เมื่อวันที่ 16 เมษายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง ได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง การลักทรัพย์สมบัติสาธารณะและฉวยเปลี่ยน “หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ” อันมีข้อความว่า “ณ ที่นี้ 24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ เพื่อความเจริญของชาติ” มีเนื้อหาโดยสรุปกล่าวถึงความสำคัญของหมุดคณะราษฎรโดยเรียกร้องให้บุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ นายกรัฐมนตรี ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กรมศิลปากร และสำนักงานเขตดุสิต แสดงความรับผิดชอบ อีกทั้งสนับสนุนให้ประชาชนเรียกร้องให้นำหมุดดังกล่าวกลับมาคืนที่เดิม

เนื้อหามีดังนี้



แถลงการณ์เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง

เรื่อง การลักทรัพย์สมบัติสาธารณะและฉวยเปลี่ยน “หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ” อันมีข้อความว่า “ณ ที่นี้ 24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ เพื่อความเจริญของชาติ”

ความทรงจำร่วมเกี่ยวกับอดีตของคนในชาติหรือในสังคมไม่ได้หมายถึงความทรงจำเกี่ยวกับอดีตที่ผ่านพ้นไปแล้วเท่านั้น หากยังหมายถึงความเข้าใจและความต้องการที่มีต่อสังคมในปัจจุบันและความคาดหวังที่มีต่อสังคมในอนาคตร่วมกันด้วย

ความทรงจำเกี่ยวกับคณะราษฎรและบทบาทของคณะราษฎรในการนำระบอบรัฐธรรมนูญมาสู่ประเทศสยามเมื่อ พ.ศ.2475 คือการให้ความสำคัญแก่ระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน และประชาชนมีสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค ภายใต้รัฐธรรมนูญที่เป็นฐานในการจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจ และยังหมายถึงการที่ระบอบการปกครองดังกล่าวควรดำรงอยู่ในปัจจุบันและอนาคตด้วย ทั้งนี้ “เพื่อความเจริญของชาติ” อันหมายถึงชาติของประชาชน ปกครองโดยประชาชน และเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนเหนือสิ่งอื่นใด

ย่ำรุ่งวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎรได้ปัก “หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ” ณ บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า พร้อมอ่านประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน และ “หลัก 6 ประการ” ดังนี้

1. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในบ้านเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
2. จะรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
3. จะต้องบำรุงความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
4. จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน ไม่ใช่ให้พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่
5. จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการดังกล่าวข้างต้น
6. จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

การเปลี่ยน “หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ” ด้วยหมุดใหม่พร้อมข้อความที่ว่า “ความนับถือรักใคร่ในพระรัตนตรัยก็ดี ในรัฐของตนก็ดี ในวงศ์ตระกูลของตนก็ดี มีจิตซื่อตรงในพระราชาของตนก็ดี ย่อมเป็นเครื่องทำให้รัฐของตนเจริญยิ่ง” และ“ขอประเทศสยามจงเจริญยั่งยืนตลอดไป ประชาชนสุขสันต์ หน้าใส เพื่อเป็นพลังของแผ่นดิน” จึงเป็นการทำลายความทรงจำร่วมที่มีคุณค่าพร้อมกับสร้างความทรงจำร่วมชุดใหม่ขึ้นมาซึ่งขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง เพราะข้อความในหมุดใหม่ไม่เพียงแต่ไม่ปรากฏคำว่ารัฐธรรมนูญ หากแต่ยังขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญในระดับรากฐาน เช่น “ความนับถือรักใคร่ในพระรัตนตรัย” ไม่ให้ความสำคัญกับศาสนาอื่นอย่างเสมอหน้า และคำว่า “หน้าใส” บ่งถึงความเป็นไพร่และสังคมช่วงชั้นซึ่งขัดหลักความเสมอภาคในระบอบประชาธิปไตย

นอกจากนี้ การทำลายและเปลี่ยนหมุดบ่งถึงการไม่เคารพอดีตความเป็นมาของบรรพชนในทุกฝ่าย เนื่องจากอนุสาวรีย์มีไว้เป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงความสำเร็จและความล้มเหลวของบรรพชนในการสถาปนาประชาธิปไตย ซึ่งเป็นเป้าหมายร่วมของสังคมและชาติไทยเฉกเช่นนานาอารยประเทศ

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) จึงเรียกร้องให้บุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ นายกรัฐมนตรี ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กรมศิลปากร และสำนักงานเขตดุสิต แสดงความรับผิดชอบต่อภารกิจในการสร้างสรรค์ประชาธิปไตยและปกปักรักษาสมบัติสาธารณะ ทั้งนี้ ไม่เพียงในทางตัวบทกฎหมาย หากแต่ยังต้องสร้างความทรงจำที่ถูกต้องเกี่ยวกับความเป็นมาของระบอบการเมืองไทยในปัจจุบันว่า หากไม่มีคณะราษฎรเสียแล้ว ราษฎรทั้งหลายรวมทั้งพวกท่านก็ไม่มีสิทธิ เสรีภาพ และอำนาจปกครองตนเองดังในปัจจุบัน โดยให้ดำเนินการเอาผิดทางกฎหมายและลงทัณฑ์ทางสังคมกับผู้ที่ไม่เพียงแต่ขโมย “หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ” ไปจากสถานที่ทางประวัติศาสตร์ หากแต่ยังนำไปครอบครอง ซ่อนเร้น หรือทำลายสัญลักษณ์แห่งอำนาจอธิปไตยของประชาชน

พร้อมกันนี้ คนส. ขอส่งเสริมและสนับสนุนให้พี่น้องประชาชนร่วมกันเรียกร้องให้นำ “หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ” กลับไปติดตั้งยังสถานที่ประวัติศาสตร์ชาติดังเดิม เพื่อยืนยันความต้องการของประชาชนที่จะให้ “ระบอบประชาธิปไตย” ที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน และเคารพในสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของประชาชน เกิดขึ้นในสังคมไทยในปัจจุบันให้จงได้ และดำรงอยู่อย่างมั่นคง สืบไปในอนาคต

ด้วยความเชื่อมั่นในสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค
เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง
16 เมษายน 2560

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.