FILE - British Prime Minister Theresa May Theresa May speaks during a media conference at an EU summit in Brussels on Oct. 20, 2017.

การตรวจสอบล่าสุดโดยนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเบิร์คลีย์ (Berkeley) ของสหรัฐฯ และมหาวิทยาลัยสวอนซี (Swansea) ของอังกฤษ พบว่าบัญชีผู้ใช้โซเชียลมีเดียในรัสเซีย อาจมีส่วนจงใจแทรกแซงการลงประชามติของอังกฤษปีที่แล้ว ในเรื่องการออกจากสหภาพยุโรป หรือ Brexit

นักวิจัยพบว่า ก่อนการลงประชามติสองวัน ผู้ใช้ทวิตเตอร์ที่มีต้นตออยู่ในรัสเซียโพสต์ข้อความ 45,000 ข้อความเกี่ยวกับ Brexit โดยส่วนใหญ่มีเนื้อหาต่อต้านสภาพยุโรป

อย่างไรก็ตาม ในวันถัดมาบัญชีเกือบทุกบัญชีที่น่าสงสัยเหล่านี้พร้อมกันหยุดส่งข้อความ

นอกจากนั้น นักวิจัยพบว่าบัญชีทวิตเตอร์เหล่านี้ไม่เคยโพสต์ข้อความใดๆ เลยก่อนหน้านี้เกี่ยวกับ Brexit

คณะกรรมการเลือกตั้งของอังกฤษและคณะกรรมาธิการในสภาได้เริ่มการตรวจสอบสองชุด เนื่องจากมีหลักฐานใหม่ในครั้งนี้

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอังกฤษ Damian Collins ประธานคณะทำงาน กล่าวว่า รัสเซียแทรกแซงการเมืองอังกฤษเพื่อบั่นทอนความมั่นใจของประชาชนอังกฤษต่อสถาบันการเมือง และสื่อตะวันตกกระแสหลัก เขาบอกว่าปรากฏการณ์นี้ควรถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อประชาชน

ก่อนหน้านี้หน่วยงานข่าวกรองของสหรัฐฯ กล่าวว่า รัสเซียแทรกแซงการเมืองสหรัฐฯ ด้วยการกระจายโฆษณาชวนเชื่อและข้อมูลเท็จที่สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกันเมื่อปีที่แล้ว

ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ปฏิเสธข้อกล่าวหานี้หลายครั้ง รวมถึงการกล่าวปฏิเสธโดยตรงกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ซึ่งผู้นำสหรัฐฯ กล่าวว่าตนเชื่อนายปูติน

ในวันอังคาร นายกรัฐมนตรีเธเรสซา เมย์ ของอังกฤษ บอกว่าเธอคิดว่ารัสเซียกำลังใช้ข่าวสารข้อมูลเป็นอาวุธเพื่อบั่นทอนความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของยุโรป

ในเหตุการณ์ผู้ก่อการร้ายโจมตีเหยื่อที่ย่านเวสต์มินสเอร์ (Westminster) ที่กรุงลอนดอน เมื่อเดือนมีนาคม มีผู้ส่งทวีตที่เป็นภาพสตรีมุสลิมผู้หนึ่งที่อยู่ในเหตุการณ์ที่ไม่ได้แสดงความรู้สึกร่วมต่อเหยื่อ อย่างไรก็ตาม เมื่อภาพจริงถูกเปิดเผยในเวลาต่อมา สตรีคนดังกล่าวมีสีหน้าสะเทือนอารมณ์ต่อเหยื่อที่เธอเห็น

หลังจากนั้นบริษัททวิตเตอร์เปิดเผยว่า account ดังกล่าวมีต้นตอมาจากรัสเซีย

ส.ส. Damian Collins กล่าวว่า ความพยายามสร้างผลทางสังคมนี้ต้องการโหมความตึงเครียดด้านเชื้อชาติ

บริษัททวิตเตอร์ได้ส่งข้อมูลรายละเอียดให้สภาอังกฤษ ที่ประกอบด้วยบัญชีผู้ใช้ 3,000 บัญชีที่เชื่อมโยงกับหน่วยงานอินเตอร์เน็ตของรัสเซีย Internet Research Agency ที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ซึ่งทวิตเตอร์กล่าวว่าเป็นต้นตอของผู้แพร่ข้อมูลเท็จหลายร้อยราย

นักวิจัยที่มหาวิทยาลัย City University of London เปิดเผยว่า มีเครือข่าย บัญชีทวิตเตอร์ที่ถูกมีระบบคอมพิวเตอร์เป็นผู้สั่งการแพร่ข่าวบนโซเชียลมีเดียช่วงการลงประชามติ Brexit กว่า 13,000 บัญชี แต่นักวิจัยไม่ได้ระบุแหล่งที่มาของบัญชีปลอมเหล่านั้น

(รัตพล อ่อนสนิท เรียบเรียงจากรายงานของ Henry Ridgwell)


http://rferl.c.goolara.net/Click.aspx?id=166099455606317971

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.