ภาพประกอบ รถถัง M41 ที่ประจำการในกองทัพไทยปัจจุบัน

เดชตือโป๊ยก่าย ตอน รถถังประจัญบาน


Posted: 06 Apr 2017 01:30 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

นอกจากพ่อค้าอาวุธและผู้เสียภาษีชาวไทยแล้วในโลกนี้ไม่น่าจะมีใครตื่นเต้นอะไรมากมายกับข่าวกองทัพไทยใช้เงินอีก 2 พันล้านบาทซื้อรถถัง10 คันจากจีน นักวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็เพียงแต่อมยิ้มเล็กน้อยกับหมากกลทางการเมืองมุขนี้ของรัฐบาลทหารไทย เพราะดูเหมือนว่ารถถังจะตอบโจทย์ทางการเมืองระหว่างประเทศมากกว่ายุทธศาสตร์ทางทหาร

ในความทรงจำระยะสั้นนับแต่ปลายศตวรรษที่ 20 ถึง ต้นศตวรรษที่ 21 นี้ รถถังของไทยไม่ได้มีภารกิจอะไรมากไปกว่า เป็นสัญลักษณ์ของการรัฐประหารยึดอำนาจทางการเมืองเท่านั้นเอง หากไม่ขับออกมายึดอำนาจหรือข่มขู่พลเรือนแล้ว รถถังในกองทัพไทยส่วนใหญ่จอดไว้เฉยๆ งานหนักที่สุดของทหารม้าคือการหยอดน้ำมันป้องกันสนิมกินรถถัง แม้ในภาระกิจการฝึกรถถังก็ไม่ได้ถูกนำมาใช้มากมายนัก เนื่องจากท้องเรื่อง (Theme) ที่ใช้ในการฝึกรบ เช่น คอบร้าโกลด์นั้นส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องการต่อต้านการก่อการร้าย และการกู้ภัยพิบัติจากธรรมชาติ และภัยคุกคามแบบใหม่อื่นๆที่เรียกตามภาษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศว่า non-traditional security threat เช่น อาชญากรรมข้ามชาติ การค้ามนุษย์ ค้ายาเสพติด ซึ่งรถถังไม่มีบทบาทอะไรเลยในสงครามเหล่านั้น

รถถังถูกออกแบบมาเป็นอาวุธหนักที่เคลื่อนที่ได้เหมาะกับการใช้งานในสงครามในแบบ conventional warfare เช่นสงครามระหว่างประเทศเป็นหลักใหญ่ ความจริงกองทัพไทยได้ประเมินมาหลายปีแล้วว่า ในระยะสั้นหรือระยะปานกลาง (อย่างน้อยก็เท่ากับอายุใช้งานของรถถังที่ซื้อมาใหม่) จะไม่มีสงครามแบบนั้นเกิดขึ้นในภูมิภาคนี้และในประเทศไทย สงครามรถถังประจัญบานนั้นอาจจะได้เห็นเฉพาะในภาพยนตร์อย่างเรื่อง Fury เท่านั้น

ที่พอจะมีอยู่บ้างคือการปะทะกันตามแนวชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านเล็กๆ น้อยๆ เช่น การไล่ล่าพวกค้าไม้พยุง ค้ายาเสพติดและพวกลักลอบขนคนข้ามแดนหรือกองกำลังไม่ทราบฝ่ายที่ไม่ใช่ทหารหลัก การปะทะกับกองกำลังหลักของประเทศเพื่อนบ้านอาจจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้บ้าง เช่นกรณีข้อขัดแย้งปราสาทพระวิหารหรือเรื่องเขตแดน แต่ยุทโธปกรณ์ที่ใช้งานได้มีประสิทธิภาพที่สุดในสถานการณ์แบบนั้นคือปืนเล็กของทหารราบ ปืนใหญ่ จรวดนำวิถี ยานลำเลียงพลและเฮลิคอปเตอร์

เท่าที่เคยเห็นกรณีปราสาทพระวิหารและปราสาทตาเมือนนั้น กองทัพไทยขนรถถังไปขับฉุยฉายตามถนนริมชายแดนเพื่อข่มขวัญฝ่ายตรงข้ามเท่านั้นไม่ได้ออกปฏิบัติการจริง ยุทโธปกรณ์ที่เป็นหลักในการยุทธ์คราวนั้นคือ ปืนใหญ่และจรวดที่ยิงข้ามเทือกเขาพนมดงรักไปฝั่งกัมพูชาได้

แต่อย่างไรก็ตาม กองทัพไทยก็ยังต้องจัดซื้อรถถังมาประจำการ เพราะผู้นำกองทัพไทยสมัยนี้ไม่มีวิสัยทัศน์เกี่ยวกับสงครามสมัยใหม่ชัดเจนนัก พวกเขาตัดสินใจซื้อรถถังเพียงเพราะเห็นว่าที่มีอยู่มันเก่าแล้วต้องซื้อมาทดแทน ส่วนซื้อมาแล้วใช้คุ้มค่าหรือไม่ก็ไม่ใช่สิ่งที่อยู่สามัญสำนึกของนักการทหารไทยเลยแม้แต่น้อย

กองทัพบกไทยตัดสินใจหารถถัง 49 คันสำหรับหนึ่งกองพันมาร่วม 10 ปีแล้วเพื่อทดแทนรถถังแบบ M41 (walker bulldog) ที่ซื้อมาจากสหรัฐเมื่อ 60 ปีก่อน (ความจริงรถถังที่ประจำการนานขนาดนั้นก็พิสูจน์ข้อเท็จจริงประการหนึ่งว่า มันไม่เคยถูกใช้งานเลย)

ภาพประกอบ รถถัง T84 ของยูเครน

ปี 2011 กองทัพเซ็นสัญญากับบริษัทแมรีเชฟ (Malyshev) แห่งยูเครนจัดซื้อรถถัง T48 (Oplot) จำนวน 49 คัน มูลค่า 241 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ แต่สุดท้ายจำเป็นต้องยกเลิกสัญญาเพราะโรงงานที่ยูเครนสามารถส่งมอบรถถังให้ได้เพียง 20 คันตลอดระยะเวลา 5 ปีนับแต่ลงนาม ความจริงสัญญาก็หมดอายุลงตั้งแต่ปี 2014 แล้ว

กองทัพไทยจึงต้องมองหาแหล่งใหม่ในราคาที่ใกล้เคียงกันและด้วยเหตุผลทางการเมืองยุทโธปกรณ์จากจีนเป็นคำตอบที่ลงตัว เพราะรัฐบาลทหารต้องการแสดงความโน้มเอียงเข้าหาจีนเพื่อถ่วงดุลสหรัฐอยู่พอดี จึงได้เซ็นสัญญาซื้อรถถัง MBT 3000 หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ VT4 จาก China North Industries Corporation (NORINCO) เมื่อปีที่แล้ว กองทัพไทยน่าจะเป็นลูกค้ารายแรกในโลกของบริษัทนี้ที่เปิดเผยข่าวเกี่ยวกับการจัดซื้อ

การอนุมัติการสั่งซื้อเมื่อวันอังคารที่ 4 เมษายน ความจริงแล้วเป็นล๊อตที่สองจำนวน 10 คัน ก่อนหน้านี้กองทัพไทยสั่งซื้อรถถังแบบเดียวกันนี้จากจีนสมัย พลเอก ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบกคนก่อนจำนวน 28 คัน และตั้งใจจะซื้อต่อไปอีกจนครบ 49 คันตามต้องการเพื่อบรรจุให้ครบ 1 กองทัพรถถังตามแผน รายงานข่าวบางกระแส เช่นจาก Jane บอกว่ากองทัพไทยอยากจะได้รถถังที่เป็น Main Battle Tank แบบนี้ไว้ประจำการถึง 150 คัน

ภาพประกอบ รถถัง VT4 ของจีน

VT4 นั้นผู้สันทัดกรณีบอกว่าเป็นรถถังขนาด 52 ตัน จีนพัฒนารุ่นนี้เพื่อการส่งออกโดยเฉพาะ โดยอาศัยพื้นฐานจากรุ่น 99A ที่กองทัพประชาชนจีนใช้อยู่ในปัจจุบัน VT4 รุ่นนี้ติดปืนใหญ่ 125 มม ซึ่งมีระบบนำวิถี อีกทั้งมีปืนกลหนักติดตั้งอยู่ด้วย แต่รับประกันได้ว่าไม่เหมาะกับภารกิจในสามจังหวัดชายแดนใต้แน่นอน

สื่อมวลชนรายงานกันอย่างเอิกเกริกเกี่ยวกับการซื้อรถถังจากจีนครั้งนี้เพื่อเป็นสัญญาณบอกไปทางสหรัฐที่มึนตึงกับไทยมาตั้งแต่มีการยึดอำนาจปี 2014 แต่ไม่มีใครถามถึงความรับผิดชอบต่อการตัดสินใจที่ผิดพลาดในการเลือกรถถังยูเครนในตอนต้น ทั้งๆ ที่ในวงการต่างรู้กันดีแล้วว่า ยูเครนมีปัญหาในการผลิตและส่งมอบยุทโธปกรณ์มาโดยตลอด ไม่นับเรื่องคุณภาพ เพราะพัฒนาจากสิ่งที่คนในวงการเรียกว่าของโบราณ (antique) ในปี 1994 กองทัพที่มีภารกิจในการรบจริงๆไม่มีใครนิยมซื้อของจากแหล่งนั้น มีแต่กองทัพที่ไม่เคยมีประสบการณ์ในการรบเท่านั้นที่ผลาญงบประมาณของชาติไปกับการซื้อของที่ไม่ได้ใช้มาไว้ประจำการ



เผยแพร่ครั้งแรกใน Facebook Supalak Ganjanakhundee

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.