พสิษฐ์ วงษ์งามดี: ชาติสำคัญไฉน เหตุใดเราจึงต้องรับใช้?


Posted: 13 Apr 2017 01:29 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

กลายเป็นดราม่าใหญ่โตในอินเตอร์เน็ตถึงเรื่องระบบการเกณฑ์ทหารของไทย เมื่อคุณเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นักศึกษาหัวก้าวหน้าแห่งจุฬาฯ ยื่นขอผ่อนผันการคัดเลือกการเกณฑ์ทหาร โดยหนึ่งในเหตุผลหลักที่คุณเนติวิทย์ใช้เพื่อสนับสนุนคำขอผ่อนผันของตัวเองนั้นก็คือการบอกว่าตนเองกำลังรับใช้ชาติอยู่ แต่เป็นการรับใช้ชาติที่ออกจะประหลาดจากนิยามของรัฐไทยหน่อยเท่านั้นเอง โดยคุณเนติวิทย์บอกว่าตนกำลังรับใช้ชาติโดยการเรียนหนังสือ

ฝ่ายคุณชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ นักการเมืองผู้กล้าที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลทหารมาแล้ว เมื่อเห็นคุณเนติวิทย์ประกาศขอผ่อนผันด้วยเหตุผลที่ดูจะ “ไม่สมศักดิ์ศรีลูกผู้ชาย” แถมยังชวนคนอื่นๆให้ไม่ต้องไปเป็นทหารเหมือนตนอีกด้วย ก็ออกมาตำหนิคุณเนติวิทย์ทันที โดยกล่าวว่า “หากไม่อยากรับใช้ชาติ ก็อย่าไปชวนคนอื่นเลย” พร้อมแสดงความเห็นว่า “การเรียนหนังสือไม่ใช่การรับใช้ชาติ แต่เป็นการรับใช้ตัวเองและครอบครัว”[1]

ผมเห็นว่าประเด็นเรื่องการรับใช้ชาติที่ทั้งคุณชูวิทย์และคุณเนติวิทย์พูดถึงนี้มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย จึงอยากจะชวนท่านผู้อ่านมาคิดว่า ในทางปรัชญาการเมืองแล้ว “ชาติสำคัญอย่างไร? เราควรรับใช้ชาติด้วยหรือ? และการเป็นทหารเกณฑ์เป็นการรับใช้ชาติหรือไม่”

ผมคิดว่าคำถามนี้คงเป็นคำถามที่แปลกมากสำหรับประชาชนภายใต้ระบบรัฐชาติจำนวนมาก เพราะภายใต้ระบบรัฐชาติที่ระบาดไปทั่วโลกนี้ ชนชั้นนำของรัฐเกือบทุกแห่ง (รวมถึงรัฐไทยด้วย) ล้วนต้องปลูกฝังให้ประชาชนรู้สึกรัก หวงแหง และต้องปกป้องชาติของตน[2] เพราะความรู้สึกชาตินิยมเป็นกลไกสำคัญในการสร้างและรักษารัฐชาติให้ธำรงอยู่ได้ การปลูกฝังความรักชาตินี้มีประสิทธิผลจนถึงระดับที่ทำให้ประชาชนในรัฐ ยอม “รับใช้ชาติ” ด้วยการเสียสละทรัพย์สิน (ในรูปของภาษี) หรืออาจจะยอมรับใช้ชาติถึงขั้นสละชีพของตน (โดยการเป็นทหาร) เลยก็ได้

อย่างไรก็ดี ครั้นจะบอกว่าเราควรรับใช้ชาติ เพราะชนชั้นนำของรัฐชาติต้องการให้เรารับใช้ ก็ดูจะเป็นคำตอบที่กำปั้นทุบดินไปเสียหน่อย และผมไม่เชื่อว่าแค่ลูกไม้ของชนชั้นนำจะทำให้ลัทธิชาตินิยม และรูปแบบการปกครองแบบรัฐชาติสมัยใหม่แพร่กระจายไปทั่วโลกได้ขนาดนี้ หากราศจากหลักการอะไรบางอย่างที่น่าเชื่อถือมารองรับ

ผมเข้าใจว่าวาทกรรมการรับใช้ชาติมีอิทธิพลต่อประชาชนทั่วโลกได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมันตั้งอยู่บนหลักปรัชญาการเมืองที่ทรงพลัง อย่างน้อยก็ในระดับที่เพียงพอจะช่วยให้ชนชั้นนำเอาหลักปรัชญาเหล่านั้นมาใช้กล่าวอ้างเพื่อชักจูงให้ประชาชนชั้นล่างเสียสละเพื่อรัฐของตนได้

หลักปรัชญาข้อแรก คือ ข้อถกเถียงที่ว่าคนเรามีภาระรับผิดชอบต่อส่วนรวมและสาธารณะ นักปรัชญาคนสำคัญคนหนึ่งที่สนับสนุนแนวคิดนี้คือ จอห์น รอลส์ (John Rawls) สังคมในอุดมคติของรอล์ส สรุปง่ายๆแล้วมีอยู่ 2 องค์ประกอบสำคัญ คือ หนึ่ง สังคมนั้นจะต้องเป็นสังคมที่ผู้คนมีสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ประชาชนสามารถทำอะไรก็ได้โดยไม่ไปละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น ในขณะเดียวกันก็ไม่มีใครมาละเมิดสิทธิเสรีภาพของคุณได้ และสอง การใช้สิทธิและเสรีภาพของผู้คนในสังคมนั้นอยู่บนพื้นฐานที่ว่าเรายังมีภาระอะไรบางอย่างที่จะต้องรับผิดชอบต่อสังคม เช่น เรามีสิทธิเสรีภาพที่จะเลือกประกอบอาชีพอะไรก็ได้ที่เราต้องการ ผู้มีพรสวรรค์ด้านการสร้างรอยยิ้มอาจหาเงินจากการเป็นดาราหรือนักแสดง คนที่มีทักษะด้านวิทยาศาสตร์อาจจะเป็นหมอหรือวิศวะกร แต่สุดท้ายแล้วทุกคนมีภาระหน้าที่ที่จะต้องจ่ายภาษี เพื่อนำภาษีที่ได้นั้นไปช่วยเหลือคนด้อยโอกาสในสังคม รอล์สเชื่อว่าไม่มีใครมีคุณค่าทางศีลธรรมมากพอที่จะใช้สิทธิและเสรีภาพในการสะสมความมั่งคั่งไว้กับตนเองเพียงคนเดียวโดยไม่ต้องรับผิดชอบใดๆต่อสังคมเลย

หลักปรัชญาข้อที่สอง คือ แนวคิดอรรถประโยชน์นิยมของ เจเรมี เบนแธม (Jeremy Bentham) เบนแธม กล่าวว่า ความยุติธรรมคือการสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับสังคมโดยรวม เช่น ถ้าคุณไปทานข้าวกับเพื่อน 3 คน และคุณเป็นคนที่มีอำนาจในการตัดสินใจ คุณรู้ว่าเพื่อนทั้ง 3 คนชอบทานก๋วยเตี๋ยว ในขณะที่ตัวคุณเองเพียงคนเดียวชอบทานส้มตำ ในกรณีนี้ ความยุติธรรมคือการเลือกไปทานก๋วยเตี๋ยว เพราะมันเป็นตัวเลือกที่ทำให้คนในสังคมได้รับประโยชน์สูงสุด

รอลส์ และ เบนแธม เป็นนักปรัชญาที่ทรงอิทธิพลมากในวงการปรัชญาการเมือง จะเห็นได้ว่าแนวคิดของทั้ง 2 คน แอบซ่อนนัยยะของการให้ “ปัจเจกบุคคล” ต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อ “สังคมส่วนรวม” เอาไว้

แนวคิดสองข้อนี้เอง เป็นพื้นฐานให้กับวาทกรรมการ “รับใช้ชาติ” เพราะชาตินั้นก็เป็นสังคมแบบหนึ่ง ฉะนั้น เราจึงมักเห็นผู้นำของรัฐชาติออกมาถามว่า “คุณสามารถเสียสละเพื่อส่วนรวมได้หรือไม่?” หรือถามว่า “คุณเป็นคนไทยรึเปล่า?” ถ้าเป็นคนไทย ในฐานะส่วนหนึ่งของชาติไทย คุณก็ควรจะต้อง “ช่วยๆกันหน่อยสิ ปัดโธ่!?”

เมื่อมาถึงจุดนี้ ผมควรจะกล่าวให้ชัดเจนว่าผมเห็นด้วยกับหลักการของรอลส์และเบนแธมเป็นอย่างยิ่ง เพราะผมเชื่อว่าคนเราควรมีความรับผิดชอบต่อสังคม อย่างไรก็ดี ผมไม่คิดว่าปัจเจกบุคคลจำเป็นต้องเสียสละเพื่อสังคมส่วนรวมจนละเลยความสำคัญของสิทธิของตน จนยอมให้ผู้ปกครองเรียกร้องอะไรก็ได้โดยใช้ความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นข้ออ้าง และผมเห็นว่าการรับใช้ชาติด้วยการเป็นทหารภายใต้บริบทปัจจุบันของรัฐไทยนั้น แม้ดูเร็วๆ (at the first glance) จะคล้ายกับแนวคิดของรอลส์และเบนแธม แต่โดยรากฐานแล้วมันกลับแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง วาทกรรมการ “รับใช้ชาติ” ถูกสร้างขึ้นมาโดยแอบอิงหลักการของรอลส์และเบนแธมเพียงผิวเผิน เพื่อใช้อ้างเพียงเพื่อรักษาผลประโยชน์ของชนชั้นนำเท่านั้น

เหตุผลที่ใช้สนับสนุนแนวคิดของผมมีดังนี้

ข้อแรก ผมเห็นว่าคำว่า “ชาติ” ที่ชนชั้นนำไทยใช้อ้างถึงเพื่อเรียกร้องให้ประชาชนเสียสละนั้น มีความหมายคับแคบมาก และไม่ได้ผนวกรวมปัจเจกทุกคนในสังคมอย่างเท่าเทียมกัน ความคับแคบและการกีดกันคนบางกลุ่มออกไปนี้ ขัดแย้งกับหลักผลประโยชน์สูงสุดแก่สังคมส่วนรวมของเบนแธมอย่างมาก

ผมเข้าใจว่านิยามของคำว่า “ชาติ” ที่ชนชั้นนำไทยนิยมใช้นั้น ถ้ามิได้หมายถึง “อณาเขตบนแผนที่ของรัฐไทย” ก็มักจะหมายถึง “ความเกรียงไกรของชนชั้นนำ” เรามักจะเห็นชนชั้นนำไทยเรียกร้องให้ประชาชนปกป้องชาติในความหมายนี้เสมอผ่านวาทกรรม “เสียดินแดน”อยู่เสมอ สรุปคร่าวๆคือ ชาติในความหมายนี้ ชนชั้นนำไทยยอมให้ประชาชนตายเท่าไหร่ก็ได้ ขอเพียงแค่ไม่เสียดินแดนสักตารางนิ้วหนึ่งก็พอ นิยามของคำว่าชาติในลักษณะนี้ ไม่ได้ให้คุณค่ากับผลประโยชน์ของประชาชนแต่อย่างใด[3] แต่ให้คุณค่ากับบารมีของชนชั้นนำแทน หากประชาชนคนตาดำๆตายสักพันคนก็ย่อมได้ถ้าช่วยให้บารมีของชนชั้นนำเพียงหยิบมือหนึ่งมั่นคงหรือเจิดจำรัสขึ้น[4] อาทิ กรณีของปราสาทเขาพระวิหารและพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เรามักจะเห็นชนชั้นนำไทยและคนไทยจำนวนมากเรียกร้องให้ประชาชนในพื้นที่ยอมเสียสละเสี่ยงชีวิตกับการสู้รบเพื่อให้ประเทศไทยไม่เสียดินแดนอีกเป็นครั้งที่ 15 โดยมิได้สนใจถึงชีวิตความเป็นอยู่และความต้องการของคนในพื้นที่เลย

แม้หลายๆครั้งเราจะเห็นว่าชนชั้นนำไทยมักจะเรียกร้องให้ประชาชนเสียสละเพื่อ “ชาติ” แต่ “ชาติ” ในความหมายของชนชั้นนำนั้น ไม่ได้หมายถึง “สังคมส่วนรวม” ตามที่รอลส์และเบนแธมเชื่อ แต่กลับหมายถึงตัวของ “ชนชั้นนำ” เอง ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยของสังคม คำว่าชาติจึงเป็นเพียงคำสุภาพเสมือนสีพาสเทลที่ช่วยให้การปกป้องผลประโยชน์ของชนชั้นนำดูดีขึ้นเท่านั้น ตัวอย่างการเรียกร้องให้ประชาชนทำเพื่อชาติ/ชนชั้นนำ ที่เรามักจะเห็นกันบ่อยๆ เช่น ชนชั้นนำเรียกร้องให้ประชาชนรับใช้ชาติโดยการเป็นทหาร เพื่อสละชีพปกป้องอณาเขตบนแผนที่ หรือ เรียกร้องให้ประชาชนรับใช้ชาติโดยการเป็นทหารเพื่อให้ทหารระดับสูงมีคนรับใช้ฟรีด้วยภาษีประชาชน หรือ เรียกร้องให้ประชาชนเสียสละจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น เพื่อให้ชนชั้นนำได้ซื้ออาวุธจากต่างประเทศ และเพื่อเพิ่มความเกรียงไกรแก่ชนชั้นนำ หรือ เรียกร้องให้ประชาชนอดทนรอไม่ต้องให้มีการเลือกตั้งสักพัก เพื่อให้ชนชั้นนำได้ “ปฏิรูป” ประเทศไปในแนวทางที่ชนชั้นนำต้องการ เป็นต้น ฉะนั้น นิยามคำว่าชาติของชนชั้นนำจริงๆแล้วจึงไม่ใช่การเรียกร้องให้ประชาชนส่วนน้อยเสียสละเพื่อสังคมส่วนมาก แต่เป็นการเรียกร้องให้ประชาชนส่วนมาก เสียสละเพื่อชนชั้นนำส่วนน้อยต่างหาก

นอกจากนี้ โดยหลักการแล้วเบนแธมให้ความสำคัญกับปัจเจกบุคคลทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ในการคำนวณประโยชน์สูงสุดของสังคม คนทุกคนจะถูกนับโดยไม่มีการถ่วงน้ำหนักบุคคลกลุ่มไหนมากกว่ากลุ่มอื่นเป็นพิเศษ แต่ในวาทกรรม “เสียสละเพื่อชาติ” หรือ “รับใช้ชาติ” ของชนชั้นนำไทย ดูเหมือนประโยชน์ของชนชั้นนำไทยจะได้รับการถ่วงน้ำหนักให้มีความสำคัญเหนือประโยชน์ของตาสีตาสาตาดำๆเสมอ

ข้อสอง ผมคิดว่าถ้ายึดตามหลักการสร้างประโยชน์สูงสุดให้แก่สังคมของเบนแธมแล้ว การไม่เกณฑ์ทหารแต่เปิดโอกาสให้ประชาชนทำสิ่งที่ตนเองถนัด น่าจะเป็นการสร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้มากกว่าการบังคับให้ทุกคนเกณฑ์ทหาร

อย่างที่กล่าวไปข้างต้น คำว่าชาติในวาทกรรม “รับใช้ชาติ” ของชนชั้นนำนั้น หมายถึงการเรียกร้องให้ประชาชนเสียสละประโยชน์ของตนเพื่อประโยชน์สูงสุดของชนชั้นนำ ถ้าอิงตามนิยามชาติแบบคับแคบนี้ แน่นอนว่าการเป็นทหารเกณฑ์ย่อมเป็นการรับใช้ชาติอันสูงสุด เพราะทหารเกณฑ์ต้องเสี่ยงชีวิตปกป้องบารมีของชนชั้นนำ หรือ เสียสละเวลาไปเป็นคนรับใช้ของชนชั้นนำ ชนชั้นนำย่อมได้ประโยชน์เป็นอย่างมากจากการบังคับให้ชายไทยทุกคนเกณฑ์ทหารอย่างแน่นอน

แต่ถ้าเรานิยามคำว่า “ชาติ” ให้กว้างขวางครอบคุลมมากขึ้น โดยให้มีความหมายถึง “สังคมส่วนรวม” หรือ “มนุษยชาติที่อยู่ร่วมกันในพื้นที่ที่เรียกว่าประเทศไทย” ผมสงสัยเหลือเกินว่าการบังคับเกณฑ์ทหารจะไม่ได้ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ชาติในความหมายที่กว้างขวางนี้ เพราะชายไทยจำนวนมากจะต้องเสียเวลาอันมีค่าไปกับการเสี่ยงโดนละเมิดสิทธิมนุษยชนในค่ายทหาร โดยไม่เกิดประโยชน์กับใคร พวกเขาเสียรายได้ที่สามารถแปรเป็นภาษีให้กับส่วนรวม และเสียโอกาสที่จะประกอบอาชีพตามความถนัดของตัวเอง ซึ่งการทำอะไรที่ตนเชี่ยวชาญน่าจะให้ประโยชน์กับสังคมมากกว่าแน่นอน

มีหลักฐานจำนวนหนึ่งที่พอจะสะท้อนให้เห็นได้ว่าคนไทยจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับการ “รับใช้ชาติ” ด้วยการเกณฑ์ทหาร เช่น มีข่าวคราวตามหน้าหนังสือพิมพ์มากมายในช่วงเกณฑ์ทหารว่าชายไทยโห่ร้องดีใจเมื่อจับได้ใบดำ ในทางตรงกันข้าม ชายไทยบางคน (หรือครอบครัวของชายไทยกลุ่มนั้น) ถึงกับเป็นลมหรือร้องไห้เมื่อผู้เข้ารับการเกณฑ์ทหารจับได้ใบแดง ยิ่งไปกว่านั้น ก่อนหน้านี้แอพลิเคชั่น People Poll Thailand ได้ทำการสำรวจความเห็นของผู้ใช้แอพลิเคชั่นว่า เห็นด้วยกับการบังคับเกณฑ์ทหารหรือไม่ ผลปรากฎว่าผู้เข้ามาโหวตร้อยละ 80 ไม่เห็นด้วยกับการบังคับเกณฑ์ทหาร หลักฐานเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าการเกณฑ์ทหารไม่ได้สอดคล้องกับหลักการประโยชน์สูงสุดแก่สังคมส่วนรวมของเบนแธม (แต่อาจจะสอดคล้องต่อหลักประโยชน์สูงสุดแก่ชนชั้นนำของรัฐไทย)




ข้อสาม แนวคิดของรอล์สนั้น แม้จะให้ความสำคัญกับภาระรับผิดชอบที่ปัจเจกบุคคลทุกคนมีต่อสังคม แต่สิ่งที่รอล์สให้ความสำคัญไม่แพ้กันนั้นก็คือ สิทธิและเสรีภาพของปัจเจกที่ไม่ว่าอย่างไรก็ไม่ควรจะถูกละเมิด ฉะนั้น ในบริบทของกองทัพไทยในปัจจุบัน ที่ชายไทยทุกคนจะต้องเกณฑ์ทหาร และมีความเสี่ยงสูงมากที่จะถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนระหว่างการฝึก จึงน่าจะขัดแย้งกับแนวคิดเรื่องการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของรอล์สอย่างชัดเจน

นอกจากนี้ ภาระรับผิดชอบต่อสังคมที่รอล์สกล่าวถึงนั้น ไม่ได้ถูกจำกัดด้วยนิยามอันคับแคบเหมือนอย่างที่ชนชั้นนำไทยทำ เพราะภาระรับผิดชอบที่รอล์สให้ความสำคัญที่สุดนั้น คือ “การเสียภาษี” เพื่อสร้างความเท่าเทียมให้กับสังคม ไม่ใช่การสละชีพเพื่อสร้างความเกรียงไกรให้แก่ชนชั้นนำ หรือการรับใช้ชนชั้นนำแต่อย่างใด

โดยสรุปแล้ว ผมคิดว่าแนวคิดเรื่องรัฐชาติและชาตินิยมได้รับฐานสนับสนุนจากปรัชญาการเมืองของรอล์สและเบนแธม ที่ว่าปัจเจกบุคคลในสังคมควรมีความรับผิดชอบต่อสาธารณะ อย่างไรก็ดี แนวคิดของรอล์สและเบนแธมก็ถูกบิดเบือน (manipulate) จากชนชั้นนำของรัฐชาติเพื่อหาประโยชน์ให้กับตัวของชนชั้นนำเองเช่นกัน

ผมเห็นด้วยกับแนวคิดของรอล์สและเบนแธมว่า ปัจเจกบุคคลทุกคนที่อยู่ในสังคมควรมีภาระหน้าที่ที่จะต้องรับผิดชอบต่อสาธารณะ และควรจะ “ทำเพื่อสังคม” อย่างไรก็ดี การทำเพื่อสังคมนั้น จะต้องไม่ใช่การสละซึ่งสิทธิและเสรีภาพของตนเองอย่างสิ้นเชิง มนุษย์ทุกคนไม่มีใครที่สมควรจะถูกซ้อม ไม่มีใครที่สมควรจะต้องสละเวลาไปรับใช้คนอื่นโดยไม่ยินยอมพร้อมใจ

ยิ่งไปกว่านั้น ผมคิดว่านิยามของการ “ทำเพื่อสังคม” ไม่ควรจะถูกนิยามอย่างคับแคบเหมือนอย่างวาทกรรม “รับใช้ชาติ” ของชนชั้นนำไทย ผมเห็นว่าการทำเพื่อสังคมนั้นไม่จำเป็นว่าจะต้องถูกผูกขาดอยู่กับอาชีพใดอาชีพหนึ่งเช่นทหารเพียงอาชีพเดียวเท่านั้น ทุกอาชีพสามารถ “ทำเพื่อสังคม” ได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นหมอ ครู อาจารย์ นักวิชาการ นักศึกษา สื่อ ตลอดจนถึงชาวนาและผู้ยากไร้ หรือแม้กระทั่งอาชีพที่มักจะถูกชนชั้นนำไทยดูหมิ่น เช่น Sex workers ก็สามารถทำเพื่อสังคมได้ เช่น หมอทำเพื่อสังคมผ่านการช่วยเหลือคนไข้ ชาวนาทำเพื่อสังคมผ่านการผลิตอาหาร นักศึกษาทำเพื่อสังคมผ่านการเตรียมความพร้อมไปประกอบอาชีพที่ตนต้องการ และ Sex workers ทำเพื่อสังคมผ่านการสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ[5] และในเวลาเดียวกัน ทุกอาชีพก็ทำเพื่อสังคมได้ด้วยการเสียภาษี (ซึ่งชนชั้นนำพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะหลีกเลี่ยง)

การทำเพื่อสังคมส่วนรวมนั้นน่ายกย่อง แต่การรับใช้ชาติ (ซึ่งหมายถึงชนชั้นนำส่วนน้อย) นั้น ไม่ควรค่าแก่การยกย่องแต่อย่างใด



เชิงอรรถ


[1] โปรดอ่านที่มาของข่าวจาก https://www.facebook.com/ChuvitIamBack/photos/a.193325407380863.52551.193319037381500/1391645000882225/?type=3&theater และ https://www.prachatai.com/journal/2017/04/70891


[2] ผ่านการใช้เพลง คำขวัญ การสร้างอนุสาวรีย์ การสร้างศัตรูร่วมกัน การสร้างอัตลักษณ์แห่งชาติ การเรียนการสอนในโรงเรียน ฯลฯ


[3] มิพึงต้องเอ่ยถึงคุณค่าความเป็นมนุษย์ของประชาชน


[4] โปรดดูบทวิเคราะห์ว่าด้วยนิยามของชาติในลักษณะนี้เพิ่มเติมจาก ธงชัย วินิจจะกูล (2559) ‘เสียดินแดนเป็นประวัติศาสตร์หลอกไพร่ไปตายแทน (เพราะไทยไม่เคยเสียดินแดน)’, ใน โฉมหน้าราชาชาตินิยม. หน้า 125-130. และ ประชาไท (2016) หมายเหตุประเพทไทย ตอนที่ 102: Descendants of the Sun สอนให้รักชาติจริงไหมจ๊ะ. https://www.youtube.com/watch?v=RNhf6RtLy70. และ โปรดดูนิยามของชาติกระแสหลักที่ถูกชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมสร้างขึ้นใน โสภา ชานะมูล (2550) ชาติไทยในทัศนะปัญญาชนหัวก้าวหน้า. กรุงเทพ: มติชน.


[5] เอาเข้าจริงแล้วถ้าดูจากปริมาณ GDP ที่ sex workers สร้างขึ้นให้กับประเทศไทย อาจจะถือว่าพวกเขาทำประโยชน์ให้กับสังคมมากกว่าชนชั้นนำไทยเสียอีก



เกี่ยวกับผู้เขียน พสิษฐ์ วงษ์งามดี เป็นอาจารย์ผู้สอน คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.