แฟ้มภาพ

ฉลุย สนช.รับ ร่าง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ วาระแรก 'วิษณุ' ชูเหนือกว่า กม.ทุกฉบับ

Posted: 21 Apr 2017 12:09 PM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

รองหัวหน้า ปชป. อัด ไม่พ้นทหารคุม 'ซุปเปอร์บอร์ด' แถมรัฐบาลเลือกตั้งทำงานยากเหตุถูกตีกรอบ หลัง สนช.รับ ร่าง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ วาระแรก โดย 'วิษณุ' แจงเป็นกฎหมายอยู่เหนือกว่าทุกฉบับ องค์กรไหนเมินเจอชง ป.ป.ช.ฟันแน่ ยันแก้ได้ไม่ยาก

21 เม.ย. 2560 รายงานข่าวระบุว่า ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีมติเอกฉันท์ 196 เสียง เห็นชอบในหลักการของร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ โดยมีผู้งดออกเสียง 3 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 33 คน แปรญัตติ 15 วัน และมีกรอบการดำเนินการ 60 วัน

โดยก่อนลงมติ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวชี้แจงว่า กฎหมายฉบับนี้พ่วงกับร่าง พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ แต่สำคัญกว่า เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดว่ารัฐ หมายถึง ครม.ต้องจัดทำกฎหมายยุทธศาสตร์เพื่อวางเป้าหมาย เป็นแผนที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ เศรษฐกิจ การใช้งบประมาณกำลังคนให้เสร็จภายใน 120 วัน หลังร่างรัฐธรรมนูญประกาศใช้ โดยมีการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ หรือซูเปอร์บอร์ด ดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติที่กำหนดขึ้นมา ให้เสร็จใน 1 ปี จึงเป็นกฎหมายที่เหนือกว่าทุกฉบับ มีผลผูกพันกับทุกองค์กร หากพบว่าหน่วยงานใดไม่ปฏิบัติตามแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติจะมีมาตรการในเชิงบังคับ ในสถานเบาจะตักเตือนหน่วยงานที่ฝ่าฝืนให้ปรับปรุงแก้ไข แต่ถ้ายังไม่นำพา ให้ส่งเรื่องไปที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หาก ป.ป.ช.ชี้ว่ากระทำผิดจริง จงใจฝ่าฝืน ให้ดำเนินการตามกฎหมายต่อหัวหน้าส่วนราชการที่ฝ่าฝืนได้

“ส่วนที่กังวลกันว่าการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติไว้ล่วงหน้า 20 ปี สุ่มเสี่ยงต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกนั้น รัฐบาลใดก็ตามที่เห็นถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นก็ปรับแก้ไขกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติได้ ไม่เหนือบ่ากว่าแรง แก้ไขไม่ยาก แต่ต้องเข้าตามตรอกออกตามประตู ให้เหมือนกับตอนตั้งต้นร่างกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติ คือจะต้องผ่านการรับฟังความคิดเห็นประชาชน และต้องผ่านสภา ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 77 ตามรัฐธรรมนูญที่ต้องร่างกฎหมายฉบับนี้ต้องรับฟังความเห็นนั้น สนช.ไม่ต้องกังวลเพราะ สปท.ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นส่งมาที่รัฐบาลแล้ว จึงไม่ต้องรับฟังความเห็นเพิ่มอีก และจากนี้จะเปิดเผยเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวต่อสาธารณะเรื่อยๆ” วิษณุ กล่าว

ทั้งนี้ สมาชิก สนช. ต่างอภิปรายสนับสนุนจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติ ที่จะทำให้การพัฒนาประเทศเกิดความต่อเนื่อง และมองเห็นอนาคตของประเทศในระยะยาว แต่มีการตั้งข้อสังเกตถึงสัดส่วนในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ หรือ ซุปเปอร์บอร์ด ที่มีบุคลากรจากกองทัพมากเกินไป จนเหมือนกันการทำแผนยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง

รองหัวหน้า ปชป. อัด ไม่พ้นทหารคุมซุปเปอร์บอร์ด

ด้าน นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี สนช. มีมติรับร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติที่ ครม.เสนอ โดยให้ฝ่ายความมั่นคงเข้ามาเป็นคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ หรือ ซุปเปอร์บอร์ด เข้ามาทำงานตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ให้เสร็จใน 1 ปี ซึ่งเป็นกฎหมายเหนือกว่าทุกฉบับ มีผลผูกพันกับทุกองค์กรว่า เป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่เขาเขียนขึ้นมา และเป็นวิธีคิดของรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจ เพราะเมื่อเขามีที่มาแบบนี้ เขาก็คิดถึงความมั่นคงเป็นหลัก ที่จะใช้ความมั่นคง ทางทหารมาคุมความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงทางการเมือง คือเขามองแค่มิตินี้ และคนที่พิจารณาร่างกฎหมายนี้ก็เป็นคนที่เขาตั้งมาเอง ผลจึงออกมาเช่นนี้ ทั้งที่มิตินี้มันล้าหลังที่สุด แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะมิตินี้เขาคิดมาให้แล้วว่า คนในสังคมไม่ต้องคิดอะไรมากแค่ทำตามที่เขาสั่งก็พอ

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวอีกว่า ตนมองที่ผลกระทบคือ ต่อไปรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะทำงานยากมากขึ้นเพราะถูกตีกรอบ และการที่ประเทศอยู่ในระบบการปกครองแบบทหารนาน และอยู่ในขาลงทุกด้าน คนในสังคมจะคิดถึงการเลือกตั้ง โดยตั้งความคาดหวังไว้สูง แต่เมื่อได้รัฐบาลเลือกตั้งมาบริหาร ก็จะติดขัดจากกรอบที่ถูกวางไว้ รัฐบาลเลือกตั้งแก้ไขปัญหาได้ช้ากว่า เพราะทุกเรื่องต้องผ่านฉันทามติ สุดท้ายคนก็จะเบื่อและนำไปเปรียบเทียบกับระบบเผด็จการทหารอีกที่แก้ไขปัญหาได้รวดเร็ว เบ็ดเสร็จกว่า เพราะมีอำนาจพิเศษ เช่น ม.44 เป็นเครื่องมือ คนก็จะเรียกร้องหา โดยไม่คิดถึงที่มาของการเข้าสู่อำนาจว่าด้วยวิธีการใด จึงอยากให้ สนช.ล้มร่างกฎหมายเลือกตั้ง เพื่อที่จะให้รัฐบาลนี้อยู่ต่อได้อีก 5-10 ปี เพื่อที่สังคมไทยจะได้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเองว่า คนในสังคมต้องการจะเลือกระบอบการปกครองแบบใด ซึ่งมีแค่ 3 แบบคือ คอมมิวคอมมิวนิสต์ ประชาธิปไตย และเผด็จการทหาร จึงขึ้นอยู่กับคนในสังคมไทยว่าจะเอาอย่างไร กับประเทศชาติต่อไป

ที่มา : สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น ผู้จัดการออนไลน์ และไทยรัฐออนไลน์

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.