เครือข่ายพลเมืองเน็ตรณรงค์แล้วกว่า 26,000 รายชื่อ เตรียมเสนอ สนช. เบรกแก้ไข พ.ร.บ. คอมพ์ เชื่อเป็นซิงเกิลเกตเวย์ภาคต่อเนื่อง
อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล กรรมการมูลนิธิเครือข่ายพลเมืองเน็ตให้สัมภาษณ์บีบีซีไทย สาเหตุที่รณรงค์ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ชะลอการพิจารณาร่างแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งถูกเสนอเข้าสู่วาระพิจารณาเพื่อผ่านความเห็นชอบเป็นกฎหมายอยู่ในขณะนี้ โดยให้เหตุผลว่า มาตรา 15 และ 20 ของร่างพ.ร.บ. ดังกล่าว สะท้อนให้เห็นความต่อเนื่องของนโยบายซิงเกิลเกตเวย์ของรัฐบาล และต้องการให้ สนช. ชะลอการพิจารณาและรับฟังความกังวลของประชาชนก่อน
“นอกจากจะแก้ไขมาตรา 20 ให้สามารถปิดกั้นข้อมูลคอมพิวเตอร์ได้ แม้ข้อมูลนั้นจะไม่ผิดกฎหมายใด ตามมาตรา 20 (4) แล้ว ยังแก้ไขมาตรา 15 ให้รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลมีอำนาจออกประกาศเพิ่มเติมเรื่องขั้นตอนการปิดกั้นเว็บ โดยหากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไม่ทำตามประกาศดังกล่าวก็อาจจะต้องรับโทษ” อาทิตย์อธิบายและว่าบทบัญญัติมาตรา 20 นั้น เดิมเป็นการขออำนาจศาลในการสั่งปิด หากแต่ในร่างฯ นี้ ได้บัญญัติเพิ่มเติมเพื่อเปิดช่องให้กระทรวงกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีทีออกประกาศกระทรวงเพื่อระงับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเองได้ ซึ่งเป็นการเพิ่มช่องทางในการปิดกั้นและตรวจสอบข้อมูลจากเดิมที่ใช้วิธีสั่งให้ผู้บริการอินเตอร์เน็ต หรือไอเอสพีเป็นผู้ดำเนินการปิดกั้น แต่เนื่องจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงทำให้การปิดกั้นเว็บไซต์บางอย่างทำไม่ได้ เช่น เครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊กซึ่งมีการเข้ารหัสความปลอดภัยของข้อมูล ทำให้เข้าไปตรวจสอบไม่ได้ และปิดกั้นไม่ได้
“อย่างเฟซบุ๊ก พอเว็บไซต์ใช้ https ไอเอสพีเขาจะไม่เห็นยูอาร์แอลของผู้ใช้งานตรงๆ จะเห็นเฉพาะเฟซบุ๊กดอทคอม ในกรณีของเฟซบุ๊กคงปิดกั้นได้ยาก ต่อให้ตามกฎหมายปัจจุบัน ไอเอสพีที่ทำตามคำสั่งศาลก็เพียงแต่ยัดยูอาร์แอลที่ศาลส่งมาลงในแบลกลิสตค์ แต่ในทางปฏิบัติทำอะไรไม่ได้ แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่นั้นเพิ่มเติมจากอาศัยอำนาจตามคำสั่งศาลให้ไอเอสพีปิดกั้น โดยให้ออกประกาศในการใช้เครื่องมือพิเศษซึ่งจะสามารถปิดกั้นได้จริงในทางปฏิบัติ”
อาทิตย์ระบุว่า แนวทางการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวนั้นสอดคล้องกับคำสั่งกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ที่ 163/2557 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานทดสอบระบบเฝ้าติดตามสื่อออนไลน์ ซึ่งระบุว่าคณะทำงานด้านสื่อออนไลน์ ภายใต้คณะกรรมการเพื่อติดตามการเผยแพร่ข่าวสารต่อสาธารณะ (ซึ่งแต่งตั้งตามคำสั่ง คสช. (เฉพาะ) ที่ 12/2557 ลงวันที่ 19 มิ.ย. 2557) ซึ่งกำหนดให้อำนาจเจ้าหน้าที่กระทรวง 4 เรื่องโดย 2 เรื่องแรกคือ ควบคุมการทดสอบระบบเฝ้าติดตามสื่อออนไลน์ที่มีการเข้ารหัสป้องกันข้อมูลและประเมินผล เพื่อให้ได้ระบบที่มีประสิทธิภาพสูงสุด เหมาะสมในการใช้งานสำหรับประเทศไทย”และประสานทางเทคนิคกับผู้ประกอบการและผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตภายในประเทศและที่เชื่อมต่อกับต่างประเทศโดยตรง (International Internet Gateway) ในการทดสอบระบบเฝ้าติดตามสื่อออนไลน์
อย่างไรก็ตาม อาทิตย์ยังไม่มีข้อมูลว่ากระทรวงไอซีทีมีเครื่องมือที่พร้อมสำหรับการปิดกั้นหรือตรวจสอบข้อมูลแล้วหรือไม่ เพียงแต่มีข้อสังเกตว่า การปิดกั้นโดยการดักข้อมูลที่กลางทางน่าจะเป็นเรื่องยาก แต่การดักข้อมูลที่ต้นทางหรือปลายทางนั้นมีความเป็นไปได้มากกว่า โดยการใช้โปรแกรมมัลแวร์ เช่น Finfisher ซึ่งยังไม่พบการใช้ในไทย หรือ Galileo Remote Control System ซึ่งพบการสั่งซื้อจากประเทศไทย และพบร่องรอยการใช้งานแต่ไม่อาจยืนยันได้ว่าโปรแกรมดังกล่าวถูกใช้งานโดยรัฐบาล เพราะเป็นไปได้เช่นกันที่จะถูกนำเข้าและใช้งานโดยบริษัทหรือหน่วยงานสัญชาติอื่นแต่มีที่ตั้งอยู่ในไทย
ทั้งนี้เขาระบุว่า ข้อห่วงกังวลสำหรับผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตคือความปลอดภัยของข้อมูลโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลเกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ ซึ่งหากสามารถถูกดักข้อมูลเพื่อตรวจสอบแล้ว ก็ไม่สามารถมั่นใจเรื่องความปลอดภัยในการทำธุรกรรมได้
บีบีซีไทยสอบถามความคืบหน้าเรื่องของการใช้โปรแกรมดักจับข้อมูลเพื่อตรวจสอบไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที แต่ยังไม่ได้คำตอบ
สำหรับการรณรงค์ของเครือข่ายพลเมืองเน็ตผ่านเว็บไซต์ Change ขณะนี้ (16.20 น.) มีผู้ร่วมลงชื่อแล้ว 26,000 คน โดยอาทิตย์ระบุว่าจะนำรายชื่อทั้งหมดไปยื่นให้กับสภานิติบัญญัติก่อนที่จะเข้าสู่วาระพิจารณาแก้ไขรายมาตรา ซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นในช่วงปลายเดือนนี้

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.