เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง ที่มาภาพ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
Posted: 18 Nov 2017 10:27 PM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)
คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง เชิญนักการเมืองระดับประเทศ "นิกร-อนุทิน-สุวัจน์-อภิสิทธิ์-สุดารัตน์" ให้ข้อมูลและแสดงความคิดเห็นในการจัดทำแผนการปฏิรูปประเทศ ด้านประธาน กรธ. ระบุชัด ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร ไม่เกิดความสับสน เผย กกต. มีสูตรคำนวณอยู่แล้ว
สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ รายงานเมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2560 ที่ผ่านมาว่านายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง กล่าวว่าตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2560 ได้กำหนดให้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองมีหน้าที่สำคัญประการหนึ่งในการจัดทำแผนการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองนั้น ในขณะนี้ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน หน่วยงานของรัฐ และผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศดังกล่าว โดยในเบื้องต้น คณะกรรมการฯ ได้จัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองร่างแรกเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยได้กำหนดประเด็นในการปฏิรูปไว้ 5 ประเด็นสาคัญ เพื่อให้การปฏิรูปประเทศด้านการเมืองเกิดผลสัมฤทธิ์ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 257 และ 258 ประกอบด้วย ประเด็นการปฏิรูปที่ 1 เรื่อง การเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรมเพื่อการปฏิรูปประเทศ, ประเด็นการปฏิรูปที่ 2 เรื่อง การสร้างรัฐธรรมาธิปไตย, ประเด็นการปฏิรูปที่ 3 เรื่องการเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข, ประเด็นการปฏิรูปที่ 4 เรื่อง กลไกการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธีและการรู้รักสามัคคีของสังคมไทย และประเด็นการปฏิรูปที่ 5 เรื่อง การกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการจัดสรรทรัพยากรที่เป็นธรรม และในระหว่างวันที่ 20 พ.ย. ถึงสิ้นเดือน พ.ย. 2560 คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองได้เรียนเชิญนักการเมืองระดับประเทศ ผู้มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ทางการเมืองในระดับสูงเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการฯ ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 4 สานักงานสภาพัฒนาการเมือง ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธ.ค. 2550 อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคาร บี) ถนนแจ้งวัฒนะ เพื่อให้ข้อมูลและแสดงความคิดเห็นในการจัดทำแผนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง โดยจะได้นำข้อมูลและความคิดเห็นดังกล่าวไปประกอบการพิจารณาดำเนินการแก้ไขปรับปรุงร่างแผนการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นต่อไป
ทั้งนี้ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองได้เชิญบุคคลต่าง ๆ ซึ่งเป็นนักการเมืองระดับประเทศ เพื่อให้ข้อมูลและแสดงความคิดเห็นกับที่ประชุมของคณะกรรมการฯ โดยได้รับการตอบรับทั้งหมดแล้ว ได้แก่ นายนิกร จำนง ในวันจันทร์ที่ 20 พ.ย. 2560 เวลา 13.00 น., นายอนุทิน ชาญวีรกูล ในวันอังคารที่ 21 พ.ย. 2560 เวลา 09.30 น., นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ในวันพุธที่ 22 พ.ย. 2560 เวลา 09.00 น. , นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในวันพุธที่ 22 พ.ย. 2560 เวลา 10.30 น. และคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ในวันอังคารที่ 28 พ.ย. 2560 เวลา 09.00 น. โดยการประชุมทั้งหมดจะเป็นการประชุมที่ไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกหรือบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าร่วมฟังการประชุม แต่อนุญาตให้สื่อมวลชนต่าง ๆ เข้าถ่ายภาพและภาพเคลื่อนไหวก่อนเริ่มประชุมได้
ประธาน กรธ. ระบุชัด ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร ไม่เกิดความสับสน เผย กกต. มีสูตรคำนวณอยู่แล้ว
สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ รายงานเมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2560 ว่านายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยก่อนการประชุมกรรมการร่างรัฐธรรมนูญว่า การคำนวณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ ในร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร จะทำให้เกิดความสับสน หรือทำให้รัฐบาลในอนาคตขาดเสถียรภาพตามที่มีการตั้งข้อสังเกต นั้น ว่า ไม่เป็นความจริง เนื่องจากการเลือกตั้งเขตแต่ละเขตก็อยู่ที่ประชาชนในการลงคะแนน โดย ส.ส.บัญชีรายชื่อนั้น เป็นการคำนวณสัดส่วนจาก ส.ส.เขต ซึ่งระบบดังกล่าวจะทำให้ทุกคะแนนของประชาชนมีอำนาจ อีกทั้งทำให้พรรคการเมืองที่จะส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งต้องพิจารณาเลือกผู้สมัครที่ประชาชนต้องการอย่างแท้จริง เนื่องจากหากเขตการเลือกตั้งมีผู้ลงคะแนน ไม่ประสงค์ออกเสียงเกินครึ่ง ก็จะทำให้การเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นโมฆะ และต้องตัดสิทธิ์ผู้สมัครทั้งหมด ทั้งนี้ในส่วนของสูตรการคำนวนคะแนนเพื่อเลือก ส.ส.นั้น ทางเป็นอำนาจของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งเป็นผู้กำหนดรายละเอียดการคำนวณที่ชัดเจน
นอกจากนี้ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ยังกล่าวถึงกฎหมายที่เกี่ยวกับพรรคการเมืองที่ประกาศใช้ไปแล้ว ยังไม่สามารถปฏิบัติได้นั้น เชื่อว่า จะไม่กระทบกับการเลือกตั้ง เพราะ กกต. สามารถจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอยืดขยายเวลาการทำกิจกรรมทางการเมืองได้
แสดงความคิดเห็น