ฝรั่งเศสประท้วงแผนปฏิรูปกฎหมายแรงงาน พร้อมนัดชุมนุมรอบใหม่หลังพิธีเปิดฟุตบอลยูโร
สมาชิกสหภาพแรงงาน 7 แห่งของฝรั่งเศสนัดหยุดงานและเดินขบวนทั่วประเทศ เพื่อประท้วงแผนปฏิรูปกฎหมายแรงงานของรัฐบาล เมื่อวันที่ 26 พ.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่ตำรวจหน่วยปราบปรามจลาจลปะทะกับผู้ชุมนุมในหลายเมือง ทำให้มีผู้ถูกจับกุมอย่างน้อย 77 คน เจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ 15 นาย รวมถึงรถยนต์และร้านค้าถูกเผาทำลายจำนวนหนึ่ง
การชุมนุมเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของฝรั่งเศส โดยเจ้าหน้าที่รัฐบาลประเมินว่ามีผู้ชุมนุมราว 153,000 คนทั่วประเทศ แต่แกนนำการชุมนุมประเมินว่ามีจำนวนผู้เข้าร่วมมากกว่าที่รัฐบาลประเมินอีกเท่าตัว
การหยุดงานเพื่อเข้าร่วมชุมนุมของกลุ่มแรงงานทั่วประเทศส่งผลให้โรงกลั่นน้ำมัน โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ และสถานีขนส่งสาธารณะหลายแห่งหยุดให้บริการ เที่ยวบินขาเข้าและขาออกจากกรุงปารีส เมืองน็องต์สและเมืองตูลูส ต่างได้รับผลกระทบ และผู้ให้บริการด้านพลังงานของฝรั่งเศส RTE เผยว่าการชุมนุมไม่ส่งผลกระทบทันทีต่อผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศ แต่ถ้าเหตุการณ์ย่ำแย่กว่านี้อาจส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการพลังงานในอนาคต
นอกจากนี้ยังเกิดเหตุปะทะระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตำรวจระหว่างการเดินขบวนในกรุงปารีส โดยผู้ชุมนุมเริ่มต้นจากจัตุรัสบาสตีญ์ เมื่อเกิดเหตุเผชิญหน้า ตำรวจได้ยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่ผู้ชุมนุม พร้อมจับกุมผู้ชุมนุมรวม 36 ราย ทั้งยังเกิดเหตุปะทะขึ้นอีกที่เมืองลียงและเมืองบอร์โดซ์ ซึ่งมีผู้ถูกจับกุมอีกจำนวนหนึ่ง
ด้านนายมานูเอล วาลส์ นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส ยืนยันว่ารัฐบาลจะไม่ยกเลิกแผนปฏิรูปกฎหมายแรงงาน แต่อาจจะมีการพิจารณาปรับแก้เพิ่มเติม แต่เขาไม่เห็นด้วยกับนายมิเชล ซาแปง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่เสนอให้แก้ไขมาตรา 2 ของกฎหมายแรงงานซึ่งเปิดโอกาสให้บริษัทผู้ประกอบการไม่ต้องปฏิบัติตามหน้าที่คุ้มครองแรงงานได้ในกรณีที่มีความจำเป็น ซึ่งมาตราดังกล่าวถูกคัดค้านอย่างหนักจากสหภาพแรงงานที่จัดการชุมนุม
นอกจากนี้ ผู้ชุมนุมยังไม่เห็นด้วยกับเงื่อนไขของรัฐบาลที่เสนอให้บังคับใช้แผนปฏิรูปกฎหมายได้โดยไม่ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา และการปรับแก้กฎหมายบางมาตราตามแผนปฏิรูปจะเปิดโอกาสให้นายจ้างพิจารณาปลดคนงานง่ายขึ้นในกรณีที่ธุรกิจมีแนวโน้มว่าจะตกต่ำลง ทั้งยังเปิดช่องให้นายจ้างสามารถต่อรองเรื่องวันหยุดหรือวันลาได้มากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อมาตรการคุ้มครองแรงงานเดิม แต่รัฐบาลฝรั่งเศสย้ำว่าการปฏิรูปจะช่วยให้นายจ้างพิจารณาจ้างงานในตำแหน่งงานใหม่ได้ง่ายขึ้นเช่นกัน
นายโวล์ฟกัง ชอยเบลอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของเยอรมนี กล่าวสนับสนุนรัฐบาลฝรั่งเศส โดยระบุว่าฝรั่งเศสยังคงอยู่ได้แม้จะมีความขัดแย้งเกิดขึ้นบ้าง และความไม่พอใจระหว่างประชาชนซึ่งมีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งกับผู้บริหารประเทศ ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายในเชิงหลักการ
ส่วนนายฟิลิปป์ มาร์ติเนซ ประธานสหภาพแรงงาน CGT แกนนำการชุมนุมครั้งนี้ ประกาศว่าจะจัดการชุมนุมใหญ่อีกครั้งในวันที่ 14 มิ.ย. หรือ 4 วันหลังพิธีเปิดการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2016 ซึ่งรัฐบาลฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพ

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.