Posted: 16 Nov 2017 04:45 PM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข

เมื่อพูดถึง “เหยื่อ” ซึ่งตามพจนานุกรมไทย แปลว่า “ตัวรับเคราะห์” แล้วอาจไม่เข้าใจความหมายนัก ต้องไปดูในภาษาอื่นแทน ซึ่งแปล “เหยื่อ (Victim)” ว่า “บุคคลที่ถูกทำร้ายหรือฆ่าให้เสียชีวิตด้วยอาชญากรรม อุบัติเหตุ หรือเหตุการณ์อื่นๆ” สรุปแล้วเหยื่อจะต้องเป็น “ผู้ถูกกระทำ”

ส่วนเหยื่อทางด้านสุขภาพน่าจะนิยามว่าหมายถึง “ผู้ที่ถูกกระทำโดยมีผลกระทบต่อสุขภาพ” ตัวอย่างเช่น คนที่เดินอยู่ตามท้องถนน แล้วก็ถูกรถชนหรือโดนคนทำร้ายจนบาดเจ็บหรือเสียชีวิต คนที่ต้องดมควันบุหรี่ที่ผู้อื่นสูบ (ควันบุหรี่มือสอง) จนกระทั่งตัวเองต้องป่วยเป็นโรคทางระบบหายใจ บางครั้งก็กลายเป็นมะเร็งปอดไป ฯลฯ ซึ่งบุคคลเหล่านี้เป็นบุคคลที่น่าสงสารเห็นใจและสังคมควรให้ความช่วยเหลือเพื่อเยียวยาความสูญเสียให้มากที่สุดที่จะทำได้

ในต่างประเทศนั้นรวมเหยื่อทางด้านสุขภาพว่าหมายถึง บุคคลที่มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมด้านสุขภาพ และได้รับผลกระทบด้านสุขภาพจากพฤติกรรมดังกล่าว กล่าวคือ “บุคคลนั้นเป็นผู้กระทำเสียเอง” ซึ่งบุคคลกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีโอกาสถูกกล่าวโทษมากที่สุด

การกล่าวโทษเหยื่อ (Victim blaming) ทางด้านสุขภาพ


การกล่าวโทษเหยื่อ (Victim blaming) หมายถึง การกระทำที่ลดคุณค่าของเหยื่อจากภัยอาชญกรรมหรืออุบัติเหตุ เมื่อเหยื่อนั้นเป็นผู้รับผิดชอบ (ทั้งหมดหรือบางส่วน) ต่อเหตุการณ์นั้น และสอดคล้องกับนิยามของเหยื่อทางด้านสุขภาพของต่างประเทศ

เมื่อเร็วๆ นี้ มีเด็กหญิงคนหนึ่งป่วยเข้ารับการรักษาที่ รพ.รัฐแห่งหนึ่ง ด้วยอาการไข้สูง ปวดหัว ซึ่งแพทย์สงสัยว่าเป็นปอดบวม ได้ให้การรักษาไป 3 วัน ไข้ไม่ลด ต่อมามีอาการทรุดหนัก มีอาการชักในบางครั้ง แพทย์คนที่ 2 จึงทำการเจาะไขสันหลัง และสงสัยว่าเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เมื่อให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญดูฟิลม์เอ็กเรย์ ก็ยืนยันว่าเป็นวัณโรค จึงรักษาวัณโรคตั้งแต่นั้นมา พร้อมทั้งถูกส่งตัวไป รพ.ที่ใหญ่ขึ้น

ประเด็นปัญหาอยู่ตรงที่บิดาของเด็กหญิงดังกล่าวได้ป่วยเป็นวัณโรค ซึ่งติดต่อถึงบุคคลข้างเคียงได้ และไม่ได้ให้ประวัติแก่แพทย์ จนกระทั่งแพทย์คนต่อมาวินิจฉัยว่าเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบและสงสัยจากเชื้อวัณโรค (บวกกับผลจากการดูฟิลม์เอ็กเรย์) แล้วกลับไปสอบถาม จึงได้พบกับข้อเท็จจริงดังกล่าว

มีผู้กล่าวโทษเหยื่อ (และครอบครัว) ว่า “…พ่อแม่ไม่รักษาสุขภาพลูก และตัวเองเมื่อไปโรงพยาบาลแล้วไม่บอกประวัติให้ละเอียด ตรงนี้พ่อแม่ต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบด้วย”

คนส่วนใหญ่ในปัจจุบันจะไม่ทำอาหารเอง มักจะไปซื้ออาหารสำเร็จรูปที่มีขายอยู่ตามท้องถนนหรือตลาด ซึ่งมีการควบคุมคุณภาพน้อยมาก น้ำมันที่ใช้ทอดก็ไม่รู้ว่าใช้มาแล้วกี่ครั้ง ผัก เนื้อหมู เนื้อปลา ฯลฯ ก็ไม่รู้ว่าจะสดหรือไม่ หรือมีปนเปื้อนด้วยยาปฏิชีวนะ บ้างก็ไปซื้ออาหารขยะ (Junk food) และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมากมาดื่ม ทั้งหมดนี้เสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพทั้งนั้น เริ่มตั้งแต่เป็นท้องเสีย (เพราะอาหารไม่สะอาด) หรือทำให้เป็นโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด หรือแม้กระทั่งโรคมะเร็ง ฯลฯ ที่เราเรียกรวมๆ ว่า กลุ่มโรคไม่ติดต่อ หรือ NCDs (Non communicable diseases) เพราะกินน้ำตาล ไขมัน สารปรุงรส สารเกลือแร่ และสารเคมีต่างๆ เข้าไปเป็นจำนวนมาก

นี่อาจจะกล่าวโทษว่า “นี่เป็นเพราะกินแบบนี้ จึงเจ็บปวยเสาะแสะ เดี๋ยวก็เป็นโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด หรือโรคมะเร็ง”

ทั้งสองกรณีมีบุคคลได้รับภัยทางด้านสุขภาพ และบุคคลเหล่านั้นเป็นผู้รับผิดชอบ (ทั้งหมดหรือบางส่วน) ต่อเหตุการณ์นั้น


ทำไมถึงกล่าวโทษเหยื่อทางด้านสุขภาพ


เราจะกล่าวโทษเหยื่อทางด้านสุขภาพไปทำไม มันจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นหรือไม่เป็นซ้ำอีกหรือไม่ ในทางทฤษฎีพบว่ามันเป็นระบบความเชื่อ (belief system) เป็นชุดของความคิดที่ใช้ในการมองโลก ความคิดมีการบิดเบือนไปจากความจริงอย่างเป็นระบบ (systematic distortion of reality) การบิดเบือนเป็นไปโดยไม่สำนึก (unconscious) หรือไม่ตั้งใจ (unintentional) และความคิดนั้นมีเพื่อรองรับวัตถุประสงค์ใดวัตถุประสงค์หนึ่ง


ความคิดและความเชื่ออะไร เพื่อวัตถุประสงค์ใด

ความคิดหลักของการกล่าวโทษคือ สภาพปัญหาเกิดขึ้นกับแต่ละบุคคล โดยที่บุคคลนั้นเลือกปฏิบัติเอง และอาจเป็นเพราะความบกพร่องของบุคคลนั้น (individual defect) ทำให้บุคคลนั้นโชคร้าย (unfortunate) หรือประสบอุบัติเหตุ แต่เมื่อบุคคลมีสิทธิเลือกก็จะต้องรับผิดชอบต่อผลการเลือกนั้น วัตถุประสงค์ของแนวคิดนี้คือ การที่บุคคลจะไม่ทำอย่างเดิมอีกเพราะจะถูกกล่าวโทษ (Exceptionalism หรือ Freedom model)

การมองปัญหาสุขภาพว่าเป็นเรื่องของบุคคล ส่วนหนึ่งเกิดจาก “แนวคิดชีวการแพทย์ (biomedical model)” ที่มองร่างกายมนุษย์เหมือนเครื่องจักร และอธิบายโรคภัยไข้เจ็บว่า เกิดจากชิ้นส่วนของเครื่องจักรนั้นชำรุด การวิเคราะห์เจาะลึกโดยการแยกร่างกายให้เป็นส่วนที่เล็กลงไปเรื่อยๆ เป็นอวัยวะ เซลล์ โมเลกุล ยีน ฯลฯ จนกระทั่งได้ชิ้นส่วนที่เป็นสาเหตุของโรคและแนวทางการรักษา การรักษาก็จะเป็นยา เทคโนโลยี และการผ่าตัดต่างๆ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

Robert Crawford กล่าวว่า แนวคิดการกล่าวโทษเหยื่อทางด้านสุขภาพเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ในบริบทที่มีความคาดหวังสูงทางการแพทย์และการได้รับสิทธิ การตระหนักถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อสุขภาพ การกล่าวโทษเหยื่อเป็นการตอบสนองทางการเมืองและแนวคิด ซึ่งมองเห็นว่า พฤติกรรมและวิถีชีวิตเฉพาะบุคคลมีความสัมพันธ์กับการเจ็บป่วยและปัญหาด้านสุขภาพ มากกว่าปัญหาเชิงโครงสร้าง การโทษเหยื่อมีผลทางอ้อมทำให้ค่ารักษาพยาบาลลดลง เพราะเหยื่อมักต้องเสียค่ารักษาพยาบาลเอง (บางส่วนหรือทั้งหมด) เพราะตนเองเป็นฝ่ายผิด กรณีผู้ป่วยในประเทศไทย การกล่าวโทษเหยื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งของการป้องกันการฟ้องร้องระหว่างผู้ป่วยและแพทย์ด้วย


ความถูกต้องและสิ่งที่ควรจะทำ


ปัจจุบันเราทราบกันดีว่า สุขภาพของประชาชนไม่ใช่ความรับผิดชอบส่วนบุคคลอีกต่อไป สุขภาพขึ้นกับบริบทที่ใหญ่กว่านั้น ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมที่เราอาศัยและทำงานอยู่ เรียกว่ามีปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ (Social determinants of health) ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้มีส่วนทำให้เกิดปัญหาทางด้านสุขภาพและการเจ็บป่วย หากกล่าวถึงปัญหาโภชนาการ จะพบว่าความจริงแล้วปัญหาด้านโภชนาการเกี่ยวเนื่องกับปัญหาเศรษฐกิจในครอบครัว ครอบครัวยากจนก็มีปัญหาในการซื้อหาอาหารมาบริโภค มีปัญหาด้านการเรียนรู้ (ทำให้บริโภคอาหารไม่เป็น) วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปทำให้ปัจจุบันการซื้ออาหารกินนอกบ้านและซื้ออาหารสำเร็จรูปการกินที่บ้านเป็นทางเลือกที่สะดวก และกลไกตลาดเสรีที่กระตุ้นการบริโภคการบริโภคอาหารขยะ และเครื่องดื่มที่ไม่เหมาะสมทั้งหลาย

สำหรับการกล่าวโทษเหยื่อที่มารับการรักษาพยาบาลโดยผู้ให้บริการนั้น ผู้ให้บริการควรจะตระหนักว่า ผู้ป่วยนั้นมีข้อจำกัดด้านข้อมูล/ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาล (Asymmetry information) จะหวังให้ผู้ป่วยหรือญาติเข้าใจเรื่องราวต่างๆ ดีเท่าผู้ให้บริการไม่ได้ สิ่งที่น่าจะทำมากที่สุดคือ ให้ข้อมูลทุกด้านจนกระจ่าง เพื่อความเข้าใจที่ดีต่อกัน (กรณีที่จะกลายเป็นเรื่องฟ้องร้องต่อศาล)


โดยสรุปมีข้อเสนอคือ


1.เมื่อพบผู้ที่ประสบปัญหาด้านสุขภาพไม่ว่าจะด้วยเหตุอันใดก็ตาม ท่าทีที่ถูกต้องต่อพวกเขาเหล่านั้นคือ “ความเห็นอกเห็นใจ” และ “ความเอาใจใส่” เพราะปัญหาสุขภาพที่พวกเขาต้องประสบ นำมาซึ่งความทุกข์ทรมานทั้งทางกาย จิตใจ และสังคม พวกเขาต้องการกำลังสนับสนุนทางจิตใจและสังคมช่วยเยียวยา เพื่อให้สามารถกลับมามีบทบาททางสังคมตามเดิมให้เร็วที่สุด

2.การกล่าวโทษบุคคลด้วยข้อมูลและเหตุผลใดๆ ก็ตาม ข้อมูลนั้นจะต้องเป็นข้อเท็จจริงและเหตุผลนั้นก็ต้องเป็นเหตุผลที่มองรอบด้าน ไร้อคติ และถูกต้องตามตรรกะที่ควรจะเป็น ที่ต้องไม่ลืมคือ ผลอย่างหนึ่งอาจเกิดขึ้นจากเหตุหรือปัจจัยหลายอย่าง หรือเหตุอย่างหนึ่งอาจให้ผลหลายอย่าง ที่สำคัญคือ การกล่าวโทษบุคคลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ใด หากมิใช่การกล่าวโทษที่มีผลตามกฏหมายแล้ว ก็ควรที่จะทำให้การกล่าวโทษดังกล่าวมีน้อยลงหรือหมดไปในที่สุด เพราะการกล่าวโทษมีแต่จะทำให้ผู้คนเกลียดกัน

3.การกล่าวโทษเหยื่อทางด้านสุขภาพด้วยเหตุที่บุคคลมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมจนเกิดปัญหาด้านสุขภาพ บุคคลนั้นจึงต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อผลของพฤติกรรมดังกล่าว เป็นการมองปัญหาไม่รอบด้าน เพราะพฤติกรรมใดๆ ที่บุคคลกระทำและอาจมีผลกกระทบต่อสุขภาพนั้น ล้วนเกี่ยวของกับปัจจัยทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม (ปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ) ซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมของบุคคล การกล่าวโทษเหยื่อจึงไม่ชอบด้วยเหตุผล นอกจากนี้การกล่าวโทษเหยื่อที่มีวัตถุประสงค์เพื่อโยนความผิดและความรับผิดชอบ (เช่น ค่ารักษาพยาบาล) ให้เหยื่อ และละเลยที่จะดำเนินการใดๆ ที่เป็นสาเหตุของปัญหาที่แท้จริง เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและไม่ควรจะให้เกิดขึ้น

4.ด้วยปัญหาด้านสุขภาพที่เกิดจากพฤติกรรม ซึ่งเชื่อมโยงกับปัจจัยทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม การจะแก้ไขปัญหาจึงต้องดำเนินการส่งเสริมให้ประชาชนมีพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม ควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม โดยไม่ต้องมีการกล่าวหาว่าใครเป็นผู้ผิด (อาจกล่าวว่าผิดที่ระบบ)





หมายเหตุ: อ่านเพิ่มเติมจาก “แนวคิดการกล่าวโทษเหยื่อ และหน้าที่ด้านสุขภาพ” สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ 2559

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.