สภาพอากาศแปรปรวนรุนแรง ทำให้พืชหลายชนิดเป็นพิษ
โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) เปิดเผยรายงานฉบับใหม่ที่ระบุว่า สภาพอากาศแปรปรวนรุนแรง และอุณหภูมิที่สูงขึ้น กำลังทำให้พืชที่เป็นอาหารหลายชนิดกลายเป็นพิษและเป็นอันตรายต่อมนุษย์และสัตว์ทั่วโลก
คณะผู้จัดทำรายงานฉบับนี้ระบุว่า ราว 70% ของผลิตผลทางการเกษตรทั่วโลกจะได้รับผลกระทบจากปัญหานี้ และจะทำให้ประชากรกว่า 4,500 ล้านคนในประเทศกำลังพัฒนาเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการบริโภคพืชที่กลายเป็นพิษเหล่านี้
รายงานของ UNEP จัดทำขึ้นโดยอ้างอิงงานวิจัยหลายชิ้นที่บ่งชี้ว่า ความแห้งแล้งที่ยาวนานส่งผลให้พืชกว่า 80 ชนิดมีการสะสมตัวของสารประกอบไนเตรตที่เป็นพิษ ซึ่งพืชเหล่านี้มีอาทิ ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโพด ข้าวฟ่าง และถั่วเหลือง
นอกจากนี้ ยังพบว่า ฝนที่ตกหนักหลังจากเกิดภาวะแห้งแล้งยาวนานยังทำให้พืชกลายเป็นพิษอีกด้วย โดยจะทำให้เกิดการสะสมตัวของไฮโดรเจนไซยาไนด์ หรือกรดพรัสสิค ในพืชหลายชนิด เช่น ต้นแฟลกซ์ ข้าวโพด เชอร์รี่ และแอปเปิล
นักวิทยาศาสตร์ ชี้ว่า สภาพอากาศที่รุนแรงเช่นนี้ ทำให้พืชไม่สามารถเปลี่ยนไนเตรตให้กลายเป็นโปรตีนได้ ส่งผลให้เกิดการสะสมตัวของสารเคมีที่เป็นอันตรายดังกล่าว ซึ่งหากปศุสัตว์ได้รับพิษไนเตรตเฉียบพลันก็จะเกิดการแท้งลูก ขาดออกซิเจนและตายได้ อันจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์รายย่อย
รายงานยังระบุด้วยว่า อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้เกิดเชื้อราที่เป็นพิษในพืชหลายชนิด เช่น กาแฟ ถั่วประเภทต่าง ๆ ข้าวโพด พืชน้ำมัน ข้าวฟ่าง และข้าวสาลี ซึ่งสารพิษที่เกิดจากเชื้อราที่ว่านี้คือ อะฟลาท็อกซิน ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์และสัตว์แม้จะได้รับไปในปริมาณเล็กน้อย ทั้งยังเป็นสารก่อมะเร็งด้วย

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.