Posted: 23 Apr 2018 09:25 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)

โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยร่วม 66 คน ศาลแรงงานกลาง เลื่อนการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา บริษัท GM ฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ กรณีชี้ว่าบริษัทเลิกจ้างลูกจ้างเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม

23 เม.ย.2561 ศาลแรงงานกลางนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาในวันนี้ คดีที่บริษัทเจนเนอรัล มอเตอร์ส พาวเวอร์เทรน (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทเจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) กรณีบริษัททั้งสองเลิกจ้างลูกจ้าง (สมาชิกสหภาพแรงงานเจอเนอรัล มอเตอร์ส ประเทศไทย) เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ตาม ม.121 พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 นั้น

เฟสบุ๊คแฟนเพจ 'สมัชชาคนจน' รายงานว่า ผู้รับมอบฉันฑะทนายความของทั้งสองบริษัท ในฐานะโจทก์ ผู้รับมอบฉันฑะทนายความของ ครส. ในฐานะจำเลย และ ชาญชัย ธูปมงคล ในฐานะผู้รับมอบอำนาจของลูกจ้างทั้งหมดซึ่งเป็นจำเลยร่วมในคดี และ นฤพนธ์ มีเหมือน ประธานสหภาพแรงานเจนเนอรัลมอเตอร์ ประเทศไทย และเป็นจำเลยร่วมในคดีนี้ และบุญยืน สุขใหม่ ผู้ประสานงานกลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออกและกรรมการบริหารสมัชชาคนจน ฝ่ายกฎหมายแรงงาน เดินทางมารอฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ณ ห้องพิจารณาคดีหมายเลข 1 (บัลลัง 1) ศาลแรงงานกลาง ถนนพระราม 4 แขวงมหาพฤฒาราม เขตบางรัก กรุงเทพฯ

นฤพนธ์ กล่าวว่า เมื่อเวลา 9.00 น. ผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณา และได้แจ้งว่า เมื่อวันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา บริษัทเจนเนอรัล มอเตอร์ส พาวเวอร์เทรน (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทเจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะโจทก์ในคดีนี้ ได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยร่วม จำนวน 66 คน ทำให้ไม่สามารถอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาได้ และได้ส่งคำร้องขอถอนอุทธรณ์และถ้อยคำสำนวนคืนศาลฎีกาเพื่อพิจารณาใหม่

นฤพนธ์ กล่าวต่ออีกว่า สาเหตุที่ทั้งสองบริษัท ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยร่วม จำนวน 66 คน นั้น เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้มีคำสั่งที่ 21-26/2561 และคำสั่งที่ 27-92/2561 ลงวันที่ วันที่ 8 ก.พ.2561 ให้ทั้งสองบริษัทรับลูกจ้างจำนวน 70 คนกลับเข้าทำงาน และจ่ายค่าเสียหายนับแต่วันรับข้อเรียกร้องจนถึงวันรับกลับเข้าทำงาน ต่อมาเมื่อวันที่ 7 มี.ค.ที่ผ่านมา ทั้งสองบริษัท ได้รับลูกจ้างทั้ง 70 คนกลับเข้าทำงาน แต่ได้มีคำสั่งย้ายสถานที่ทำงานให้ไปปฏิบัติงาน ณ คลังสินค้าจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และปรับลดค่าจ้างรวมถึงตัดสวัสดิการต่างๆ ที่เคยได้รับทั้งหมด ทำให้ลูกจ้างซึ่งเป็นจำเลยร่วมในคดีนี้จำนวน 66 คน ไม่สามารถทนทำงานอยู่ต่อไปได้ จึงได้ยอมรับตามเงื่อนไขที่ทั้งสองบริษัทเสนอ


นอกจากนี้ ชาญชัย ในฐานะผู้รับมอบอำนาจของลูกจ้างทั้งหมดที่เป็นจำเลยร่วมในคดีนี้ กล่าวว่า ในระหว่างรอรายงานกระบวนพิจารณาของศาลแรงงานกลาง ตนเองได้ขอตรวจสอบรายชื่อจำเลยที่ทั้งสองบริษัท ยื่นขอถอนอุทธรณ์ พบว่า เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2559 คดีนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ทั้งสองบริษัทได้ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ลูกจ้างที่เป็นจำเลยร่วมในคดีนี้ จำนวน 8 คน โดยอ้างว่า บริษัททั้งสองในฐานะโจทก์กับลูกจ้างทั้ง 8 คนในฐานะจำเลยร่วมในคดีนี้ ตกลงกันได้ ทั้งสองบริษัทไม่ประสงค์ดำเนินคดีนี้เฉพาะกับจำเลยร่วม ทั้ง 8 คน อีกต่อไป จึงขออนุญาตถอนอุทธรณ์จากศาลฎีกา และในเอกสารประกอบการยื่นคำร้องดังกล่าวนี้ ระบุว่า จำเลยร่วมที่ 120 คือ สมคิด จิตราพงษ์ และจำเลยร่วมที่ 203 คือ บุญเลิศ แย้มเกสร แต่ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ระบุว่า จำเลยร่วมที่ 120 คือ ปรีชา ดาวัน และจำเลยร่วมที่ 203 คือ กันต์ฤทัย โฉมคำ ซึ่งศาลฎีกาได้มีคำสั่งอนุญาตให้ถอนอุทธรณ์ตามคำร้องของบริษัททั้งสองในฐานะโจทก์ออกจากสารบบความของศาลฎีกา เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2560

ชาญชัย กล่าวต่อว่า ตนเองจึงได้ติดต่อไปยังลูกจ้างทั้ง 2 คน จึงทราบว่า จำเลยร่วมทั้งสองคน ไม่เคยตกลงหรือให้ความยินยอมใดกับบริษัททั้งสอง และไม่เคยทราบเรื่องนี้มาก่อน จึงได้สอบถามผู้รับมอบฉันฑะทนายความของทั้งสองบริษัท ในฐานะโจทก์ แต่ก็ไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน

ชาญชัย กล่าวต่ออีกว่า ในคดีนี้ ถ้าศาลฎีกามีคำพิพากษาให้ลูกจ้างเป็นฝ่ายชนะคดี จะทำให้ลูกจ้างที่เป็นจำเลยร่วมทั้งสองคนได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง ซึ่งเหตุการณ์ลักษณะนี้ไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะเกิดขึ้นกับกระบวนการยุติธรรม และคำร้องขอถอนอุทธรณ์ของลูกจ้างทั้งสองดังกล่าว เป็นการกระทำที่ประมาทเลินเล่อ

หรือมีเจตนาอื่นใดแอบแฝง ตนก็ไม่อาจทราบได้

บุญยืน สุขใหม่ ผู้ประสานงานกลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออกและกรรมการบริหารสมัชชาคนจน ฝ่ายกฎหมายแรงงาน กล่าวว่า จากเหตุการณ์ในวันนี้ทำให้ศาลต้องเลื่อนการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาออกไปอีกโดยไม่มีกำหนด เนื่องจากต้องส่งคำร้องขอถอนอุทธรณ์ของทั้งสองบริษัท และถ้อยคำสำนวนคืนศาลฎีกาเพื่อพิจารณาใหม่อีกครั้ง ทำให้คดีเกิดความล่าช้าในคดีนี้ ซึ่งขัดกับเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีความแรงงาน พ.ศ. 2522 ที่กล่าวว่า “ประหยัด สะดวก รวดเร็ว และยุติธรรม” แต่วันนี้ ผ่านมาเกือบห้าปี คดียังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด

[right-side]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.