Posted: 16 Nov 2017 11:33 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
จับตาปัญหาที่ดิน ร้อง สนช.เปิดเผยบันทึกประชุม กมธ.พิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ พร้อมทั้งปรับเจตนารมณ์ให้ลดความเหลื่อมล้ำ
เมื่อวันที่ 16 พ.ย.ที่ผ่านมา รายงานข่าวระบุว่า สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1 รับหนังสือจาก องค์กรจับตาปัญหาที่ดิน หรือ Land Watch Thai ที่เรียกร้องขอให้เปิดเผยบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.... จากกรณีการประชุมสนช.เมื่อวันที่ 2 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งมีมติไม่ให้มีการเปิดเผยบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.... โดยเห็นว่า การไม่เปิดเผยบันทึกการประชุมเป็นการกระทำที่ไม่ให้เกียรติประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย และการประชุมอาจมีผลกระทบต่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่กรรมาธิการวิสามัญใช้อ้างอิงเพื่อกำหนดอัตราภาษี ดังนั้นเพื่อความกระจ่างในข้อสงสัย องค์กรจับตาปัญหาที่ดิน จึงขอเสนอให้เพิ่มวาระการประชุมของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.... พร้อมเสนอกรรมาธิการ ให้ปรับปรุงร่างกฎหมาย ให้มีเนื้อหาเป็นภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า อีกทั้งยังเสนอให้มีมาตรการที่ว่าด้วยการบริหารจัดการถือครองที่ดิน โดยบังคับให้มีการเก็บ และเปิดเผยฐานข้อมูลการถือครองที่ดิน เพื่อประโยชน์และนโยบายด้านที่ดินด้วย
สุรชัย กล่าวว่า จะนำเรื่องดังกล่าวส่งให้กรรมาธิการได้พิจารณาต่อไป และส่วนตัวมองว่าแม้ก่อนหน้าจะไม่มีการเปิดเผยบันทึกการประชุม แต่หากเตรียมขั้นตอนออกกฎหมายก็จะมีการเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบ และส่วนตัวทราบดีว่ากฎหมายนี้มีผลกระทบต่อผู้ได้เสียหลายราย ซึ่งจะทำการศึกษารายละเอียดอีกครั้ง เนื่องจากปัจจัยหลักของกฎหมายนี้ทำเพื่อให้เกษตรกรมีทีทำกิน ไม่ถูกเอาเปรียบจากนายทุน
ด้าน Land Watch Thai ยืนยันว่ามีจุดยืนสนับสนุนให้กฎหมายที่ดินออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำได้จริง และเป็นเวลากว่า 3 ปีแล้ว ที่กฎหมายดังกล่าวถูกพูดถึงในยุครัฐบาล คสช. โดยขณะนี้กฎหมายดังกล่าวอยู่ในชั้นกรรมาธิการของสภานิติบัญญัติแห่งชาติและได้มีความล่าช้าเป็นเวลากว่า 5 เดือนแล้ว หากแต่ สนช. ยังสามารถที่จะพิจารณาขยายเวลาให้ช้าออกไปได้เรื่อยๆ เหนือสิ่งอื่นใดก็ตามร่างกฎหมายดังกล่าวยังมิได้เป็นร่างกฎหมายที่พูดถึงภาษีอัตราก้าวหน้าและผู้ที่มีส่วนได้เสียกับกฎหมายฉบับนี้ก็คือ สนช.ที่มีที่ดินครอบครองอยู่ถึง 9800 ล้านบาท ที่เป็นผู้ตัดสินชี้ขาดกฎหมายดังกล่าว
ที่มา : เว็บไซต์วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา และ เฟซบุ๊กแฟนเพจ Land Watch THAI จับตาปัญหาที่ดิน
แสดงความคิดเห็น