Posted: 26 Feb 2018 11:22 PM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
10 ปีของ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 มรดกสำคัญของรัฐประหารปี 2549 กอ.รมน. แปลงสภาพเป็นหน่วยงานถาวรที่คอยสร้างความชอบธรรมให้กองทัพด้วยสารพัดวิธี เริ่มเข้าไปพัวพันกับกระบวนการยุติธรรม ควบคุมพลเรือน และมองประชาธิปไตยคือภัยความมั่นคงในยุคสงครามเย็น กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน หรือ กอ.รมน. เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ ครั้นพรรคคอมมิวนิสต์ล่มสลาย สงครามเย็นยุติไปพร้อมกับการพังทลายของกำแพงเบอร์ลิน กอ.รมน. ก็ควรยุติบทบาทและยุบไปตามกาลเวลา ทว่า มันไม่เป็นเช่นนั้น
กอ.รมน. ยังคงอยู่และอยู่อย่างถาวรในฐานะหน่วยงานหนึ่งของรัฐนับตั้งแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2551 ที่พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ถูกประกาศใช้ 10 ปีผ่านมา กอ.รมน. เป็นมือไม้ของกองทัพสยายปีก แทรกซึม จัดตั้ง และสร้างความชอบธรรมให้แก่กองทัพ
“พ.ร.บ.ความมั่นคงภายใน พ.ศ.2551 ถูกผลักดันในรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ดิฉันถือว่าเป็นมรดกที่สำคัญของรัฐบาลสุรยุทธ์” กล่าวโดยพวงทอง ภวัครพันธุ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ทำการศึกษาประเด็นนี้
ผนวกกับคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 51/2560 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ที่ออกเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2560 อ่านในรายละเอียดจะพบว่ามีความพยายามเข้าไปพัวพันกับกระบวนการยุติธรรมอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ถามว่าเหตุใดกองทัพจึงต้องสถาปนา กอ.รมน. ให้เป็นหน่วยงานถาวร ต้องใช้ออกคำสั่งแก้ไขกฎหมาย ทั้งที่อรเดิมอย่างคอมมิวนิสต์ไม่หลงเหลือ คำตอบของพวงทวงก็คือ กอ.รมน. ซึ่งนัยหนึ่งคือกองทัพบกมองว่าประชาธิปไตย รัฐสภา และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เป็นปัญหาความมั่นคงของไทย สามสิ่งนี้คือภัยต่อความมั่งคงของประเทศได้อย่างไร บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้จะให้คำตอบ
เหนืออื่นใด หากการปฏิรูปกองทัพคือโจทย์สำคัญของระบอบประชาธิปไตยไทย การยกเลิก พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ย่อมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
มรดกจากยุคสงครามเย็นเมื่อรัฐไทยในยุคสงครามเย็นเผชิญภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์และตระหนักว่าการสู้รบด้วยอาวุธเพียงอย่างเดียวมิใช่เส้นทางสู่ชัยชนะ ยุทธศาสตร์-ยุทธวิธีในการต่อสู้จึงได้รับการปรับเปลี่ยน จากมุมมองที่ว่าคอมมิวนิสต์คือภัยจากภายนอกที่ต้องการผลักให้ประเทศไทยเป็นโดมิโนตัวต่อไป สู่มุมมองว่าการก่อตัวของพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศต่างๆ รากเหง้าก็มาจากปัญหาเศรษฐกิจ การเมือง ความอยุติธรรมในสังคม ซึ่งผลักให้ผู้คนต้องจับอาวุธขึ้นสู้รบ หากต้องการขจัดภัยคอมมิวนิสต์ให้สิ้นซาก ต้องขุดรากถอนโคนปัญหาเหล่านี้ เชิงอรรถไว้ตรงนี้ว่าการที่รัฐไทยเปลี่ยนมุมมอง ส่วนหนึ่งมาจากอิทธิพลของหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ หรือซีไอเอด้วย
“กอ.รมน. คือการทำให้พลเรือนอยู่ใต้ทหาร และยิ่งตอนนี้เรามีรัฐบาลทหาร ทั้งระดับประเทศ ระดับภาค ระดับจังหวัด รองผู้อำนวยการ กอ.รมน.จังหวัดก็เป็นทหาร ทุกศาลากลางจังหวัด จะมีออฟฟิศและเจ้าหน้าที่ กอ.รมน. นั่งอยู่เพื่อทำงานประสานกับมหาดไทย จะเห็นได้ว่าเขากุมทุกหน่วยงานทุกระดับ”กอ.รมน. ถือกำเนิดขึ้นจากเหตุนี้ ดำเนินการควบคู่ไปกับการทหารที่ไม่ได้ลดความสำคัญลง เพียงแต่เพิ่มภารกิจเอาชนะใจประชาชนด้วยวิธีการทางเศรษฐกิจและการเมืองเข้าไปด้วย แปรเปลี่ยนเป็นโครงการพัฒนาทั้งหลาย ทั้งนี้ ในยุคสงครามเย็น โครงการในพระราชดำริก็มีเป้าหมายเอาชนะภัยคอมมิวนิสต์ด้วยเช่นกัน
“ทั้งสองส่วนเป็นแนวความคิดเดียวกัน เพียงแต่เวลาพูดถึงมักพูดแยกกันเสมอ หน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนโครงการพระราชดำริคือทหาร เพราะมีกำลังคนของตนในพื้นที่ทั่วประเทศ
“กอ.รมน. เป็นส่วนที่วางยุทธศาสตร์และแผนโดยใช้การเมืองและเศรษฐกิจในการต่อสู้ ข้อสำคัญคือโครงการพัฒนาเหล่านี้เริ่มต้นขึ้นในพื้นที่สีแดงหรือพื้นที่ที่คอมมิวนิสต์แทรกซึมเข้าไปมีอิทธิพลสูง หรือพื้นที่ที่กองกำลังคอมมิวนิสต์ยึดพื้นที่ได้ ดังนั้น พื้นที่เหล่านี้ต้องใช้กลไกกองทัพควบคู่กับการพัฒนา สิ่งที่เกิดขึ้นคือเมื่อกองทัพยึดพื้นที่จากคอมมิวนิสต์ได้ก็ตั้งหมู่บ้าน เอาประชาชนไปใส่ไว้ที่นั่น ซึ่งก็เป็นประชาชนจัดตั้งของ กอ.รมน. กลุ่มต่างๆ ให้ที่ดินกับประชาชนที่เข้าไปอยู่ ให้การอบรมศึกษาเกี่ยวกับความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ขณะเดียวกันประชาชนเหล่านี้ก็ช่วยเป็นหูเป็นตาว่า คอมมิวนิสต์เคลื่อนไหวอย่างไร ใครเป็นสายให้คอมมิวนิสต์”นโยบาย 66/2523 และ 65/2525 เป็นอีกรูปธรรมหนึ่งที่กองทัพใช้ประนีประนอมทางการเมืองเพื่อจัดการความขัดแย้ง แปรเหล่าสหายเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย พวงทองอธิบายว่า นโยบาย 66/2523 ไม่ใช่จุดเริ่มต้นของการเมืองนำการทหาร เพราะจริงๆ ทหารไม่เคยละทิ้งแนวทางสงครามหรือการปราบปรามต่อประชาชนเลย แต่นโยบายทั้งสองเป็นผลจากการที่กองทัพคิดว่า การจะสามารถเอาชนะสงครามประชาชนได้อย่างยั่งยืน ต้องใช้แนวทางการเมืองควบคู่ไปด้วย เป็นจุดหมายของความสำเร็จและเป็นแนวทางที่ถูกต้อง แม้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) พ่ายแพ้แล้ว แต่ยุทธศาสตร์นี้ยังคงถูกใช้ต่อมา ทั้งที่ กอ.รมน. ควรหมดบทบาท
กองทัพไม่เคยชื่นชมประชาธิปไตยแบบรัฐสภาพวงทองอธิบายต่อว่า ช่วงปลายยุคประชาธิปไตยครึ่งใบของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เกิดกระแสเรียกร้องนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ต้องการวุฒิสภาที่เลือกโดยนายกฯ ทั้งหมดและมีอำนาจเท่ากับสภาผู้แทนราษฎร ห้วงยามนั้นชนชั้นนำเริ่มมองเห็นแล้วว่ากระแสความต้องการของชนชั้นกลางในเมืองที่อยากได้ประชาธิปไตยเต็มใบแบบรัฐสภามีมากขึ้น
“หลังสงครามเย็นปัญหาที่ทำให้สังคมไทยไม่มั่นคงในทัศนะของทหารคือ นักการเมือง มีแต่นักการเมืองที่คอร์รัปชั่น ซื้อเสียง ชาวบ้านขายสิทธิ โง่ จน เจ็บ มันลามไปถึงชาวบ้านด้วยในตอนหลัง กองทัพมองนักการเมืองเป็นสาเหตุของความไม่มั่นคง ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา แบบที่ประชาชนมีสิทธิเลือก อยากได้ใครก็ได้ เป็นสิ่งที่กองทัพไม่ชอบ เพราะเขาไม่เชื่อการตัดสินใจของประชาชน”พวงทองตั้งคำถามว่า แต่กองทัพจะยอมลงจากอำนาจและหมดบทบาททางการเมืองอย่างสิ้นเชิงหรือ?
“เมื่อมองกลับไปจะเห็นว่าเขาพยายามรักษาอำนาจของทหารไว้ในกลไกทางการเมืองผ่าน กอ.รมน. เช่น การจัดตั้งมวลชนที่ยังดำเนินต่อไปในหลายส่วน รวมถึงการขยายบทบาทของทหารในมิติอื่นที่ไม่ใช่มิติการสู้รบ ถ้าดูยุทธศาสตร์ของกองทัพบกและของ กอ.รมน. จะเห็นว่าภารกิจและการนิยามปัญหาความมั่นคงของไทยขยายออกไปสู่ปัญหายาเสพติด สิ่งแวดล้อม การค้ามนุษย์ การก่อการร้าย เรื่องการพัฒนาก็ยังอยู่ บทบาทไม่ได้ลดลงเลย โดยบอกว่าตัวเองสนับสนุนโครงการพระราชดำริ ซึ่งการพูดแบบนี้ไม่มีใครเถียงหรือคัดค้านได้”ภายหลังพลเอกเปรมลงจากอำนาจ กองทัพยังมโนต่อไปว่าตนเองเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงความมั่นคงของชาติ โดยภัยที่เป็นภัยความมั่นคงของชาติในทัศนะกองทัพส่วนใหญ่เป็นภัยจากภายใน
“กองทัพมีความคิดต่อระบอบประชาธิปไตยในแบบของเขา เขาไม่เคยชื่นชมประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ที่วางอยู่บนหลักการเสียงส่วนใหญ่ ไม่ไว้ใจนักการเมืองมาแต่ไหนแต่ไร ตั้งแต่สงครามเย็น พลเอกเปรมชัดเจนว่าไม่เคยไว้วางใจพรรคการเมืองเลย ตำแหน่งสำคัญในสมัยพลเอกเปรม ไม่ใช่ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้ง แต่เป็นคนที่เขาเลือกมาเอง ซึ่งเป็นเทคโนแครตเป็นส่วนใหญ่ ฉะนั้น ความไม่ไว้วางใจนี้ก็นำมาสู่การวางโครงสร้างให้กองทัพเข้าไปมีบทบาทในเรื่องต่างๆ ได้ บทบาทเหล่านี้อาจไม่มีผลทางการเมืองอย่างชัดเจน แต่มีผลในการสร้างความชอบธรรม สร้างภาพลักษณ์ที่ดีของกองทัพในสายตาประชาชนที่ชี้ให้เห็นว่าทหารไทยทำอะไรหลายอย่างมาก น้ำท่วมก็มาช่วย น้ำแล้งก็ขนน้ำมาช่วย สร้างถนน ขุดคลอง
“แม้ในช่วงความนิยมของกองทัพตกต่ำที่สุดในช่วงหลังพฤษภาคม 2535 ทหารหันไปทำงานพัฒนากันมาก ด้านหนึ่งเพื่อบอกว่ากองทัพไม่ยุ่งกับการเมืองแล้ว แต่กองทัพก็ยังมีประโยชน์กับสังคมไทย มันอาจดูไม่เป็นการเมือง แต่สำหรับดิฉันมันเป็นการเมืองมาก”มันทำให้กองทัพช่างดูไม่มีพิษมีภัย แต่เมื่อใดที่กองทัพเข้ามายุ่งเกี่ยวทางการเมืองโดยตรง กลไกที่มีอยู่จะถูกระดมมาใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กองทัพหรือทำลายความชอบธรรมคนอื่น เช่น ช่วงประชามติที่มีการระดมมวลชนมาเพื่อสนับสนุนรัฐธรรมนูญ กรณีการประท้วงโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เทพาที่ชาวบ้านประท้วงวันนี้ รุ่งขึ้นมีมวลชนที่มีสายสัมพันธ์กับ กอ.รมน.ออกมาต่อต้านชาวบ้านที่ไม่เอาถ่านหิน อ้างว่ามีถึง 67 กลุ่ม มีมวลชน 50,000 คนสนับสนุน สามารถเข้าไปยื่นจดหมายในค่ายทหารได้อย่างสะดวกสบาย ซึ่งสะท้อนว่าต้องมีการจัดตั้งที่ดีมาก ถ้าไม่มีโครงสร้างพื้นฐานที่ทำอยู่แล้ว ไม่มีทางทำได้เร็วเพียงนี้
ยุคสงครามเย็น คอมมิวนิสต์คือศัตรูหลัก หลังยุคสงครามเย็น ใครหรืออะไรคือศัตรูที่ กอ.รมน. ต้องสู้รบปรมมือด้วย พวงทองตอบว่า“หลังสงครามเย็นปัญหาที่ทำให้สังคมไทยไม่มั่นคงในทัศนะของทหารคือ นักการเมือง มีแต่นักการเมืองที่คอร์รัปชั่น ซื้อเสียง ชาวบ้านขายสิทธิ โง่ จน เจ็บ มันลามไปถึงชาวบ้านด้วยในตอนหลัง กองทัพมองนักการเมืองเป็นสาเหตุของความไม่มั่นคง ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา แบบที่ประชาชนมีสิทธิเลือก อยากได้ใครก็ได้ เป็นสิ่งที่กองทัพไม่ชอบ เพราะเขาไม่เชื่อการตัดสินใจของประชาชน กองทัพยังท่องอยู่นั่นแหละว่าประชาชนเลือกเพราะซื้อสิทธิขายเสียง หรือเลือกเพียงเพื่อแลกกับผลประโยชน์เล็กน้อยของตัวเอง แต่ประเทศชาติโดยรวมฉิบหาย ทั้งที่มีงานวิจัยออกมามากมายที่ยืนยันว่าชาวบ้านเลือกเพราะนโยบายของพรรคการเมืองมากขึ้น ซึ่งนี่เป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนจะเลือกพรรคการเมืองที่สามารถตอบสนองความต้องการ ทำให้ชีวิตประชาชนดีขึ้น แต่สังคมไทยทำให้หลายอย่างบิดเบี้ยวกลับหัวกลับหางไปหมด”พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551“พ.ร.บ.ความมั่นคงภายใน พ.ศ.2551 ถูกผลักดันในรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ดิฉันถือว่าเป็นมรดกที่สำคัญของรัฐบาลสุรยุทธ์ รัฐประหาร 2549 มีการสัญญาว่าจะมีการเลือกตั้งภายใน 1 ปี ตอนนั้นกองทัพอาจยังมองไม่เห็นพลังคนเสื้อแดงเพราะยังไม่มีกลุ่มเสื้อแดง ขณะเดียวกันการจะมีการเลือกตั้งภายใน 1 ปีก็ต้องมีการจัดระเบียบระบบที่จะทำให้อำนาจของกองทัพดำรงอยู่ในทางการเมือง ฉะนั้น พ.ร.บ.ความมั่นคง 2551 ซึ่งอันที่จริงแล้วสามารถเปลี่ยนชื่อเป็น พ.ร.บ.กอ.รมน. ก็ได้เพราะมีเนื้อหาว่าด้วย กอ.รมน. อย่างเดียว เป็นกฎหมายที่ให้อำนาจ กอ.รมน. อยู่เหนือหน่วยงานพลเรือนทั้งหมด โดยเฉพาะในภาวะฉุกเฉินของประเทศ”เดิมทีไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับ กอ.รมน. เป็นการเฉพาะมาก่อน กอ.รมน. เกิดขึ้นโดย พ.ร.บ.ป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ.2495 ซึ่งได้มีการยกเลิกไปในปี 2543 สมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย แต่ กอ.รมน. มิได้ยุติบทบาท กลับยังคงอยู่โดยอำนาจ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 และคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 157/2542 ที่ออกสมัยรัฐบาลชวน ต่อมาก็คือคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 158/2545 ที่ออกสมัยรัฐบาลทักษิณ
“กองทัพมีความคิดต่อระบอบประชาธิปไตยในแบบของเขา เขาไม่เคยชื่นชมประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ที่วางอยู่บนหลักการเสียงส่วนใหญ่ ไม่ไว้ใจนักการเมืองมาแต่ไหนแต่ไร... ความไม่ไว้วางใจนี้ก็นำมาสู่การวางโครงสร้างให้กองทัพเข้าไปมีบทบาทในเรื่องต่างๆ ได้ บทบาทเหล่านี้อาจไม่มีผลทางการเมืองอย่างชัดเจน แต่มีผลในการสร้างความชอบธรรม สร้างภาพลักษณ์ที่ดีของกองทัพในสายตาประชาชน”แต่ในยุคพลเอกสุรยุทธ์ได้ทำให้ กอ.รมน. กลายเป็นหน่วยงานถาวรและมีอำนาจมากยิ่งขึ้น แม้ไม่ได้ขึ้นกับกระทรวงกลาโหม แต่ขึ้นกับสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีโครงสร้างเป็นทหารเกือบทั้งหมด หมายความว่าผู้ที่เสนอประเด็น กำหนดยุทธศาสตร์ย่อมต้องเป็นทหารและถูกครอบงำด้วยทหาร
“ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา กอ.รมน. ถูกเรียกใช้เยอะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลเอกสุรยุทธ์และพลเอกประยุทธ์จะใช้เยอะมาก ช่วงพลเอกประยุทธ์ทั้งคณะกรรมการปฏิรูป คณะกรรมการสมานฉันท์ ก็จะมอบหมายไปให้ กอ.รมน. เป็นผู้ดูแล ประสานงาน จัดทำร่าง”จุดสำคัญหนึ่งของ พ.ร.บ.ความมั่นคง พ.ศ.2551 คือการแก้ประเด็นที่ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเคยแก้ไขไว้ พวงทองกล่าวว่า รัฐบาลทักษิณช่วง 2 ปีหลังพยายามปฏิรูปกองทัพและ กอ.รมน. แต่ก็ทำได้อย่างจำกัด ส่วนหนึ่งเพราะสูญเสียความชอบธรรมจากการแต่งตั้งญาติตนเองเป็นผู้บัญชาการทหารบก ทำให้ถูกมองว่าการปฏิรูปกองทัพเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ โดยทักษิณพยายามทำคือการจัดโครงสร้างใหม่ให้ กอ.รมน.จังหวัด ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้อำนวยการ มาขึ้นตรงกับผู้อำนวยการ กอ.รมน.ส่วนกลาง ซึ่งก็คือนายกรัฐมนตรี จากเดิมที่อยู่ภายใต้ กอ.รมน.ภาค ที่มีแม่ทัพภาคเป็นผู้ดูแล
“กอ.รมน. คือการทำให้พลเรือนอยู่ใต้ทหาร และยิ่งตอนนี้เรามีรัฐบาลทหาร ทั้งระดับประเทศ ระดับภาค ระดับจังหวัด รองผู้อำนวยการ กอ.รมน.จังหวัดก็เป็นทหาร ทุกศาลากลางจังหวัด จะมีออฟฟิศและเจ้าหน้าที่ กอ.รมน. นั่งอยู่เพื่อทำงานประสานกับมหาดไทย จะเห็นได้ว่าเขากุมทุกหน่วยงานทุกระดับ พอมี พ.ร.บ.ความมั่นคง 2551 ก็กลับเอาทุกอย่างที่ทักษิณเปลี่ยนกลับไปเหมือนเดิม เอาผู้อำนวยการ กอ.รมน.ไปอยู่ใต้แม่ทัพภาคเหมือนเดิม”และสิ่งที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหาร 2549 คือทหารหวนกลับมาทุ่มเทกับการจัดตั้งมวลชนมากยิ่งขึ้น พวงทองอ้างอิงเอกสารของกองทัพที่ทำการศึกษา ซึ่งระบุว่า ตั้งแต่ปี 2549 มีคำสั่งให้ตรวจสอบจำนวนมวลชนกลุ่มต่างๆ ว่ามีเท่าไร ให้เรียกระดมขึ้นมาใหม่ และจัดกิจกรรมจำนวนมาก ซึ่งในอดีตกลุ่มองค์กรที่ กอ.รมน. จัดตั้งเหล่านี้อยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทยและอยู่ในเขตพื้นที่ที่มีคอมมิวนิสต์แทรกซึม แต่ในช่วง 10 ปีหลัง องค์กรที่ กอ.รมน. จัดตั้งมีในทุกจังหวัดทั่วประเทศ ทำให้เห็นได้ว่าการพยายามรักษาอำนาจของกองทัพโดยกฎหมายความมั่นคงภายในเริ่มมาตั้งแต่ 2549 และรัฐประหาร 2557 ก็ใช้กลไกนี้ต่อมาอย่างแข็งขันมากยิ่งขึ้น
กองทัพขยายอำนาจเข้าสู่กลไกตุลาการ?สำหรับพวงทอง จุดที่น่าจับตามองในคำสั่งที่ 51/2560 คือการจัดตั้งคณะกรรมการรักษาความมั่นคงภายในระดับภาคที่ระบุชัดเจนนว่า ผู้อำนวยการ กอ.รมน.ภาค ซึ่งก็คือแม่ทัพภาค ทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการ และมีอธิบดีอัยการภาคที่อยู่ในเขตพื้นที่ที่มีอาวุโสสูงสุดเข้ามาเป็นกรรมการของคณะกรรมการอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาคด้วย หน่วยงานอื่นนอกจากนั้นล้วนเป็นกลไกที่ทำงานให้ กอ.รมน. มานานแล้ว
“ต้องจับตาดูว่าการร่วมมือระหว่างกองทัพกับอัยการภาคจะออกมารูปแบบไหน นี่น่าจะเป็นประเด็นที่สำคัญเพราะอัยการเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ฟ้องคดี ที่ผ่านมาจะเห็นว่ากองทัพฟ้องประชาชนที่ต่อต้านรัฐประหารเยอะมาก อาจเกิดความกังวลว่า วันหนึ่งถ้าหมดอำนาจ พวกเขาอาจจะเดือดร้อน อาจถูกฟ้อง การเอาหน่วยงานอัยการเข้ามาร่วมมือด้วยอาจเป็นการป้องกันตัวเอง นี่มองแบบดีที่สุด เบาที่สุดแล้ว ถ้าแบบร้ายที่สุด ก็อาจเข้าไปแทรกแซงกระบวนการในการดำเนินงานของอัยการ”
“กลไกใหม่คืออธิบดีอัยการภาค หมายความว่ากองทัพกำลังขยายอำนาจตัวเองเข้าไปสู่กลไกตุลาการหรือไม่”พวงทองขยายความว่า พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 เป็นกฎหมายที่ให้อำนาจ กอ.รมน. อย่างมากในการเรียกใช้งานหน่วยงานอื่นๆ ตามยุทธศาสตร์ที่ กอ.รมน. วางไว้ รวมถึงหน่วยงานยุติธรรม แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีระบุไว้ชัดเจน คำสั่งนี้ย่อมทำให้ กอ.รมน. เกิดความสะดวกมากขึ้นที่จะเรียกใช้หน่วยงานรัฐให้ทำงานประสานกับตนเอง เพราะก่อนนี้ยังมีความเกรงใจกันอยู่ระหว่างกองทัพกับหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม
“ต้องจับตาดูว่าการร่วมมือระหว่างกองทัพกับอัยการภาคจะออกมารูปแบบไหน นี่น่าจะเป็นประเด็นที่สำคัญเพราะอัยการเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ฟ้องคดี ที่ผ่านมาจะเห็นว่ากองทัพฟ้องประชาชนที่ต่อต้านรัฐประหารเยอะมาก อาจเกิดความกังวลว่า วันหนึ่งถ้าหมดอำนาจ พวกเขาอาจจะเดือดร้อน อาจถูกฟ้อง การเอาหน่วยงานอัยการเข้ามาร่วมมือด้วยอาจเป็นการป้องกันตัวเอง นี่มองแบบดีที่สุด เบาที่สุดแล้ว ถ้าแบบร้ายที่สุด ก็อาจเข้าไปแทรกแซงกระบวนการในการดำเนินงานของอัยการ
“ที่ผ่านมา มีการพูดว่าศาลไทยมีปัญหาเรื่องสองมาตรฐาน ถูกอิทธิพลทางการเมืองเข้าแทรกแซง แต่ดิฉันคิดว่าของแบบนี้ไม่เคยสั่งกันได้ตรงๆ มันเป็นไปตามกระแสทางการเมือง จะมีกรณีไหนสั่งได้ตรงๆ ไหม ไม่เคยมีหลักฐาน เราไม่รู้ แต่เมื่อถูกดึงให้มาทำงานใกล้ชิดกันมากขึ้น อิทธิพลของกองทัพก็จะชัดเจนขึ้น”
กอ.รมน.ทำงานการเมืองให้กองทัพกอ.รมน.มีบทบาทสำคัญในการทำงานทางการเมืองให้กองทัพ รวมถึงการทำให้ผลทางการเมืองออกมาในแบบที่ คสช. ต้องการ เช่น การจัดตั้งกลุ่มมวลชนในท้องถิ่น การสกัดกั้นมวลชนฝ่ายตรงข้าม การประเมินความนิยมของ คสช. ในระดับท้องถิ่น เป็นต้น ขณะเดียวกัน กอ.รมน. ก็ทำงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ทั้งระดับผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายอำเภอ จังหวัด ซึ่ง กอ.รมน. มีอำนาจสั่งการ ซึ่งนับจากอดีต หน่วยงานที่ขยันขันแข็งที่สุดคือกระทรวงมหาดไทย
แต่ในช่วง 3 ปีมานี้ กอ.รมน. เข้าไปใช้กระทรวงศึกษาธิการมากขึ้น กอ.รมน. เข้าไปฝึกอบรมครูตามโรงเรียน จัดรณรงค์ หรือกรณีของนักพูด เบสต์-อรพิมพ์ รักษาผล ที่ทำให้คนอีสานไม่พอใจ ซึ่งเป็นการพูดกับนักเรียน 3,000 กว่าคน ก็เป็นการเกณฑ์มาจาก 5 จังหวัดโดย กอ.รมน. นี่คือกลไกของกระทรวงศึกษาธิการที่ กอ.รมน. เข้าไปใช้อย่างสะดวก ดังนั้น การเลือกตั้งครั้งต่อไป กลไกเหล่านี้ก็จะถูกใช้อีกเช่นเดียวกับตอนทำประชามติ
“แต่การเลือกตั้งกับการทำประชามติต่างกัน ผลอาจไม่ออกมาสวยงามแบบประชามติ ตอนประชามติคนเข้าใจผิดเยอะว่ามีรัฐธรรมนูญแล้วจะมีการเลือกตั้งโดยเร็ว คนอาจไม่เข้าใจเนื้อหารัฐธรรมนูญ แต่กับการเลือกตั้งคนชัดเจนว่าแต่ละพรรคเป็นอย่างไร คุณไม่ต้องไปบอกให้เขาเลือก เขาก็มีตัวเลือกอยู่แล้ว เลือกตั้งจึงคุมยากกว่าประชามติ”ยุบ กอ.รมน. คือความจำเป็นหากต้องการปฏิรูปกองทัพจากบทสนทนาทั้งหมด เราตั้งคำถามกับพวงทองว่า หากต้องการปฏิรูปกองทัพ ต้องการทำให้กองทัพอยู่ภายใต้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง การยกเลิก พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 และยุบ กอ.รมน. คือความจำเป็น?
“เราจะปฏิรูปกองทัพไม่ได้ ถ้ากองทัพไม่สูญเสียความชอบธรรมทางการเมือง ถ้าคนไทยกลุ่มหลักๆ โดยเฉพาะสื่อมวลชนกระแสหลักและชนชั้นกลางมองไม่เห็นปัญหาที่เกิดจากกองทัพ และมีฉันทามติว่าถึงเวลาที่จะต้องเอาทหารออกจากการเมือง คุณก็แตะต้องอะไรกองทัพไม่ได้ และถ้ามีโอกาสปฏิรูปกองทัพเมื่อใด ก็ต้องดำเนินการกับ กอ.รมน.”
“ใช่ ต้องเอากิจการที่ไม่ใช่การรบ การปกป้องดินแดนออกจากมือกองทัพ รวมถึงประเด็นเรื่องความมั่นคงภายในก็ไม่ควรอยู่ในมือทหาร เพราะทหารมองว่าประชาชนเป็นปัญหาความมั่นคง และนี่เป็นสิ่งที่หลายประเทศทำ อินโดนีเซียทำหลังยุคซูฮาร์โต ต้องมีการบัญญัติกฎหมายว่าทหารจะต้องไม่เข้ามามีตำแหน่งทางการเมือง รัฐประหารเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ต้องเอากิจการพลเรือนที่อยู่ในมือกองทัพทั้งหมดออกไป
“จะยกเลิกกฎหมายได้ ต้องไปด้วยกันกับเจตจำนงที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้องประกาศว่าถึงเวลาที่จะปฏิรูปกองทัพ ให้กองทัพอยู่ภายใต้อำนาจของพลเรือน ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าถ้าเกิดน้ำท่วม ภัยพิบัติขึ้นมาจะใช้กองทัพทำงานเหล่านี้ไม่ได้ ใช้ได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้คำสั่งของพลเรือนที่มาจากประชาชน ทหารออกมาเองไม่ได้ แต่ตอนนี้กองทัพมีอำนาจของตัวเอง ทำได้เองและยังสั่งพลเรือนทำด้วย มันกลับกัน”พวงทองสรุปว่า ตราบเท่าที่กองทัพยังมีอำนาจหรือต่อให้ คสช. ไม่อยู่แล้ว แต่หากไม่มีความพยายามปฏิรูปกองทัพ ปีกอนุรักษ์นิยมที่ต่อต้านการเมืองแบบรัฐสภาที่ขึ้นมามีอำนาจก็จะยังใช้ กอ.รมน. เป็นมือไม้ในการต่อต้านการเมืองประชาธิปไตยแบบรัฐสภา
“กรณีที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านเทพาจะเกิดบ่อยขึ้น ทำให้ประชาชนเคลื่อนไหวลำบาก ตอนนี้เวลาประชาชนถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่ ภาพข่าวออกมา เจ้าหน้าที่เสียหาย แต่ถ้าคุณไปเดินแล้วมีประชาชนกลุ่มหนึ่งทำร้ายอีกกลุ่มหนึ่ง เจ้าหน้าที่จะบอกว่าก็ประชาชนทำกันเอง จะให้ทำอย่างไร เขาก็ไม่พอใจในสิ่งที่คุณทำ จะเห็นได้ว่า การมีมวลชนเป็นของตัวเองมันสำคัญ ทำให้เขาไม่ต้องพึ่งพิงพรรคประชาธิปัตย์ หรือ กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) แบบเดิมในทุกงาน
“แน่นอนว่าหากเขาต้องการมวลชนจำนวนเป็นแสนเป็นล้านเขาต้องพึ่ง แต่เหตุการณ์จำนวนมากไม่ต้องการมวลชนขนาดนั้น แค่ 500 คน 1,000 คนออกมาต่อต้านกลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาล แค่นี้ก็พอแล้ว ล่ารายชื่อ 50,000 คนเตรียมไว้ก็พอแล้ว จริงๆ แล้วกองทัพไม่ชอบ Social Movement เพราะเขามองว่านี่คือพวกที่ชอบสร้างอำนาจต่อรองกับภาครัฐ แต่ตัวเขาเองต่างหากที่ต้องการสร้างมวลชนตลอดมาตั้งแต่สมัยสงครามเย็น”บทสนทนาสุดท้าย พวงทองย้ำความสำคัญของการปฏิรูปกองทัพและการยุติบทบาทของ กอ.รมน. ซึ่งเป็นสองสิ่งที่ต้องดำเนินไปควบคู่กันว่า
“เราจะปฏิรูปกองทัพไม่ได้ ถ้ากองทัพไม่สูญเสียความชอบธรรมทางการเมือง ถ้าคนไทยกลุ่มหลักๆ โดยเฉพาะสื่อมวลชนกระแสหลักและชนชั้นกลางมองไม่เห็นปัญหาที่เกิดจากกองทัพ และมีฉันทามติว่าถึงเวลาที่จะต้องเอาทหารออกจากการเมือง คุณก็แตะต้องอะไรกองทัพไม่ได้ และถ้ามีโอกาสปฏิรูปกองทัพเมื่อใด ก็ต้องดำเนินการกับ กอ.รมน.”