ภาพประกอบ: A woman carries her six-month-old child at Kutupalong, a makeshift camp in Cox’s Bazar district in Bangladesh. UNICEF/Brown
Posted: 16 Nov 2017 12:47 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี
ในการประชุมสุดยอดเมื่อตอนต้นสัปดาห์ กลุ่มอาเซียนไม่ใช้คำรุนแรงใดๆในแถลงการณ์ที่พูดถึงปัญหาวิกฤตในรัฐยะไข่ แม้ว่าสมาชิกในกลุ่มจะแสดงความกังวลและอยากให้อาเซียนพิจารณาปัญหานี้อย่างถึงแก่น แต่ท่าทีโดยรวมของกลุ่มนี้ซึ่งพม่าเป็นสมาชิกอยู่ด้วยก็จะจำกัดเอาไว้แค่เพียงปัญหาทางด้านมนุษยธรรม คือส่งความช่วยเหลือช่วยผู้ที่ได้รับผบกระทบเท่านั้น
ระหว่างการประชุมอาเซียนเมื่อต้นสัปดาห์นี้ อองซานซูจี ได้พบกับผู้ทั้งในกลุ่มและนอกกลุ่มรวมทั้งเลขาธิการสหประชาชาติ นายกรัฐมนตรีของไทยและรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ไทยไม่ได้พูดอะไรเกี่ยวกับปัญหาในพม่า ในขณะที่สหประชาชาติและสหรัฐ แสดงความวิตกกังวลต่อสถานการณ์อีกทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลและกองทัพพม่าปฏิบัติต่อชาวโรฮิงญาอย่างเป็นมนุษยที่เท่าเทียมกัน (อย่างที่ถือว่าชาวโรฮิงญาเป็นพลเมืองพม่า)
เสร็จจากอาเซียนทุกคนกลับบ้าน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐเดินทางเยือนพม่าต่อ เพื่อพูดคุยถึงทางออกในการแก้ปัญหา เขาเรียกร้องให้มีการสืบสวนปัญหานี้อย่างเป็นอิสระเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง แต่เห็นว่ายังไม่จำเป็นที่จะต้องมีมาตรการคว่ำบาตรพม่าในขณะนี้เพราะมันคงจะไม่ช่วยแก้ปัญหาอะไร สหรัฐสนับสนุนรัฐบาลพลเรือนของพม่าอย่างเต็มที่และก็บอกกับมินอ่องลาย ผบ.สูงสุดพม่าว่า อยากให้ทหารพม่าเป็นทหารอาชีพ เคารพสถาบันและสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นประชาธิปไตยในพม่าด้วย
อองซานซูจี เป็นผู้นำพม่าที่โชดดีมากในทางการทูต เธอถูกวิจารณ์มากมายเรื่องการรับมือกับปัญหาโรฮิงญา กลุ่มอาเซียนแม้ว่าไม่ได้ปกป้องแข็งขันนัก แต่ก็ไม่มีใครซ้ำเติม ที่มะนิลา ซูจี อาจจะไม่เฉิดฉายเหมือนเคย แต่ก็ไม่ได้หมองจนเกินไป นักข่าวปากจัดทั้งหลาย ก็ไม่มีใครตั้งป้อมขยี้อองซานซูจี (แม้แต่โจนาธาน—ฮา)
แม้ว่าเพื่อนมิตรใกล้ชิดอย่างไทยออกจะอืดๆ (กว่าที่ควรจะเป็น) แต่ในโลกนี้ยังมี สหประชาชาติ สหรัฐ บังคลาเทศ มาเลเซีย และ อินโดนีเซีย ที่เอาการเอางานเรื่องโรฮิงญามากกว่าใครเพื่อน
รายงานที่มาจากนอกวงการทูตและเวทีประชุมนั้น สถานการณ์โรฮิงญาเลวร้ายมาก ฆ่า ข่มขืน ทรมาน ความอดอยากและการพลัดพราก เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและยืดเยื้อ เกินกว่าการรักษาหน้าตากันในทางการทูตจะช่วยเยียวยาได้แล้ว แต่ก็น่าแปลกในรายงานต่างๆมีการใช้คำแรงที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติคือ การล้างเผ่าพันธุ์ (ethnic cleansing) แต่ท่าทีทางการทูตยังไม่ได้ไปไกลนัก จึงนับได้ว่าซูจีโชคดีไม่น้อย
แสดงความคิดเห็น