ท่าที "ผ่อนคลาย" ของ คสช.เป็นไปเพื่อให้บรรยากาศการทำประชามติ "ดูดี" แต่ก็ยังปิดกั้นความเห็นต่าง ไม่ยอมให้ฝ่ายไม่รับร่างฯ เคลื่อนไหวอยู่ดี
พรรคการเมืองอยากแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ ก็เรียกให้มาประชุม "รับฟัง" แต่ฟังแล้วมีประโยชน์อะไร ไม่ยอมให้ออกไปพูดข้างนอก
พรรคการเมืองอยากทำกิจกรรม ประชุมพรรค มีมติปรับปรุงพรรค กลับบอกแค่ให้ไปเมืองนอกได้
ในขณะที่การชี้แจงร่าง รธน.ข้างเดียวก็เดินหน้าต่อไป ซ้ำขู่จะเอาผิดใครต่อใคร ตั้งแต่ประชาธิปไตยใหม่ถึงพิชญ์-สุรนันท์ อาจารย์ราชภัฏราชนครินทร์ก็ถูกห้ามวิจารณ์ร่าง รธน.ของนายกสภา
ผ่อนคลายที่ว่า ก็แค่สับขาหลอก เพราะหลัง รธน.ผ่านประชามติ คสช.ยังมีอำนาจ ม.44 ซ้ำอ้างได้ว่าเป็น ม.44 ที่ผ่านประชามติแล้ว ประชาชนให้ฉันทานุมัติแล้ว ทีนี้ละเมริง ไอ้พวกต่อต้านทั้งหลาย อย่าว่าแต่ห้ามไปเมืองนอกเลย ห้ามออกจากบ้านยังทำได้สบาย

000000

ใบตองแห้ง

ไม่รู้ใครไปกระตุกหนวด เสนอไอเดีย “สายพิราบ” หลังถูกนานาชาติวิจารณ์ในที่ประชุม UPR ว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน จำกัดความเห็นต่าง สมาชิกสภายุโรปเรียกร้องให้ทำประชามติอย่างเปิดกว้าง
2 สัปดาห์ที่ผ่านมา คสช.ก็สร้างบรรยากาศ “ผ่อนคลาย” จัดประชุมฟังความเห็นนักการเมือง อนุญาตให้เดินทางไปต่างประเทศได้ผ่านร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการซ้อมทรมานและอุ้มหาย ซึ่งโฆษกไก่อูคุยใหญ่ว่า รัฐบาลจริงใจปกป้องสิทธิมนุษยชน กระทั่ง UNOHCHR ยังชม ไม่คิดว่าจะสำเร็จในรัฐบาลทหาร
แต่ไม่กี่วันนี้เอง ทหารเพิ่งไปเยี่ยมบ้านเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล อดีตเลขาธิการกลุ่มศึกษาเพื่อความเป็นไท เพื่อตรวจสอบว่านักเรียน ม.6 เป็นผู้มีอิทธิพลหรือไม่ ไม่กี่วันนี้เอง ศาลทหารเพิ่งตัดสินว่าอดีตครูเกษียณ มีความผิดฐานมอบช่อดอกไม้ให้กลุ่มพลเมืองโต้กลับ โทษจำคุก 6 เดือนแต่รอลงอาญา ขณะที่ทนายอานนท์ นำภา ถูกฟ้องศาลฐานผิด พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ จากการชวนประชาชนมายืนเฉยๆ
จาตุรนต์ ฉายแสง พูดถูกว่าการอนุญาตให้เดินทางไปต่างประเทศได้ ไม่ใช่เรื่องที่ต้องขอบคุณ เพราะตราบใดที่ คสช.ยังไม่เลิกคำสั่งห้ามวิจารณ์ เรียกคนคัดค้านไปปรับทัศนคติ หรือดำเนินคดีฐานขัดคำสั่ง นักการเมืองที่กล้าวิจารณ์อย่างจาตุรนต์ก็เดินทางไปไหนไม่ได้อยู่ดี เพราะถูกยกเลิกพาสปอร์ตและถูกระงับธุรกรรมทางการเงินมา 2 ปีแล้ว
สิ่งที่นักการเมืองและประชาชนต้องการคือเสรีภาพในการแสดงความเห็น โดยเฉพาะความเห็นต่างจากร่างรัฐธรรมนูญในการทำประชามติ แต่สิ่งที่ คสช.ให้คือ “ความปรานี” ให้เดินทางไปต่างประเทศได้ (แต่ถ้าไปวิพากษ์วิจารณ์คงกลับมาไม่ได้) ยินดีรับฟัง ทั้งที่ไม่รู้ว่าฟังไปเพื่ออะไร เพราะรัฐธรรมนูญร่างเสร็จแล้ว แก้ไขไม่ได้ แต่ก็บอกว่านี่ไง คสช.ใจดีแล้ว รับฟังแล้ว นักการเมืองอย่าไปพูดข้างนอก
ขณะที่การทำประชามติข้างเดียวก็ดำเนินไป โดยกกต.ที่เคยไม่อยากจัดเลือกตั้ง จัดงานคิกออฟกันอย่างคึกคัก กรธ.ใช้งบประมาณจัดอบรมครู ก.ข.ค. ถึง ฮ. ให้เดินปูพรมพูดข้อดีร่างรัฐธรรมนูญข้างเดียว โดยไม่ต้องบอกให้รับ แต่ฝ่ายไม่รับเคลื่อนไหวไม่ได้ พูดอะไรก็อาจถูกหาว่าบิดเบือน เช่นวิจารณ์ว่าไม่เป็นประชาธิปไตย ถ้ามีชัย ฤชุพันธุ์ ยืนยันว่าเป็นประชาธิปไตย คนวิจารณ์ก็อาจมีความผิด เพราะมีชัยเป็นน้องๆ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขนาดนักศึกษาประชาธิปไตยใหม่ท้าดีเบตท่านไม่รับดีเบต แต่พอเขาทำเอกสารวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ ท่านก็ว่าทำปกคล้ายกันแต่เปลี่ยนสี เจตนาไม่ดี
นักกฎหมายผู้วิเศษบริสุทธิ์ในประเทศนี้คงมีแต่มีชัยจริงๆ กระทั่งถูกอัญเชิญไปนั่งหลายเก้าอี้ ทั้งประธานกรรมการยกร่าง ทั้งประธานบริษัท ทั้งนายกสภามหาวิทยาลัย ที่มหาวิทยาลัยเพิ่งสั่งอาจารย์ โปรดร่วมมือกับรัฐบาล อย่าวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญของนายกสภา
ในภาวะเช่นนี้ การสร้างบรรยากาศผ่อนคลายโดย คสช.ไม่ได้มีความหมายอะไร ถ้าไม่เปิดกว้างให้วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญได้ ให้ฝ่ายรับ-ไม่รับ แสดงออกได้ อย่าพูดเลยว่าเป็นไปตามกฎหมายประชามติ ในเมื่อ คสช.คือผู้แต่งตั้งทั้ง กรธ.และ สนช. มือหนึ่งร่างรัฐธรรมนูญ อีกมือหนึ่งกำหนดกติกาประชามติ
บรรยากาศผ่อนคลายยิ่งจะไม่มีความหมายอะไร ถ้าร่างรัฐธรรมนูญผ่าน เพราะบทเฉพาะกาลมาตรา 265 ให้ คสช.ยังมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว จนกว่าจะมีรัฐบาลจากเลือกตั้ง คสช.ยังใช้ ม.44 ได้ต่อไป ซ้ำอ้างได้ว่าเป็น ม.44 ที่ผ่านประชามติ ประชาชนฉันทานุมัติแล้ว มีความชอบธรรม ฉะนั้นจะสั่งห้ามสั่งปิดกั้นยิ่งกว่าทุกวันนี้ก็ทำได้สบาย

source :- FB Atukkit Sawangsuk & http://www.kaohoon.com/online/content/view/39752

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.