ยืมปากรสนา ฮิฮิ ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ปิดฉากยุค "ทุนสามานย์" ที่ต่อต้านกันเป็นบ้าเป็นหลัง เข้าสู่ยุค "ทุนขุนนาง" ที่ข้าราชการและทุนเป็นใหญ่ อย่างเป็นทางการ
ภายใต้โครงสร้างที่ 250 ส.ว.เป็นแกนนำเลือกนายกฯ คนนอก พรรคการเมืองจะหมดความหมาย ย้อนกลับไปสู่ยุคเปรมที่รัฐราชการซึ่งมีกองทัพเป็นอำนาจนำ กุมอำนาจเบ็ดเสร็จเป็นผู้จัดสรรผลประโยชน์ให้สังคม นักการเมืองกลายเป็นเบี้ยพลอยพยัก หรือเปรตขอส่วนบุญ แบบพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม ในอดีต
ภาคธุรกิจจะพึงพอใจ เพราะนี่คือ "การเมืองนิ่ง" การวิ่งเต้นเส้นสายจะเข้าสู่ศูนย์กลางอำนาจโดยตรง ทั้งยังจะมีส่วนร่วมเข้าไปกำหนดนโยบายกับเทคโนแครตรัฐราชการ หอการค้า (นักปราบโกง) สภาอุตสาหกรรม นายธนาคาร ต่อสายตรงเข้าไปร่วมกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ ในยุคที่ต้องปรับโครงสร้างขนานใหญ่ ทั้งการลงทุนสาธารณูปโภคมูลค่ามหาศาล การปรับเปลี่ยนฐานการผลิต ภาคเกษตร ที่จะลดพื้นที่ปลูกข้าวปลูกยาง ภาคอุตสาหกรรม ที่มีทั้งย้ายฐานเปลี่ยนเซคชั่น เลิกผลิตบางอย่าง เปลี่ยนไปผลิตอะไรใหม่ๆ ซึ่งแน่นอนจะต้องมีคนตกงาน แต่ไม่ต้องห่วง มี พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ภายใต้อำนาจรัฐที่เข้มแข็ง กลไกบริหารที่เด็ดขาดชัดเจน จากบนลงล่าง ผู้ว่าฯ มหาดไทย ตำรวจ ทหาร จนถึงกำนันผู้ใหญ่บ้าน ที่จะสร้างชาติร่วมกับหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สร้างเขตเศรษฐกิจ สร้างโรงไฟฟ้า บ่อบำบัดน้ำเสีย ฯลฯ (การลงทุนอะไรที่ยุคทักษิณเคยอยากทำ ตอนนี้จะโหมทำได้ง่ายดาย อ้อ FTA TPP คราวนี้คงง่าย)
แน่ละครับ พวกที่จะกลายเป็นเสียงข้างน้อยก็คือ NGO นักอนุรักษ์ นักสิทธิชุมชนทั้งหลาย ซึ่งจะย้อนกลับไปสู่ "ยุครุ่งเรือง" เหมือนสมัยทักษิณเรืองอำนาจ ฮิฮิ เพียงแต่ครั้งนี้จะสู้ไหวแค่ไหนไม่รู้ ในเมื่อทำลายตัวเองมานักต่อนัก บางเรื่องอาจพออาศัยกระแสดราม่าคนชั้นกลาง เช่นพวกต้านเขื่อนแม่วงก์ แต่เรื่องของคนเล็กคนน้อยคนชายขอบ คนขายแรงงาน ฯลฯ นี่สิครับ ไม่มีทางต้านได้เลย
อ้อ เล่าแถมนิด เมื่อวานเจอพรรคพวก NGO สายประชาธิปไตย เขาเล่าว่า NGO นกหวีดข้างมาก หันมา Vote No แต่พวกนี้ Vote No เพียงเพราะไม่พอใจหมวดสิทธิ ไม่อ่านเรื่องอื่น "ไม่เกี่ยวกับเรา ทำไมต้องอ่าน" ไม่สนใจกระบวนการเข้าสู่อำนาจเช่นเรื่อง ส.ว.250 คน (มิน่า ตอนนั้นมี คปป.ถึง "รับค่ะ") ฟังแล้วทั้งฮาทั้งสมเพช หมวดสิทธิมันมีความหมายอะไร ถ้ากระบวนการเข้าสู่อำนาจรัฐไม่ได้มาจากประชาชนมันก็ไม่แคร์คุณ
อ้อๆ บางคนนี่นะ ที่ไม่ประกาศตัวชัดเจนว่าไม่รับ แค่ตำหนิติติงบางข้อ ก็ยังหวังเป็น ส.ว.อยู่ เผื่อจะต่อรองได้
ป.ล.แต่พวกบอกว่าในกระแสนี้ ไม่ต้องห่วงพวก NGO หรอกนะ คนที่ตายหยังเขียดคือชาวบ้าน คือแรงงาน ต่างหาก ส่วน NGO ตัวเป็นๆน่ะ จะขอทุนจากองค์กรระหว่างประเทศได้ง่ายขึ้น

000000

รสนา โตสิตระกูล พูดไว้ก่อนลงประชามติว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็น “ฉบับทุนขุนนาง” ที่ให้ข้าราชการและทุนเป็นใหญ่ แม้ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอปฏิรูปพลังงานอันเหลวไหล ที่เธอใช้ต่อรอง “รับ-ไม่รับ” แต่ผมก็เห็นด้วยว่า นี่คือรัฐธรรมนูญที่สถาปนาให้รัฐราชการกลับมาเป็นใหญ่
ไหนๆ ก็ไหนๆ เมื่อนักต่อต้าน “ทุนสามานย์” พูดเอง ก็ใช้เป็นหลักหมุดได้ว่า นี่คือจุดสิ้นสุดยุค “ทุนสามานย์” ที่คนดีมีศีลธรรมต่อต้านมา 10 ปี เข้าสู่ยุค “ทุนขุนนาง” ที่รัฐราชการซึ่งทหารกุมอำนาจนำ เป็นผู้จัดสรรผลประโยชน์ในประเทศนี้ อย่างเบ็ดเสร็จยิ่งกว่าอำนาจเลือกตั้ง
อันที่จริงมันก็เป็นมา 2 ปี แต่ประชามติให้ฉันทานุมัติ แม้มีเลือกตั้ง รัฐราชการก็ยังเป็นใหญ่ไปอีกอย่างน้อย 5 ปี นี่คือภาพที่คนทั่วไปจะเห็นชัดขึ้น เมื่อมีเลือกตั้ง ส.ส.500 คนจะกระจัดกระจาย พรรคเพื่อไทยจะได้ ส.ส.น้อยลง อย่างเก่งไม่ถึง 200 คน พรรคประชาธิปัตย์ 100 กว่าคน ที่เหลือเป็นพรรคขนาดกลาง ขณะที่ คสช.จะสรรหาและแต่งตั้ง ส.ว.250 คนมาร่วมลงมติเลือกนายกฯ
ถามหน่อย ส.ว.แต่งตั้งที่นำโดย 6 ผบ.เหล่าทัพจะเลือกใคร ถ้าไม่ใช่ผู้มีบารมีจากรัฐราชการ แบบเดียวกับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เมื่อ 30 กว่าปีก่อน ในเมื่อนักการเมืองไม่มีเครดิตแล้ว
อุตส่าห์วางระบบขนาดนี้จะให้นักการเมืองเป็นนายกฯ ทำไม เป็นก็ปกครองไม่ได้ เพราะการแต่งตั้งโยกย้ายใน 2 ปีที่ผ่านมาและอีกปีกว่าๆ มองเห็นตัว ผบ.เหล่าทัพ ปลัด อธิบดี ไปอีก 4-5 ปี องค์กรอิสระยิ่งไม่ต้องพูดถึง แต่งตั้งยุคนี้นั่งยาวไปอีก 7 ปี 9 ปี
รัฐบาลในอนาคตจึงมีนักการเมืองเป็นแค่ไม้ประดับ เอาไว้อ้างกับชาวโลกว่านี่ไง มีเลือกตั้ง แต่นโยบายจะถูกกำหนดโดยเทคโนแครต การจัดสรรผลประโยชน์ถูกกำหนดโดยอำนาจนำของระบบนี้ แล้วลดหลั่นกันไปตามระบบราชการ
ดีนะครับ ภาคธุรกิจไม่ต้องจิ้มก้องนักการเมืองเลวอีกแล้ว นักการเมืองจะเปลี่ยนบทบาทจากผู้มีอำนาจตัดสินใจไปเป็นเพียงเปรตขอส่วนบุญเหมือนในอดีต
นี่คือ การเมืองนิ่ง” ที่ภาคธุรกิจต้องการ การปกครองโดยคนดี” ที่คนชั้นกลางระดับบนต้องการ โดยภาคธุรกิจ คนชั้นกลางระดับบน อาจได้ส่วนแบ่งอำนาจ ทั้งเข้าไปร่วมกำหนดนโยบายและมีตำแหน่งแต่งตั้ง
ภาคธุรกิจที่ให้ความร่วมมือด้วยดีกับอำนาจรัฐประหาร น่าจะมีบทบาทมากขึ้นในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจช่วงเปลี่ยนผ่าน ที่จะต้องปรับโครงสร้างการผลิต ทั้งภาคเกษตรที่มีแนวคิดลดพื้นที่ปลูกข้าว ปลูกยางพารา ฯลฯ ภาคอุตสาหกรรมที่จะปรับเปลี่ยนย้ายฐานครั้งใหญ่ ต้องเลิกจ้างอีกไม่น้อย (ไม่ต้องห่วง เรามี พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ)
ในต่างจังหวัดเราก็จะเห็นภาพผู้ว่าฯ กลับไปเป็น “เจ้าเมือง” ปรึกษาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม ผลักดันเขตเศรษฐกิจ นิคม ไฟฟ้าขยะ บ่อบำบัดน้ำเสีย ฯลฯ
กลไกบริหารประเทศจะเด็ดขาดชัดเจน จากบนลงล่าง ผ่านผู้ว่าฯ มหาดไทย ตำรวจ ทหาร ลงไปถึงกำนันผู้ใหญ่บ้าน ถ้าจะเหลือพวก “ขัดขวางความเจริญ” ก็มีแค่ NGO แต่เดี๋ยวคงไม่เหลือกำลังสู้รบปรบมือ ถ้าไม่เข้าร่วม “ประชารัฐ” ก็ถูกปิดล้อมจนพ่ายแพ้
ยอมรับครับ ระบอบนี้เป็นที่พอใจของกลุ่มทุนธุรกิจที่เข้าถึงอำนาจ เป็นที่พอใจของคนชั้นกลางระดับบน แต่คนส่วนใหญ่ในสังคม รวมทั้งหลายล้านคนใน 16 ล้านคน จะพอใจหรือไม่ ลองใช้ไปเดี๋ยวรู้กัน

source :- FB Atukkit Sawangsuk & http://www.kaohoon.com/online/content/view/44341

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.