Posted: 16 Nov 2017 02:38 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

เมตตา วงศ์วัด



ปฏิเสธไม่ได้ว่าคดี 112 เป็นที่สนใจของผู้คนทั้งในและต่างประเทศ และศาลก็กลายเป็นกลไกสำคัญที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เนื่องจากต้องรับบทบาทในการตัดสินความผิดและกำหนดบทลงโทษ

ข้อวิจารณ์หลักตลอดทศวรรษที่ผ่านมา แบ่งเป็น 2 ลักษณะ ลักษณะแรก สะท้อนผ่านกระบวนการพิจารณาคดีของศาล ไม่ว่าจะเป็นการ ‘ไม่ให้ประกันตัวเป็นหลัก ได้ประกันเป็นข้อยกเว้น’ การพิจารณาคดีลับ บทลงโทษที่หนักหน่วง เป็นต้น ลักษณะที่สองคือ การวิพากษ์ไปถึงวิธีคิดเบื้องหลังของตุลาการทั้งระบบว่ามีลักษณะอนุรักษ์นิยม (conservative) และกษัตริย์นิยม (royalism)

ในเบื้องต้น ขอนำเสนอมุมมองของนักสิทธิมนุษยชนและทนายความที่เกี่ยวข้องกับคดี 112 ซึ่งกล่าวถึงปัญหารูปธรรมที่พวกเขาเผชิญ และมุมมองที่พวกเขามีต่อตุลาการ ก่อนที่จะไปฟังเสียงสะท้อนของผู้พิพากษา

“ปัญหาหลักๆ น่าจะอยู่ที่ทัศนคติของคนในกระบวนการยุติธรรม หลายคนแสดงออกค่อนข้างชัดว่า มีอคติอยู่พอสมควร แล้วอีกอย่างที่สร้างปัญหามากคือ การแจ้งความ ไม่ควรเป็นแบบนี้ที่ใครก็แจ้งความได้ เพราะเราพบว่ามันกลั่นแกล้งกันเยอะ” ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ความเห็น

“มีบางคดีที่ศาลพิจารณาลับ ล็อคห้องไม่ให้ใครเข้า สั่งให้ทนายความปิดโทรศัพท์มือถือ แล้วเอาไปไว้กับเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ ตอนสู้คดีก็ไม่ให้พูดถึงข้อความในนั้นเลย ให้ใช้คำว่า “ข้อความที่ไม่สมควรชุดที่หนึ่ง” “ข้อความที่ไม่สมควรชุดที่สอง” แล้วก็ไม่ให้คัดถ่ายทุกอย่างแม้แต่คำพิพากษา ทนายความจะอุทธรณ์คดีต้องไปนั่งคัดคำพิพากษาและกระบวนพิจารณาคดีด้วยลายมือ” ศศินันท์ยกตัวอย่าง

“ศาลยุติธรรมจะระมัดระวังมาก แม้แต่เวลาบันทึก ค่อนข้างเข้มงวด บางคดีจะบันทึกรายงานกระบวนพิจารณายังต้องพักการพิจารณา ลงไปปรึกษาหัวหน้าแล้วขึ้นมาใหม่ เช่น คดีไผ่ (จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา) เรายื่นคำร้องว่า ขอให้ไม่พิจารณาลับเป็นบางนัดได้ไหม เช่น พนักงานสอบสวน คนจับกุม ศาลก็ต้องไปปรึกษาหัวหน้า จะสั่งอะไรก็ต้องลงไปปรึกษาหัวหน้า สุดท้ายก็พิจารณาลับอยู่ดีในทุกกรณี หรือคดีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติที่ขอนแก่น เจ้าหน้าที่ศาลโทรหาทนายเลยว่า เป็นคดีที่มีข่าว ทางภาคถามมา จะขอเลื่อนวันนัดเข้ามาเร็วกว่านี้ได้ไหมเพื่อนัดสมานฉันท์ เพราะต้องรายงานภาค” ภาวิณี ชุมศรี ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธมนุษยชนให้ข้อสังเกต

ขณะที่ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จากไอลอว์ซึ่งเป็นองค์กรที่สังเกตการณ์คดี 112 อย่างใกล้ชิดมองต่างออกไป

“ผมไม่คิดว่าเป็นเรื่องทัศนคติของผู้พิพากษา ไม่ได้ให้น้ำหนักเรื่องที่ว่า ผู้พิพากษาตัดสินภายใต้พระปรมาภิไธยแล้วเป็นข้อจำกัด หรือถ้าศาลยกฟ้องแล้วจะได้ผลลบอะไรแบบนั้น ผมคิดว่าท่านก็ทำเหมือนคดีอื่นๆ หลักการรับฟังพยานหลักฐานในทางวิชาการกับทางปฏิบัติมันไม่เหมือนกันอยู่แล้ว ตำรวจทำงานมีช่องโหว่อยู่แล้ว คดีลักวิ่งชิงปล้นท่านก็รับฟัง แต่พอเป็นคดีการเมือง เราสู้กันละเอียดว่ารับฟังพยานหลักฐานบางอย่างไม่ได้ แต่ท่านใช้ประสบการณ์จากคดีทั่วไปนั้นเอง จึงไม่คิดว่าเป็นเรื่องมีอคติต่อจำเลย คดีที่ผู้พิพากษาดูมีท่าทีมีอคตินั้นมีอยู่แต่น้อยมาก เช่น พูดจาไม่ดี โดยส่วนใหญ่ที่สัมผัสได้คือ กลัว”

“ตัวผู้พิพากษาเองก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง ถามว่ากลัวอะไร ท่านก็อาจกลัวโดนสังคมด่า กลัวกลายเป็นประเด็นทางการเมือง กลัวผู้พิพากษาผู้ใหญ่ว่า กลัวตั้งกรรมการสอบ กลัวเรื่องจะเข้าตัวเอง นี่ผมคาดเดาเอาเอง ผู้พิพากษาก็เหมือนข้าราชการคนหนึ่งที่ต้องการทำอะไรให้มันถูกต้องตามระบบระเบียบ มันมีฟอร์แมตในคดีต่างๆ อยู่ แต่พอเป็นคดี 112 มันไม่มีฟอร์แมต รูปแบบการกระทำไม่เหมือนกัน พยานหลักฐานไม่เหมือนกัน วิธีสู้ของทนายก็ไม่เหมือนกัน มันจึงยาก ต้องคิดเอง ท่านอาจจะไม่มั่นใจ แล้วแต่ละท่านก็จัดการกับความกลัวของตัวเองต่างกัน บางคนนิ่ง บางคนรน” ยิ่งชีพกล่าว

“เราต้องเข้าใจก่อนว่า ปัจจัยในชีวิตเขาคืออะไร มันคือการอ่านหนังสือ สอบ อ่านหนังสือ สอบ เขาไม่ได้เจอโลกกว้างขวางนัก เมื่อเป็นผู้พิพากษา ชีวิตก็ ‘เข้าฮอร์ส’ แล้ว อยู่นิ่งๆ มีเงินเดือน มีเกียรติยศ สิ่งที่เขาคิดคือจะไม่ออกจากกรอบตรงนี้เด็ดขาด” ยิ่งชีพกล่าวและว่า สิ่งที่ไอลอว์ทำจึงมุ่งเน้นการวิพากษ์ณะบบเท่ากับมุ่งเปลี่ยนแปลงทัศนคติของสังคมเป็นหลัก
0000

ไม่ว่าจะมองเบื้องหลังบทบาทของตุลาการไปในทิศทางไหน เราปฏิเสธไม่ได้ว่า องค์กรตุลาการนั้นก่อกำเนิดขึ้นโดยเกี่ยวพันกับสถาบันกษัตริย์มาตั้งแต่ในอดีต ในหนังสือ ‘พระธรรมนูญศาลยุติธรรม’ อธิบายถึงพัฒนาการของหนึ่งในอำนาจอธิปไตยอย่าง ‘ตุลาการ’ ว่า แต่เดิมนั้นอำนาจในการพิพากษาอรรถคดีเป็นของพระมหากษัตริย์ จนกระทั่งถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ด้วยแรงกดดันของชาติมหาอำนาจ จึงมีการ “ทำตุลาการให้ทันสมัย” โดยแยกศาลที่เคยมีประจำอยู่ในกระทรวงต่างๆ ซึ่งให้ปุโรหิตหรือมโนสารอำมาตย์ผู้เชี่ยวชาญคัมภีร์พระธรรมศาสตร์เป็นผู้วินิจฉัยคดี มารวมในสังกัดเดียวกัน และประกาศตั้งกระทรวงยุติธรรมขึ้นใน ร.ศ.110 (พ.ศ.2435) ผู้มีบทบาทสำคัญในการวางระบบกฎหมายและศาลของไทยก็คือ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์) พระราชโอรสองค์ที่ 14 ในรัชกาลที่ 5 นั่นเอง

หลังจากนั้นไม่กี่สิบปีก็เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยในปี 2475 โดยคณะราษฎร ส่งผลให้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ เกิดการเปลี่ยนแปลงอำนาจอธิปไตยอย่างสำคัญในสองส่วน คือ ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติที่ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่ในส่วนของตุลาการนั้นแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ทำให้เกิดข้อวิจารณ์จนถึงปัจจุบันว่า อำนาจตุลาการนั้นเป็นอำนาจเก่าแก่ที่ไม่เคยได้รับการปฏิรูปให้เป็นประชาธิปไตยเลย

“หลายแห่งที่เป็นประชาธิปไตยในโลก สถาบันตุลาการ ราชการ ทหาร ถูกสร้างขึ้นก่อนมีระบอบประชาธิปไตยทั้งสิ้น คำถามก็คือ ทำไมสถาบันตุลาการหลายที่ในต่างประเทศจึงไม่กลายเป็นตุลาการที่เข้ามาฝักใฝ่ทางการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง คำตอบก็คือ ในอังกฤษและในฝรั่งเศสมีการปรับเปลี่ยนระบบตุลาการหลังประชาธิปไตยเบ่งบาน…ถามว่าหลังจาก 2475 มีความพยายามในการปรับเปลี่ยนระบบตุลาการบ้างไหม คำตอบคือไม่มี” นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวไว้ในงานเสวนาวิชาการ ‘ความยุติธรรมที่ลำเอียง’ ที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อ 22 ก.พ. 2560

โยชิฟูมิ ทามาดะ ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเกียวโตที่ศึกษาการเมืองไทยมายาวนานก็พูดถึงความใกล้ชิดระหว่างสถาบันตุลาการกับสถาบันกษัตริย์ไว้อย่างน่าสนใจ โดยตั้งข้อสังเกตจากการถวายสัตย์ปฏิญาณ ตราสัญลักษณ์ และสัดส่วนองคมนตรีของในหลวงรัชกาลที่ 9 รวมถึงรัชกาลที่ 10 ซึ่งมีผู้พิพากษาจำนวนมาก

“ก่อนหน้านี้คำถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ได้บัญญัติในรัฐธรรมนูญ แต่หลังการปฏิวัติในปี 2490 ซึ่งฝ่ายนิยมเจ้าได้ขึ้นครองอำนาจทางการเมือง ทำให้รัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2492 เป็นต้นมา มีการกำหนดคำถวายสัตย์ปฏิญาณในส่วนของรัฐมนตรีและองคมนตรีเอาไว้ อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2517 สมัยสัญญา ธรรมศักดิ์ ก็ได้เขียนคำถวายสัตย์สำหรับผู้พิพากษาด้วย และเมื่อมาถึงรัฐธรรมนูญ 2540 ก็มีการแยกชัดเจนขึ้นอีก โดยองคมนตรีและรัฐมนตรีใช้ถ้อยคำเดียวกัน แต่ผู้พิพากษานั้นมีถ้อยคำเฉพาะของตนเอง นี่อาจทำให้ศาลมีความภูมิใจเป็นพิเศษว่า ใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์มากกว่าองคมนตรีและรัฐมนตรี เพราะใช้คำศัพท์พิเศษ” ทามาดะกล่าว


ยุติธรรมลำเอียง: วงวิพากษ์ตุลาการไทย นิธิ-ปิ่นแก้ว-ไชยันต์-ภัควดี

ทามาดะมอง “ตุลาการภิวัตน์ไทย” ปราบคอร์รัปชันหรือทำลายประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตาม เราไม่อาจกล่าวถึงยอดของภูเขาน้ำแข็งอย่างมาตรา 112 โดยวิพากษ์เพียงตุลาการและไม่มองถึงพัฒนาการของ ‘อำนาจนำ’ ในทางการเมือง-วัฒนธรรมของสถาบันกษัตริย์ในสังคมไทยได้ เพราะมันมีผลต่อการ ‘ปรับแก้’ กฎหมายนี้ให้หนักขึ้น และ ‘ปรับใช้’ กฎหมายนี้อย่างกว้างขวางมากขึ้น

ณัฐพล ใจจริง นักประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา อธิบายไว้ว่า หลังการรัฐประหารในปี 2490 ตลอดทศวรรษนั้น สถาบันกษัตริย์และกลุ่มรอยัลลิสต์ได้เข้ามามีบทบาททางการเมืองอย่างชัดเจนและเริ่มรื้อฟื้นบทบาทสถานะของสถาบันกษัตริย์หลังจากถดถอยมาตั้งแต่ปี 2475 ในตอนท้ายแม้กลุ่มนี้จะแตกกับกลุ่มจอมพล ป.พิบูลสงคราม (ที่กำจัดกลุ่มของปรีดี พนมยงค์ ออกจากการเมืองและขึ้นครองอำนาจ) แต่ก็ได้จับมือกับสหรัฐอเมริกาในการทำสงครามกับคอมมิวนิสต์ โดยสหรัฐฯ สนับสนุนการใช้ประเด็นการคุกคามสถาบันกษัตริย์ของคอมมิวนิสต์เป็นประเด็นสำคัญของปฏิบัติการสงครามจิตวิทยาในไทย กลุ่มรอยัลลิสต์ยังมีแผนสร้างกระแสความนิยมต่อรัชกาลที่ 9 ให้เกิดในหมู่ประชาชนด้วยการเสนอโครงการให้พระองค์เสด็จเยี่ยมประชาชนในชนบทตั้งแต่เดือนเมษายน 2497 เป็นต้นมา ซึ่งประสบผลสำเร็จอย่างมากในการสร้าง ‘สัญลักษณ์’ แห่งชาติ

“ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลจอมพล ป.และกลุ่มตำรวจที่นำโดย เผ่า ศรียานนท์ กับ สถาบันกษัตริย์ ‘กลุ่มรอยัลลิสต์’ และกองทัพ ภายใต้การนำของสฤษดิ์ ได้เดินไปสู่จุดแตกหักในการรัฐประหาร 16 กันยายน 2500...การรัฐประหารครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของโครงสร้างอำนาจทางการเมืองที่สำคัญระหว่างสหรัฐฯ-สถาบันกษัตริย์-กองทัพ หรือ ‘อำนาจไตรภาคี’ (The Triangle of Power) ซึ่งจะดำรงอยู่ในการเมืองไทยอย่างยาวนานกว่า 20 ปีต่อมา ท่ามกลางกระแสสงครามเย็นที่ขึ้นสูงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

ขณะที่ธงชัย วินิจจะกูล นักประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน กล่าวถึงเรื่องนี้เช่นกันว่า พระมหากษัตริย์สมัยใหม่แบบใหม่เริ่มต้นมากับยุคเผด็จการทหารขนานแท้ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยหลัง 2490 เติบโตเข้มแข็งขึ้นภายใต้เผด็จการทหารยุคพัฒนา และบรรลุจุดหมายโดยพื้นฐานเมื่อโค่นเผด็จการทหารลงในปี 2516 ใช้เวลาเสริมสร้างความมั่นคงในเวลา 15 ปีต่อมา จนสถาปนาพระมหากษัตริย์ที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่รักของมหาชนอยู่ข้างบนการเมืองได้สำเร็จ

“นี่เป็นมรดกของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ปรับตัวกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้งในยุคสมัยของเรา” ธงชัยเขียนไว้ในบทความชิ้นหนึ่ง

ก่อนสงครามคอมมิวนิสต์จะจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของฝ่ายซ้าย และรัฐออกนโยบาย 66/2523 ที่อนุญาตให้ผู้หลงผิดกลับมาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ในปี 2519 คณะรัฐประหารได้ปรับแก้กฎหมายมาตรา 112 โดยเพิ่มโทษจำคุกจาก ‘ไม่เกิน 7 ปี’ เป็น ‘3-15 ปี’ และใช้มาจนถึงปัจจุบัน




“บทลงโทษในกฎหมายปัจจุบันภายใต้ระบอบประชาธิปไตยกลับมีความรุนแรงมากกว่ากฎหมายในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของรัชกาลที่ 5 ...กฎหมายหมิ่น ‘พระบรมเดชานุภาพ’ แท้ๆ ในยุคนั้น ยังมีโทษ (3 ปี) ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของโทษแบบเดียวกันในยุคสมัยใหม่ ภายใต้ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” จรัญ โฆษณานันท์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงเคยกล่าวไว้ในการอภิปรายเมื่อปี 2552

จรัญยังกล่าวถึง ‘ความเงียบ’ สองประเภทที่เกี่ยวกับมาตรา 112 ความเงียบอย่างแรก มาจากการเห็นดีเห็นงามกับกฎหมายนี้เนื่องจากอยู่ภายใต้มายาคติดว่าด้วย ‘ความเป็นไทย’ ‘ความมั่นคงแห่งรัฐ’ จนถือว่ากฎหมายนี้เป็นข้อยกเว้นหรืออยู่เหนือสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการแสดงออกไม่ว่ารูปแบบใดๆ ความเงียบอย่างที่สอง มาจาก ‘ความกลัว’ กลัวว่าจะไม่เป็น ‘คนไทย’ หรือกลัวถูกต่อต้านทางสังคม (social sanction)

“สภาพที่เป็นจริง กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ที่เป็นอยู่ได้ขานรับ ยืนยันต่อวาทกรรมความเป็นไทยที่ว่าอย่างแข็งขันยิ่ง โดยอาศัยโทษที่รุนแรง การเปิดกว้างต่อการกล่าวหาความผิดจากบุคคลทั่วไป รวมทั้งการใช้การตีความในทางปฏิบัติที่แข็งกร้าว ปรวนแปร ไม่แน่นอน และไม่ยอมรับต่อบทพิสูจน์ ข้อยกเว้นความผิดหรือโทษใดๆ ท่ามกลางการครอบงำของการเมืองแบบราชาชาตินิยมหรือการเมืองใน ‘ระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์เป็นประมุข’...อิทธิพลของวาทกรรมความเป็นไทยกระแสหลัก แนวคิดทศพิธราชธรรมที่ไร้การวิพากษ์ ความคิดความเชื่อแบบสมมติเทพ บวกกับการอ้างอาศัยการตีความมาตรา 8 (พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้) ของรัฐธรรมนูญอย่างไม่ถูกต้อง ล้วนนำไปสู่ความเชื่อแบบไทยๆ ที่ว่า พระมหากษัตริย์ไม่สามารถกระทำผิดได้ อยู่เหนือเกล้า เหนือการละเมิด หรือเหนือการติชมใดๆ และท้ายที่สุดคือ อยู่เหนือการพิสูจน์ความผิดพลาดใดๆ ของการกระทำจนทำให้ไม่อาจมีสิ่งที่เป็นบทพิสูจน์เกี่ยวกับข้อยกเว้นความผิดและโทษใน ม.112 ได้” จรัญระบุ

เมื่อพูดถึงบริบทการเมืองที่หดแคบเข้ามาในช่วงทศวรรษนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าสถาบันกษัตริย์ถูกนำมากล่าวอ้างในการต่อสู้ทางการเมืองมากมาย โดยเฉพาะในกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) หรือแม้กระทั่งการทำรัฐประหารในปี 2549 โดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ขณะที่ข้อหา ‘ความไม่จงรักภักดี’ ‘การล้มเจ้า’ ก็ดังกระหึ่มท่ามกลางความขัดแย้งสีเสื้อ จึงไม่แปลกที่จะมีปรากฏการณ์ของการวิพากษ์วิจารณ์ปฏิบัติการทางการเมืองของฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวโยงไปถึงสถาบันกษัตริย์ด้วย

นักวิชาการด้านนิติศาสตร์หลายคนยกให้พระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่มีต่อตุลาการในเดือนเมษายน 2549 (หลังมีกระแสขอนายกฯ พระราชทานตามมาตรา 7) เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการที่ศาลทั้งหลายเข้ามามีบทบาทสร้างความเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ในทางการเมือง และทำให้ศาลกลายเป็น ‘ผู้เล่น’ และเป็น ‘เป้าแห่งการวิพากษ์วิจารณ์’ ในสงครามความขัดแย้งนั้นด้วยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

ในปี 2560 คำให้สัมภาษณ์ของจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ให้กับบีบีซีไทย ยิ่งตอกย้ำถึงเงื่อนปมดังกล่าวที่ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กระจายไปทุกสถาบันทางการเมืองในสังคม

“ในครั้งนั้นหลักการใหม่มันเกิดขึ้น เมื่อฝ่ายบริหารไม่มี ฝ่ายนิติบัญญัติแท้จริงยังไม่มี วุฒิสภาก็ทำหน้าที่อะไรไม่ได้ในเรื่องนี้ และเกิดปัญหาที่ไปรบเร้าให้พระองค์ท่านต้องเข้ามา ถ้าพระองค์ท่านทำตามคำขอก็จะกลายเป็นว่า เข้ามาแทรกแซงก้าวก่ายทางการเมือง ก็ผิดหลัก นี่ล่ะพระอัจฉริยภาพที่ทรงชี้ว่า ยังมีช่องทางอยู่นะ ให้ไปคิดกัน ไปหาทางออกกันให้ถูกต้อง ถ้าทำไม่ได้ก็ลาออกไป นี่จึงคล้ายๆ ตกอยู่ในภาวะต้องมาหาทาง"

"การแพ้ชนะในศาลรัฐธรรมนูญ หมายถึงเดิมพันที่ใหญ่ของแต่ละฝ่าย ดังนั้นแรงกดดันก็จะเข้ามามากทั้งทางด้านบวกและลบ ฝ่ายที่พอใจก็อยากจะเอาดอกไม้มาให้กำลังใจ ฝ่ายที่ไม่พอใจก็ตำหนิติเตียนวิพากษ์วิจารณ์ สิ่งที่พวกเรายึดถือกันตลอดมาในการทำหน้าที่นี้คือ เราทำหน้าที่ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์"

"เราถือกันว่าพระองค์ท่านเป็น 'ตุลาการหมายเลข 1' นี่เป็นคำพูดแบบสื่อความหมายที่เข้าใจในหมู่พวกเรา" จรัญ กล่าว
0000

แม้เราจะพยายามมองมาตรา 112 ในระดับโครงสร้างเพียงไหน แต่แรงปะทะย่อมมาที่ผู้รับหน้าเสื่ออย่างตุลาการอย่างยากจะหลีกเลี่ยง

ในปี 2556 คณะกรรมการรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก.112) และเครือข่ายทำการรวบรวมรายชื่อประชาชนหลายหมื่นรายชื่อเพื่อให้รัฐสภาแก้ไขมาตรานี้ โดยนำเสนอร่างของคณะนิติราษฎร์ที่มีหลักใหญ่ใจความ 3 ประการ คือ ปรับลดโทษลง กำหนดผู้มีอำนาจแจ้งความกล่าวโทษอย่างชัดเจน และมีข้อยกเว้นความผิด เช่น การติชมโดยสุจริตเพื่อประโยชน์ทางวิชาการหรือประโยชน์สาธารณะ แต่ท้ายที่สุดรัฐสภาก็ไม่รับร่างแก้ไขกฎหมายนี้ เนื่องจากมันอยู่ในหมวดความมั่นคง ไม่ใช่หมวดสิทธิเสรีภาพของประชาชนซึ่งประชาชนมีสิทธิเสนอหรือแก้ไขกฎหมาย

ที่น่าสนใจก็คือ ในวาระแห่งการรณรงค์นั้นมีการออกจดหมายเปิดผนึกถึงผู้พิพากษาทั่วประเทศ โดย สถิตย์ ไพเราะ อดีตผู้พิพากษาอาวุโสเป็นตัวแทนอ่านจดหมายในเวทีสาธารณะแห่งหนึ่ง

"เมื่อผมเป็นผู้พิพากษา พระราชบัญญัติตุลาการ ศาลยุติธรรม กำหนดไว้ในมาตรา 26 ว่า ผู้พิพากษาต้องเลื่อมใสระบอบประชาธิปไตยโดยบริสุทธิ์ใจ และผมก็ปฏิบัติเรื่อยมา อีกประการหนึ่ง ต้องขออ้างถึงคำกล่าวของมองเตสกิเออที่ว่า ‘ไม่มีความเลวร้ายใดที่จะยิ่งไปกว่า ความเลวร้ายที่ได้กระทำโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย หรือในนามของกระบวนการยุติธรรม’ เพราะฉะนั้นในฐานะที่ยังเป็นสมาชิกสังคมอยู่ แม้จะเกษียณแล้วก็ควรจะปกป้องไม่ให้เกิดความเลวร้ายไปกว่านี้" สถิตย์กล่าว

ในจดหมายเปิดผนึกฉบับนั้น วิพากษ์บทบาทตุลาการอย่างรุนแรง โดยแบ่งเป็นส่วนของบทบาท ‘การสานต่อรัฐประหาร’ ผ่านการตัดสินคดีทางการเมืองที่เป็นข้อกังขา กับการพิจารณาคดีมาตรา 112 (อ่านที่นี่) ซึ่งยกตัวอย่างสำคัญหลายประการ

“เท่าที่ปรากฏต่อสาธารณะ ศาลไม่ได้ให้เหตุผลโดยการชั่งน้ำหนักสิทธิในทางรัฐธรรมนูญของจำเลยกับข้อกฎหมายที่ศาลอาจใช้อ้างในการไม่ปล่อยตัวชั่วคราวเลย ในหลายกรณียังปรากฏด้วยว่า ศาลได้ก้าวล่วงอำนาจนิติบัญญัติโดยการกำหนด ‘เหตุ’ แห่งการปฏิเสธการปล่อยชั่วคราวขึ้นเสียเอง เช่น ‘คดียังอยู่ระหว่างสืบพยานโจทก์’ หรือ ‘เป็นความผิดที่สะเทือนจิตใจประชาชน’ ซึ่งนับเป็นเรื่องที่น่ากังวลยิ่ง”

“หากพิเคราะห์คำพิพากษาในบางคดีโดยละเอียดแล้วจะพบว่า มีลักษณะที่ขัดหรือแย้งกับหลักกฎหมายหลายประการ เช่น คดีนายอำพล ตั้งนพกุล หรืออากง ที่ศาลพิพากษาลงโทษด้วยเหตุผลประการหนึ่งว่า ‘แม้โจทก์จะไม่สามารถนำสืบแสดงให้เห็นได้อย่างชัดแจ้งว่า จำเลยเป็นผู้ส่งข้อความ ฯลฯ แต่ก็เพราะเป็นการยากที่โจทก์จะสามารถสืบด้วยประจักษ์พยาน เนื่องจากผู้ที่กระทำความผิดที่มีลักษณะร้ายแรงดังกล่าว ย่อมจะต้องปกปิดการกระทำของตนมิให้บุคคลอื่นได้ล่วงรู้ ทั้งจะอาศัยโอกาสกระทำเมื่อไม่มีผู้ใดรู้เห็น’ ซึ่งขัดกับหลักเรื่องภาระการพิสูจน์ในคดีอาญาที่กฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่ของโจทก์ในอันที่จะต้องพิสูจน์...การวินิจฉัยในลักษณะที่เป็นปัญหาเช่นนี้ยังเกิดขึ้นกับคดีนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ที่ศาลพิพากษาจำคุก 10 ปี ด้วยข้อสันนิษฐานว่า เมื่อจำเลยเป็นบรรณาธิการ จำเลยย่อมต้องรู้ข้อความ รวมทั้งความหมายในบทความที่เขียนขึ้นโดยบุคคลอื่นอันเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ซึ่งข้อสันนิษฐานในลักษณะนี้ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดรองรับ”

“ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 28-29/2555 ที่วินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญนั้น เมื่อพิเคราะห์คำวินิจฉัยโดยตลอดแล้วย่อมเห็นได้ว่า คำวินิจฉัยนี้แสดงให้สาธารณชนเห็นถึงทัศนะที่ยึดถืออุดมการณ์กษัตริย์นิยมเหนืออุดมการณ์นิติรัฐประชาธิปไตยของบรรดาผู้พิพากษาและตุลาการจำนวนหนึ่งอย่างชัดแจ้ง.... นอกจากนี้ศาลยังวินิจฉัยด้วยว่า บทลงโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปีกรณีดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายได้สัดส่วนกับการกระทำอันเป็นความผิด โดยให้เหตุผลว่า สถาบันพระมหากษัตริย์มีลักษณะพิเศษเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของราชอาณาจักร และพรรณนาความแสดงให้เห็นถึงคุณงามความดีของพระมหากษัตริย์ ซึ่งการพรรณนาเช่นนั้นย่อมไม่ใช่เหตุผลทางกฎหมาย…อีกทั้งศาลรัฐธรรมนูญยังนำมาตรา 112 มาปะปนกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ มาตรา 8 โดยมิได้พิจารณาถึงวัตถุประสงค์ของการดำรงอยู่ของบทบัญญัติมาตรานี้ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญแต่อย่างใด คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจึงแสดงให้เห็นว่า สิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญย่อมปราศจากค่าบังคับทันทีเมื่อเผชิญหน้ากับกฎเกณฑ์ทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์” สถิต ไพเราะ

ในครั้งนั้นไม่มีเสียงตอบรับใดจากแวดวงผู้พิพากษา

มุมมองของผู้พิพากษาเป็นสิ่งที่น่าสนใจและควรทำความเข้าใจ แต่การพูดคุยประเด็นที่ละเอียดอ่อนกับผู้พิพากษานั้นเป็นเรื่องยากยิ่ง แต่ก็ไม่ใช่สิ่งเป็นไปไม่ได้เสียทีเดียว

ผู้พิพากษารุ่นใหม่คนหนึ่งที่ไม่ได้ทำคดีลักษณะนี้มองปรากฏการณ์ของคดี 112 ว่า เป็นเรื่องที่เข้าใจได้เนื่องจากตุลาการย่อมมีบทบาทในการรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ และพวกเขาอาจเห็นว่า หากไม่ลงโทษจริงจัง คดีลักษณะนี้อาจยิ่งมีเพิ่มมากขึ้นอย่างยากจะควบคุม

เขากล่าวด้วยว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าลักษณะองค์กรของผู้พิพากษามีการปลูกฝังกันเรื่องการทำงานภายใต้พระปรมาภิไธยฯ อยู่จริง และต่างก็เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เมื่อประกอบเข้ากับแนวคิดหลักของกฎหมายอาญาคือ การป้องปราม จึงปรากฏการลงโทษโดยไม่มีการรอลงอาญาในคดีที่ผู้พิพากษาคิดว่าสำคัญและหากคดีนั้นเข้าองค์ประกอบของกฎหมาย

“แม้จะมีผู้พิพากษาส่วนที่มีความคิดในแนวทางเสรีนิยมอยู่บ้าง แต่เมื่ออยู่ในโครงสร้างแบบนี้นานๆ มันก็ส่งผลต่อต่อวิธีคิด วิธีมองโลก” ผู้พิพากษาหนุ่มกล่าว

ผู้พิพากษาคนดังกล่าวยังยืนยันถึงความเป็นอิสระของตุลาการในการพิจารณาคดีว่า โดยปกติผู้พิพากษาจะมีอิสระอย่างเต็มที่ในการพิพากษาคดี แต่คดีสำคัญๆ จะเป็นไปตามแนวพิพากษาศาลฎีกา และอาจมีการปรึกษาหารือภายในกับหัวหน้าศาลซึ่งเป็นเรื่องปกติ ผู้พิพากษาจะไม่ปฏิบัติตามแนวฎีกาก็ได้ แต่อาจไม่มีผลอะไรนัก เพราะในที่สุดก็จะถูกพิพากษากลับในชั้นที่สูงกว่า ส่วนการจัดสรรคดีความสู่องค์คณะผู้พิพากษาซึ่งมีอยู่หลายคณะ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาสามารถพิจารณามอบหมายคดีสำคัญๆ ให้กับองค์คณะที่ไว้วางใจได้ด้วย

ขณะที่ผู้พิพากษาอาวุโสอีกคนหนึ่งที่ไม่ได้ทำคดีนี้เช่นกัน ไม่เชื่อว่าการพิพากษาคดี 112 เป็นเพราะทัศนคติของผู้พิพากษาที่ถูกปลูกฝังในระบบของตุลาการ และไม่เชื่อว่าการแก้ไขปัญหาใดๆ เกี่ยวกับมาตรา 112 ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์จะสามารถแก้ได้จากการเปลี่ยนแปลงกฎหมายหรือเรียกร้องจากตุลาการ

“คุณไม่สามารถเปลี่ยนคนในเวลาแป๊บเดียวได้ ต้องใช้เวลายาวนานของชีวิตทำให้เขาคิดอย่างที่ต้องการ ต้องไปดูตั้งแต่ระบบโรงเรียน มหาวิทยาลัย สื่อในสังคม สิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเรา ในระบบของตุลาการมันอาจมีส่วนปลูกฝังวิธีคิดคอนเซอร์เวทีฟบ้าง แต่เพราะมันมีธรรมชาติหรือแนวโน้มของมันอยู่แล้ว แล้วเมื่อผสมกับมายาคติ ลักษณะอำนาจนิยมของตัวเองที่มีอยู่แล้วมันจึงเดินไปได้”

“ตุลาการเป็นอะไรที่ปลายน้ำมาก ระบบศาลไม่ว่าประเทศไหนในโลก ล้วนเป็นกลไกที่รับใช้ระบอบการปกครองนั้นๆ ถ้าเป็นศาลในประเทศคอมมิวนิสต์ ศาลก็จะเป็นคอมมิวนิสต์ ศาลในประเทศเผด็จการก็ต้องปกป้องระบอบเผด็จการ ศาลในสมัยฮิตเลอร์ก็ปกป้องระบอบนาซี ศาลในอเมริกาตอนเป็นเสรีนิยมเต็มที่ก็ปกป้องเสรีนิยม แต่ศาลไม่ได้เกิดโดยตัวของมันเอง ศาลไม่ได้เริ่มต้นที่จะทำอะไรทั้งสิ้น มันเป็นแค่ tool ชนิดหนึ่ง”

“คดี 112 มองเป็นการเมืองก็ได้ ไม่ใช่การเมืองไม่ได้ คนธรรมดาก็มีกฎหมายหมิ่นประมาทอยู่แล้ว สถาบันก็มีเหมือนกัน มันไม่ได้อยู่ที่ตัวกฎหมาย แต่อยู่ที่การแปลกฎหมายว่า แปลให้กว้างออกไปหรือแคบเข้ามา ในทางกฎหมายอาญาเราต้องแปลกฎหมายในทางแคบ เพราะมันเป็นกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของคน … ดังนั้น การแก้กฎหมายไม่มีความจำเป็นเลย มันอยู่ที่คุณแปลยังไง บังคับใช้กฎหมายยังไง มันก็กลับมาที่บอกไว้ว่า ศาลเป็นเครื่องมือของระบอบ ถ้าอยากจะเปลี่ยนคุณต้องเปลี่ยนการเมือง และเรียกร้องตัวเอง อย่าฝากความหวังไว้กับคนอื่น” ผู้พิพากษาอาวุโสระบุ

มาตรา 112 เป็นเพียงปรากฏการณ์ส่วนยอดต่อคำถามสำคัญเรื่องที่ทางของสถาบันกษัตริย์ในสังคมไทย และจะยิ่งเป็นคำถามที่จะก้องดังขึ้นเรื่อยเมื่อมีการเปลี่ยนรัชสมัย พร้อมๆ กับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดยั้ง จึงขอปิดท้ายด้วยข้อเสนอของธงชัย วินิจจะกูล ที่นำเสนอไว้ตั้งแต่ปี 2554 (ฟ้าเดียวกัน ฉบับเมษายน-มิถุนายน 2554) แต่ยังคงทันสมัย เนื่องจากสถานการณ์ในปี 2560 ดูยังไม่เปลี่ยนไปไกลนัก แต่มันก็อาจซ่อนความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในรัชสมัยใหม่ไว้ด้วยเช่นกัน

“พวก ‘รักพ่อ’ มากจนต่อต้านการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เองกำลังทำให้ปัญหาทับถมหนักหน่วงขึ้นทุกที การทำร้ายด้วยอำนาจรัฐและกฎหมายทำให้ทุกอย่างเลวร้ายลง พวกเขา (กลุ่มรอยัลลิสต์) กำลังสร้างปัญหาแก่อนาคตของสถาบันกษัตริย์”

“ทางออกที่สถาพรในระยะยาว คือเลิกพยายามสืบทอดมรดกที่มาจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เลิกพยายามสร้าง (สถาบัน) พระมหากษัตริย์ที่มีบทบาทสถานะและความสัมพันธ์ทางการเมืองแบบศักดิ์สิทธิ์เหนือมนุษย์และอยู่ชั้นบนของระบบการเมือง ก็จะทำให้กษัตริย์ทุกพระองค์ ไม่ว่าจะปรีชาสามารถมากน้อยเพียงใด สามารถเป็นที่เคารพรักของมหาชนได้อย่างสนิทใจ...หยุดใช้มาตรา 112 ปลดปล่อยคนที่เดือดร้อนโดยเร็วที่สุด ขจัดบรรยากาศความกลัวที่ปกครองประเทศไทย ยอมให้มีการอภิปรายถึงบทบาทสถานะทางการเมืองของ (สถาบัน) พระมหากษัตริย์อย่างเปิดเผย ปล่อยให้กระบวนการประชาธิปไตยดำเนินไปตามทางของมันไม่ว่าจะลุ่มๆ ดอนๆ ขนาดไหนก็ตาม...การประนีประนอมหาทางออกในวันนี้จะส่งผลดีต่อ (สถาบัน) พระมหากษัตริย์ในระยะยาว”

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.