Posted: 15 Nov 2017 11:26 PM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

กสม. เชิญหน่วยงาน - ผู้ร้องถกผลกระทบโครงการโขง เลย ชี มูล - ประตูระบายน้ำศรีสองรัก จ.เลย - เผยหน่วยงานต้องให้ข้อมูลชัดเจนแก่ประชาชนเพื่อร่วมตัดสินใจ - ลดผลกระทบ



16 พ.ย. 2560 รายงานข่าวจาก สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สนง.กสม.) รายงานว่า วานนี้ (15 พ.ย.60) เตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร ใน กสม. ประชุมชี้แจงเรื่องร้องเรียนประเด็นสิทธิชุมชน ได้แก่ 1. กรณีกล่าวอ้างว่า การก่อสร้างประตูระบายน้ำศรีสองรักส่งผลกระทบต่อชุมชนไทพวนบ้านกลางจังหวัดเลย และ 2. กรณีกล่าวอ้างว่าโครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล กระทบต่อสิทธิชุมชนและขาดกระบวนการมีส่วนร่วมจากประชาชน โดยตัวแทนประชาชนผู้ร้องเรียนที่ได้รับผลกระทบและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้แทนกรมชลประทาน ผู้แทนสำนักก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 12 และผู้แทนกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดเลย เข้าร่วมการประชุมชี้แจง ณ ห้องประชุม 709 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ตัวแทนประชาชนผู้ร้องเรียนจากชุมชนบ้านกลาง อ.เชียงคาน จ.เลย ระบุว่า โครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำศรีสองรักซึ่งปัจจุบันคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติในหลักการให้กรมชลประทานก่อสร้างเมื่อวันที่ 10 ต.ค.2560 นั้น เป็นโครงการที่ผ่านการอนุมัติโดยขาดกระบวนการมีส่วนร่วมและเพิกเฉยต่อเสียงคัดค้านของของประชาชนในพื้นที่ โดยที่ผ่านมาภาคประชาชนเคยยื่นเรื่องคัดค้านต่อหน่วยงานระดับจังหวัดและอธิบดีกรมชลประทานแล้ว เนื่องจากเล็งเห็นว่า โครงการก่อสร้างประตูระบายดังกล่าวซึ่งจะสร้างปิดกั้นปากแม่น้ำเลย มีการวางแนวอุโมงค์ส่งน้ำเป็นระยะทาง 99 กิโลเมตร และมีการก่อสร้างสถานีสูบน้ำในแต่ละแห่งนั้น จะส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำตามธรรมชาติ นำมาสู่การสูญเสียแหล่งอาหารสัตว์น้ำในระบบนิเวศ กระทบต่อวิถีชีวิตการทำมาหากิน และเศรษฐกิจของประชาชนทั้ง 7 ตำบลในอำเภอเชียงคานเป็นอย่างมาก และประเด็นสำคัญคือ กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เคยให้ข้อมูลจากการศึกษาที่ชัดเจนและรอบด้านแก่ชาวบ้านที่จะได้รับผลกระทบแต่อย่างใด

ด้านผู้แทนกรมชลประทานชี้แจงว่า โครงการประตูระบายน้ำศรีสองรักเป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งน้ำต้นทุนสนับสนุนพื้นที่เกษตรกรรมและบรรเทาปัญหาน้ำท่วม โดยจะมีพื้นที่รับประโยชน์ทั้งโครงการประมาณ 72,500 ไร่ ที่ผ่านมาได้มีการศึกษาความเหมาะสมของการดำเนินโครงการแล้วเสร็จเมื่อปี 2556 ระหว่างนั้นได้ประชาสัมพันธ์โครงการผ่านผู้นำชุมชนและประชาชนบางส่วน แต่ยังมีข้อติดขัดในการให้ข้อมูลกับประชาชนผู้คัดค้าน อย่างไรก็ดี ภายหลังคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ดำเนินโครงการแล้ว กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่อย่างถี่ถ้วนต่อไป เนื่องจากการออกแบบที่ตั้งของแนวอุโมงค์ส่งน้ำและสถานีสูบน้ำตามจุดต่าง ๆ จำเป็นต้องสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่



รายงานข่าวจาก สนง.กสม. ระบุด้วยว่า การร้องเรียนกรณีโครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 33.57 ล้านไร่ ซึ่งจะมีการก่อสร้างอุโมงค์ผันนำจากแม่น้ำโขงโดยแรงโน้มถ่วงและกระจายน้ำผ่านคลองส่งน้ำทั่วทั้งภูมิภาค ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการหาผู้รับจ้างจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) นั้น ตัวแทนประชาชนผู้ร้องเรียน ให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมาผู้ร้องได้ทราบถึงการมีโครงการฯ แต่ไม่ได้ทราบถึงรายละเอียดโครงการฯ กระบวนการดำเนินโครงการและมาตรการแก้ไขปัญหาจากหน่วยงานแต่อย่างใด โดยเห็นว่าการผันน้ำตามโครงการดังกล่าวจะทำให้กระแสน้ำมีการเปลี่ยนแปลง กระทบต่อระบบนิเวศน์ ความสมบูรณ์ของสัตว์น้ำ และวิถีชีวิตท้องถิ่นดั้งเดิมของประชาชน นอกจากนี้ยังมีข้อกังขาถึงความซ้ำซ้อนของการดำเนินโครงการนี้กับโครงการประตูระบายน้ำศรีสองรักซึ่งเป็นการผันน้ำเข้าสู่พื้นที่เกษตรกรรมเช่นกัน และในอนาคตนั้นเกษตรกรยังจะต้องเป็นผู้จ่ายค่าใช้น้ำจากระบบชลประทานดังกล่าวด้วย

ผู้แทนกรมชลประทาน ระบุว่า โครงการทั้งสองไม่มีความซ้ำซ้อนกัน เนื่องจากโครงการประตูระบายน้ำศรีสองรักจะใช้น้ำจากลุ่มน้ำเลยเท่านั้น ขณะที่โครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล จะใช้น้ำจากแม่น้ำโขงและน้ำที่ระบายทิ้งจากประตูระบายน้ำศรีสองรัก

คณะอนุกรรมการฯ ตั้งข้อสังเกตว่า ที่ผ่านมาเคยมีโครงการชลประทานลักษณะเช่นนี้มาแล้วหลายโครงการ เช่น โครงการผันน้ำโขง ชี มูล หรือ โครงการชลประทานระบบท่อ ซึ่งส่งผลให้เกิดการแพร่กระจายของดินเค็มในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การดำเนินโครงการชลประทานใด ๆ จึงควรศึกษาบทเรียนของโครงการในอดีตด้วย

เตือนใจ สรุปว่า ภายหลังการประชุมครั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะส่งข้อมูลและหลักฐานเพิ่มเติมมายัง กสม. เพื่อจัดทำรายงานข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในสองกรณีดังกล่าว และเร็ว ๆ นี้ กสม. จะได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่เพื่อร่วมให้ข้อมูลแก่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากทั้งสองโครงการด้วย ทั้งนี้ยืนยันว่าโครงการบริหารจัดการน้ำทั้งสองโครงการเป็นโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้างต่อชุมชน ระบบนิเวศ และวิถีชีวิตการทำมาหากิน ซึ่งทุกหน่วยงานจะต้องให้ข้อมูลที่กระจ่างแก่ประชาชนเพื่อร่วมตัดสินใจและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อไป

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.