วิวาทะ V2
"เห็นด้วยกับมิตรสหายหลายท่านเรื่องชันสูตรฮะ (ไม่ได้ดูซีรีย์เมกา แต่ชักอยากหามาดูบ้าง) สำหรับการชันสูตรพลิกศพตามกฎหมายไทยนั้น มิได้ซับซ้อนอะไรจนปชช.ทั่วไปจะจับไม่ได้ว่าใครมั่ว ไม่มั่ว หรือใครแถ ไม่แถ ดังนี้

1) ถ้ามีการตายผิดธรรมชาติเมื่อไหร่ ต้องมีการชันสูตรเสมอ ยกเว้นตายโดยประหารชีวิต (ม.148 วิอาญา) เป้าหมายแค่เพื่อ ทราบว่า ผู้ตายเป็นใคร ตายที่ไหน ตายอย่างไร มีใครทำให้ตายหรือไม่ (ยังไม่ชี้ว่ามีใครต้องรับผิดหรือไม่) เท่านั้น

2) ถ้ากรณีปกติ ผู้ชันสูตรคือ พนง.สอบสวน (ในท้องที่ที่พบศพ) ร่วมกับแพทย์นิติเวชฯ (หรือแพทย์อื่นๆ กรณีหาไม่ได้จริงๆ) โดยเป็นหน้าที่พนง.สอบสวนต้องแจ้งแพทย์ และแจ้ง “ญาติ” (คู่สมรส บุพการี ผู้สืบสันดาน ฯลฯ) อย่างน้อยหนึ่งคนทราบ (ม.150 วิอาญา)

3) แต่ถ้ากรณีการตายเกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติการตามหน้าที่ (อันนี้ไม่ว่าจะเจตนาหรือไม่เจตนาฆ่า) หรือ ตายในระหว่างอยู่ในการควบคุมของจพง. ผู้ชันสูตรจะต้องมีถึง 4 ฝ่ายด้วยกันคือ อัยการ พนักงานฝ่ายปกครองเทียบเท่าปลัดอำเภอ พนง.สอบสวน และแพทย์นิติเวชฯ โดยเช่นเดียวกัน พนง.สอบสวนมีหน้าที่แจ้งทุกฝ่ายดังกล่าว รวมทั้ง “ญาติ” (ม. 150 วรรคสาม วิอาญา)

4) กรณีน้องนักเรียนเตรียมทหารที่เสียชีวิต คือ ข้อ 3) นั่นแหละ

5) การชันสูตรการตายตามข้อ 3 กม.ได้เพิ่มขั้นตอนพิเศษเพื่อให้ญาติมั่นใจได้ว่าไม่มีการเข้าข้างกันไว้อีกหนึ่งขั้นตอน คือ ต้องส่งให้ “ศาล” ทำการ “ไต่สวนการตาย” ด้วยซึ่งกฎหมายบังคับว่าต้องทำ (ไม่เกี่ยวกับว่าการตายนั้นเกิดจากการกระทำผิดหรือไม่) กล่าวอีกอย่างก็คือ ให้ศาลเป็นผู้ชันสูตรอีกฝ่ายด้วยนั่นเอง (ม. 150 วรรคห้าเป็นต้นไป วิอาญา)

6) การชันสูตรไม่จำเป็นต้อง “ผ่าศพ” เพื่อแยกธาตุทุกครั้ง จะทำก็ต่อเมื่อจำเป็นเท่านั้น คือ ชันสูตรจากภายนอกแล้ววินิจฉัยสาเหตุการตายไม่ได้ (ม. 151 -153 วิอาญา) อันนี้คนมักเข้าใจผิดว่าต้องผ่าเสมอ และก็มีแพทย์ไม่ค่อยดีบางคน หากินกับเรื่องนี้ด้วย เพราะค่าตอบแทนการชันสูตรแบบไม่ต้องผ่า กับแบบผ่า ราคาไม่เท่ากัน

7) พรบ.ธรรมนูญทหารฯ ไม่ได้บัญญัติเรื่องการ “ชันสูตร” เอาไว้โดยเฉพาะ ดังนั้น ต้องใช้ ป.วิอาญา ดำเนินการตามขั้นตอนปกติ จึงจะมาอ้างกันมั่วๆ ซั่วๆ ไม่ได้ว่า เป็นเรื่องภายนงภายใน หรือมีวิธีการพิส่งพิเศษทางทหาร

8)ถ้าในที่สุดศาลไต่สวนการตาย แล้วพบว่า การตายเกิดขึ้นจากการมีผู้อื่นทำให้ตาย และอาจเป็นการกระทำความผิด การสอบสวนเพื่อดำเนินคดีอาญาต่อไป ต้องทำร่วม 2 ฝ่ายคือ พนง.สอบสวน กับอัยการ (ม.155/1 วิอาญา) และถ้าเป็นคดีที่เจ้าพนักงานเป็นผู้กระทำการฆาตรกรรมด้วย ต้องให้อัยการสูงสุดเท่านั้นเป็นผู้สั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดี (ม.143 วรรคท้าย วิอาญา)

RIP ฮะ

ปล. เพิ่มเติมฮะ กรณีนี้หากไต่สวนการตายมาแล้วพบว่ามีทหารด้วยกันทำให้ตาย ตามกฎหมายให้เป็นคดีในศาลทหาร ดังนั้น ผู้สอบวนคดีอาญา และกระบวนการในช่วงของการทำคดีก็จะเป็นไปตามกม.ทหาร (ซึ่งใครๆ ก็รู้และคาดเดาได้ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น) ทางที่จะขึ้นศาลอาญาทั่วไปได้นี่ เห็นอยู่ทางเดียว คือ ต้องมีพลเรือนเข้ามาเกี่ยวพัน (แบบนี้ ลองหาเบาะแสจากอวัยวะที่หายไปดูฮะ)"

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.