Posted: 30 Oct 2017 10:39 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

จดหมายของโจชัว หว่อง ฉบับที่ 2 เผยแพร่ในเดอะการ์เดียนหลังจากที่เขาได้รับการประกันตัวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หว่องระบุถึงสภาพในเรือนจำที่เขาเคยถูกคุมขังอยู่เป็นเวลา 2 เดือนกว่า โดยมองว่าทัณฑสถานเป็นสิ่งที่ถูกออกแบบมาเพื่อสกัดกั้น "จิตวิญญาณแห่งเสรี" ด้วยการกำกับชีวิตในทุกส่วน

31 ต.ค. 2560 โจชัว หว่อง หนึ่งในผู้ร่วมกับประชาชนต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยให้ฮ่องกงเพิ่งอายุ 21 ปี เมื่อไม่นานนี้ ทำให้เขาถูกย้ายจากสถานกักกันเยาวชนไปสู่ทัณฑสถานของผู้ใหญ่ที่ชื่อว่าทัณฑสถานตงโถว (Tung Tau) เขาเล่าถึงสภาพชีวิตเมื่อช่วง 10 สัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ทุกวันจะตองทำกิจวัตรเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายหมู่ การฝึกวิชาชีพ ทำงานบ้าน และเข้าชั้นเรียน

นอกจากกิจวัตรที่น่าเบื่อและซึมกระทือแล้วชีวิตในคุกทำให้หว่องเรียนรู้ว่าทัณฑสถานเป็นสถานที่ที่บีบให้ปัจเจกบุคคลต้องเชื่อฟังโดยไม่คำนึงถึงสิ่งอื่นใด เป็นสถานที่ที่ถูกออกแบบมาเพื่อสกัดกั้น "จิตวิญญาณแห่งเสรี" ตั้งแต่ตื่นจนหลับพวกเขาถูกกำกับทุกอย่างราวกับเป็นเครื่องจักรไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจที่เล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม ทำให้เห็นความสัมพันธ์ทางอำนาจในระดับที่สุดโต่ง

กระนั้นหว่องก็บอกว่าการถูกคุมขังอยู่ในที่ที่การวางเกณฑ์บังคับอยู่เหนือความคิดอิสระนั้นไม่ได้ทำให้เจตจำนงและความมุ่งมั่นที่จะตอสู้ของเขาลดลงเลย เขาพยายามอ่านข่าวทุกวันไม่ว่าจะในประเทศหรือต่างประเทศเพื่อรับรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นในโลกภายนอกบ้าง เขายังเคยพยายามเรียกร้องให้มีการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังอย่างเป็นมนุษย์มากขึ้น อย่างเรื่องเล็กๆ เช่นการขอผ่อนปรนเกี่ยวกับกฎข้อบังคับด้านทรงผม แต่มันก็ทำให้เขาถูกเตือนว่าอย่าง "ยุยงให้เกิดความวุ่นวาย"

การอยู่ในคุกยังทำให้หว่องมีโอกาสพูดคุยกับผู้ต้องขังอื่นๆ ที่เขาไม่เคยมีโอกาสพบเจอมาก่อน เขาเล่าว่าได้เจอวัยรุ่นที่จิตใจดีเล่าให้เขาฟังว่าเคยไปทำอะไรเสี่ยงๆ มาถึงได้ต้องติดคุก หว่องบอกว่ามันทำให้เขารู้สึกเข้าถึงหัวอกคนที่อยู่ชายขอบของสังคมผู้ที่มักจะถูกเข้าใจผิดหรือถูกละเลยอย่างสิ้นเชิง

สภาพเช่นนี้เองทำให้หว่องระบุว่าสิ่งที่เขาพอจะทำได้คือการตื่นตัวตลอดเวลาเมื่อมีพฤติกรรมที่ก่อความอยุติธรรมต่อเพื่อนผู้ต้องขังของเขา และพยายามรักษาการคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) ไว้ตลอดเวลาเพื่อไม่ให้ความหวังต่อเสรีภาพนตัวเขาสูญสลายไป

หว่องระบุถึงสิ่งที่พวกเขาต่อสู้ในฮ่องกงมาตั้งแต่ในป 2554 ที่เป็นการประท้วงระบบการศึกษาที่ถูกมองว่าเป็นการที่จีนแผ่นดินใหญ่พยายาม "ล้างสมอง" คนหนุ่มสาว มาจนถึงการประท้วงขบวนการร่มปี 2557 ที่เป็นสาเหตุทำให้หว่องถูกลงโทษจำคุก มาจนถึงการเลือกตั้งที่เพื่อนของเขานักกิจกรรมชื่อนาธาน หล่อ เข้าร่วม แต่ประเด็นที่หว่องอยากให้นึกถึงมากที่สุดคืออิสระในการปกครองตนเองด้วยประชาธิปไตยของฮ่องกง ย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2527 ที่มาร์ติน ลี และพรรคพวกเริ่มเรียกร้องประชาธิปไตยให้ฮ่องกง

หว่องมองไปยังอนาคตว่า ถ้าหากอีก 30 ปีข้างหน้า ที่สนธิสัญญากับอังกฤษที่การันตี "หนึ่งประเทศ สองระบบ" ให้กับฮ่องกงหมดอายุลง เขาหวังว่าชาวฮ่องกงจะออกมาเรียกร้องสิทธิในการปกครองตนเองกันในระดับใหญ่ ปะชาชนในฮ่องกงจะอดทนรอและสะสมกำลังการต่อสู้ขณะที่ต้องรับมือกับการโจมตีอย่างต่อเนื่องจาก 'กำปั้นเผด็จการ' ของประธานาธิบดีสีจิ้นผิงได้หรือไม่

หว่องระบุอีกว่าเขารู้สึกดีที่ได้รับจดหมาย 777 หน้าส่งถึงเข้าในคุก ไม่ว่าจะจากผู้ที่สนับสนุนเขาและแม้กระทั้งจากกลุ่มที่เคยสนับสนุนจีนแผ่นดินใหญ่มาก่อนแต่เปลี่ยนใจหันมาสนับสนุนเขา ทำให้ถึงแม้ว่าหว่องจะยอมรับว่าตัวเขาเองจะยังไม่มีแรงมากพอจะคัดง้างเอาชนะจีนแผ่นดินใหญ่ได้ในตอนนี้ แต่เขาก็ได้รู้ว่าแค่การทำตามจุดยืนของตัวเองก็กลายเป็นแรงบันดาลใจทางจริยธรรมให้กับคนอื่นได้ เหมือนกับที่คนยุคก่อนหน้านี้เป็นแรงบันดาลใจให้พวกเขา

ในเรื่องที่เขาได้รับการประกันตัวชั่วคราวนั้นหว่องระบุว่า "การได้สูดลมหายใจแห่งเสรีภาพอันสดชื่นเฮือกแรก ได้เห็นเพื่อนและครอบครัวของผม และได้กลับมาใช้สมาร์ทโฟนของตัวเองได้อีกครั้ง ย้ำเตือนให้ผมเห็นว่าเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่เคยมองเป็นของตายมาตลอดนั้นมีความสำคัญขนาดไหน"

ถึงแม้ว่าหว่องอาจจะต้องถูกส่งกลับเข้าคุกอีกครั้งเพราะต้องโทษเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวเมื่อปี 2557 แต่เสรีภาพชั่วคราวที่เขาได้รับมานั้นเป็นสิ่งย้ำเตือนเล็กๆ น้อยๆ ว่าเขาจะไม่ละทิ้งการต่อสู้เพื่อเสรีภาพที่ยิ่งใหญ่กว่านี้และตราบนานเท่านาน



เรียบเรียงจาก

A brief taste of freedom reminds me to never stop fighting for Hong Kong, Joshua Wong, The Guardian, 29-10-2017

'National education' raises furor in Hong Kong, CNN, 30-07-2012

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.