สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: ก้าวเข้าสู่พิธีกรรมเลือกตั้ง
Posted: 21 Apr 2017 01:59 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
หลังจากคณะทหารใช้อำนาจเผด็จการมาแล้วเกือบ 3 ปี ในที่สุด ก็มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อวันที่ 6 เมษายน ที่ผ่านมานี้ ซึ่งรัฐธรรมนูญนี้ถือเป็นฉบับที่ 20 ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย สื่อมวลชนหลายสำนักอธิบายกันว่า ตั้งแต่นี้ สังคมไทยก็จะเริ่มต้นนับหนึ่งไปสู่ประชาธิปไตย ซึ่งจะเป็นการนับหนึ่งใหม่ครั้งที่ 9 นับตั้งแต่รัฐประหาร พ.ศ.2490 เป็นต้นมา และถ้าคิดว่าประเทศไทยปฏิวัติเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยมาตั้งแต่มิถุนายน พ.ศ.2475 การเริ่มต้นใหม่ในปีนี้ ก็เป็นปีที่ 85 ของระบอบรัฐธรรมนูญไทย แต่กลับไม่อาจแน่ใจได้ว่า การนับหนึ่งที่เริ่มขึ้นนี้จะนำสังคมไทยฟื้นคืนสู่ประชาธิปไตยจริงหรือไม่ หรือจะยิ่งนำไปสู่สภาพการเมืองที่เหลวไหลยิ่งกว่าเดิม
ปัญหาประการแรกสุด การประกาศใช้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ ไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย เพราะตามบทเฉพาะกาล กำหนดให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ยังคงอยู่ต่อไป คณะรัฐบาลเผด็จการชุดนี้และสภานิติบัญญัติชุดแต่งตั้งโดยทหารก็ยังคงทำงานอยู่ จนกว่าจะมีการเลือกตั้งรัฐบาลใหม่และสภาชุดใหม่ และแม้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 จะสิ้นสภาพลง แต่ฝ่าย คสช.ย้ำว่า กฎหมายเผด็จการมาตรา 44 ไม่ได้ถูกยกเลิก และจะใช้ภายใต้หลักเกณฑ์เดิม ยิ่งกว่านั้น กระบวนการสู่การเลือกตั้งก็ยังคงยาวนานและไม่มีความแน่นอน
ขั้นตอนสู่การเลือกตั้งตามคำแถลงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหาร คือ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจะจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 8 เดือน แต่ละฉบับส่งให้สภานิติบัญญัติพิจารณาภายใน 2 เดือน หากมีการแก้ไขเพิ่มเติมจะใช้เวลาเพิ่มอีก 1 เดือน และนำขึ้นทูลเกล้าประกาศใช้เป็นกฎหมายภายใน 3 เดือน จากนั้น จะเข้าสู่ช่วงการเลือกตั้งซึ่งจะดำเนินการภายใน 5 เดือน ตามกระบวนการทั้งหมดนี้ อ้างกันว่าประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งในปลายปี พ.ศ.2561 หรือต้นปี พ.ศ.2462 แต่ พล.อ.ประยุทธ์ก็ไม่ได้ให้การรับประกันชัดเจนโดยแถลงว่า “รัฐบาลยังไม่สามารถระบุวันเลือกตั้งได้อย่างชัดเจน เพราะไม่อาจกำหนดวันเริ่มต้นของแต่ละเหตุการณ์ได้” หมายความว่า การเลือกตั้งอาจเกิดช้ากว่านั้นก็ยังได้อีก
ปัญหาต่อมา ยังมาจากตัวรัฐธรรมนูญเอง เพราะเป็นที่ชัดเจนว่า ระบบการเมืองที่ออกแบบโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยตามหลักสากล แต่เป็นสิ่งที่เรียกกันว่า “ระบอบไฮบริด(ลูกผสม)” หรือเป็นเผด็จการแฝงรูปนั่นเอง ซึ่งสรุปได้ว่า เนื้อหาอันไม่เป็นประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญนี้มีประเด็นหลัก 5 ประการ
ประเด็นแรกคือ การกำหนดให้วุฒิสภามาจากการแต่งตั้งทั้งหมด 250 คน ในจำนวนนี้กำหนดให้ผู้บัญชาการเหล่าทัพทั้งหมด เป็นสมาชิกวุฒิสภาโดยตำแหน่ง และในสมัยแรก 5 ปี วุฒิสภาจะมาจากการแต่งตั้งของ คสช.ทั้งหมด หลังจากนั้น จึงให้มีกระบวนการคัดเลือกจากกลุ่มอาชีพ แต่ก็จะเป็นเหตุการณ์อีกไม่ต่ำว่า 7 ปีข้างหน้า ซึ่งไม่มีใครคาดได้ว่า รัฐธรรมนูญฯฉบับนี้จะยังบังคับใช้อยู่หรือไม่
ประเด็นที่สอง คือ การเปิดทางให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอกที่ไม่ผ่านการเลือกตั้ง คือให้พรรคการเมืองทุกพรรคที่ลงสมัครแข่งขันต้องเสนอชื่อบุคคลที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีไม่เกิน 3 รายชื่อ และสภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณาเห็นชอบนายกรัฐมนตรีคนใหม่จากรายชื่อเหล่านี้ แต่ถ้ายังแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีไม่ได้ ให้สมาชิกสภาไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งเสนอมติยกเว้น ไม่ต้องเสนอตามบัญชีรายชื่อได้ โดยมาตราทั้งหมดไม่ได้ระบุเลยว่า นายกรัฐมนตรีคนใหม่จะต้องผ่านกระบวนการมาจากการเลือกตั้ง
ประเด็นที่สาม คือ การกำหนดวิธีการเลือกตั้งอันแปลกประหลาดและสลับซับซ้อน ที่เรียกว่า “ระบบสัดส่วนผสม” คือ ให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 350 คน และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 150 แต่ให้ประชาชนกาบัตรใบเดียว คือเลือกตัวผู้สมัคร แล้วจะส่งผลให้เป็นการเลือกพรรคการเมืองที่ผู้สมัครนั้นสังกัดอยู่ไปด้วย และคะแนนทั้งหมดที่ประชาชนเลือกจะนำไปใช้คิดจำนวนที่นั่ง ส.ส.ในสภาที่พรรคการเมืองนั้นควรจะได้ ระบบสภาที่ซับซ้อนเช่นนี้ จะมีผลในการควบคุมจำนวนที่นั่งของพรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้ง ให้สิทธิแก่พรรคขนาดรองที่แพ้เลือกตั้ง และพรรคขนาดกลาง แต่จะทำลายพรรคการเมืองขนาดเล็ก เพื่อทำให้สภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วยพรรคการเมืองขนาดกลางหลายพรรค เหมาะแก่การตั้งรัฐบาลผสม และสอดคล้องกับการเชิญบุคคลที่ไม่ผ่านการเลือกตั้งมาเป็นนายกรัฐมนตรี หรือถ้าได้นายกรัฐมนตรีที่มาจากพรรคการเมือง ก็จะได้รัฐบาลก็จะไม่มีเสถียรภาพ
ประเด็นที่สี่ คือ การกำหนดยุทธศาสตร์แห่งชาติล่วงหน้า และกำหนดว่ารัฐบาลใหม่ต้องปฏิบัติตาม และจะต้องดำเนินการปฏิรูปประเทศตามที่กำหนดควบคู่กันไปด้วย หมายความว่ารัฐบาลใหม่จะฐานะราวกับข้าราชการประจำไม่มีโอกาสกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ของตนเอง ต้องทำตามยุทธศาสตร์ที่ถูกกำหนดไว้แล้วและใส่ไว้ในแนวนโยบายแห่งชาติในรัฐธรรมนูญ
ประเด็นที่ห้า คือ การให้อำนาจมากล้นฟ้ายิ่งกว่าเดิม แก่ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ โดยอำนาจลักษณะเดิมในการควบคุมการบริหารบ้านเมืองแบบที่มีในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ก็ยังคงอยู่ และยังกำหนดสิ่งที่เรียกว่า “มาตรฐานทางจริยธรรม” ซึ่งไม่มีความหมายชัดเจน แต่ให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระเป็นผู้กำหนดและตีความ ปัญหาก็คือ ที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระทั้งหมด ไม่ยึดโยงกับอำนาจของประชาชน แต่กลับเอื้ออำนวยให้กับฝ่ายตุลาการ และข้าราชการเข้ามาเป็นผู้ทำหน้าที่กำหนดกฎเกณฑ์
กล่าวโดยสรุปแล้วจะเห็นได้ว่า ถึงจะมีกระบวนเลือกตั้งและการตั้งรัฐบาลใหม่ตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญนี้ทั้งหมด ก็ไม่ได้หมายความว่า ประเทศไทยจะได้ระบบการเมืองแบบใหม่ที่เป็นประชาธิปไตย คงต้องกล่าวด้วยว่า ประเด็นเหล่านี้ ได้เคยถูกรณรงค์แล้วตั้งแต่เมื่อมีการเคลื่อนไหวลงประชามติต่อต้านรัฐธรรมนูญเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2559 แต่กลุ่มชนชั้นกลางและสื่อมวลชนกระแสหลักไม่ได้สนใจประเด็นนี้เลย กลับร่วมใจกันไปลงประขามติสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญลูกผสม และเมื่อพิจารณาจากกระบวนการสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในระยะเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา อธิบายได้เลยว่า ชนชั้นสูงและชนชั้นกลางไทย ไม่ได้สนใจการเมืองแบบประชาธิปไตย เพียงแต่รู้สึกว่า จะต้องมีการเลือกตั้งเพราะต่างประเทศจะได้เลิกต่อต้าน และจะได้เปิดเงื่อนไขในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่ก็วิตกว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนจะมีอำนาจมากเกินไป จึงพอใจที่จะให้การเลือกตั้งเป็นเพียง”พิธีกรรม”ให้ต่างชาติยอมรับ แล้วยินยอมให้ฝ่ายทหาร คณะตุลาการ และ ข้าราชการ ควบคุมอำนาจต่อไป
ถ้าเช่นนั้น ขบวนการประชาธิปไตยและพรรคเพื่อไทย ควรจะเข้าร่วมกระบวนการทางพิธีกรรมเลือกตั้งแบบนี้หรือไม่ มีข้อเสนอไม่น้อยที่ว่า พรรคเพื่อไทยและขบวนการประชาธิปไตยควรจะปฏิเสธและคว่ำบาตรการเลือกตั้งแบบนี้ แต่ผมอยากจะทดลองเสนอว่า เราควรที่จะเข้าร่วมในจุดยืนเดียวกันกับครั้งรณรงค์ต่อต้านรัฐธรรมนูญ คือ เข้าร่วมเพื่อจะแสดงความเห็นในการคัดค้านให้มากที่สุด ควรมีนโยบายอย่างชัดเจนในการคัดค้านรัฐธรรมนูญ และมีข้อเสนอในการแก้ไขระบอบการเมืองอย่างสันติวิธี โดยใช้การเลือกตั้งเป็นการรณรงค์ทางความคิดในหมู่ประชาชนให้เห็นความอัปลักษณ์ทางการเมืองไทย
ส่วนอนาคตทางการเมืองข้างหน้าของระบอบการเมืองใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 คงไม่ต้องวิตกมากนัก เพราะเป็นที่วิเคราะห์ว่า รัฐธรรมนูญนี้จะนำซึ่งวิกฤตทางการเมืองครั้งใหม่อย่างรวดเร็ว และการกำหนดเงื่อนไขให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ไขได้ยากมาก จะเป็นการชักชวนให้กองทัพก่อรัฐประหารครั้งใหม่เพื่อล้มล้างรัฐธรรมนูญแล้วร่างใหม่ และเมื่อถึงเวลานั้น เราก็ค่อยมาเริ่มต้นนับหนึ่งกันใหม่อีกครั้งสำหรับสังคมไทย
หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน โลกวันนี้วันสุข ฉบับ 612 วันที่ 15 เมษายน 2560
แสดงความคิดเห็น