วิษณุ เผยชะลอใช้กฎเข้มห้ามนั่งท้ายกะบะของรถปิคอัพเพื่อการโดยสารออกไปก่อน


Posted: 21 Apr 2017 06:51 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

ประชุมร่วม 'วิษณุ เครืองาม' กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังไม่ออกมาตรการอะไรเพิ่มเติมที่จะกระทบต่อการใช้โดยสารท้ายกระบะรถปิคอัพของประชาชนในช่วงนี้ ระบุการบังคับใช้กฎหมายตามคำสั่งมาตรา 44 ลดอุบัติเหตุได้ ยังคงบังคับใช้ต่อไป

21 เม.ย. 2560 สำนักข่าวไทย รายงานว่า วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติและกรมการขนส่งทางบก เพื่อพิจารณาในประเด็นการใช้งานท้ายกระบะของรถปิคอัพเพื่อการโดยสาร ว่า ขณะนี้หน่วยงานราชการทุกหน่วยจะยังไม่มีการออกมาตรฐานหรือมาตรการอะไรเพิ่มเติมที่จะส่งผลกระทบต่อการใช้งานพาหนะของประชาชนในการโดยสารท้ายกระบะรถปิคอัพ รวมทั้งให้ทุกหน่วยงานเก็บข้อมูลการใช้ประโยชน์โครงสร้างของรถประเภทดังกล่าวของประชาชนเพื่อเอามาศึกษาเพิ่มเติมอีกครั้ง

ขณะที่ก่อนหน้านี้ กรมการขนส่งทางบกระบุแนวทางการบังคับใช้กฎหมายห้ามนั่งโดยสารบริเวณกระบะท้ายและแคปรถกระบะ ว่า กระทรวงคมนาคมได้หารือกับฝ่ายกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้วได้ข้อสรุปตรงกันว่ามีความจำเป็นจะต้องผ่อนผันและผ่อนคลายกฎหมายดังกล่าวออกไปก่อนเพื่อให้สอดคล้องกับการประกอบอาชีพรวมถึงวิถีชีวิตของคนไทยในขณะนี้ ซึ่งหลังจากนี้กระทรวงคมนาคมจะเสนอให้ผู้บังคับใช้กฎหมายอย่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ออกข้อบังคับผ่อนผันเรื่องการบรรทุก ซึ่งตามกฎหมายให้อำนาจพนักงานจราจรสามารถออกข้อบังคับและประกาศบังคับใช้ได้ทันที

Voice TV รายงานด้วยว่า วิษณุ ยื่นยันว่า ขณะนี้ ยังคงบังคับใช้กฏหมาย ตามคำสั่งมาตรา 44 อยู่แต่ผ่อนปรนให้นั่งแคปและท้ายรถกระบะได้จนกว่าจะมีการออกมาตราการ ยืนยันมาตราการใหม่จะไม่กระทบกับการใช้รถใช้ถนนของประชาชนโดยจะเน้นเรื่องของความปลอดภัยและความสะดวกของประชาชนเป็นหลัก และในช่วงที่ยังไม่มีการแก้ระเบียบใหม่ขอให้ประชาชนช่วยกัน ปฏิบัติในการเดินทางเหมือนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่สามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตลงได้

สำหรับการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสรุปและประเมินสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ ช่วงเทศกาลสงกรานต์ตั้งแต่ 11-17 เม.ย.ที่ผ่านมา วิษณุ ระบุว่า มีการสรุปตัวเลขสถิติสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุและพื้นที่ที่เกิดอุบัติเหตุโดยปีนี้มีข้อสังเกตว่าไม่มีอุบัติเหตุกับรถโดยสารสาธารณะ ขณะที่อุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดกับรถส่วนบุคคลและรถจักรยานยนต์ซึ่งสาเหตุการเสียชีวิตไม่เกิดผู้ที่คาดเข็มขัดนิรภัย ส่วนรถจักรยานยนต์สาเหตุมาจากการเมาสุรา ไม่สวมหมวกนิรภัย และร้อยละ 50 เป็นรถที่ไม่ถูกต้องตามกฏหมาย ทำให้มีปัญหาในเรื่องของประกันภัย และสุ่มเสี่ยงทำให้เกิดอาชญากรรม

จากสถิติการเสียชีวิตแสดงให้เห็นว่าการบังคับใช้กฎหมายตามมาตรา 44 ให้คาดเข็มขัดนิรภัยสามารถช่วยลดอุบัติเหตุได้ ดังนั้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการขนส่งทางบก และกรมสรรพสามิตที่เกี่ยวข้องกับเรื่องภาษีรถยนต์ ไปหามาตรการเพื่อจะกำหนดในเรื่องข้อปฏิบัติเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน รวมถึงรณรงค์ลดอุบัติเหตุ

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.