณแผ่นดิน การเจริญเติบโตของประเทศที่แตกต่างกันมันส่งผลให้เกิดการรับรู้ต่อการปฏิวัติ 2475 ที่เปลี่ยนแปลงไปในทางบวก ต่างจากช่วงก่อนหน้านั้นตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2490 เป็นต้นมา มีอธิบาย 2475 ในด้านลบ เช่น คำถามที่ผมมักเจอ คือ การรัฐประหาร 20 มิถุนายน 2476 นั้นทำไมคณะราษฎรต้องมารัฐประหารอีกในเมื่อพึ่งรัฐประหารมา อีก 4 วันจะครบ 1 ปี คำตอบต่อคำถามนี้ก่อนหน้านี้มันไปในทางการแก่งแย่งชิงอำนาจ

แต่คำถามใหม่ๆ ที่เกิดในช่วงวาระครบรอบ 50 ปีธรรมศาสตร์นั้นเองทำให้ผมต้องมาศึกษาการปฏิวัติ 2475 ศึกษาคณะราษฎรและผู้นำระบอบเก่า แล้วก็เห็นว่า พลังของสองฝ่ายหลังปฏิวัติ 2475 มันสู้กัน ไม่มีใครยอมสยบอำนาจตัวเองโดยไม่ได้สู้ ดังนั้น มันจึงมีปฏิกิริยาต่อการปฎิวัติ 2475 ในทุกรูปแบบ ในที่สุดปฏิกิริยาครั้งแรกเกิดขึ้นโดยพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ผมจึงบอกว่าอยู่ดีๆ ไม่ใช่คณะราษฎรยึดอำนาจรัฐประหารอีกรอบเพื่อเอาอำนาจให้กับตัวเอง แต่พระยามโนปกรณ์ออกพระราชกฤษฎีกาซึ่งเป็นกฎหมายชั้นล่างเพื่อมากระชับอำนาจให้ตัวเองแล้วกำจัดปรีดีพนมยงค์และคณะราษฎรในจุดต่างๆ

พระยามโนปกรณ์มีอำนาจเบ็ดเสร็จเพราะกำหนดว่าในรัฐบาลชุดนั้นสามารถบริหารและออกกฎหมายได้โดยไม่ต้องมีสภา และพระยามโนฯ ก็ออกกฎหมายคอมมิวนิสต์เพื่อกำจัดปรีดีเป็นคนแรก เราเริ่มเห็นแล้วว่านี่คือการต่อสู้เพื่อรักษาอำนาจทางการเมืองของระบอบเก่า เพื่อเอาชนะผู้นำทางการเมืองระบอบใหม่ คณะราษฎรก็สามารถยึดอำนาจคืนมาได้ ต่อมาอีก 3 เดือนก็เกิดการรัฐประหารครั้งที่ 3 รัฐประหารครั้งนี้เรียกว่า “กบฏบวรเดช” ในช่วงเดือนตุลาคม 2476 เพราะช่วงเดือนตุลาคมนั้น คณะราษฎรได้จัดให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งในตอนนั้นประเทศยังไม่มีความพร้อมในเรื่องถนนหนทาง ความทุรกันดาร จึงเปิดให้มีการเลือกตั้งของแต่ละจังหวัดยาวมากตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงกลางพฤศจิกายน ฝ่ายทหารที่ยังภักดีต่อระบบเก่าจึงรวมกันเพื่อล้มรัฐบาลคณะราษฎร ถ้าคณะราษฎรสามารถจัดการเลือกตั้งแล้วได้ ส.ส. มา ความชอบธรรมของระบอบใหม่จะเริ่มทันที นี่เป็นการชิงการยึดอำนาจเพื่อควบคุมสภาผู้แทนราษฎร


ชาวพระนครต้อนรับทหารปราบกบฏบวรเดช ที่กลับมาเมื่อ 25 พ.ย. 2476 ที่มาของภาพ: พิพิธภัณฑ์ศูนย์การทหารปืนใหญ่/facebook Heaven Love

มันคือการสู้กันเพื่อออกแบบรัฐธรรมนูญและการคุมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ระบอบเก่าก็พยายามปรับตัวเองว่าจะดำรงอยู่ต่อไปได้อย่างไรในเสื้อคลุมรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย

เมื่อคณะราษฎรถูกทำให้หายไปในปี 2490 ความเป็นผู้ร้ายจึงตกมาอยู่ที่คณะราษฎร พระเอกก็กลายเป็นกบฏบวรเดช และพระยามโนปกรณ์นิติธาดา อันนี้ชี้ให้เห็นถึงการลบความทรงจำและการปกปิดข้อมูล ช่วงราวๆ ปี 2527 ถึงปัจจุบัน หรือราวๆ 30 ปีที่แล้ว ความรู้ชุดใหม่เชิงบวกต่อคณะราษฎรและการปฏิวัติ 2475 รวมไปถึงการช่วงชิงของอำนาจเก่าค่อยปรากฏขึ้น และกลายเป็นความรับรู้ที่แพร่กระจายของคนรุ่นใหม่ที่ผ่านมา

ด้วยเหตุนี้การหายไปของหมุดคณะราษฎรที่หายไปพร้อมการปรากฏตัวของหมุดหน้าใส มันเหมือนโยนระเบิดนิวเคลียร์ หรือแม่ของระเบิด (Mother of All Bombs) ลงบนพื้นโดยไม่มีความเข้าใจ เพราะคิดว่า การเปลี่ยนแปลงหมุดอาจทำให้มีคนโวยวายก็จริงแต่เดี๋ยวก็เงียบ ที่สำคัญก็คือการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบลึกลับ คนที่เปลี่ยนแปลงมาเป็นหมุดหน้าใสก็ตระหนักดีว่าตนเองก็อยู่ในโลกสมัยใหม่ คุณจะเผยอหน้าออกมาว่าคุณได้ทำลายหมุด 2745 และสร้างหมุดหน้าใสหรือ แม้คุณจะออกมาปรากฏตัวได้ในช่วงนี้แต่พอกาลเวลาผ่านไปคุณก็จะกลายเป็นผู้ร้ายของหน้าประวัติศาสตร์ในสังคมไทย จึงต้องมีลักษณะแอบซ่อนอำพราง การไม่เปิดเผยแสดงว่าไม่ได้เกิดเกียรติยศใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ได้เป็นการกระทำที่น่าภูมิใจให้กับหมุดหน้าใสใดๆ ทั้งสิ้น

ประชาไท: อาจารย์มองว่าเรื่องนี้จะเป็นชนวนของความขัดแย้งหรือไม่


ธำรงศักดิ์: ผมเชื่อว่ามันทำให้คนที่เชื่อ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” มาตระหนักถึงความยอกย้อนของมัน ความคิดความเชื่อที่ถูกฝังถูกใส่ คนจำนวนมากที่มีอายุในรุ่น 50-60 ปีคือคนที่เติบโตมาในช่วงประวัติศาสตร์หน้าใหม่หลัง 14 ตุลา ไม่ว่าอุดมการณ์ที่ได้รับชัยชนะจะเป็นอย่างไร แต่กลุ่มคนที่มีการศึกษาและเริ่มต่อสู้เริ่มต้นในยุคแรก คุณคิดว่าเขาจะไม่คิดถึงสังคมของลูกหลานของเขาเหรอว่า ลูกหลานเขาจะอยู่ในสังคมแบบไหน มันไม่ใช่การปฏิรูปก่อนเลือกตั้งแล้ว แต่มันเป็นการสร้างรัฐทหาร ระบอบเก่าที่ว่าคืออะไร ใครคือตัวแสดงบนเวที สิ่งไหนที่คุณเชื่อได้ ใครคือตัวแสดงแทนที่คุณมองไม่เห็นมันเหมือนควันไฟป่าที่ลามไปทั่ว หายใจไม่ออก และมองไม่เห็นเพราะมันแสบตา

ประชาไท: ย้อนกลับมาที่มรดกของคณะราษฎร แม้ตอนนี้เราไม่มีหมุดให้เห็นแล้ว แต่ถ้าถามถึงสิ่งที่คณะราษฎรทำไว้ เรายังหลงเหลือมรดกอะไรอยู่อีกบ้าง


ธำรงศักดิ์: คณะราษฎรเขาไม่ได้มาตัวเปล่า แต่เขามาพร้อมกับหลักนโยบาย 6 ข้อ มาพร้อมกับความเจริญของประเทศชาติ การสร้างชาติตามคำว่าศิวิไลซ์ คือทำให้เจริญรุ่งเรือง มีความเป็นคน มีสิทธิของคุณมากขึ้น เมื่อลองไล่ดู หลักว่าด้วยเอกราช 50ปีที่ผ่านมาไทยเป็นเอกราช ทำไมถึงมีหลักเอกราช คือ คนอายุ 50-100 ปี ไม่ได้มองว่าประเทศนี้เป็นเอกราชโดยแท้จริง ภาษาอังกฤษเรียนว่า semi-colony เป็นประเทศกึ่งอาณานิคม เนื่องจากเป็นผลมาจากการทำสนธิสัญญาเบาว์ริงกับอังกฤษในปี 2398 ตามที่เราเรียนก็จะบอกว่าทำให้เราเปิดโลกการค้า แต่ทำให้เราเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต แล้วคำนี้ก็ถูกทำให้รู้สึกเฉยๆ แต่พอไปดูภาษาอังกฤษก็จะพบว่านี่คือลักษณะกึ่งอาณานิคม

ประเทศไทยถูกบังคับให้เปิดประเทศโดยอังกฤษ เหมือนที่ญี่ปุ่นถูกบังคับให้เปิดประเทศโดยสหรัฐก่อนไทยแค่ปีเดียว เพราะกระแสของมันคือทำให้เกิดการค้าเสรี Free Trade ปัจจุบันเราคุ้นเคยกับ FTA เขตการค้าเสรี การที่ทำสนธิสัญญากับอังกฤษคือการล้มการค้าผูกขาดรัฐบาลของกษัตริย์แต่ละประเทศ เพื่อที่จะให้อังกฤษค้าขายกับใครก็ได้ในแผ่นดินนี้ แต่การเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตเรื่องการศาลและศุลกากร ประเทศคู่สัญญาไม่ต้องขึ้นศาลของประเทศนั้น ไปขึ้นศาลของตัวเองได้ หมายความว่าประทศไทยไม่มีอำนาจลงโทษคนที่เข้ามาอยู่ในประเทศ เมื่อคนเหล่านั้นทำผิดกฎหมายไทย

ประเทศไทยเป็นประเทศเอกราชที่ไม่มีรัฐธรรมนูญประเทศเดียวในโลก นั่นหมายถึงไม่มีเอกราชอันสมบรูณ์ ซึ่งตามสัญญาระบุว่าถ้าจะเปลี่ยนแปลงสัญญาจะต้องปรับปรุงกระบวนการศาลให้มีความศิวิไลซ์เท่าโลกตะวันตก แต่รัฐสมบรูณาญาสิทธิราชย์ทำได้แค่นั้น จึงต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศและส่งลูกไปเรียนต่างประเทศบ้าง และรัฐไทยก็เลือกส่งนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวงไปเรียนแทนลูกเจ้านาย ซึ่งนักเรียนเหล่านั้นก็เป็นประชาชนธรรมดาเช่น ปรีดี พมนยงค์ และ แปลก ขีตตะสังคะ (จอมพล ป. พิบูลสงคราม)

นักเรียนเหล่านั้นได้ไปเรียนต่างประเทศเท่ากับว่าได้เห็นโลกใหม่ ตกลงประเทศไทยของเราไม่ได้มีเอกราชจริงอย่างนั้นหรือ? จึงเป็นความตั้งใจที่จะกู้เอกราชให้ได้ ซึ่งไม่ได้แตกต่างจากความตั้งใจในการกู้เอกราชของประเทศอินโดนีเซีย และประเทศอื่นๆ เพียงแต่การการกู้เอกราชของเขาเป็นการกู้จากผู้ปกครองต่างชาติโดยตรงชัดเจน แต่ประเทศไทยมองไม่เห็น แต่เห็นระบอบหนึ่งที่คิดว่าจะทำให้ประเทศดีขึ้น ขณะเดียวกันที่ผ่านมาเรื่องงบการศึกษาของรัฐไทยก็น้อยมาก เรื่องสาธารณสุขก็เช่นกัน ด้วยประเด็นนี้จึงเป็นความตั้งใจหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงมุ่งแต่เรื่องนี้ และสำเร็จในเวลาอันรวดเร็ว ในปี 2481 เขาสามารถยกเลิกสัญญาที่ทำให้ไม่เป็นเอกราชโดยสมบรูณ์ได้หมด


คณะรัฐมนตรีชุดแรกของสยามประเทศ พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี (แถวล่างสุด คนกลาง)
ปรีดี พนมยงค์ (แถวบนสุด คนที่ 2 จากขวา) จอมพล ป.พิบูลสงคราม (แถวที่ 2 คนที่ 3 จากขวา)
ที่มาของภาพ: พิพิธภัณฑ์ศูนย์การทหารปืนใหญ่/facebook Heaven Love


เขาจึงลงหมุดอีกอันหนึ่งลงบนถนนราชดำเนินกลางนั่นคือ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยตัวของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยสัญลักษณ์ของมันได้บอกถึง 24 มิถุนายน 2475 และด้วยหลักการนโยบาย 6 ข้อของคณะราษฎร เหนือจากนั้นขึ้นไปคือรัฐธรรมนูญนำมาซึ่งความเจริญของประเทศ และวันเดียวกัน 24 มิถุนายน 2482 เป็นวันชาติและเฉลิมฉลองเอกราชอันสมบูรณ์ แต่คนยุคหลังๆ หลายทศวรรษมานี้จะไม่รู้เรื่องนี้เลย เพราะอดีตถูกทำให้หายไป เราจึงไม่เห็นและไม่เข้าใจมรดกที่คณะราษฎรทำได้สำเร็จและในเวลาอันรวดเร็ว

หลักต่อมาว่าด้วยความปลอดภัย อาจจะสงสัยว่ารัฐทุกรัฐต้องดูแลความปลอดภัยอยู่แล้ว แต่รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์เน้นความปลอดภัยของเจ้านาย ไม่ใช่ความปลอดภัยของประชาชน ดังนั้นภารกิจกระบวนการของตำรวจจึงได้ขยายออกไปยังชุมชนเพื่อสร้างระเบียบ ความปลอดภัยให้ประชาชน ในทางกฎหมายไม่ว่าจะเป็นตำรวจ อัยการ ศาล คุก ผู้พิพากษาสร้างขึ้นมาเพื่อบอกว่าทำยังไงจึงจะสร้างความปลอดภัยประชาชน แต่ปัจจุบันมีแต่อคติและความไม่ปลอดภัย นี่ไม่ใช่ฝีมือคณะราษฎรแต่เป็นฝีมือของรัฐตำรวจ รัฐทหาร ในยุคของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในยุคของเผ่า ศรียานนท์ ซึ่งถ้าเราเข้าใจยุคของการเปลี่ยนแปลงปี 2490 รัฐทหารรุ่นใหม่ที่ฟื้นระบอบเก่าขึ้นมาด้วยได้ทำให้กลไกสร้างความปลอดภัยให้ประชาชนอย่างเท่าเทียมพังทลาย กลับกลายเป็นว่ากลไกรักษาความปลอดภัยต่างๆ กลายเป็นกดขี่ข่มเหงประชาชน

หลักสิทธิเสมอภาค คือก่อน 2475 ผู้ชายคือคนที่ถูกเกณฑ์ทหาร ไม่ได้เกณฑ์ทุกคน คนที่เป็นเจ้านายไม่จำต้องเกณฑ์ หรือเป็นเครือญาติขุนนางก็ข้ามไป ถ้าเป็นสามัญชนต้องจ่ายค่าราชการบังคับจ่ายคนละ 6 บาท ไพร่ส่วยแทนเกณฑ์แรงงาน เมื่อเกณฑ์ทหารต้องจ่ายค่าช่วยราชการ ไม่ได้จ่ายทุกคน คนที่จ่ายคือสามัญชนคนที่เป็นราชการไม่ต้องจ่าย ดังนั้นคนก็ไม่เท่ากัน ไม่มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ถ้าไม่มีเงินเก็บก็ยึดทรัพย์ของเขา ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก แล้วพอในสมัยรัชกาลที่7ต้องการเงินเยอะ มีการยึดที่ทางเอามาเป็นภาษีค่าราชการ และเงินค่าราชการมีมูลค่าเท่ากับ10% ของงบประมาณปีในรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งเยอะมาก แต่งบการศึกษา 300,000 บาท ที่เหลือหายไปไหนหมด? นี่คือสิทธิที่ไม่เสมอภาค ร่างกายไม่ได้เป็นของคุณ หลัง2475 ร่างกายเป็นของคุณและคุณก็เท่ากับคนอื่น เรื่องผู้หญิงก่อน2475 ผู้หญิงเป็นควายผู้ชายเป็นคน การปฏิวัติ2475 ทำให้ผู้หญิงเท่าเทียมกับผู้ชาย ได้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิเป็นเจ้าของประเทศก่อนยุโรปบางประเทศและก่อนญี่ปุ่นอีก แต่ผู้หญิงไทยไม่เคยถูกเล่าถึงความเป็นหมุดในตัวเอง ถูกทำให้เหมือนกับว่าเรื่องเหล่านี้มาพร้อมกับการเกิดของผู้หญิง ถูกทำให้ข้อมูลเหล่านี้ลืมเลือนหายไป

หลักเสรีภาพ รัฐธรรมนูญทุกฉบับเขียนหมดแต่ไม่ได้รับการปฏิบัติ เสรีภาพคือ อะไรก็ตามที่คิดอยู่ในหัวย่อมคิดฝันทำอะไรก็ได้ผ่านทางการพูด การเขียน ทางร่างกาย ถ้าเมื่อไหร่คุณทำไม่ได้แสดงว่าคุณถูกจำกัดเสรีภาพ คณะราษฎรคือรัฐบาลที่ทำให้เราวิภาควิจารณ์รัฐบาลได้ แต่หลัง 2490 รัฐบาลทหารเขาบอกว่าเราจะสร้างประชาธิปไตย แต่ห้ามวิจารณ์ เราจะสร้างรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด แต่ห้ามรณรงค์ต่อต้าน จะเป็นไปได้ยังไง?

หลักว่าเศรษฐกิจ หลักเริ่มต้นจากการคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะมีแผนทางเศรษฐกิจไม่ใช่ใครอยากทำอะไรก็ทำ จะสร้างแผนพัฒนาประเทศได้ถึงไหน จุดนี้เองที่พระยามโน และระบอบเก่าใช้ประเด็นคอมมิวนิสต์กำจัดปรีดี คำว่าด้วยการวางแผนทางเศรษฐกิจจึงเป็นคำของคอมมิวนิสต์ และประเทศจึงไม่อาจสร้างสิ่งนี้ขึ้นมาได้ จนยุคปราบคอมมิวนิสต์อเมริกาซึ่งเป็นพี่ใหญ่ และซับพอร์ตรัฐบาลสฤษดิ์ ธนะรัชต์กลับบอกว่าจะปราบคอมมิวนิสต์ได้ต้องพัฒนาเศรษฐกิจ แต่สำหรับคณะราษฎรคือการที่จะสร้างประเทศให้เจริญรุ่งเรืองได้ต้องมีการวางแผนด้านเศรษฐกิจ

หลักการว่าด้วยศึกษา หลังการปฏิวัติ 2475 มีกฎหมายบังคับให้คนเรียนจบ ป.4 สังคมสมัยนั้นเป็นสังคมที่คนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ เรามักจะบอกกันว่าวัดเป็นแหล่งการศึกษา ผู้ชายบวชเรียนที่วัด แต่โอกาสที่คนธรรมดาบวชเรียนได้จริงๆ มีแค่ไหน โรงเรียนในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็มีแต่ในตัวจังหวัด การที่คณะราษฎรออกกฎหมายให้ต้องเรียนจบป.4 นั่นหมายความว่าคณะราษฎรผูกมัดว่าต้องมีงบประมาณด้านการศึกษาเพิ่มขึ้น แผนการขยายโรงเรียนจะต้องเพิ่มขึ้น โรงเรียนจะต้องมาพร้อมกับที่ดิน อาคารเรียน บ้านพักครู หนังสือเรียน และจะนำไปสู่การกระตุ้นให้ชนชั้นนำในพื้นที่ต่างๆ ทำให้ลูกหลานต้องเข้าเรียน ดังนั้น คนที่เกิดหลัง 2475 จึงได้เรียนหนังสือหมดเลย รวมถึงมรดกในสถาบันการศึกษาต่างๆมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นผลผลิตมาจาก 2475 ธรรมศาสตร์เกิดขึ้นมาเพื่อผลิตนักการเมืองรุ่นใหม่เข้าสู่ระบบทางการเมือง ตามชื่อเดิม มหาวิทยาวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง

การเมืองของคณะราษฎรคือ ระบอบที่มี ส.ส. เป็นฐานความชอบธรรมทางการเมือง ระบอบท้องถิ่นคือเทศบาล ความฝันของคณะราษฎรคือเทศบาลทั้งหมด 4,000 ตำบล การเป็นเทศบาลได้ต้องขึ้นอยู่กับขนาดชุมชน ทำอย่างไรให้จัดตั้งได้คือต้องใช้งบประมาณ และจะทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าสู่การเป็นผู้นำชุมชนได้ หากสร้างได้ เราจะเห็นฐานการเมืองท้องถิ่นของประชาธิปไตย แต่แนวทางระหว่างเดินไปนั้นติดกับดักสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้ทางเดินสู่ประชาธิปไตยของคณะราษฎรฝ่ายทหารเฉออกไป ทำให้มีการต่อสู้ของ 2 แนวทาง คือ ทหารบกที่นำโดยจอมพล ป.ได้ใช้กฎอัยการศึกยุติกระบวนการทางการเมืองที่มีการเลือกตั้ง ในขณะที่อีกฝ่ายต้องการประชาธิปไตยแบบมีการเลือกตั้ง ธรรมศาสตร์จึงเป็นตัวผลิตนักการเมืองท้องถิ่นอย่างเต็มที่

จุฬาฯ เองก็เป็นมรดกของคณะราษฎรเช่นกัน แม้จะสร้างในรัชกาลที่ 6 แต่ที่ดินเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ คณะราษฎรก็คิดว่า จะทำอย่างไรจุฬาฯ จึงจะมีความมั่นคงมีที่ดินของตัวเอง จึงแปรเป็นพระราชบัญัญัติและโอนที่ดินให้จุฬาฯ ไป

นอกจากนี้ยังมีถนนพหลโยธิน ซึ่งเป็นโปรเจ็คต์ใหญ่ เชื่อมกรุงเทพฯ ไปจนถึงภาคเหนือ เดิมชื่อ ถนนประชาธิปัตย์ ต่อมาเกิดชื่อพรรคประชาธิปัตย์จึงเปลี่ยนชื่อพหลโยธินเพื่อเป็นเกียติรแก่พระยาพหลฯ ถนนนี้นำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจมากมาย

จิตวิญญาณของคณะราษฎรอยู่ในตัวเราอีกมากมาย เช่น เรื่องฟันขาว การเลิกเคี้ยวหมาก เพราะทัศนะของคณะราษฎรก็คือการสร้างชาติให้เจริญ คือทำให้คนเจริญให้เท่ากับโลกตะวันตก นอกจากคุณจะต้องเป็นคนเท่ากันแล้ว ยังต้องเท่ากันกับโลกตะวันตกด้วย

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.