เมื่อวันที่ 12 เมษายน ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศว่า "สหรัฐฯ กำลังส่งกำลังทางเรือที่มีแสนยานุภาพเข้าใกล้คาบสมุทรเกาหลี"
อย่างไรก็ตาม คำประกาศดังกล่าวซึ่งรวมทั้งการเผยแพร่ข้อมูลจากทำเนียบขาวและกองบัญชาการภาคพื้นแปซิฟิกของสหรัฐฯ ในเรื่องนี้ กลับไม่เป็นความจริง
เพราะในขณะนั้น กลุ่มเรือบรรทุกเครื่องบิน "USS Carl Vinson" ของสหรัฐฯ ยังอยู่ในมหาสมุทรอินเดียเพื่อซ้อมรบร่วมกับออสเตรเลีย และกองบัญชาการภาคพื้นแปซิฟิกของสหรัฐฯ เพิ่งจะประกาศเมื่อวันอังคารว่ากองเรือดังกล่าวกำลังจะมุ่งหน้าไปยังมหาสมุทรแปซิฟิกตอนเหนือ
นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงอย่างเช่นนาย Joel Wit ผู้เชี่ยวชาญด้านเกาหลีเหนือที่มหาวิทยาลัย Johns Hopkins กล่าวว่า
"คำขู่เรื่องการส่งกลุ่มเรือบรรทุกเครื่องบินเข้าประชิดเกาหลีเหนือที่ไม่เป็นความจริงนี้บั่นทอนความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ สำหรับนโยบายที่จะใช้กำลังทหารกับเกาหลีเหนือ"
ส่วนนาย Daniel Pinkston นักวิเคราะห์เรื่องความมั่นคงของเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ จากมหาวิทยาลัย Troy University ในกรุงโซล ก็ชี้ว่า
"ถึงแม้รัฐบาลกรุงเปียงยางจะมีพฤติกรรมในทางยั่วยุจากการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ และทดสอบจรวดขีปนาวุธก็ตาม แต่เกาหลีเหนือก็ยังไม่เคยโจมตีประเทศใด ซึ่งหากสหรัฐฯ ตัดสินใจใช้กำลังเข้าโจมตีเกาหลีเหนือก่อน ไม่ว่าจะเป็นด้วยเงื่อนไขใดๆ สหรัฐฯ จะไม่ได้รับความสนับสนุนจากประเทศพันธมิตรที่สำคัญ อย่างเช่น ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้
รวมทั้งอาจนำสงครามไปสู่ภูมิภาคดังกล่าว และจะเป็นผลให้สหรัฐฯ ถูกโดดเดี่ยวในองค์การสหประชาชาติด้วย"
นอกจากคำขู่เรื่องการส่งกำลังทางเรือเข้าประชิดเกาหลีเหนือที่ไม่จริง จะบั่นทอนความน่าเชื่อถือด้านนโยบายการใช้กำลังทหารของสหรัฐฯ แล้ว ท่าทีจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ ในเรื่องนโยบายเกาหลีเหนือ ก็ยังแตกต่างกันด้วย
คือในขณะที่รองประธานาธิบดี Mike Pence ขู่ว่าจะใช้มาตรการทางทหาร เพื่อกดดันกรุงเปียงยางให้ยกเลิกโครงการอาวุธนิวเคลียร์ของตนนั้น
พล.อ. H.R. McMaster ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ กลับกล่าวเมื่อวันอาทิตย์ว่า
"สหรัฐฯ ควรดำเนินการทุกอย่างเท่าที่จะทำได้โดยไม่ต้องใช้ทางเลือกทางทหาร ในความพยายามเพื่อคลี่คลายข้อขัดแย้งกับเกาหลีเหนือนี้อย่างสันติ"
source ;- http://rferl.c.goolara.net/Click.aspx?id=065998358603011072
แสดงความคิดเห็น