ร้านหนังสืออิสระ-พื้นที่แสวงหาประชาธิปไตยของพลเมืองไต้หวัน


Posted: 21 Apr 2017 11:22 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

นอกจากไต้หวันจะเป็นปลายทางของนักท่องเที่ยวชาวไทยเพราะไม่ต้องขอวีซ่าแล้ว ไต้หวันยังเป็นพื้นที่เรียนรู้ประสบการณ์ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและภาคประชาสังคม โดยหลังจากการก่อตัวของ “ขบวนการดอกทานตะวัน” ทำให้เกิดขบวนการเสวนา “ Friday Philo” กระจายไปในหลายพื้นที่ของไต้หวัน โดยพวกเขาเชื่อมั่นว่าการเพิ่มพูนศักยภาพในการคิดและการอภิปรายโต้วาทีเท่านั้นที่จะรักษาคุณภาพและความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยของไต้หวันเอาไว้ได้

หลังจากไต้หวันมีมาตรการยกเว้นวีซ่าให้กับผู้ถือหนังสือเดินทางไทยซึ่งประกาศเมื่อ 1 สิงหาคม 2559 และจะหมดอายุ 31 กรกฎาคม 2560 นั้น ล่าสุดไต้หวันมีมติต่ออายุมาตรการยกเว้นวีซ่าไปอีก 1 ปี จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2561 โดยมาตรการยกเว้นวีซ่าที่ผ่านมาทำให้มีนักท่องเที่ยวจากไทยเดินทางมาไต้หวันเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 57.26

ทั้งนี้ไต้หวันกำลังดำเนินนโยบายระหว่างประเทศใหม่คือ นโยบายมุ่งลงใต้ ซึ่งต้องการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ โดยนอกจากมาตรการยกเว้นวีซ่ากับไทยแล้ว ยังมีการยกเว้นวีซ่าให้กับฟิลิปปินส์ และยังยกเว้นวีซ่าให้กับผู้ที่เคยได้วีซ่าท่องเที่ยวในรอบ 10 ปี จากอินเดีย อินโดนีเซีย เวียดนาม พม่า กัมพูชาและลาวอีกด้วย

ผมในฐานะที่เป็นชาวต่างชาติที่มาเรียนอยู่ในกรุงเทพฯ บางครั้งระหว่างรอเที่ยวบินกลับมายังไต้หวันที่สนามบิน ผมมีโอกาสสนทนากับนักท่องเที่ยวชาวไทยบางคน พวกเขาบอกผมว่า อยากตระเวนชิมอาหารริมทาง ไปซื้อรองเท้ากีฬา หรือไปชมพิพิธภัณฑ์ โดยที่การเดินทางที่ไม่ต้องทำวีซ่าและใช้งบประมาณไม่มากจึงทำให้ไต้หวันกลายเป็นจุดหมายเดินทางที่สำคัญสำหรับคนไทย

นอกจากเรื่องการท่องเที่ยวแล้ว ไต้หวันยังเป็นปลายทางที่ควรค่าสำหรับการแสวงหาและศึกษาประสบการณ์ประชาธิปไตยและภาคประชาสังคมอีกด้วย

เสรีภาพและประชาสังคมในไต้หวัน

ในปี 2560 รายงานด้านสิทธิทางการเมืองและเสรีภาพของ “Freedom House” จัดประเทศไต้หวันให้อยู่ในกลุ่มประเทศ “เสรี” และคะแนนในปีนี้ก็ได้อยู่ในระดับที่สูงกว่าสหรัฐอเมริกา โดย “Freedom House” ระบุว่าเป็นผลมาจากเสรีภาพของสื่อ และการขยายตัวของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม รวมถึง “ขบวนการดอกทานตะวัน” (Sunflower Movement) ที่ก่อตัวมาตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งทำให้เห็นว่าไต้หวันไม่เพียงแค่มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นหนึ่งในประเทศเสรีนิยมอีกแห่งในย่านเอเชียตะวันออกอีกด้วย

เมื่อกล่าวถึง “ขบวนการดอกทานตะวัน” เมื่อ 3 ปีที่แล้ว พวกเขาซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเรียนนักศึกษา ได้เข้ายึดที่ทำการสภานิติบัญญัติกินเวลาหลายสัปดาห์ โดยมีเป้าหมายเพื่อยุติข้อตกลงการค้าเสรีด้านอุตสาหกรรมบริการระหว่างไต้หวันและจีนที่พวกเขามองว่าไต้หวันเสียเปรียบ

เรื่องนี้ได้กระตุ้นความสนใจของเยาวชนรุ่นใหม่เกี่ยวกับประเด็นทางการเมือง หลายคนพบว่าในสังคมไต้หวันแม้จะชื่อว่ามีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่ขาดพื้นฐานเรื่องความคิดและเหตุผลที่เข้มแข็งในการสนับสนุนแนวคิดประชาธิปไตย ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการ “ประชาธิปไตยถดถอย” ได้ง่ายๆ หากความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยในหมู่เยาวชนยังไม่มั่นคง

การจุดประกายให้ประชาชนตระหนักในคุณค่าประชาธิปไตย เป็นประเด็นที่มีการรณรงค์มาอย่างยาวนานในไต้หวัน แนวคิดนี้ทำให้ประชาชนไต้หวันจำนวนมากเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครในการจัดตั้งกลุ่มอภิปรายที่เรียกกันว่า “ซาลอน” (Salon) ในช่วงที่เกิดขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ในสมัยรัฐบาลของประธานาธิบดีหม่าอิงจิ่ว (Ma Ing-jeou) ก่อนหน้านี้ ที่มีนโยบายสนับสนุนแนวทางจีนแผ่นดินใหญ่

ทั้งนี้ผู้คนที่ตั้งกลุ่มสนทนาเชื่อว่า การเพิ่มพูนศักยภาพในการคิด และการโต้วาทีเท่านั้นที่จะรักษาคุณภาพและความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยเอาไว้ได้

“Friday Philo” และ “ซาลอน” สนทนาเชิงทดลองเพื่อเปิดพื้นที่สาธารณะ



ตัวอย่างของกลุ่มอภิปราย “ซาลอน” เช่น การเสวนาที่เรียกว่า “Friday Philo” ซึ่งจัดทุกคืนวันศุกร์ ในรูปแบบเสวนาประเด็นทางการเมืองและสังคมในปัจจุบันของไต้หวัน ซึ่งเริ่มจัดมาตั้งแต่ปี 2553 ในไทเป และปัจจุบันมีการขยายไปกว่า 20 เมืองทั่วโลก มุ่งเป้าไปที่การเสริมสร้างความตระหนักรู้ทางการเมือง และเชื่อมต่อเครือข่ายสำหรับผู้ที่สนใจประเด็นทางสังคม

แนวคิดนี้มาจากฝรั่งเศสที่มี “ซาลอน” เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับผู้คนสำหรับการอภิปรายและสนทนา ผู้จัดกลุ่มอภิปราย “Friday Philo” เชื่อว่าไต้หวันควรปลูกฝังจิตสำนึกทางการเมืองของพลเมืองต่อประเด็นทางสังคม

โดยหลังการเกิดขึ้นของ “Friday Philo” เฉพาะในไทเปมีสถานที่อย่างน้อย 3 แห่งที่เราสามารถเข้าร่วมการเสวนาได้ และผู้จัดงานทั้งหมดก็เป็นไปในลักษณะอาสาสมัคร

ประเด็นที่มีการพูดคุยกัน ครอบคลุมทั้งประเด็นระดับท้องถิ่นและระดับโลก เช่น สิทธิมนุษยชน ประชานิยมในประเด็นประชาธิปไตย พลังงานสีเขียว และปัจจัยจากประเทศจีน โดยผู้จัดงานมีเงื่อนไขว่า ห้ามมิให้เชิญนักการเมืองคนใดก็ตามมาเป็นวิทยากร โดย “Friday Philo” ต้องการรักษาบทบาทของพลเมืองธรรมดาให้ได้มากที่สุด

Tò-uat Books x Cafe Philo: พื้นที่สนทนาของพลเมือง




โดยที่ “Tò-uat Books x Cafe Philo” ถือเป็นพื้นที่สนทนาสำคัญในกรุงไทเป ที่มีการจัดกิจกรรมเสวนา “Friday Philo” อย่างสม่ำเสมอ และนอกจากนี้ยังสามารถเข้าชมเว็บไซต์ 5philo.com ซึ่งจะมีการอัพเดทข้อมูลการจัดกิจกรรมในแต่ละสัปดาห์ของ “Friday Philo” อย่างน้อย 30 แห่งทั้งในไต้หวันและทั่วโลกอีกด้วย

Tò-uat Books x Cafe Philo [review]
ที่อยู่: No. 3, Shaoxing North Street, Zhongzheng District, Taipei City, Taiwan
เวลาทำการ: 09:00-22:00 น. (เปิดทุกวัน)


นอกจากพื้นที่เสวนาแล้วในไทเป ยังมีร้านหนังสือที่รณรงค์ประเด็นทางสังคม โดยเฉพาะสิทธิทางเพศและ LGBT เช่น Gin Gin Bookstore และ Fembooks

Gin Gin Store: ร้านหนังสือ LGBT แห่งแรกในไต้หวัน



ที่ร้านหนังสือ “Gin Gin Store” ถือเป็นร้านที่เปิดการด้านการขายสิ่งตีพิมพ์ที่เกี่ยวข้องกับ LGBT มาตั้งแต่ 20 ปีที่แล้วในขณะที่ไต้หวันยังเป็นสังคมอนุรักษ์ โดยช่วงสองสามเดือนแรกที่ร้าน “Gin Gin Store” เปิดในย่านที่อยู่อาศัยใกล้กับมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน (National Taiwan University) ก็ถูกคุกคามจากเพื่อนบ้านที่ไม่เข้าใจประเด็น LGBT แต่ในปัจจุบันร้านหนังสือ “Gin Gin Store” ถือเป็นแหล่งรวมหนังสือที่น่าสนใจเกี่ยวกับประเด็น LGBT ในไต้หวันและยังเป็นผู้สนับสนุนกิจกรรมด้านสิทธิ LGBT ในไต้หวันด้วย

GinGin Store [facebook]
ที่อยู่: 1F, No.8, Alley 8, Lane 210, Sec. 3, Roosevelt Rd., Taipei, Taiwan
(Near MRT Taipower Building Exit 1/ MRT Gongguan Station Exit 4)
เวลาทำการ: 13:30-21:30 น. (ปิดทุกวันอังคาร)



Fembooks (女書店): สตรีศึกษาผ่านหนังสือ



ร้านหนังสือแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2537 โดยกลุ่มนักเคลื่อนไหวและผู้สนับสนุนองค์กร “Awakening Foundation” องค์กรการเคลื่อนไหวสตรีแห่งแรกในไต้หวัน โดยคุณสามารถหาหนังสือหรือข้อมูลที่เกี่ยวกับประเด็นสตรีนิยมทั้งในโลกตะวันตกหรือในไต้หวันได้ที่นี่

Fembooks
ที่อยู่: 2F, No. 7, Lane 56, Hsin-sheng South Road, Sec. 3, Taipei, Taiwan
(Near MRT Gongguan Station Exit 3-National Taiwan University)
เวลาทำการ: 13.00 -18.00 น. วันอังคารถึงวันพฤหัสบดี
13.00 – 21.00 น. วันศุกร์ถึงวันเสาร์
หยุดทุกวันจันทร์ วันอาทิตย์ และวันหยุด




เกี่ยวกับผู้เขียน: YenLin Chen เป็นนักศึกษาฝึกงานจากไต้หวัน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงศึกษาธิการของไต้หวัน ภายใต้โครงการ New Southbound Policy


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.