เปิดข้อเสนอแนะคณะกรรมการ ICCPR ต่อรัฐบาล คสช.ว่าด้วยสิทธิการเมืองสิทธิพลเมือง

Posted: 31 Mar 2017 05:23 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

ภาพจาก ICCPR Center

31 มี.ค. 2560 สืบเนื่องจากที่ทางรัฐบาลไทยส่งชุดผู้แทนไปเข้าร่วม “การประชุมทบทวนการบังคับใช้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR)”คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญอิสระประจำการประชุมได้มี “ข้อสรุปเชิงเสนอแนะ(Concluding Observation)” เมื่อต้นสัปดาห์นี้ แสดงความกังวลต่อพฤติกรรมของรัฐบาลไทยหลายประการ ประชาไทได้คัดใจความสำคัญในแต่ละประเด็นออกมา ดังนี้ (อ่านเอกสารตัวเต็ม ที่นี่)

การประกาศใช้ภาวะฉุกเฉินและการงดใช้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพ

- รัฐควรให้ความสำคัญกับบทบัญญัติในข้อตกลง มาตราที่ 12(1) 14(5) 19 และ 21 ว่าด้วยเรื่องเสรีภาพของการเดินทาง เลือกถิ่นที่อยู่ สิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีและโทษที่ได้รับจากศาล เสรีภาพการแสดงออก และเสรีภาพในการชุมนุม ตามลำดับ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถูกรัฐบาลไทยจำกัดตั้งแต่ประกาศกฎอัยการศึก

กรอบโครงสร้างทางกฎหมายและรัฐธรรมนูญในอนาคต

- รัฐควรทบทวนมาตรการทั้งหมดที่บังคับใช้ภายใต้มาตราที่ 44 47 และ 48 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ที่ให้อำนาจคำสั่งและการละเมิดสิทธิมนุษยชนของ คสช. ถูกต้องตามกฎหมายและไม่ต้องรับผิดในภายหลัง นอกจากนี้ มาตรการต่างๆ ของรัฐบาลไทยที่จะดำเนินต่อไปหลังได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมไปถึงการใช้มาตราที่ 279 (ทำให้คำสั่งของ คสช. เปลี่ยนสถานะเป็นกฎหมาย และจะถูกเพิกถอนได้ด้วยการบังคับใช้ พ.ร.บ. ใหม่เท่านั้น) จะต้องสอดคล้องกับหลักการของ ICCPR เพื่อเอื้อต่อการเยียวยาเหยื่อที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน

กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เสรีภาพการแสดงออก และการชุมนุมอย่างสงบ

- รัฐควรสนับสนุนให้มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทุกรูปแบบ ไม่ควรทำให้การหมิ่นประมาทเป็นอาชญากรรม การดำเนินคดีทางอาญากับคดีหมิ่นประมาทควรใช้ในกรณีที่มีความร้ายแรงสูงเท่านั้น

- รัฐไม่ควรใช้ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ และ พ.ร.บ. การชุมนุม เพื่อกีดกันการวิพากษ์วิจารณ์หรือแสดงความไม่พอใจจากพลเมือง

- รัฐควรใช้ทุกมาตรการที่มีเพื่อยกเลิกคดีความของผู้ที่ออกมารณรงค์ในช่วงประชามติเพื่อรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2559

- รัฐควรทบวนกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้สอดคล้องกับหลักการข้อที่ 19 ของข้อตกลง ICCPR ว่าด้วยเสรีภาพของการแสดงออก ทั้งนี้ คณะกรรมการได้เน้นย้ำว่าการคุมขังบุคคลที่แสดงความเห็นอย่างเสรีนั้นเป็นการละเมิดหลักการ ICCPR ข้อที่ 19

- รัฐควรปกป้องเสรีภาพการชุมนุมอย่างสงบและไม่ควรกักขังผู้ที่แสดงความเห็นอย่างเสรีที่ไม่ได้เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐและสังคมโดยรวม

โทษประหาร การซ้อมทรมาน การอุ้มหาย และการวิสามัญฆาตกรรมเกินอำนาจที่กฎหมายระบุ

- รัฐบาลไทยควรยกเลิกโทษประหารชีวิต ในกรณีที่จะยังคงไว้ซึ่งโทษประหารชีวิต รัฐบาลควรจำกัดเอาไว้ให้ใช้กับคดีอุกฉกรรจ์ที่เกี่ยวข้องกับการฆาตกรรม

- รัฐควรห้ามไม่ให้มีการทรมาน การวิสามัญฆาตกรรมที่เกินกว่าอำนาจกฎหมายบัญญัติและการบังคับบุคคลให้หายสาบสูญด้วยกระบวนการนอกกฎหมาย เมื่อมีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้น จะต้องมีการสอบสวนอย่างถึงที่สุด

- รัฐควรเปิดเผยความจริงเกี่ยวกับสาเหตุและชะตากรรมของผู้ที่ถูกบังคับให้หายสาบสูญ แจ้งข่าวคราวและความเคลื่อนไหวแก่ญาติของเหยื่อ ควรเยียวยาเหยื่อ และทำให้เหยื่อมั่นใจว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์เกิดขึ้นซ้ำรอย

- จัดตั้งกลไกอิสระที่มีหน้าที่ป้องกันการอุ้มหาย การทรมาน และสนับสนุนให้มีการฝึกฝน อบรมด้านสิทธิมนุษยชนและหลักการใช้กำลังกับเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายและทหาร เพื่อขจัดการทรมาน ทั้งนี้ การฝึกฝน อบรม จะต้องสอดคล้องกับข้อตกลง ของ ICCPR และหลักการพื้นฐานของสหประชาชาติว่าด้วยหลักของการใช้กำลัง

การเลือกปฏิบัติ ความเสมอภาคระหว่างบุรุษและสตรี และบุคคลไร้รัฐ

- ถึงแม้จะมี พ.ร.บ. ความเท่าเทียมทางเพศ แต่ในสังคมยังมีการเลือกปฏิบัติต่อเพศสภาวะและรสนิยมทางเพศอยู่บนฐานของศาสนา และความมั่นคงของรัฐ ดังนั้น รัฐบาลไทยควรป้องกันการเลือกปฏิบัติ รวมถึงทำลายข้อจำกัดในการป้องกันดังกล่าวอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้ชนกลุ่มน้อย คนไร้รัฐ ผู้อพยพ รวมถึงกลุ่มเพศสภาวะต่างๆ (LGBTI) ได้รับความเสียหายจากการเลือกปฏิบัติ

- รัฐบาลไทยควรเพิ่มการมีส่วนร่วมของสตรีให้ดำรงตำแหน่งในงานด้านการบริหารจัดการทั้งในภาครัฐ เอกชน และการเมือง และควรมีมาตรการลดอคติทางเพศในสังคม

- รัฐควรมีมาตรการลดสภาวะบุคคลไร้รัฐ ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

- ทำให้คนในชนบทและพื้นที่ห่างไกลรับทราบถึงกระบวนการเข้าถึงการได้รับสัญชาติที่มี

- ปกป้องสิทธิมนุษยชนของบุคคลไร้รัฐ ให้การศึกษาขึ้นพื้นฐานกับเด็กและปกป้องไม่ให้มีการค้ามนุษย์

- รัฐควรประกันสิทธิและเสรีภาพของของคนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รวมถึงปกป้องพวกเขาจากการถูกเลือกปฏิบัติจากการไม่มีสถานะพลเมือง การเข้าถึงการบริการขั้นพื้นฐานต่างๆ และสิทธิในที่ดิน การตัดสินใจต่างๆ ที่กระทบกับกลุ่มชาติพันธุ์จะต้องได้รับการยินยอมผ่านการพูดคุยตกลงกันเสียก่อน

สิทธิการได้รับการไต่สวนและการขึ้นศาลทหาร

- การนำประชาชนขึ้นไต่สวนในศาลทหารควรเป็นการกระทำในสภาวะที่ไม่ปรกติเท่านั้น และต้องกระทำในเงื่อนไขข้อตกลงของ ICCPR มาตราที่ 14 ว่าด้วยสิทธิการเป็นผู้บริสุทธิ์และความเสมอภาคของพลเมืองต่อหน้ากระบวนการยุติธรรม และควรโอนทั้งคดีที่ตัดสินแล้ว และคดีที่ยังค้างในศาลทหารตั้งแต่ 12 กันยายน 2559 ให้ศาลพลเรือนดำเนินการต่อ

ความรุนแรงต่อสตรี

- รัฐบาลไทยควรแสดงความพยายามมากขึ้นในด้านการพิทักษ์สตรีจากความรุนแรงทุกรูปแบบ รวมถึงแนะนำให้ปฏิบัติตามข้อเสนอแนะต่อไปนี้

- สนับสนุนให้สตรีกล้าออกมาแจ้งความ สร้างกลไกการร้องเรียนที่มีประสิทธิภาพ ทำให้การสืบสวนสอบสวนดำเนินไปจนหาตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีและลงโทษตามความเหมาะสม ทั้งยังสามารถเยียวยา ปกป้องตัวเหยื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ

- จัดให้มีการยอมความได้ถ้าทั้งเหยื่อและผู้กระทำผิดยินยอม

- ให้มีการรณรงค์ เพื่อให้ประชาชนตระหนักว่าความรุนแรงต่อสตรีเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ รวมถึงจัดให้มีการฝึกฝนให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ อัยการและผู้พิพากษาในเนื้อหาดังกล่าว

การค้ามนุษย์และการบังคับให้ขายแรงงาน

- รัฐควรต่อต้านการค้ามนุษย์อย่างจริงจังผ่านมาตรการป้องกันและระบบการจัดการตัวบุคคล เช่นการระบุตัวตนเหยื่อ พัฒนาระบบคัดกรองและการยืนยันตัว การสืบสวนสอบสวนและลงโทษผู้กระทำความผิด รวมทั้งการช่วยเหลือเยียวยาและปกป้องเหยื่อ

- รัฐควรปล่อยตัวเหยื่อที่ถูกกักขังหน่วงเหนี่ยวและเยียวยารักษาตัวเหยื่อโดยเร็ว

สิทธิของคนต่างด้าว

- รัฐไม่ควรส่งคนต่างด้าว ผู้ลี้ภัยจากการถูกคุกคามกลับไปสู่ที่ที่จากมา และควรมีมาตรการคัดกรองและช่วยเหลือโดยเร็ว

- ไม่ควรกักขังผู้ลี้ภัย แต่ถ้าใช้มาตรการดังกล่าวควรเป็นไปตามความเหมาะสมแห่งเหตุผลเป็นกรณีไป รวมทั้งต้องให้ผู้ลี้ภัยเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

- ไม่ควรกักขังหน่วงเหนี่ยวเสรีภาพของเด็ก เว้นแต่จะเป็นมาตรการสุดท้ายที่ต้องทำและต้องมีระยะเวลาสั้นที่สุด รัฐควรจะให้ความสำคัญกับเป้าประสงค์ของตัวเด็กเป็นหลัก รวมทั้งไม่กักขังไว้กับผู้ใหญ่ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกครอบครัว

- สถานที่กักขังควรเอื้อให้มีมาตรฐานคุณภาพชีวิตในระดับที่ข้อตกลง ICCPR กำหนด

สภาพการถูกคุมขัง

- รัฐควรมีมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ต้องขังและสถานคุมขังด้วยการลดจำนวนผู้ถูกคุมขัง หรือการมีโทษทัณฑ์อย่างอื่นแทนการคุมขัง ทั้งนี้ควรมีมาตรการประกันว่าผู้ต้องขังได้รับการเคารพตามสิทธิและเสรีภาพที่มนุษย์พึงได้รับตามมาตรฐานของสหประชาชาติ

กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

- รัฐควรสนับสนุนให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นอิสระ ให้สอดคล้องกับหลักการในข้อตกกรุงปารีส ในการประชุมใหญ่แห่งสหประชาชาติ ที่ 48/134 ว่าด้วยหน้าที่ขององค์กรสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และภาระหน้าที่ในการคุ้มครองผู้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว

คณะกรรมการยังได้ระบุไว้ในรายงานข้อสรุปว่า รัฐบาลไทยควรเผยแพร่พิธีสารทั้งสองตัวของ ICCPR รายงานสถานการณ์ครั้งที่ 2 และรายงานข้อสรุปจากคณะกรรมการอย่างกว้างขวางสู่หน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคประชาชนและสาธารณชน เพื่อสร้างความตระหนักถึงสิทธิที่ได้ระบุเอาไว้ในข้อตกลง ทั้งนี้ รัฐไทยควรจัดทำรายงานสถานการณ์ส่งอีกครั้งในรอบต่อไป วันที่ 29 มีนาคม 2564

ทำความรู้จัก ICCPR คร่าวๆ

ICCPR (International Covenant on Civil and Political Rights) เป็นชุดสนธิสัญญาพหุภาคีส่วนหนึ่งของร่างกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ มีเนื้อหามุ่งคุ้มครองสิทธิของบุคคลในฐานะที่เป็นพลเมืองและสิทธิในทางการเมือง เช่น สิทธิในการชุมนุม การกำหนดเจตจำนงของตนเอง สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก

ICCPR กำหนดให้รัฐเคารพและประกันสิทธิของบุคคล โดยห้ามการเลือกปฏิบัติ ห้ามมิให้บังคับใช้กฎหมายอาญาย้อนหลัง ไทยเป็นภาคีและกติกานี้มีผลบังคับใช้กับไทยตั้งแต่ปี 2540 กติกานี้กำหนดให้รัฐภาคีต้องส่งรายงานการปฏิบัติตามพันธกรณีในปีแรกหลังเป็นภาคี จากนั้นต้องส่ง รายงานทบทวน (Periodic Report) ทุกๆ 5 ปี อ่านเพิ่มเติม ที่นี่

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.