เรื่อง กรกฤช สมจิตรานุกิจ
ภาพประกอบ อิศเรศ เทวาหุดี
ตอนสุดท้ายของซีรีส์ชีวิตพนักงานบริการ ตีแผ่ประเด็นที่พูดกันยาก แถมบ่อยครั้งอาจนำภัยมาสู่ผู้ที่เปิดโปง นั่นคือ ‘ส่วย’ ที่เจ้าของสถานบริการต้องจ่ายให้เจ้าหน้าที่รัฐ และคนที่อ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งจ่ายเป็นประจำและจ่ายในโอกาสพิเศษเช่น “วันเกิดนาย” จนถึง “ซองผ้าป่า” พร้อมทบทวนว่าหลังรัฐประหารปี 57 ส่งผลอย่างไรต่อชีวิตพนักงานบริการ
เป็นผู้หญิง (บริการ) แท้จริงแสนลำบาก (1): สำรวจชีวิต ‘กะหรี่’ ในวันที่ศีลธรรมยังค้ำคอรัฐไทย
เป็นผู้หญิง (บริการ) แท้จริงแสนลำบาก (2): โรคติดต่อและการล่อซื้อ
“ตอนเราถามเพื่อนว่า ทำดีไหม เขาก็บอกทำเลยๆ แต่พอตำรวจมาถามว่าใครทำ ก็พากันตอบว่าอีนี่แหละทำ”
จูน (นามสมมติ) ผู้เปิดโปงเรื่องส่วยบาร์เบียร์อ่าวนาง
‘ส่วย’ เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในการทำธุรกิจสีเทาทุกรูปแบบ เจ้าของสถานบริการทุกรายที่ไม่ได้มีเส้นสายเป็นคนใหญ่คนโต จำเป็นต้องจ่ายเงินจำนวนมากต่อปีเพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ และปล่อยให้ธุรกิจของพวกเขาดำเนินไปโดยสะดวก ยิ่งสถานบริการตั้งอยู่ในจุดที่มีนักท่องเที่ยวมากเท่าไหร่ ส่วยที่จะต้องจ่ายก็ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น
จูน (นามสมมติ) พนักงานบาร์วัย 39 ปี ในย่าน RCA ของอ่าวนาง จังหวัดกระบี่ กล่าวว่าเธอมีหน้าที่ทำบัญชีรายรับรายจ่ายของร้าน โดยทุกสัปดาห์เจ้าของร้านจะให้รายชื่อหน่วยงานรัฐและจำนวนเงินที่ต้องจ่ายให้ในสัปดาห์นั้นๆ กับเธอ และเมื่อถึงเวลาก็จะมีคนมาเก็บเงิน เธอกล่าวว่าในอดีต มีเพียงไม่กี่หน่วยงานที่ทางร้านต้องจ่ายส่วยให้แต่หลังจากมีรัฐประหารขึ้นในปี 2557 จำนวนหน่วยงานรัฐที่เข้ามาขอส่วนแบ่งก็เพิ่มมากขึ้นอย่างไม่ทราบสาเหตุ
“วันหนึ่งก็มีผู้ชายเดินเข้ามาในร้าน ทำตัวกร่าง บอกว่ามาจากภาค 8 บอกว่ามาจะมาเก็บเงิน ต้องจ่ายนะไม่งั้นจะสั่งปิดร้าน คือเราไม่มีปัญหาหรอกเรื่องเงิน ยังไงเราก็ต้องจ่าย แต่ทำไมคุณไม่พูดกับเราดีๆ คุณบอกว่ามาจากภาค 8 แต่ภาค 8 คือใคร ทำอะไร เรายังไม่รู้เลย พอเราถามว่าทำไม่ต้องเก็บ เขาก็ตอบว่านายสั่งมา” จูนกล่าว
ไม่ใช่แค่เพียง ‘ภาค 8’ เท่านั้น แต่ยังมีคนจาก ‘ตำรวจภูธร’ ‘กองสืบ’ ‘กอง 2’ และ ‘กอง 5’ และชื่ออื่นๆ อีกมากมายที่จูนไม่รู้ว่าพวกเขาเป็นใครและมีหน้าที่อะไร เข้ามาขอเก็บส่วยอย่างต่อเนื่อง โดยแต่ละหน่วยงานจะเรียกส่วยแตกต่างกันออกไปมีตั้งแต่ 1,000-2,000 บาท จากที่เคยต้องจ่ายอาทิตย์แค่ละ 2,000-3,000 บาท ก็เพิ่มเป็นมากกว่า 10,000 บาท ซึ่งยับไม่นับรวมสินน้ำใจเล็กๆ น้อยๆ ที่เจ้าหน้าที่จะเข้ามาเรี่ยไรตามโอกาสต่างๆ เช่น ทอดผ้าป่า เลี้ยงส่งนาย หรือวันเกิดนาย การเก็บเงินแต่ละครั้งจะไม่มีหลักฐานการรับเงิน และคนที่มาเก็บเงินก็มักจะไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ จึงไม่มีการแสดงบัตรประจำตัวใดๆ เธอจึงไม่มีทางรู้ได้เลยว่าคนไหนเป็น ‘แก๊งมิจฉาชีพ’ คนไหนเป็นคนของ ‘เจ้าหน้าที่รัฐ’ แต่เธอก็ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากยอมจ่ายไปเพราะไม่อยากมีปัญหา
แต่ในที่สุด จูนก็รู้สึกว่า ‘มันชักจะมากเกินไปแล้ว’ เธอจึงเริ่มปรึกษาเพื่อนพนักงานว่าควรเอาเรื่องนี้ไปบอกสื่อดีไหม ซึ่งเพื่อนพนักงานต่างพากันเห็นด้วย จูนจึงส่งคลิปวีดีโอจากกล้องวงจรปิดของร้านในขณะที่มีชายที่อ้างว่ามาจาก ‘ภาค 8’ เข้ามาเก็บเงินกับทางร้านให้กับเพื่อนของเธอซึ่งรู้จักกับนักข่าว จนเรื่องดังกล่าวกลายเป็นข่าวดังในช่วงต้นปีที่ผ่านมา (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) ร้อนถึง พ.ต.ท.ปิยะพงษ์ บุญแก้ว รักษาราชการแทนผู้กำกับสถานตำรวจภูธรอ่าวนาง ต้องรีบออกมาชี้แจงกับสื่อว่าชายที่ปรากฎในคลิปไม่ใช่เจ้าหน้าที่สังกัดในตำรวจภูธรภาค 8 แต่เป็นอาสาสมัครตำรวจ สังกัด สภ.เมืองกระบี่ พร้อมเน้นย้ำว่าจะเร่งสอบสวนเรื่องดังกล่าวโดยด่วน
ไม่นานหลังจากข่าวแพร่กระจายออกไป เจ้าหน้าที่ตำรวจก็เริ่มดำเนินการสอบสวนว่า ‘ร้านใดเป็นผู้ปล่อยคลิป’ จูนกล่าวว่ามีตำรวจหลายนายเข้ามาในพื้นที่แล้วไล่ถามพนักงานแต่ละร้านว่าใครเป็นคนเอาคลิปไปปล่อย และที่น่าเศร้าที่สุดคือเหล่าเพื่อนพนักงานที่สนับสนุนให้เธอเปิดโปงเรื่องนี้กลับเป็นพากันชี้ตัวมาที่เธอ
“ตอนเราถามเพื่อนว่า ทำดีไหม เขาก็บอกทำเลยๆ แต่พอตำรวจมาถามว่าใครทำ ก็พากันตอบว่าอีนี่แหละทำ” จูนกล่าวเชิงติดตลก
จูนเล่าต่อว่าตำรวจไม่ได้ทำอะไรพนักงานหรือร้านของเธอ เพียงแต่มาตักเตือนว่าคราวหลังอย่าทำอีก อีกทั้งเจ้าของร้านยังสั่งให้เธอเดินสายขอโทษพนักงานคนอื่นๆ ภายในย่านที่ก่อความวุ่นวาย เธอกล่าวว่าบทเรียนสำคัญของเหตุการณ์นี้คือนอกจากเธอจะไม่สามารถไว้ใจเจ้าหน้าที่รัฐและเพื่อนร่วมงานได้แล้ว ‘สื่อ’ ก็ไว้ใจไม่ได้เช่นกัน เพราะตอนที่เธอส่งคลิปให้นักข่าว เธอขอให้มีการเบลอหน้าพนักงานภายในร้าน แต่เมื่อข่าวแพร่ออกไปกลับมีใบหน้าของพนักงานปรากฎอย่างชัดเจน หนำซ้ำสื่อบางสำนักยังเลือกที่จะเบลอหน้าชายที่เข้ามาเก็บเงิน แต่ไม่เบลอหน้าพนักงานอีกด้วย
แต่ก็ใช่ว่าเรื่องนี้จะไม่มีโชคดีเลยเสียทีเดียว เพราะหลังจากสื่อนำเสนอเรื่องราวดังกล่าว จำนวนหน่วยงานรัฐที่เข้ามาขอเก็บเงินจากทางร้านก็ค่อยๆ ลดลง จนทุกวันนี้เหลือเพียงแต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่อ่าวนางเท่านั้น นอกจากนี้ ‘นายหัว’ ซึ่งเป็นเจ้าของที่ย่าน RCA มาบอกกับเจ้าของร้านว่า สิ่งที่จูนทำนั้นดีแล้ว เพราะผ่านมาไม่มีใครกล้าออกมาต่อรอง สุดท้ายจูนจึงไม่ต้องขอโทษพนักงานคนอื่นๆ อีกทั้งนายหัวยังออกเงินให้บาร์ในย่าน RCA เอาไปซื้อกล้องวงจรปิดมาติดที่ร้านอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ คือ อบต.อ่าวนาง ทาง อบต. ยืนยันว่าไม่มีส่วนรู้เห็นใดๆ กับเรื่องดังกล่าวโดยสุพจน์ ชดช้อย รักษาการแทนผู้อำนวยการสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม อบต.อ่าวนาง กล่าวว่าหน้าที่ในการดูแลสถานบริการเหล่านี้เป็นของเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่และปลัดอำเภอ หน้าที่ของ อบต. มีเพียงคอยตรวจดูว่าสถานบริการเหล่านี้มีการก่อสร้างถูกหลักสาธารณสุขและได้มาตรฐานความปลอดภัยหรือไม่เท่านั้น
“สถานบริการในอำเภออ่าวนางมีอยู่ 3 ส่วน หนึ่งคือโรงแรมระดับสี่ถึงห้าดาว มีประมาน 40 กว่าแห่ง สองคือโรงแรมขนาดเล็กกับรีสอร์ท อันนี้มีประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์ของสถานบริการทั้งหมด และสามคือสถานบันเทิง ซึ่งจะมีถนนทั้งเส้นที่มีแต่ร้านแบบนี้ประมาน 13-14 ร้าน และตรงหน้าหาดอีกประมาน 4-5 ร้าน หน้าที่ของเราคือดูว่าเขาจดทะเบียนถูกต้องไหม มีการวางระบบความปลอดภัยมากเพียงพอไหม มีระบบกำจัดขยะที่ดีพอแล้วหรือยัง” สุพจน์กล่าว “จริงๆ ผมคิดว่ามีนักท่องเที่ยวน้อยรายนะที่จะมาอุดหนุนร้านแบบนี้ ส่วนใหญ่เท่าที่ผมเห็นคือจะไปซื้อเบียร์จากเซเว่นมานั่งกินริมหาดมากกว่า”
ส่วยถือเป็นอีกหนึ่งภาพสะท้อนของการที่อาชีพพนักงานบริการเป็นสิ่งผิดกฎหมายในประเทศไทยแต่กลับมีสถานบริการตั้งอยู่อยู่อย่างดาษดื่น หากยึดเอาข้อมูลจำนวนสถานบริการของทาง อบต.อ่าวนาง คูณกับข้อมูลการจ่ายส่วยของจูน จะพบว่าเจ้าหน้าที่รัฐเหล่านี้สามารถทำเงินได้สูงถึง 800,000 บาทต่อเดือนจากส่วยของสถานบริการในอำเภออ่าวนางเพียงแห่งเดียว แถมเงินเหล่านี้ยังไม่มีการตรวจสอบว่าถูกใช้อย่างไรและใช้ไปกับเรื่องใด แต่พนักงานบริการในอำเภออ่าวนางยังถือว่าโชคดีในแง่ที่ว่าหากเจ้าของสถานบริการของพวกเธอสามารถทำให้เจ้าหน้าที่รัฐพึงพอใจได้ พวกเขาก็จะไม่เข้ามายุ่มย่ามกับชีวิตพวกเธอ
แต่สำหรับพนักงานบริการ ‘บ้านสาว’ ที่มหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร พวกเธอยังคงต้องเผชิญการคุกคามของเจ้าหน้าที่รัฐแม้เจ้าของร้านจะจ่ายส่วยให้เจ้าหน้าที่ถึงวันละ 3,000 บาทก็ตาม เพราะไม่ใช่เพียงแค่เงินเท่านั้นที่เจ้าหน้าที่รัฐคอยเก็บเกี่ยวเอาจากเหล่าพนักงานบริการ ‘ผลงาน’ ก็เช่นกันท
ที่มหาชัย จังหวัดสมุทรสาครมีธุรกิจสีเทาขนาดใหญ่สองธุรกิจซ้อนทับกันอยู่ หนึ่งคือสถานบริการ ‘บ้านสาว’ และสองคือแรงงานข้ามชาติทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมายที่เข้ามาทำงานที่ตลาดปลา ในสภาวะเทาซ้อนเทาเช่นนี้ เจ้าหน้าที่รัฐต้อง ‘ทำงานหนักเป็นพิเศษ’
ปลาอดีตพนักงานบ้านสาวและอาสาสมัครมูลนิธิ Empower บอกกับเราว่า ทุกๆ คืน เจ้าหน้าที่ตำรวจจะขับรถวนเข้าออกซอยละแวกบ้านสาว พวกเขาไม่ได้มองหาพนักงานบริการ แต่มองหาแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายที่ต้องการมาใช้บริการบ้านสาว หากพวกเขาไม่มีใบอนุญาตทำงาน เจ้าหน้าที่ก็จะเข้าจับกุม ซึ่งแรงงานผู้โชคร้ายเหล่านี้มีอยู่สองทางเลือกคือไปเสียค่าปรับที่โรงพักหรือเสียค่าปรับที่ ‘หน้าปากซอย’ พูดง่ายๆ ก็คือ ‘สินบน’ นั่นเอง ในอดีต เจ้าหน้าที่รัฐจึงไม่ค่อยจะเข้ามายุ่งกับพนักงานบ้านสาวมากนัก เพราะลำพังแค่ตามจับแรงงานผิดกฎหมายเหล่านี้ก็เพียงพอแล้วสำหรับพวกเขา
แต่เช่นเดียวกับชะตากรรมของพนักงานบริการในเชียงใหม่และกระบี่ ชีวิตของพวกเธอเปลี่ยนไปหลังการขึ้นสู่อำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
“เมื่อก่อนเวลามีคนตีกันในร้าน โทรเรียกตำรวจ ต้องรอเป็นชั่วโมง จนไอ้คนที่ตีกันกลับบ้านกันไปหมดแล้ว ตำรวจถึงจะมา ทุกวันนี้เหรอ เจอบ่อยยิ่งกว่าผัวอีก”
ปลา (นามสมมติ) อดีตพนักงานบ้านสาวและอาสาสมัครมูลนิธิ Empower
ปลาบอกกับเราว่าความเปลี่ยนแปลงแรกที่เธอสังเกตเห็นคือค่าส่วย จากเดิมที่เคยจ่ายวันละ 2,000 บาทนิดๆ ก็ค่อยเพิ่มขึ้นมาเป็น 3,000 บาทในปัจจุบัน แต่ผลกระทบใหญ่ที่สุดคือการประกาศ พ.ร.ก.การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว แรงงานข้ามชาติจำนวนมากซึ่งเป็นลูกค้าหลักของพนักงานบริการตัดสินใจเดินทางกลับประเทศ เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวกำหนดอัตราโทษไว้สูง เทคะเนว่าทำให้ลูกค้าของพวกเธอหายไปถึง 40 เปอร์เซ็นต์ บ้านสาวที่เคยคึกคักชนิดที่ว่า ‘คนเดินเบียดกันเหมือนงานวัด’ กลับกลายเป็นซอยที่เงียบเหงา สวนทางกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติงานขยันขันแข็งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่คราวนี้เป้าหมายของพวกเขาคือพนักงานบริการ
“เมื่อก่อนเวลามีคนตีกันในร้าน โทรเรียกตำรวจ ต้องรอเป็นชั่วโมง จนไอ้คนที่ตีกันกลับบ้านกันไปหมดแล้ว ตำรวจถึงจะมา ทุกวันนี้เหรอ เจอบ่อยยิ่งกว่าผัวอีก” ปลากล่าวพร้อมหัวเราะ
ปลาบอกว่า หลังเกิดรัฐประหารเจ้าหน้าที่ตำรวจมักลงมาสุ่มตรวจพนักงานบ้านสาวบ่อยขึ้น โดยสิ่งที่พวกเขามองหาคือยาเสพติดและถุงยางอนามัย โดยเจ้าหน้าที่จะให้เหตุผลว่าการมีถุงยางเป็นการส่อว่าจะมีการค้าประเวณี หากโชคดีก็อาจจะเสียค่าปรับจำนวนเล็กน้อย แต่หากอยู่ในช่วงที่เจ้าหน้าที่ต้องการทำผลงานอาจจะถึงขั้นโดนสั่งปิดร้าน 2-3 วัน (แต่ยังต้องจ่ายส่วยรายวันอยู่) โดยในคืนต่อมาเจ้าหน้าที่จะมาถ่ายรูปที่หน้าร้านที่ถูกสั่งปิด เพื่อไปรายงานกับผู้บังคับบัญชาว่าได้ดำเนินการสั่งปิดสถานบริการในพื้นที่จริงๆ
ลูกค้าที่เป็นเยาวชนก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายของเจ้าหน้าที่ตำรวจเช่นกัน เนื่องจากเป็นสถานบริการราคาย่อมเยาว์ ที่นี่จึงเป็นสถานที่เสียบริสุทธิ์ หรือ ‘ขึ้นครู’ ของเด็กมัธยมจำนวนมาก ในอดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่เคยทำอะไรพวกเขา แต่เมื่อลูกค้าที่เป็นแรงงานข้ามชาติลดลง เจ้าหน้าที่จึงเริ่มเข้าไปขอตรวจบัตรประชาชนของลูกค้าที่เป็นเยาชนมากขึ้น คนที่อายุไม่ถึง 18 ปี ก็จะถูกนำตัวไปโรงพักหรือไม่ก็ ‘หน้าปากซอย’ ยานพาหนะของลูกค้าก็เช่นกัน หากเจ้าหน้าที่พบเห็นรถหรือมอเตอร์ไซค์แต่งที่ละเมิด พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 ก็จะนำตัวเจ้าของรถไปเสียค่าปรับ การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐเช่นนี้ทำให้ลูกค้าที่มีน้อยอยู่แล้วยิ่งหดหายลงไปอีก
“เวลาลูกค้าเขามาเที่ยว เขาจะบอกกันปากต่อปาก ถ้าเขาบอกเพื่อนเขาว่ามาเที่ยวแล้วโดนจับ โดนตำรวจขอตรวจ โดนค้นตัว ใครมันจะอยากมา” ปลากล่าว
สอดคล้องกับจิ๋ว (นามสมมติ) เจ้าของกิจการบ้านสาวแห่งหนึ่ง เธอเห็นด้วยกับปลาในแง่ที่ว่าธุรกิจของเธอต้องประสบกับปัญหาหนักหลังการรัฐประหาร เธอเริ่มเปิดกิจการบ้านหญิงในช่วงปลายปี 2557 หลังรัฐประหารได้ไม่นาน กล่าวว่าในช่วงปีแรกของรัฐบาล คสช. ธุรกิจของเธอยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ทำให้รายได้ต่อเดือนของเธออยู่ 20,000 ถึง 30,000 บาท หลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว และอาจสูงถึง 40,000 บาทในช่วงเทศกาล แต่เมื่อเข้าสู่ปีที่ 2 คสช. เริ่มดำเนินการปราบปรามแรงงานผิดฎหมายอย่างจริงจัง ทำให้ลูกค่าของเธอหายไปกว่าร้อยละ 90 หรือมากกว่านั้น จากรายได้ที่เคยเหยียบหลักหมื่น ทุกวันนี้กลายเป็นติดลบจนเธอต้องเอาเงินเก็บมาใช้ เธอกล่าวอีกด้วยว่าหากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นจนถึงสิ้นปี เธอ และเจ้าของร้านอื่นๆ ในละแวก คงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากปิดกิจการ
“ถ้ามันยังเป็นแบบนี้อยู่ก็คงต้องปิด อยู่ไม่ได้หรอก มันต้องไปหางานอื่นทำ อย่างน้องเขา (พนักงาน) ถ้าได้แขกคืนละสองสามเที่ยวเขาก็ยังพออยู่ได้ แต่เราอยู่ไม่ได้ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าส่วย ค่าเช่าที่วันละพันสาม เราก็ต้องหามาจ่าย สภาพตอนนี้มันยังพอหมุนได้ แต่ถ้ายังเป็นอย่างนี้ไปจนถึงสิ้นปีก็คงจะต้องปิดกันเป็นแถว
“ก่อนประยุทธ์มานะ ช่วงเงินเดือนออก เทศกาล วันหยุด ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ลูกค้าจะเยอะมาก คนในซอยแทบนี่จะเดินชนกัน พนักงานหวังกันหมดว่าจะได้เงิน ทุกวันนี้คือไม่ต้องหวัง แล้วแต่โชค จะสิ้นเดือน เสาร์อาทิตย์ ลูกค้าก็น้อย ยิ่งช่วงนี้ใกล้เปิดเทอมยิ่งน้อยเข้าไปใหญ่ เพราะต้องเก็บเงินส่งลูกไปโรงเรียนกัน” จิ๋วกล่าว
แม้แต่นอกเวลางานของพวกเธอ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็มักจะมา ‘ขอความร่วมมือ’ จากพนักงานอยู่บ่อยๆ ปลากล่าวว่า หากตำรวจต้องการเพิ่มยอดคดีการปราบปรามการค้าประเวณีภายในพื้นที่ ก็จะมาขอให้แต่ละร้านส่งพนักงานไปร้านละคนหรือสองคน เพื่อไปกรอกประวัติที่โรงพัก โดยพวกเธอต้องแสตมป์ลายนิ้วมือและเสียค่าปรับอีก 100-200 บาท ถึงแม้จะเป็นจำนวนเงินไม่มาก แต่ชื่อของพวกเธอก็ได้ถูกบรรจุอยู่ในบัญชีอาชญากรของรัฐไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นเพียงพฤติกรรมของตำรวจในท้องที่ ซึ่งเมื่อเทียบกับตำรวจจากส่วนกลาง เช่นสำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์แล้ว ตำรวจในท้องที่ดูน่ารักไปเลย จิ๋วระบุว่าแม้เธอจะมีปัญหากับตำรวจท้องที่อยู่ตลอด แต่อย่างน้อยเธอก็ยังสามารถเจรจากับพวกเขาได้ เพราะสุดท้ายแล้วน้ำก็ต้องพึ่งเรือ เสือก็ต้องพึ่งป่า เวลาตำรวจท้องที่จะมีปฏิบัติการการกวาดจับจริงก็จะมีการส่งข่าวมาบอกพนักงานล่วงหน้า หรือหากมีเจ้าหน้าที่เข้ามาคุกคามพนักงานของเธอ เธอก็สามารถบอกให้นายใหญ่ของพวกเขาจัดการได้เช่นกัน
“เมื่อก่อนมีตำรวจคนหนึ่งมาติดติดใจเด็กที่ร้าน แล้วก็ชอบมาตอนเมา จะเอาเด็กเราออกไปข้างนอกให้ได้ พอเด็กเขาไม่ไปด้วยก็มาโวยวาย บอกว่าจะมาสั่งปิดร้าน เราก็หมั่นไส้มัน พอดีเรารู้จักกับผู้กอง เลยแอบอัดคลิปส่งไปเลย บอกอย่างนี้ไม่ไหวนะ ทำแบบนี้เราอยูู่ไม่ได้ ตั้งแต่นั้นมาก็ไม่เคยมายุ่งอีกเลย” จิ๋วระบุ
แต่สำหรับตำรวจจากส่วนกลาง เธอพวกเธอไม่มีทางรู้ล่วงหน้าได้เลยว่าพวกเขาจะลงพื้นที่เมื่อไหร่ ซึ่งเจ้าหน้าที่เหล่านี้จะบุกเข้าไปค้นถึงด้านหลังร้านซึ่งเป็นส่วนห้องทำงานของพวกเธอ กรณีทีโชคร้ายที่สุดที่จิ๋วเจอคือ ตำรวจบุกจับในขณะที่พนักงานกำลังรับลูกค้า เธอโดนตั้งข้อหาค้ามนุษย์ ซึ่งต้องเสียค่าไถ่ตัวสูงถึง 50,000 บาท และนั่นคือการเสียค่าปรับที่ ‘หน้าปากซอย’
“ตอนแรกเขาจะเอาทั้งเรา ทั้งเด็ก ทั้งลูกค้าไปด้วย เราก็บอกเอาเราไปคนเดียว เอาเด็กไว้นี่ ถ้าเอาเด็กไปด้วยร้านเราจะทำยังไง เราก็ขึ้นรถไป ยังไม่ทันจะพ้นหน้าปากซอยเลย เขาก็หันมาถามว่าเจ๊จะให้ได้เท่าไหร่ ตอนแรกเราบอกสองหมื่นก็เขาก็ไม่เอา เราบอกทั้งเนื้อทั้งตัวมีอยู่สามหมื่น เขาก็ยังไม่เอา เราก็ถามว่าพี่จะเอายังไง เขาบอกงั้นพี่ขอห้าหมื่นแล้วกัน เราก็โทรหาเด็กที่ร้านให้เรี่ยไรกันมาคนละพันสองพัน จนได้มาอีกสองหมื่น แล้วเราก็ให้เด็กเอาเงินมาให้ที่โรงพัก เขาถึงยอมปล่อยเรา”
ในสภาพที่ลูกค้าหดหายเช่นนี้ การหาเงินสองหมื่นมาคืนพนักงานเป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับจิ๋ว แต่โชคชะตาก็ยังไม่ใจร้ายกับเธอนัก เพราะเธอ “ถูกหวย” เธอกล่าวว่าตอนที่เจ้าหน้าที่เข้าจับกุม พวกเขาได้ยึดสมุดจดบันทึกการให้บริการของร้านไปด้วย ซึ่งด้านหลังสมุดมีโพยหวยที่จิ๋วจดไว้ก่อนจะส่งให้เจ้ามือ ในตอนแรก เจ้าหน้าที่จะตั้งข้อเล่นหวยใต้ดินอีกกระทงหนึ่งกับเธอ แต่เนื่องจากไม่มีหลักฐานการจ่ายเงิน โพยดังกล่าวก็เหมือนตัวเลขที่ไม่มีความหมาย เมื่อกลับมาที่ร้าน จิ๋วจึงตัดสินใจเพิ่มจำนวนเงินก่อนส่งก่อนส่งโพยหวยให้เจ้ามือ และผลก็คือเธอถูกหวย เธอจึงสามารถให้เงินมาคืนพนักงานได้ในเวลาอันรวดเร็ว เธอกล่าวว่าหากเธอไม่ถูกหวยงวดนั้น ร้านของเธออาจจะปิดกิจการไปแล้วก็ได้
การคุกคามที่มากขึ้นของเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการ กำลังทำให้ธุรกิจบริการทางเพศค่อยๆ ตายไปอย่างช้าๆ ปลากล่าวว่าสิ่งที่รัฐไทยกำลังทำอยู่นั้นไม่ต่างจากการค่อยๆ บีบให้เหล่าพนักงานไปประกอบอาชีพอื่น หรือออกไปทำงานนอกพื้นที่ อีกทั้งรัฐบาล คสช. ยังมองธุรกิจการค้าบริการเป็นบ่อเกิดของขบวนการค้ามนุษย์ที่ต้องได้รับการกำจัด แรงบีบที่เหล่าพนักงานบริการจะต้องแบกรับจึงมีแต่จะเพิ่มมากขึ้น พนักงานหลายคนตัดสินใจเลิกมานั่งประจำที่บ้านสาวเพื่อหลีกเลี่ยงเจ้าหน้าที่รัฐ และหันไปรับงานผ่านทางออนไลน์ ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกลูกค้าทำร้ายและการโดนล่อซื้อ ปลาจึงทำงานอาสาสมัครของเธอยากยิ่งขึ้น เพราะเธอไม่รู้ว่าจะไปตามตัวพนักงานจากที่ไหน เมื่อเราถามเธอว่าเคยคิดท้อแท้ หรือคิดอยากเลิกทำงานอาสาสมัครไหม เธอเพียงสั้นๆ ว่า “เคยสิ ช่วงนี้แหละ”
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการคุกคามและทัศนคติของภาครัฐเป็นปัญหาใหญ่ของพนักงานบริการไทย แต่จะกล่าวโทษรัฐเพียงอย่างเดียวก็คงไม่ได้ เพราะรัฐคงไม่สามารถดำเนินการปราบปรามพวกเธอได้ หากปราศจากเสียงสนับสนุนของคนในสังคมไทย ซึ่งก็มีทัศนคติแง่ลบต่อพวกเธอไม่ต่างจากรัฐ
แล้วสังคมไทยควรจะมองพวกเธออย่างไร?
แน่นอนว่าการมองแบบเหยียดและดูถูกว่าพวกเธอเป็น ‘ผู้หญิงรักสบาย’ ‘แหล่งแพร่เชื้อ’ หรือ ‘ผู้หญิงสำส่อน’ ล้วนแต่เป็นมุมมองที่ผิดจากความเป็นจริง และมีแต่จะกีดกันพวกเธอออกจากสังคมไปเรื่อยๆ แต่ขณะเดียว การมองว่าพวกเธอเป็น ‘เหยื่อ’ ของความยากจน เจ้าหน้าที่รัฐ สังคมชายเป็นใหญ่ และขบวนการค้ามนุษย์ ก็ผิดต่อความเป็นจริงและมิใช่ผลดีต่อพวกเธออีกเช่นกัน เพราะจะยิ่งเป็นการสร้างความชอบธรรมให้รัฐไทยเข้าปราบปรามพวกเธอหนักยิ่งขึ้น
พนักงานบริการคนหนึ่งได้แนะนำทัศนติที่นักข่าวควรมีต่อพนักงานบริการเวลาเขียนเรื่องราวของพวกเธอ ซึ่งผู้เขียนได้ยึดมาเป็นหลักปฏิบัติตลอดการผลิตรายงานชิ้นนี้ และเชื่อว่านั่นอาจจะเป็นทัศนคติที่คนในสังคมควรมีต่อพวกเธอเช่นกัน เธอกล่าวว่า
“เวลาเขียนเรื่องของพวกเรา อย่ามองเราเป็นผู้หญิงไม่ดี เป็นผู้หญิงสำส่อน แต่ก็ไม่ต้องเขียนว่าพวกเราน่าสงสาร ต้องตกเป็นเหยื่อตลอดเวลา เขียนให้พวกเราเป็นแค่ผู้ใช้แรงงานคนหนึ่งที่ไม่ได้รับสิทธิ์ขั้นพื้นฐานที่ควรจะได้รับ แค่นั้นก็พอแล้ว”
แสดงความคิดเห็น