จินตามาศ ศักดิ์ศรชัย
ภาพจาก imdb.com
เมื่อได้รับชมภาพยนตร์สารคดีว่าด้วยเรื่องราวการขับเคี่ยวของเหล่าเด็กมัธยมเกาหลีใต้ในการสอบ ‘ซูนึง’ หรือที่บ้านเราเรียก ‘แอดมิชชัน’ เพื่อเข้ามหาวิทยาลัยระดับท็อปของประเทศให้จงได้ ฉันหวนนึกกลับไปถึงคำพูดของเพื่อนชาวเกาหลีคนหนึ่งที่สร้างความประหลาดใจให้พอสมควร ว่าคนเกาหลีส่วนหนึ่ง (หรือส่วนมากตามที่เธอว่า) เกลียดหนังสือเล่มหนึ่งที่มาโด่งดังในไทยเมื่อช่วงปี 2555 แบบเข้าไส้
หนังสือเล่มที่ว่านั่นคือ ‘เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด’ เขียนโดยอาจารย์คนหนึ่งผู้มีชื่อว่า ‘คิม รันโด’
งานเขียนชิ้นนี้มีจุดหมาย (ตามคำโปรย) เพื่อ ‘ปลอบประโลม’ ความทุกข์ระทมของเหล่าหนุ่มสาวชาวเกาหลี ที่ดูเหมือนจะใช้ชีวิตไหลไปตามความคาดหวังของกระแสสังคมเท่านั้นจนไม่รู้จักความสุขที่แท้จริงของตน เป็นงานประเภทสร้างแรงบันดาลใจ กึ่งๆ How-to ในการใช้ชีวิต
สังคมเกาหลีใต้นั้นขึ้นชื่อลือชาเรื่องการแข่งขันที่สูงทะลุปรอทและห่วงภาพลักษณ์ยิ่งชีพ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการเรียน การงาน ครอบครัว หรือชีวิตส่วนตัวในแง่มุมใดๆ ก็ตาม ความกดดันและตึงเครียดในการใช้ชีวิตที่แทบจะไม่สามารถกระดิกออกนอกลู่นอกทางที่สังคมเห็นชอบนี้ เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดในโลก[i]
สารคดี ‘Reach for the SKY’ ช่วยสร้างความเข้าใจถึงประเด็นนี้ได้ในแง่มุมหนึ่ง และตีแผ่เล่าเรื่องสภาพแวดล้อมของเด็กนักเรียนมัธยมชั้นปีสุดท้ายของเกาหลีใต้ออกมาได้ชัดเจนเป็นอย่างยิ่ง ภาพยนตร์นี้มีศูนย์กลางอยู่ที่ชีวิตก่อนเตรียมสอบของเด็กสามคน ทั้งหมดมีเป้าหมายสูงสุดในใจเดียวกันคือการสอบเข้ามหาวิทยาลัยกลุ่ม SKY สถาบันระดับท็อป 3 ของประเทศ ได้แก่ มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล (S) มหาวิทยาลัยโครยอ (K) และมหาวิทยาลัยยอนเซ (Y)
แต่การโฟกัสเพียงที่ความฝัน ความกดดันและการล้มลุกคลุกคลานของเด็กๆ ก็คงจะเป็นการมองปัญหาในมุมแคบจนเกินไป
สารคดีเรื่องนี้ไปไกลกว่านั้นและแสดงให้เห็นถึง ‘ระบบ’ ของสังคมเกาหลีใต้ที่เกื้อหนุนค่านิยมการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ที่ต้องเป็นสถาบันระดับสูงสุดเท่านั้นอย่างสุดโต่ง ไม่ว่าจะเป็นสถาบันกวดวิชาที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดและทำรายได้มหาศาล การโหมโปรโมตติวเตอร์ชื่อดังตามสื่อระดับชาติ การเกิดของอาชีพ ‘โค้ช’ ติวและปรับบุคลิกเพื่อการสอบสัมภาษณ์ให้เหมาะสมกับรสนิยมของสถาบันแต่ละแห่ง กิจการโรงเรียนประจำและหอพักสำหรับ ‘เด็กรอสอบใหม่’ ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง ไปจนถึงด้านไสยศาสตร์ศาสนา ที่ไม่ใช่แค่การบนบานศาลกล่าว หาหมอดูทักดวงชะตาแบบที่ไทยเรานิยมเท่านั้น แต่เหล่านักบวชและพระถึงขั้นมีบทเทศน์บทสวดพิเศษที่แต่งขึ้นสำหรับเหล่าเด็กเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัยโดยเฉพาะ
นี่คือแรงกดดันซึ่งหยั่งรากลึกทั้งในแง่สังคมและวัฒนธรรมที่ดูจะเป็นระบบระเบียบอย่างเหลือเชื่อ ชนิดที่ว่าความคาดหวังด้านการศึกษาแบบไทยๆ ก็ไม่อาจเทียบชั้น
สิ่งที่เรามองเห็นได้คือ เด็กๆ เหล่านี้แบกรับภาระค่านิยมทางสังคมอันหนักอึ้งเอาไว้บนบ่า สูตรสำเร็จของชีวิตที่พวกเขาได้รับการปลูกฝังมาคือการเรียนให้ดี สอบเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำให้ได้ แล้วอนาคตของพวกเขาจากนั้นก็จะโรยไปด้วยกลีบกุหลาบ แต่เมื่อพิจารณาจากอัตราการรับเข้าและจำนวนของเด็กที่สอบแล้ว สิ่งเดียวที่จะรับประกันเส้นทางดังกล่าวคือการสอบให้ได้คะแนนเต็มทุกวิชาเท่านั้น และนั่นกลับกลายเป็นจุดประสงค์เดียวเท่านั้นของ ‘การศึกษา’
สิ่งนี้คือหนึ่งในที่มาของ ‘ความเจ็บปวด’ ที่คิม รันโดกล่าวถึง เด็กหนุ่มสาวเหล่านี้ใช้ชีวิตไปกับการตะกายไขว่คว้าเป้าหมายเพียงหนึ่งเดียวที่ดูจะมีคุณค่าต่อสังคมอย่างสุดความสามารถ จนในท้ายที่สุดก็ไม่อาจเข้าใจว่า เหตุใดพวกเขาจึงไม่มีความสุข ทั้งที่กำลังทำในสิ่งที่ใครๆ ก็พูดว่าจะนำไปสู่ชีวิตที่ประสบความสำเร็จ
ภาพจาก goodreads.com
ดูเผินๆ แล้วก็เป็นประเด็นที่ไม่ผิดไปจากความที่ Reach for the SKY ต้องการจะนำเสนอสักเท่าไร แล้วเหตุใดคนเกาหลีถึงเกลียดหนังสือเล่มนี้นัก
เมื่อได้ลองอ่านทบทวนดูอีกครั้งหลังจาก 5 ปีผ่านไป ฉันเริ่มมองเห็นในที่สุดว่าหนังสือเล่มนี้ ‘ขาด’ สิ่งใดและเหตุใดจึงทำให้เพื่อนฉันอารมณ์เสียขนาดหนักเมื่อพูดถึง
ผิดกับภาพยนตร์ Reach for the SKY ภายใต้ภาษาสละสลวยนั้น ‘เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด’ ไม่มีสาระในส่วนใดที่วิพากษ์ ‘ระบบ’ ที่สร้างแรงกดดันต่อชีวิตปัจเจกชนของสังคมเกาหลีใต้แม้แต่น้อย หนังสือเล่มนี้มีโทนที่เรียบเฉยต่อสภาวะแวดล้อมอันบีบคั้นน่าเศร้าของผู้คนราวกับว่านั่นคือสิ่ง ‘ปกติ’ อย่างที่มันควรจะเป็น อีกทั้งยังเอ่ยเป็นนัยว่า ภาวะไร้สุขของคนหนุ่มสาวมีบ่อเกิดมาจากทัศนคติของตัวเองเท่านั้น พูดง่ายๆ คือการ ‘คิดไปเอง’ ว่าชีวิตของพวกเขาช่างไร้ทางเลือก พร้อมแนะว่าควรจะปล่อยวางความคาดหวังของสังคมลงบ้าง
แนวคิดนี้คงปฏิบัติตามได้ไม่ยากนักหากมองจากฉากหลังที่เป็นเมืองไทย แต่มันก็คงไม่ผิดที่จะพูดว่า คนเกาหลีใต้ไม่สามารถปล่อยวางได้หากต้องการจะมีความก้าวหน้าในชีวิต เด็กๆ เหล่านี้คงไม่รู้สึกเช่นนั้น หากสังคมไม่คอยย้ำเตือนอย่างรุนแรงอยู่ตลอดเวลาว่านั่นคือสิ่งที่พวกเขาควรจะเป็น
จะเป็นเรื่องง่ายเพียงใดในการขบถกระแส เมื่อครอบครัวไม่เคยหยุดกดดันเรื่องคะแนนสอบ เมื่อเพื่อนร่วมห้องทุกคนพร้อมใจกันเรียนถึงห้าทุ่มทุกคืน เมื่อใครๆ ก็พักรอสอบใหม่ในปีถัดไปเมื่อผลคะแนนรอบแรกไม่เป็นไปตามหวัง เมื่อสถาบันกวดวิชาได้รับอนุญาตให้ทำโฆษณาประกาศก้องไปทั่วประเทศว่าการสอบไม่ติดนั้นเท่ากับชีวิตที่ล้มเหลว เมื่อผู้ประกาศข่าวพร้อมใจย้ำเตือนว่าสิ่งนี้เองคือเป้าหมายเดียวของการตรากตรำอันยาวนาน 12 ปี เมื่อรัฐบาลประกาศิตให้ทั่วประเทศพร้อมใจกันหยุดเคลื่อนไหวเพื่อหลีกทางให้แก่การสอบใหญ่ประจำปี เมื่อนี่คือความเชื่อร่วมกันของคนทั้งชาติ
แม้แต่ถ้อยคำของคิม รันโดเองก็มีความขัดแย้งที่สะท้อนให้เห็นถึงความเข้มข้นของวัฒนธรรมนี้ หลังจากการจรรโลงใจถึงแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของช่วงเวลาอันน่าทดท้อสับสน ในช่วงท้ายเล่มเขากลับเขียนว่า “การยอมรับจากสังคมและเงินที่ได้จากการประกอบอาชีพ เป็นองค์ประกอบพื้นฐานที่ทำให้ชีวิตมีความสุข” (หน้า 235)[ii]
เช่นนี้แล้ว มันน่าแปลกหรือที่พวกเขาจะไม่รู้สึกถึงทางเลือกอื่นในชีวิต ในเมื่อบริษัทชั้นนำที่ไหนๆ ต่างก็แย่งชิงผู้สมัครที่จบมาจาก SKY
เสียงและภาพอันน่าหวาดหวั่นที่สุดในภาพยนตร์เรื่องนี้ คือเสียง “ติ๊ด” ของนาฬิกาบอกเวลาเที่ยงคืนของวันใหม่หลังการสอบ ‘ซูนึง’ พร้อมตัวเลขดิจิตอลนับถอยหลังสู่การสอบครั้งใหม่ในอีก 364 วันข้างหน้า ประหนึ่งว่าทุกสิ่งที่ผ่านมาคือวัฏจักร คือวงจรอุบาทว์ที่จะวนเวียนไปโดยไม่มีใครอาจหยุดยั้ง
เชิงอรรถ
[i] South Korea still has top OECD suicide rate (2015): http://www.koreaherald.com/view.php?ud=20150830000310
[ii] รันโด, คิม (2553). เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด. แปลโดย วิทิยา จันทร์พันธ์ (2555). พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : springbooks.
แสดงความคิดเห็น