Posted: 12 Dec 2018 07:10 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Wed, 2018-12-12 22:10
ใจ อึ๊งภากรณ์
ชัยชนะของ ชาอีร์ โบลโซนาโร นักการเมืองขวาจัดในประเทศบราซิล สร้างภัยให้กับนักประชาธิปไตย ฝ่ายซ้าย และประชาชนทั่วโลก
ภัยหลักสำหรับชาวโลกที่มาจากผลการเลือกตั้งเมื่อเดือนก่อนคือ จะช่วยเสริมกระแสฝ่ายขวาสุดขั้วในประเทศอื่นๆ และจะมีผลต่อปัญหาโลกร้อน
โบลโซนาโร เป็นนักการเมืองที่เหยียดสตรี เหยียดสีผิว เกลียดชังนักสหภาพแรงงานกับฝ่ายซ้าย ส่งเสริมนโยบายกลไกตลากเสรีสุดขั้ว และพร้อมจะใช้มาตรการเผด็จการที่รุนแรงเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มทุนและคนรวย
ในเรื่องปัญหาโลก โบลโซนาโร พร้อมจะทำลายป่าอเมซอนเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มทุนเกษตรโดยเฉพาะกิจกรรมผลิตเนื้อวัว และทุนเหมืองแร่ โดยที่มองว่าชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในป่าต้อง “ปรับตัว” หรือตาย และการที่ป่าอเมซอนคือ “ปอดของโลก” ที่ช่วยดูดก๊าซคาร์บอนไดออคไซด์ออกจากบรรยากาศ แปลว่าการทำลายป่านี้จะมีผลต่อประชากรทั้งโลกอีกด้วย
โบลโซนาโร เป็นนักการเมืองต่ำช้าที่เกลียดทุกอย่างที่ก้าวหน้า นอกจากการเกลียดชังสิทธิทางเพศทุกชนิด และการข่มขู่ว่าจะใช้ความรุนแรงกับฝ่ายค้านแล้ว โบลโซนาโร ซึ่งเป็นอดีตนายทหาร มองว่าควรหมุนนาฬิกากลับสู่ยุคเผด็จการทหารในอดีต เขามองว่าในยุคนั้นเผด็จการทหารไม่รุนแรงเพียงพอ
ระหว่างค.ศ. 1964 ถึง 1985 บราซิลตกอยู่ภายใต้เผด็จการทหาร โดยที่รัฐประหารได้รับการสนับสนุนจากสลิ่มชนชั้นกลาง กลุ่มทุน และพวกเจ้าของที่ดินรายใหญ่ ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกันกับที่ไปลงคะแนนให้โบลโซนาโร ในยุคเผด็จการทหารมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบ มีการปราบปรามพรรคการเมืองทุกพรรค ปราบปรามสหภาพแรงงาน และจับแกนนำพรรคคอมมิวนิสต์ทุกคนมาฆ่าทิ้ง
แต่หลังจากที่ทหารยึดอำนาจมาได้แค่ 6 ปีกว่า ขบวนการเคลื่อนไหวของมวลชนเพื่อประชาธิปไตยเริ่มก่อตัวจากขบวนการนักศึกษา นักสหภาพแรงงาน และฝ่ายซ้าย สิ่งที่กระตุ้นการเติบโตของขบวนการนี้คือปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาสิทธิมนุษยชน การเหยียดสีผิว การคอร์รับชั่น และความล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจโดยรัฐบาลทหาร
ในปี 1978 คนงานในโรงเหล็กและในโรงงานประกอบรถยนต์ในเมืองเซาเปาโล ตัดสินใจนัดหยุดงานผิดกฏหมายจนได้รับชัยชนะ ผู้นำสำคัญของสหภาพแรงงานนี้คือ “ลูลา” และชัยชนะครั้งนี้นำไปสู่การก่อตั้งพรรคแรงงาน (PT) ในปี 1980 โดยที่พรรคนี้ประกอบไปด้วยนักสหภาพแรงงาน นักศึกษา และฝ่ายซ้ายกลุ่มต่างๆ ที่เคยทำการต่อสู้ทั้งใต้ดินและเปิดเผย พรรคนี้เป็นพรรคอิสระของชนชั้นกรรมาชีพและภายในเวลาสิบปีมีสมาชิก 8 แสนคน ในเวลาเดียวกันพรรคแรงงานนี้สามารถดึงสภาแรงงาน CUT และองค์กรเกษตรกร MST มาเป็นแนวร่วมที่สำคัญ
ระหว่าง 1979 ถึง 1985 บราซิลค่อยๆ ปฏิรูปกลับมาเป็นประชาธิปไตยภายใต้แรงกดดันจากขบวนการมวลชนและการนัดหยุดงาน ในปี 1988 มีการนำรัฐธรรมนูญใหม่มาใช้ที่เพิ่มสิทธิเสรีภาพและกล่าวถึงรัฐสวัสดิการ
ลูลา ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรคแรงงานสามครั้งในปี 1989 1994 และ 1998 แต่ไม่ชนะเพราะกระแสของฝ่ายขวาและกลุ่มทุนมีอิทธิพลสูง ความไม่สำเร็จในการเลือกตั้งตอนนั้น ประกอบกับการล่มสลายของระบบเผด็จการสตาลินในรัสเซียกับยุโรปตะวันออก ทำให้แกนนำพรรคแรงงานขยับไปทางขวา มีการเขี่ยนักสังคมนิยมออกจากตำแหน่งที่มีอิทธิพล และ ลูลา เลิกแต่งตัวเหมือนคนธรรมดาและหันมาใส่เสื้อสูทราคาแพง พร้อมกันนั้นมีการสร้างแนวร่วมกับพรรคน้ำเน่าเพื่อขยายอิทธิพลทางการเมือง ซึ่งเป็นอาการของการละทิ้งการเคลื่อนไหวและอุดมการณ์ เพื่อให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งอย่างเดียว
ลูอิส อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา อดีตผู้นำสองสมัยของบราซิล
ในปี 2002 ลูลา ชนะการเลือกตั้งและได้เป็นประธานาธิบดีสองสมัย ในรอบแรกแนวร่วมของพรรคแรงงานเป็นแนวร่วมนรกที่ประกอบไปด้วยนายทุน เจ้าของที่ดินฝ่ายขวา คนจนในเมือง นักสหภาพแรงงาน กับชนชั้นกลาง และรัฐบาลพรรคแรงงานทั้งสองสมัยภายใต้ ลูลา ใช้นโยบายเศรษฐกิจกลไกตลาดเสรีเหมือนรัฐบาลชุดก่อนๆ ดังนั้นมีการตัดเงินบำเหน็จบำนาญ เพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม ตัดภาษีให้กลุ่มทุน และขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแค่เล็กน้อย นโยบายดังกล่าวได้รับคำชมจากองค์กรไอเอ็มเอฟ
ผลของนโยบายรัฐบาลพรรคแรงงานคือทำให้กรรมาชีพในสหภาพแรงงานเริ่มเบื่อหน่ายกับพรรค และพร้อมกันนั้นมีการสลายการเคลื่อนไหวนอกรัฐสภาของสมาชิกพรรคกับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม แต่ในขณะเดียวกันมีการนำโครงการช่วยคนจนในเมืองมาใช้ เพื่อสร้างฐานเสียง เงินที่ใช้ในการช่วยคนจนมาจากกำไรจากการส่งออกวัตถุดิบที่เริ่มบูมเนื่องจากการขยายตัวของเศรษฐกิจจีน แต่ในขณะเดียวกันยังใช้แนวเศรษฐกิจเสรีนิยมกลไกตลาดต่อไป
ลูลากับเดลมา รุสเซฟ
ปัญหาเริ่มเกิดขึ้นอย่างร้ายแรงเมื่อเศรษฐกิจโลกเข้าสู่วิกฤตและราคาส่งออกของวัตถุดิบดิ่งลงเหวในยุคของประธานาธิบดี เดลมา รุสเซฟ จากพรรคแรงงาน มีการตัดโครงการต่างๆ ที่เคยช่วยคนจน และเกิดเรื่องอื้อฉาวคอร์รับชั่นต่างๆ ที่เกี่ยวกับพรรคแรงงาน มันนำไปสู่ “รัฐประหารโดยวุฒิสภาและตุลาการ” ที่ล้มรัฐบาล เดลมา รุสเซฟ ในปี 2016 และนักการเมืองฝ่ายขวาก็เข้ามาเป็นประธานาธิบดีชั่วคราวจนถึงวันเลือกตั้งที่พึ่งผ่านมา
สาเหตุที่คนอย่าง ชาอีร์ โบลโซนาโร ชนะการเลือกตั้งก็เพราะพรรคแรงงานทำลายฐานเสียงตัวเองในสหภาพแรงงานและในหมู่คนจนในเมือง โดยการใช้นโยบายที่หักหลังและละทิ้งคนธรรมดา พร้อมกันนั้นการคอร์รับชั่นก็ทำให้คนชั้นกลางเกลียดชังพรรค
โบลโซนาโร เป็นภัยต่อประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพ เพราะเขากำลังวางแผนใช้ทหารและตำรวจเพื่อสร้างรัฐบาลที่พร้อมจะใช้ความรุนแรงกับคนที่เห็นต่าง แต่ขบวนการสหภาพแรงงาน นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิทางเพศ ขบวนการนักศึกษา และขบวนการเกษตรกร ยังไม่ได้ถูกทำลาย และถ้าเรียนบทเรียนจากการล้มเผด็จการทหารรอบก่อน ก็จะสามารถเอาชนะ โบลโซนาโร ด้วยการต่อสู้นอกรัฐสภาได้
หมายเหตุ: อ่านเพิ่มเติม เรื่องบราซิลกับลาตินอเมริกาได้ที่ รวมบทความสั้น เรื่องลาตินอเมริกา... บราซิล, เวเนสเวลา, คิวบา ฯลฯ
เผยแพร่ครั้งแรกใน: Turnleft-Thailand turnleftthai.wordpress.com/
แสดงความคิดเห็น