Posted: 19 Nov 2016 08:02 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
สมัชชาคนจนออกแถลงการณ์ ‘หยุดเขื่อนท่าแซะ โครงการพัฒนาที่ไม่เห็นหัวคนจน ’ ตั้งคำถามคุ้มค่าหรือไม่กับการอพยพชาวบ้านกว่า 500 ครอบครัว สูญเสียพื้นที่ป่าต้นน้ำท่าตะเภานับ 10,000 ไร่
เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2559 ที่ผ่านมาสมัชชาคนจนออกแถลงการณ์ ‘หยุดเขื่อนท่าแซะ โครงการพัฒนาที่ไม่เห็นหัวคนจน ’ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
แถลงการณ์สมัชชาคนจน
หยุดเขื่อนท่าแซะ โครงการพัฒนาที่ไม่เห็นหัวคนจน
ตามที่มีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติบางคน ได้ออกมาให้ความเห็นสนับสนุนโครงการก่อสร้างเขื่อนท่าแซะ เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย และจะมีส่วนสร้างงานให้ลูกหลานชาวชุมพร ไม่ต้องเข้าไปทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ และได้เสนอให้มีการยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี เมื่อปี 2551 ที่ให้ชะลอโครงการก่อสร้างเขื่อนดังกล่าวนี้ไว้ก่อน และยังมีกระแสข่าวว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ได้เสนอแนวคิดจะอพยพชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนท่าแซะ จำนวนกว่า 500 ครอบครัว ไปในพื้นที่ป่าหมดสัญญาเช่าปลูกปาล์มของเอกชนรายหนึ่ง ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 10,000 ไร่ ตั้งอยู่ในพื้นที่ต้นน้ำท่าตะเภานั้น
สมัชชาคนจน เห็นว่าโครงการก่อสร้างเขื่อนท่าแซะ เดิมมีวัตถุประสงค์หลักในการก่อสร้าง เพื่อป้องกันและบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ราบลุ่มน้ำชุมพร พร้อมทั้งเป็นแหล่งน้ำสำหรับเกษตรกรรม อุปโภคบริโภค และเป็นแหล่งน้ำมันดิบให้กับพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ต่อมาในปี 2540 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ได้มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาอุทกภัยของจังหวัดชุมพร โดยมีการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ให้เป็นแกล้มลิงธรรมชาติที่สมบูรณ์แบบ นับแต่นั้นจังหวัดชุมพรก็ไม่ได้มีปัญหาเรื่องอุทกภัย แต่การอ้างเหตุภัยแล้งและอุทกภัยมาพยายามผลักดันโครงการก่อสร้างเขื่อนดังกล่าวนี้ เพื่อปิดบังอำพรางเหตุผลที่แท้จริงคือ การสร้างแหล่งน้ำมันดิบให้กับพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
จากเหตุผลดังที่กล่าวนี้ เป็นเรื่องน่าสนใจว่า คุ้มค่าหรือไม่กับแนวคิดการอพยพชาวบ้านกว่า 500 ครอบครัว ออกจากพื้นที่โครงการก่อสร้างเขื่อนท่าแซะ คุ้มค่าหรือไม่ที่จะสูญเสียพื้นที่ป่าต้นน้ำท่าตะเภานับ 10,000 ไร่ เป็นพื้นที่รองรับการอพยพชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ คุ้มค่าหรือไม่ที่จะสูญเสียพื้นที่ป่าบางส่วนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเสด็จในกรม กรมหลวงชุมพร ด้านทิศเหนือ เพื่อก่อสร้างเขื่อนท่าแซะ คุ้มค่าหรือไม่ที่จะใช้เงินภาษีของประชาชนกว่า 3,000 ล้านบาท ก่อสร้างเขื่อนท่าแซะ เพื่อสนองความต้องการและเอื้อประโยชน์ให้กับคนบางกลุ่ม ทั้งที่ไม่เป็นธรรมสำหรับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนดังกล่าว
ดังนั้นสมัชชาคนจน จึงขอยืนยันที่จะคัดค้านโครงการก่อสร้างเขื่อนท่าแซะอย่างถึงที่สุด และเรียกร้องให้รัฐบาลตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯ หยุดการใช้คนจนเป็นเหยื้อโครงการพัฒนาเช่นนี้เสียที และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำพื้นที่ป่าที่หมดสัญญาเช่าปลูกปาล์ม ไปดำเนินการฟื้นฟูเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำท่าตะเภาของชาวชุมพรต่อไป
ประชาธิปไตยที่กินได้ การเมืองที่เห็นหัวคนจน
สมัชชาคนจน
18 พฤศจิกายน 2559
แสดงความคิดเห็น