หมุดหน้าใสคือความอ่อนหัดทางการเมืองของอนุรักษ์นิยม ชาตรี ประกิตนนทการ

Posted: 18 Apr 2017 09:17 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

นักวิชาการสถาปัตย์วิเคราะห์ ‘หมุดหน้าใส’ เกิดเพราะไสยศาสตร์ เชิดชูอุดมการณ์ราชาชาตินิยม และรื้อถอนความทรงจำคณะราษฎร เหตุหมุดคณะราษฎรมีพลังทางการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ หลัง 2553 เชื่อไม่ได้หมุดคณะราษฎรคืน ตอกคนเอาออกเป็นความอ่อนหัดทางการเมืองของฝ่ายอนุรักษ์นิยม

การรื้อถอนหมุดคณะราษฎรอย่างลึกลับ ไม่มีหน่วยงานรัฐแห่งใดรับรู้ ไม่แม้แต่จะพยายามสืบค้น แล้วถูกแทนที่ด้วยหมุดที่ถูกเรียกอย่างลำลองว่า ‘หมุดหน้าใส’ ที่ก็ไม่มีใครรู้เช่นกันว่ามาสิงสถิตอยู่ ณ จุดนั้นได้อย่างไร หมุดคณะราษฎรหายไปไหน ทุกอย่างยังคงเป็นความลับ

สิ่งที่พอจะสันนิษฐานได้คือ นี้เป็นอีกครั้งหนึ่งของกระบวนการทำลาย-รื้อถอนความทรงจำต่อคณะราษฎรผู้ก่อการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 ชาตรี ประกิตนนทการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า

“เราอย่ามองหมุดคณะราษฎรกรณีเดียว แต่ต้องมองกระบวนการรื้อถอนทำลายประวัติศาสตร์ความทรงจำเกี่ยวกับคณะราษฎรอันยาวนานของฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ต่อต้านประชาธิปไตย ต้องมองกรณีนี้เทียบกับกรณีอื่นตั้งแต่ศาลาเฉลิมไทย อาคารศาลฎีกา การย้ายอนุสาวรีย์ปราบกบฏพิทักษ์รัฐธรรมนูญ การปรับปรุงถนนราชดำเนินกลาง มันคือกระบวนการภาพใหญ่ภาพเดียวกันและหมุดคณะราษฎรเป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์ของภาพใหญ่ทั้งหมด”

ชาตรีวิเคราะห์การอุบัติขึ้นของหมุดหน้าใสและถ้อยคำบนหมุดว่ามีสาเหตุ 3 ประการ หนึ่ง-เหตุผลทางไสยศาสตร์ หากย้อนกลับไปดูในรอบสองสามปีที่ผ่านมามีหลายกลุ่มเคลื่อนไหวกับหมุดคณะราษฎรในลักษณะที่เชื่อว่า การตอกหมุดเป็นเรื่องไสยศาสตร์ที่คณะราษฎรตั้งใจทำไว้ในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของสมบูรณาญาสิทธิราช จึงมีคนไปขีดข่วน เอายางมะตอยไปทับ นำพราหมณ์ไปทำพิธี คือรากทางความคิดหนึ่งของกลุ่มที่เกลียดคณะราษฎร

"การไม่ดำรงอยู่ของวัตถุสัญลักษณ์คือสิ่งที่ดีที่สุด แต่การที่วัตถุนั้นไม่ดำรงอยู่ แล้วมีวัตถุสัญลักษณ์ที่เป็นอุดมการณ์ตรงข้ามมาแทน มันทำให้เรายังคงเห็นวัตถุเก่าอยู่เสมอ เมื่อเรามองหมุดใหม่ เราก็ยังเห็นหมุดเก่า ในแง่การต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ทางการเมืองนี่จึงเป็นความอ่อนหัด มีแต่ความเกลียดและกลัวสัญลักษณ์ในยุคคณะราษฎร”


สอง-อุดมการณ์ทางการเมืองที่ต่างกัน เมื่ออ่านข้อความบนหมุดหน้าใสสามารถตีความได้ชัดเจนว่ากำลังกล่าวถึงอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นชาตินิยมแบบไทยๆ หรือเป็นราชาชาตินิยมตามแนวคิดของธงชัย วินิจจะกูล กล่าวสรุปคือข้อความบนหมุดคือราชาชาตินิยม

และสาม-เป็นข้อความที่มาจากศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง แม้ว่าจะไม่ใช่คำว่าไพร่ฟ้า แต่เป็นประชาชนสุขสันต์หน้าใส ทำให้เห็นถึงรากทางความคิดของคนกลุ่มนี้ที่มองสุโขทัยเป็นรัฐในอุดมคติ เพราะกลุ่มที่ต่อต้านประชาธิปไตยมักพูดถึงสุโขทัยตลอดมาตั้งแต่ทศวรรษ 2490 งาน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นตัวอย่างที่ดีที่มองว่าสุโขทัยเป็นภาพในอุดมคติของการเป็นประชาธิปไตยก่อนปฏิวัติ 2475 เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของคณะราษฎร การปรากฏของคำว่าประชาชนสุขสันต์หน้าใสเกิดขึ้นบนรากความคิดนี้

ปรากฏการณ์ถอนหมุดคณะราษฎร ฝังหมุดหน้าใส จึงสะท้อนให้เห็นว่า วัตถุนี้มีพลังทางการเมืองที่ทำให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมรู้สึกไม่สบายอกสบายใจ เพราะ...

“ถ้ามันไม่มีความหมายอะไร ต่อใครเลย เขาจะเสียเวลาเอาออกทำไม ยกตัวอย่างง่ายๆ ในประวัติศาสตร์ของคณะราษฎรช่วงเวลาตั้งแต่หลัง 2490 ถึงก่อนรัฐประหาร 2549 เป็นช่วงที่ถูกเพิกเฉย ทุกฝ่ายทางการเมืองมองว่าคณะราษฎรเป็นผู้ร้ายทางประวัติศาสตร์ ในทัศนะผมในช่วงนี้ คณะราษฎรไม่ได้มีภาพลักษณ์เชิงบวกอะไร ในช่วงนี้เอง สัญลักษณ์ ศิลปกรรม สถาปัตยกรรม ที่เกี่ยวข้องกับคณะราษฎรก็ถูกเพิกเฉย ในแง่นี้ว่าไม่เชิดชูและไม่ทำร้าย เพราะมันไม่มีค่า จะไปรื้อยังเสียดายงบในการรื้อ”

สำหรับชาตรี วัตถุสัญลักษณ์ใดๆ มีพลังมากกว่าการเป็นวัตถุ โดยเฉพาะกับหมุดคณะราษฎรที่ถูกสร้างความหมายโดยคนหลายรุ่น ยิ่งหลังรัฐประหาร 2549 จนถึงปัจจุบัน คนกลุ่มใหม่ๆ โดยเฉพาะกลุ่มคนเสื้อแดง รวมถึงนักวิชาการหลายคน ซึ่งเขายอมรับว่าก็เป็นหนึ่งในนักวิชาการเหล่านั้น ได้เข้าไปรื้อฟื้นและสร้างความหมายให้กับหมุดหรืองานศิลปกรรม สถาปัตยกรรม ที่สร้างขึ้นโดยคณะราษฎร ในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์หรือจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญมากครั้งหนึ่งในสังคมไทย

พอความหมายนี้เริ่มเกิดขึ้นอีกครั้ง เริ่มมีพลังมากขึ้น มีมวลชนเข้ามาสัมพันธ์ ใช้หมุดตัวนี้ในฐานะเป็นพื้นที่ประกอบกิจกรรม กระทั่งเกิดจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งหนึ่งคือหลังปี 2553 ที่เกิดเหตุการณ์ล้อมปราบที่ราชประสงค์ สัญลักษณ์ทางการเมืองของคณะราษฎรก็ยิ่งมีความสำคัญ เพราะความหมายล่าสุดของหมุดคณะราษฎรเกี่ยวข้องโดยตรงกับรัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตย ความเสมอภาค เสรีภาพ มันจึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมมันจึงต้องถูกเอาออก

“ภาพหรือความหมายที่มีหมุดเป็นศูนย์กลาง ทำให้ผู้มีอำนาจรัฐที่มีความคิดที่ตรงข้ามกับหลักการประชาธิปไตยเห็นว่า วัตถุเหล่านี้เริ่มมีอันตรายและต้องรื้อ หมุดคณะราษฎรมีความหมายและพลังทางการเมืองมาก และจะขยายไปมากกว่านี้อย่างก้าวกระโดด เพียงแต่ ณ วันนี้ที่มาตั้งคำถามว่ามันไม่มีความสำคัญก็เป็นเพราะผลของรัฐประหาร 2557 ที่เราทุกคนถูกปิดปาก ปิดหู ปิดตา”

นักวิชาการคนหนึ่งวิเคราะห์หมุดหน้าใสไร้ที่มาที่ไป สุดท้ายแล้ว จะเป็นแค่วัตถุแปลกปลอม ไร้สถานะ และความชอบธรรมที่จะปกป้องตนเอง แต่ชาตรีกลับไม่คิดอย่างนั้น เขามองว่า ใช่, ในสภาวะรัฐปกติที่เป็นประชาธิปไตยหรือตั้งอยู่บนเหตุผลขั้นพื้นฐาน หมุดหน้าใสจะลงเอยเช่นที่ว่า แต่ในสังคมอปกติเวลานี้ การที่ผู้เกี่ยวข้องกับรัฐทำไม่รู้ไม่ชี้ ถือเป็นสภาวะที่น่ากลัว ซึ่งสะท้อนว่าหมุดนี้มีอะไรเหนือกว่าสิ่งที่เราคิดไว้เยอะมาก และเขาก็ว่าทุกคนก็รู้ แต่พูดไม่ได้ สภาวะที่ทุกคนก็รู้ แต่พูดไม่ได้นี่เองที่น่ากลัวและเป็นพลังให้กับหมุดหน้าใส

“มีหลายคนบอกว่าหมุดหน้าใสไม่เมคเซ๊นส์และอีกไม่ช้าหมุดเก่าจะกลับมา ซึ่งผมคิดว่าไม่มีทางเกิดขึ้นแน่นอน ฟันธง และผมเชื่อว่าหมุดใหม่นี้มีสองทางเลือก หนึ่ง-ดำรงอยู่ต่อไป พอผ่านช่วงคนพูดเยอะๆ โดยไม่มีใครสนใจ มันก็จะอยู่อย่างนี้และกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เนื่องจากข้อความ นัยของมัน และอาจจะนำไปสู่การปิดพื้นที่ตรงนั้น อาจมีการขยายพื้นที่ของอาณาบริเวณนั้นให้กลายเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์และวัตถุนี้จะกลายเป็นวัตถุศักดิ์สิทธิ์ กับสอง-ถ้ากระแสต่อต้านมากกว่านี้ ซึ่งผมไม่รู้ว่าจะมากแค่ไหน มันก็จะถูกเอาออกและกลบเป็นพื้นถนน”


“ภาพหรือความหมายที่มีหมุดเป็นศูนย์กลาง ทำให้ผู้มีอำนาจรัฐที่มีความคิดที่ตรงข้ามกับหลักการประชาธิปไตยเห็นว่า วัตถุเหล่านี้เริ่มมีอันตรายและต้องรื้อ หมุดคณะราษฎรมีความหมายและพลังทางการเมืองมาก และจะขยายไปมากกว่านี้อย่างก้าวกระโดด"

เมื่อถามว่าฝ่ายสนับสนุนการคงอยู่ของหมุดคณะราษฎรจะทำอะไรในสถานการณ์เช่นนี้ได้บ้าง ชาตรีแสดงความเห็นว่า ในเชิงการเคลื่อนไหวทางการเมือง การนำหมุดคณะราษฎรจำลองไปทับไว้ วางไว้ ถือเป็นกิจกรรมทางการเมือง เป็นการตอบโต้ที่น่าสนใจอย่างหนึ่ง ทางที่สองคือหมุดคณะราษฎรกลายเป็นมวลชน (Mass) มาระยะหนึ่งแล้ว นี่ก็เป็นจังหวะอีกครั้งหนึ่งที่จะผลิตซ้ำหรือทำให้หมุดคณะราษฎรกลายเป็นวัตถุที่ ‘ป็อป’ ขึ้นเรื่อยๆ และแพร่กระจายไปให้มากที่สุด โดยไม่จำเป็นต้องมีตัวหมุดจริงๆ อยู่ เขากล่าวแบบนี้เพราะประเมินบนฐานว่าคงไม่ได้หมุดกลับมาอีกแล้ว

อย่างไรก็ตาม การรื้อถอนหมุดคณะราษฎรและนำหมุดหน้าใสมาวางแทน ชาตรีมองว่าเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดของฝ่ายที่เอาหมุดออก ถ้าเป็นเขา เขาจะเลือกเอาออกและกลบเป็นพื้นถนนแทน การเอาหมุดหน้าใสมาวางถือเป็นความอ่อนหัดในการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์

“ถ้าเอาหมุดออกไปเลย มันหาย พื้นถนนผ่านไปเดือนสองเดือนก็อาจจะกลืนกันไป เพราะฉะนั้นการไม่ดำรงอยู่ของวัตถุสัญลักษณ์คือสิ่งที่ดีที่สุด แต่การที่วัตถุนั้นไม่ดำรงอยู่ แล้วมีวัตถุสัญลักษณ์ที่เป็นอุดมการณ์ตรงข้ามมาแทน มันทำให้เรายังคงเห็นวัตถุเก่าอยู่เสมอ เมื่อเรามองหมุดใหม่ เราก็ยังเห็นหมุดเก่า ในแง่การต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ทางการเมืองนี่จึงเป็นความอ่อนหัด มีแต่ความเกลียดและกลัวสัญลักษณ์ในยุคคณะราษฎร”


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.