แฟ้มภาพ

สนช. มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. และ ว่าด้วยพรรคการเมือง


Posted: 21 Apr 2017 06:36 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญกำหนดระยะเวลาแปรญัตติภายใน 7 วัน ระยะเวลาการดำเนินงานภายใน 45 วัน ที่ประชุมยังตั้งข้อสังเกตในหลายประเด็น เช่น สาขาพรรค สัดส่วนผู้สมัคร เก็บค่าสมาชิกพรรค 100 บ/ปี การกำหนดจำนวนสมาชิกขั้นต่ำ กำหนดทุนประเดิมกว่า 1 ล้านบาท รวมทั้ง การยุบ กกต. จังหวัด

21 เม.ย. 2560 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. .... ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเป็นผู้เสนอ ด้วยคะแนนเห็นด้วย 175 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 3 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 31 คน มาจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จำนวน 6 คน สนช.จำนวน 25 คน กำหนดระยะเวลาแปรญัตติภายใน 7 วัน ระยะเวลาการดำเนินงานภายใน 45 วัน

วันเดียวกัน ที่ประชุม สนช. มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. .... ด้วยเสียง 201 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง โดยไม่มีผู้ไม่เห็นด้วย จากจำนวนผู้ร่วมประชุม 203 คน

สำหรับ การพิจารณา ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. .... นั้น รายงานข่าวระบุว่า สมาชิก สนช. ได้อภิปรายเห็นด้วยกับหลักการและเนื้อหาส่วนใหญ่ของร่าง ขณะเดียวกันได้ตั้งข้อสังเกตในหลายประเด็น อาทิ การตั้งสาขาพรรคการเมือง การส่งสัดส่วนผู้สมัคร การให้สมาชิกพรรคต้องเสียค่าสมาชิกพรรค 100 บาทต่อปี การกำหนดจำนวนสมาชิกขั้นต่ำ การกำหนดทุนประเดิมพรรคการเมืองต้องมีไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท กลไกที่สนับสนุนให้พรรคการเมืองพัฒนาไปสู่การเป็นสถาบันทางการเมือง พร้อมเสนอแนะว่า การจัดตั้งพรรคควรจะทำได้ง่ายแต่การยุบพรรคควรจะเกิดได้ยาก บุคคลที่จะเข้ามาเป็นนักการเมืองควรศึกษารัฐธรรมนูญอย่างรอบด้าน บทบาทและกิจกรรมของพรรคการเมือง ควรให้ความรู้แก่นักการเมือง สมาชิกพรรคและประชาชน รวมถึงพร้อมฝากข้อห่วงใยในภาคปฏิบัติในการส่งเสริมให้เป็นพรรคการเมืองที่ดีและก่อให้เกิดเสถียรภาพ

พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ประธานกรรมการพิจารณาศึกษาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง สนช. เปิดเผยถึงข้อสังเกตที่ได้รับฟังความเห็นจากพรรคการเมือง และ นักวิชาการ ใน 4 ประเด็น คือ 1.การจัดตั้งพรรคการเมืองมีความยาก แต่ง่ายต่อการสิ้นสภาพและถูกยุบ 2.การกำหนดทุนประเดิมและการเก็บค่าบำรุงสมาชิกพรรค เป็นกำแพงกีดกันการมีส่วนร่วมของประชาชน ขัดแย้งกับระบบประชาธิปไตย 3.องค์ประกอบของคณะกรรมการกองทุนพัฒนาพรรคการเมือง เหตุใดจึงตัดสัดส่วนของผู้แทนพรรคการเมืองออก และ 4.บทลงโทษที่รุนแรงต่อผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง อาจส่งผลให้ไม่มีคนรุ่นใหม่หรือคนดีเข้าสู่การเมือง จึงควรพิจารณาบทลงโทษให้สอดคล้องกับการกระทำและสมควรกับเหตุ

มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ได้กล่าวย้ำว่า กรธ.พยายามที่จะวางกฎเกณฑ์ กติกาไว้แล้ว แน่นอนว่าคนที่จะหลีกเลี่ยงก็จะพยายามหลีกเลี่ยง แต่สิ่งที่สามารถช่วยได้อย่างมากคือ กระตุ้นให้ประชาชนสนใจ เข้ามามีส่วนร่วมจับตาดูการดำเนินงานของทุกพรรคการเมือง พร้อมระบุว่า ถือเป็นภารกิจร่วมกันระหว่าง กรธ. และ สนช. ที่จะทำกฎหมายนี้ออกไปใช้ได้ดีที่สุด ให้ตรงตามเจตนารมณ์ที่จะปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะทางด้านการเมือง ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับบ้านเมืองและประชาชนเป็นส่วนรวม

ขณะที่ การพิจารณา ร่าง พ.ร.ป.ว่า กกต. มีชัย ประธาน กรธ. กล่าวถึงความจำเป็นในการยกร่างกฎหมายดังกล่าวเสนอมายัง สนช. ว่า เพื่อให้มี กกต. เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ด้านการเลือกตั้ง กรธ.จึงดำเนินการตามขั้นตอนโดยให้ กกต. ยกร่างกฎหมายส่งมายัง กรธ. โดยยึดความเหมาะสมและสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และเมื่อ กรธ. นำมาพิจารณาได้ยึดหลักสำคัญที่ว่า สิ่งใดที่ยกร่างมาดีแล้ว คงไว้ สิ่งใดที่ยังไม่สมบูรณ์ได้เติมให้มีความสมบูรณ์ และมีอีกส่วนที่เพิ่มเติมเข้าไปใหม่ให้ร่างกฎหมายมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น รวมทั้งได้เปิดรับฟังความเห็นจากประชาชนโดยตรงทั้งในส่วนกลางและครอบคลุมทุกภูมิภาค โดยมี สปท. และ สนช. ร่วมแสดงความเห็นด้วย รวมไปถึงการเผยแพร่เนื้อหาของร่างกฎหมายในทุกขั้นตอนผ่านทางเว็บไซต์ เปิดให้ประชาชนเข้ามาแสดงความเห็น ประกอบกับการรับฟังความเห็นจากคณะกรรมการของ สนช. ที่ตั้งขึ้นมาพิจารณาควบคู่ ทั้งนี้ กรธ. ได้พยายามยกร่างและทำการปรับแก้ไขร่างกฎหมาย กกต. โดยมุ่งให้มีกลไกสำหรับจัดการเลือกตั้งที่มีความสมบูรณ์ สุจริต เที่ยงธรรม ได้คนดีเข้ามาปกครองบ้านเมือง ส่วนความเห็นต่างที่มีขึ้น กรธ. พร้อมยอมรับ

สมาชิก สนช. อภิปรายแสดงความเห็นด้วยกับหลักการและเนื้อหาส่วนใหญ่ แต่หลายคนยังตั้งข้อสังเกตเรื่องการยุบ กกต. จังหวัด อาทิ รศ.ทวีศักดิ์ สูทกวาทิน และ นิพนธ์ นราพิทักษ์กุล ยังเห็นว่าการตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งขึ้นมาทำหน้าที่ดูแลการเลือกตั้งระดับพื้นที่ แทน กกต. จังหวัด ไม่เป็นหลักประกันในการป้องกันการทุจริตจากการสร้างความคุ้นเคยกับผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ ด้าน สมชาย แสวงการ เสนอแนะทางออกโดยอาจให้มีทั้ง กกต.จังหวัดและผู้ตรวจการเลือกตั้งทำงานควบคู่กัน รวมทั้งค้านเรื่องการเซตซีโร่ กกต. ที่ทำหน้าที่อยู่เดิม

ทั้งนี้ หลังลงมติแล้ว สนช. กำหนดตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมา 1 คณะ เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว จำนวน 31 คน มาจากสัดส่วนของ สนช. จำนวน 25 คน กรธ. จำนวน 2 คือ นายภัทระ คำพิทักษ์ และ นายปกรณ์ นิลประพันธ์ กกต. จำนวน 1 คน คือ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา สปท. จำนวน 1 คน คือ นายเสรี สุวรรณภานนท์ และตัวแทนในสัดส่วนของคณะรัฐมนตรี และกฤษฎีกา อย่างละ 1 คน กำหนดกรอบเวลาแปรญัตติได้ภายใน 7 วัน และเวลาพิจารณาร่างกฎหมายภายใน 45 วัน เพื่อให้ทันตามกรอบเวลา 60 วัน หลังรัฐธรรมนูญบังคับใช้

ที่มา : เว็บไซต์สถานีวิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.