Posted: 28 Oct 2018 11:05 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Mon, 2018-10-29 13:05
วริตตา ศรีรัตนา
[1]
ปฏิกิริยาตอบรับอย่างอบอุ่นและขับไสไล่ส่งอย่างรังเกียจ อีกทั้งความพยายามของทางการที่จะเซ็นเซอร์เพลง “ประเทศกูมี” ซึ่งเป็นเพลง Rap วิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์ทางการเมืองและต่อต้านเผด็จการนั้น ได้สะท้อนความจริงประการสำคัญที่เราไม่อาจมองข้าม นั่นคือ ข้อที่ว่าในสังคมโลกที่เผด็จการพยายามควบคุมการแสดงออกทางความคิดทุกรูปแบบและทุกระดับ งานศิลปะที่เปี่ยมด้วยความตระหนักรู้ – อันเป็นงานที่เปิดพื้นที่ให้กับการคิดตีความอันหลากหลายสุดจะคาดเดาและเหนือวิสัยการออกแบบวางโปรแกรมให้เห็นเหมือนและตามกันทุกกระเบียด – ยังมิวายเป็นช่องทางการแสดงออกที่ทรงพลังอย่างหาที่เปรียบมิได้ ด้วยงานศิลปะเป็นที่พึ่งและความหวังสำหรับประชาชน และในขณะเดียวกันก็เป็นที่เกลียดกลัวสำหรับผู้ทรงอำนาจ แต่กระนั้น แม้เราจะตระหนักดีว่างานศิลปะทรงพลังในฐานะอาวุธต่อสู้กับอำนาจนำที่คอยเฝ้าระวังปลดอาวุธทางปัญญาของเราอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ความพยายามบังคับ ระงับ และปราบปรามความคิดความอ่าน อีกทั้งจำกัดสิทธิในการตีความเชิงวิพากษ์ของประชาชนนั้นส่งผลเสียมากกว่าผลดีแน่นอน โดยเฉพาะผลเสียในระยะยาว ด้วยมนุษย์มีคุณสมบัติหนึ่งที่พวกเราย่อมรู้ดี นั่นคือ สามารถปรับตัวให้เข้ากับทุกสถานการณ์ได้ดีมีสิทธิภาพถึงขึ้นที่ว่าสมมติมีตะปูในรองเท้าคู่และเราจำต้องใส่และใช้ชีวิตอยู่กับรองเท้าคู่นั้น เราจะสามารถปรับตัวและหาทางเขย่งตะแคงเท้าเดินต่อไปให้ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ช่างง่ายเหลือเกินที่ประชาชนจะสามารถปรับตัวให้คุ้นชินและทำใจให้ชินชาไม่รู้สึกรู้สมต่อข้อจำกัดที่ทางการบีบบังคับให้ยอมรับ นานวันเข้าก็จะมองไม่เห็นว่าตนกำลังถูกปล้น สิ่งที่ถูกปล้นไปอย่างโหดเหี้ยมคือช่วงชีวิตอันมีความหมาย ช่วงชีวิตแห่งการเติบโตทางความคิดอย่างเสรีในแสงแดดอันเจิดจ้าแห่งศิลปะที่เสริมสร้างความตระหนักรู้ทางสังคม สิ่งที่เผด็จการพรากไปนั้นจะกลายเป็นเพียงภาพความทรงจำ ด้วยช่วงชีวิตที่ถูกปล้นไปนั้นถูกแทนที่ด้วยช่วงชีวิตจอมปลอมที่มีแต่เปลือก กล่าวคือถูกแทนที่ด้วย “เวลามือสอง” ที่ผ่านการย่อยขย้อนจนไม่เหลือความหมายหรือคุณประโยชน์อันใดที่จะจรรโลงให้เราสามารถใช้ชีวิตที่ทรงคุณค่าและมีเอกลักษณ์สมเป็นปัจเจก
น่าสนใจที่ “เวลามือสอง” นี้เป็นชื่องานเขียนชิ้นสำคัญและมีชื่อเสียงของนักเขียน “ม้ามืด” คนหนึ่งที่ผู้เขียนบทความคิดว่า #ประเทศกู(น่าจะ)มีและอ่านกัน
ขอเริ่มด้วยประเด็นงานศิลปะและความเกลียดกลัวของเผด็จการ
เมื่อ สเวียตลานา อเล็กซิเยวิช (Svetlana Alexievich) นักหนังสือพิมพ์ชาวเบลารุสเชื้อสายยูเครน ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมประจำปีพ.ศ. 2558 และข่าวนั้นได้แว่วมาถึงหูของประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูกาเชงโกแล้ว ประธานาธิบดีผู้อยู่ในตำแหน่งอย่างคงกระพันตั้งแต่พ.ศ. 2537 คนนี้ก็ประกาศกร้าวด้วยความเกลียดเข้ากระดูกดำทันทีว่านักเขียนรางวัลโนเบลคนนี้ได้โยน “ปฏิกูลเต็มๆ หนึ่งถัง” ไปยังประชาชนชาวเบลารุส คำพูดดังกล่าวมิเพียงรุนแรงและไม่สมเหตุสมผล หากยังชี้ให้เห็นว่าผู้นำของประเทศที่ สเวียตลานา อเล็กซิเยวิช ทำชื่อเสียงให้อย่างใหญ่หลวงนั้น ไม่แม้แต่จะเห็นคุณค่างานเขียนของเธอ ซึ่งเธอเองนั้นก็โต้ตอบคำกล่าวหาว่างานของเธอมุ่งวิพากษ์วิจารณ์ระบอบเผด็จการ ไม่ได้มุ่งโจมตีผู้คนที่ตกอยู่ใต้ระบอบแต่อย่างใด
[2] ปฏิกิริยาของนักเขียนผู้ถูกโจมตีไม่ได้ส่อถึงความรู้สึกแปลกใจเลยแม้แต่น้อย เพราะในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา งานเขียนของเธอถูกระงับพิมพ์และห้ามเผยแพร่ในเบลารุส เมื่อพ.ศ. 2543 เธอทนไม่ได้ จึงตัดสินใจย้ายไปอยู่ประเทศต่างๆ ในยุโรปไม่ว่าจะเป็นฝรั่งเศส เยอรมนี และสวีเดน เธอเพิ่งจะเดินทางกลับมาประเทศบ้านเกิดเมื่อพ.ศ. 2554 เท่านั้น เมื่อกลับมาแล้วถูกเพ่งเล็ง จึงตัดสินใจอยู่และทำงานเงียบๆ สำหรับนักอ่านนอกยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกแล้ว เธอคือม้ามืด สำหรับนักอ่านในภูมิภาคดังกล่าว สเวียตลานา อเล็กซิเยวิชได้รางวัลนี้ช้าไปเสียด้วยซ้ำ
ถ้อยแถลงอย่างเป็นทางการของคณะกรรมการรางวัลโนเบลบ่งชี้ว่าสเวียตลานา อเล็กซิเยวิชสมควรได้รับรางวัลเนื่องจากเธอได้ผลิต “งานเขียนแห่งเสียงประสาน” บอกเล่าเรื่องราวหลากเสียง และงานเขียนที่เป็น “อนุสรณ์สถานแห่งความระทมทุกข์และความกล้าหาญแห่งยุคสมัยของเรา” (“for her polyphonic writings, a monument to suffering and courage in our time”)
[3]การประกาศผลรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมประจำปีนั้นได้พลิกความคาดหมายของผู้อ่านในบรรณพิภพงานเขียนภาษาอังกฤษหรืองานเขียนที่แปลเป็นภาษาอังกฤษแห่งศตวรรษที่ 21 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้อ่านชาวไทยด้วยเหตุผลหลักสองประการ
ประการแรก เมื่อเทียบกับนักเขียน “ตัวเต็ง” คนอื่นๆ ซึ่งผู้อ่านงานวรรณกรรมโลกคุ้นเคยและคอยลุ้นให้ได้รับรางวัล เช่น ฮะรุกิ มุระกะมิ (Haruki Murakami) นักเขียนชาวญี่ปุ่นเจ้าของผลงานชื่อดัง เช่น เรื่อง Kafka on the Shore (ตีพิมพ์เมื่อพ.ศ. 2545) หรือชื่อฉบับแปลภาษาไทยของสำนักพิมพ์กำมะหยี่คือ คาฟกา วิฬาร์ นาคาตะ และเรื่อง 1Q84 (ตีพิมพ์ระหว่างพ.ศ. 2552-2553) หรือชื่อฉบับแปลภาษาไทยของสำนักพิมพ์กำมะหยี่คือ หนึ่งคิวแปดสี่ หรือ กูกี วาธิอองโก (Ngũgĩ wa Thiong'o) นักเขียนชาวเคนยาที่ผู้ศึกษาแนวคิดโพสโคโลเนียล (Postcolonialsm) คุ้นเคย ด้วยเป็นตัวอย่างของนักเขียนที่ตัดสินใจเลือกเขียนภาษาท้องถิ่นแทนภาษาอังกฤษเพื่อแสดงจุดยืนทางความคิดต้านลัทธิอาณานิคม กูกี วาธิอองโกเป็นเจ้าของผลงานนวนิยายหลายเล่ม เช่น A Grain of Wheat หรือ เมล็ดพันธุ์แห่งข้าวสาลี
[4] (ตีพิมพ์เมื่อพ.ศ. 2510) และงานเขียนเชิงวิพากษ์ เช่น Decolonising the Mind: The Politics of Language in African Literature หรือ การปลดแอกอาณานิคมแห่งปัญญา: หลักการแห่งการใช้ภาษาในวรรณคดีแอฟริกัน
[5] (ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ1986) แล้วกล่าวได้ว่าสเวียตลานา อเล็กซิเยวิช และผลงานของนักเขียนผู้นี้ไม่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ทั้งหมดนี้เป็นภาพสะท้อนช่องโหว่ในการเรียนการสอนและการสร้างองค์ความรู้ประวัติศาสตร์โลก ประวัติศาสตร์สงคราม อีกทั้งประวัติศาสตร์แห่งภูมิภาคยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประวัติศาสตร์เบลารุสและยูเครน
ประการที่สอง สเวียตลานา อเล็กซิเยวิชนับเป็นนักเขียนงานสารคดีอิงเรื่องจริง (non-fiction) ในรอบกว่าครึ่งศตวรรษที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ นักเขียนส่วนมากที่ได้รับรางวัลอันมีชื่อเสียงระดับโลก เช่น รัดยาร์ด คิปลิง (Rudyard Kipling) กวีชาวอังกฤษเกิดที่อินเดีย วิลเลียม บัตเลอร์ เยตส์ (William Butler Yeats) กวีชาวไอร์แลนด์ และ ที.เอส. เอเลียต (T.S. Eliot) กวีชาวอังกฤษเกิดที่สหรัฐอเมริกา ล้วนเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงด้านบทกวีหรือบันเทิงคดี (fiction) ทั้งสิ้น ส่วนนักเขียนสารคดีผู้มีชื่อเสียงที่ได้รับรางวัลโนเบลก่อนหน้าสเวียตลานา อเล็กซิเยวิชนั้นได้แก่ เบอร์ทรันด์ รัสเซลล์ (Bertrand Russell) และ วินสตัน เชอร์ชิล (Winston Churchill)
[6] สเวียตลานา อเล็กซิเยวิช นอกจากจะเป็นชาวเบลารุสคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลแล้ว ยังนับเป็นนักหนังสือพิมพ์คนแรกและสตรีลำดับที่ 14 ที่ได้รับรางวัลนี้อีกด้วย
[7] ศาสตราจารย์ซารา ดานิอุส (Sara Danius) เลขาธิการแห่งสถาบันวิชาการสวีเดน (The Swedish Academy) กล่าวว่าสเวียตลานา อเล็กซิเยวิชได้ “คิดค้นรูปแบบวรรณกรรมประเภทใหม่”
[8] อันทำให้เป็นที่ประจักษ์ว่า “ความสำเร็จทางวรรณกรรมของเธอนั้นสะท้อนทั้งในระดับของเนื้อหาและรูปแบบ”
[9] งานเขียนของสเวียตลานา อเล็กซิเยวิชเป็นงานเขียนเชิงสารคดีที่เป็นผลจากการเก็บรวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์นับครั้งไม่ถ้วน เป็นผลของการบรรจงเรียงร้อยเรื่องเล่าจากผู้คนที่เผชิญกับสงครามและสถานการณ์ภัยพิบัติที่พลิกผันชีวิต ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้เธอเป็นนักเขียนที่มีสถานะเป็นผู้บันทึกประวัติศาสตร์และเรื่องราวจากโลกแห่งการสูญเสีย แต่ทั้งนี้ การเขียนประเภทดังกล่าวเป็นส่วนผสมของการเปิดเผยข้อเท็จจริงและการเลือกเฟ้น เรียงลำดับและเรียบเรียงทางวรรณศิลป์อย่างเลี่ยงไม่ได้ จากบทสัมภาษณ์หนึ่ง ผู้อ่านได้ทราบว่ารูปแบบวิธีการเขียน “งานวรรณกรรมเชิงสารคดี” ซึ่งเป็นการเขียน “งานเขียนสารคดีเชิงวรรณกรรม/วรรณศิลป์” ในเวลาเดียวกันนั้น สเวียตลานา อเล็กซิเยวิชได้รับแรงบันดาลใจจากวรรณคดีภาษารัสเซียซึ่งมีรากยึดโยงเหนี่ยวแน่นในขนบวรรณคดีมุขปาฐะ: “ขนบการเล่าแบบนี้ กล่าวคือบันทึกเรื่องราวมุขปาฐะ และบันทึกน้ำเสียง/สุรเสียงอันมีชีวิตนั้น ได้ถูกวางรากฐานในวรรณคดีรัสเซียที่เขียนขึ้นก่อนฉัน”
[10] นอกจากนี้ นั้น เธอยังล่าวเสริมว่า
ฉันตระหนักว่าชีวิตได้มอบแบบฉบับเรื่องราวและการตีความมากมายหลายแบบเมื่อพินิจเหตุการณ์เดียวกันจนบันเทิงคดีหรือสารคดีเพียงมิติรูปแบบเดียวนั้นมิอาจรองรับความหลากหลายนั้นๆ ได้ ฉันรู้สึกว่าฉันจำต้องหากลวิธีเล่าเรื่องในรูปแบบที่แตกต่างจากเดิม ฉันตัดสินใจรวบรวมเสียงต่างๆ จากท้องถนน เนื้อหาที่เรียงรายรอบตัวฉัน ผู้คนแต่ละคนนั้นมอบตัวบทในแบบฉบับของตน ฉันตระหนักว่าฉันสามารถผลิตหนังสือจากตัวบทต่างๆ เหล่านี้
[11]
ผู้อ่านอาจเข้าใจไปว่า สเวียตลานา อเล็กซิเยวิช เป็นเพียง “เครื่องบันทึกเทป” ที่มีหน้าที่เก็บและรวบรวมเรื่องเล่าต่างๆ เท่านั้น ซึ่งไม่น่าจะเป็นคุณสมบัติของผู้ที่คู่ควรกับรางวัลโนเบล อันเป็นรางวัลที่พิจารณาจากผลงานทั้งหมดที่ผลิตมาทั้งชีวิต กรอบวิธีวิเคราะห์เรื่องเล่า (narrative) แนวโพสต์โมเดิร์นนิสม์ (postmodernism) กลับเผยให้เห็นเบื้องหลังแห่งคัดสรรเรื่องราวและจัดเรียงองค์ประกอบต่างๆ ที่รวมกันกลายเป็นเรื่องราวที่ดูจะเป็นเรื่องราวแบบฉบับสัมบูรณ์หนึ่งเดียว ที่เรียกว่า “อภิมหาพรรณนา” (metanarrative/grand narrative) ประเด็นนี้ ฌ็อง-ฟรองซัวส์ เลียวตาร์ (Jean Francoise Lyotard) กล่าวสรุปว่า “นี้อาจเป็นการย่นย่อให้ง่ายจนสุดโต่ง แต่ข้าพเจ้านิยามโพสต์โมเดิร์นว่าความกังขาในอภิมหาพรรณนาต่างๆ”
[12]เรื่องเล่าต่างๆ นั้นแม้จะอิงข้อเท็จจริงเพียงใด แต่ในขั้นตอนการถ่ายทอดให้ผู้ฟังหรือผู้อ่านนั้น วรรณศิลป์หรือศิลปะแห่งการบรรยายและพรรณนาให้เห็นภาพนั้นแทบจะแยกออกมาจากเนื้อหามิได้ จึงไม่น่าประหลาดใจที่สเวียตลานา อเล็กซิเยวิชแสดงความตระหนักรู้ถึงการไม่มีอยู่จริงของเรื่องราวอิงข้อเท็จจริงอันบริสุทธิ์สัมบูรณ์ในงานเขียน นี้เองเป็นปัจจัยที่ทำให้งานเขียนของเธอมีเอกลักษณ์และสะท้อนศาสตร์และศิลป์แห่งการคิดค้นรูปแบบวรรณกรรมใหม่ที่ผสมผสานสารคดีและบันเทิงคดีอย่างลงตัว ในประเด็นนี้ เธอได้กล่าวไว้ว่า
บทบาทหน้าที่ของฉันไม่ใช่เป็นแค่หูที่คอยแอบฟังผู้คนพูดคุยกันตามท้องถนน แต่เป็นผู้สังเกตการณ์และนักคิด เมื่อมองจากภายนอกกรรมวิธีดังกล่าวอาจดูจะทำได้ง่ายดาย กล่าวคือผู้คนเล่าเรื่องราวของพวกเขาให้ฉันฟังเฉยๆ เท่านั้น แต่ในความเป็นจริงมันไม่ได้ง่ายเช่นนั้น คำถาม วิธีการถามของผู้ถาม สิ่งที่ผู้ถามได้ยินและองค์ประกอบที่ฉันคัดเลือกจากบทสัมภาษณ์ล้วนสำคัญ ฉันคิดว่าคุณคงไม่สามารถสื่อสะท้อนขอบเขตอันกว้างเหนือกำหนดแห่งชีวิตได้หากปราศจากข้อเท็จจริง หากปราศจากหลักฐานแห่งมนุษย์รองรับ ภาพนั้นคงจะไม่สมบูรณ์
[13]
การก่อร่างสร้าง “อนุสรณ์สถานแห่งความระทมทุกข์และความกล้าหาญ” ด้วยปลายปากกาของสเวียตลานา อเล็กซิเยวิชไม่ใช่การจดบันทึกเรื่องราวที่ได้ยินมาอย่างหุ่นยนต์หรือเครื่องยนตร์กลไกไร้ความคิดความรู้สึก หากกว่าจะได้อิฐแต่ละก้อนอันจะนำมาโบกเรียงกันเป็นอนุสรณ์นั้น ผู้เขียนจะต้องเปิดใจรับฟังเรื่องราวที่ไม่ง่ายที่จะรับฟัง เรื่องราวที่เต็มไปด้วยความเจ็บปวดสูญเสีย ครั้นเมื่อรับวัตถุดิบแห่งเรื่องเล่าแล้ว นักเขียนจะต้องนำไปก่อร่างหล่ออิฐที่มีรูปทรงเป็นเอกลักษณ์แตกต่างกันไปตามตัวบทชีวิตที่แตกต่างกันไป นำก้อนอิฐแห่งตัวบทที่ซับซ้อนในตัวทั้งหมดมาคิดวิเคราะห์ วางแผนและจัดเรียงอย่างเป็นศิลปะ โดยไม่ละทิ้งความพยายามที่จะหาสมดุลระหว่างเสียงของตนและเสียงอันเปี่ยมด้วยอารมณ์ความรู้สึกของของมวลชนที่ยากยิ่งที่ระบบสัญญะอันมีแสนยานุภาพและขอบเขตที่จำกัดจะรองรับจับความได้ครบถ้วน สเวียตลานา อเล็กซิเยวิชเป็นมากกว่านักสารคดี หรือนักบันเทิงคดี นอกจากนั้น ยังเป็นมากกว่านักประวัติศาสตร์อีกด้วย เพราะข้อเท็จจริงต่างๆ ของเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์นั้นสำคัญไม่เท่าความเป็นมนุษย์อันละเอียดอ่อนที่สะท้อนในความอดทนอดกลั้นอย่างหาที่สุดไม่ได้ของคนธรรมดาไร้อำนาจ และสะท้อนในความพยายามที่จะมีชีวิตอยู่รอดท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากสงคราม ภัยพิบัติ การกดขี่ การทรยศหักหลังและการโกหกหลอกลวงโดยผู้มีอำนาจ หนังสือของสเวียตลานา อเล็กซิเยวิชประสบความสำเร็จในการเปิดโปงความโหดร้ายและไร้หัวจิตหัวใจแห่งระบอบเผด็จการที่งอกงามบนโลงสังกะสีที่จรรโลงลัทธิชาตินิยมอันหลอกลวง หนังสือของเธอประสบความสำเร็จในการพลิกอ่านร่องรอยแห่งความสูญเสียและชีวิตที่ถูกขโมยไปอย่างไม่เป็นธรรมที่จารึกบนบานประตูที่ใช้เป็นฐานวางร่างอันไร้วิญญาณ อันเป็นมรดกตกทอดแห่งครอบครัวหลายยุคสมัยตั้งแต่สงครามโลกจนถึงสงครามทีลวงโลกในวิถีที่น่าอัปยศมากกว่าที่ผ่านมา หนังสือของสเวียตลานา อเล็กซิเยวิชประสบความสำเร็จในการเผยให้เห็นมือที่มองไม่เห็นที่มีส่วนผลักให้ชายและหญิงหลายคนบินเหมือนนกแม้จะได้ลิ้มชิมอิสรภาพเหมือนนกเพียงไม่กี่วินาที ทั้งหลายทั้งมวลนี้ทำให้เธอเป็นนักเขียนที่เป็นภัยต่อระบอบที่มุ่งปิดหูปิดตาประชาชน ในระดับเทียบเท่ากับที่เพลง “ประเทศกูมี” และฉากหลังในมิวสิกวิดีโอของเพลงเป็นภัยในสายตาของกลุ่มอำนาจนำผู้พยายามควบคุมเซ็นเซอร์ความคิดเชิงวิพากษ์ในสังคมไทย
ผลงานอันโดดเด่นของสเวียตลานา อเล็กซิเยวิช ได้แก่
У войны не женское лицо [อู วอยนี เน เชนสกเย ลิตโซ] หรือ “สงครามไซร้ไร้ใบหน้าแห่งสตรี”
[14]
แหล่งภาพ:
https://books.google.co.th/books/about/The_Unwomanly_Face_of_War.html?id=P5dnDQAAQBAJ&source=kp_cover&redir_esc=y
ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อพ.ศ. 2530 เป็นเรื่องราวชีวิตและประสบการณ์ของผู้หญิงในกองทัพโซเวียตสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้รอดชีวิตและต้องจัดการชีวิตและปรับตัวเข้ากับโลกหลังสงคราม สเวียตลานา อเล็กซิเยวิชย้ำว่าหนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องราวของผู้หญิงสามัญชนคนธรรมดาทั้งหลายผู้ผ่านทั้งสมรภูมิรบและสมรภูมิชีวิต ผู้หญิงที่นอกจากจะมีชีวิตอยู่เพื่อตนเองและความสูญเสียในอดีตแล้วยังมีชีวิตอยู่เพื่อผู้อื่นโดยเฉพาะเพื่อครอบครัวที่ตนเองได้สร้างขึ้นหลังผ่านสงครามอันโหดร้ายอีกด้วย:
ส่วนข้อมูลเนื้อหาของหนังสือและหลักการที่เกี่ยวข้องนั้น ฉันจงใจเลี่ยงทหารพลซุ่มยิงที่มีชื่อเสียงหรือนักบินหรือทหารในกองกำลังต่างๆ ที่เป็นที่รู้จัก เพราะมีเขียนเกี่ยวกับพวกเขาแล้วมากมาย “พวกเราเป็นผู้หญิงธรรมดาที่ทำงานในกองทัพ เหมือนหลายๆ คน” ฉันได้ยินประโยคนี้มามากกว่าหนึ่งครั้ง และฉันกำลังเสาะหาผู้คนธรรมดาแบบนี้เพราะความทรงจำของพวกเขานั้นช่วยก่อร่างสร้างคลังแห่งสิ่งที่เราเรียกกันว่าความทรงจำของผู้คน “ถ้าคุณมองสงครามผ่านสายตาของเรา สายตาของผู้หญิง สงครามดูจะเป็นสิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่สามารถจินตนาการได้” สิบเอกหญิง อเล็กซานดรา อิโอสิฟอฟนา มิชูตินา สังกัดกรมแพทย์ทหาร นี่คือคำพูดของผู้หญิงคนธรรมดาคนหนึ่งที่ต่อสู้ฟันฝ่าสมรภูมิสงครามมาตลอด หลังสงครามก็แต่งงาน มีลูกสามคนและตอนนี้กำลังช่วยเลี้ยงหลาน คำพูดเหล่านี้สื่อแนวคิดที่อยู่เบื้องหลังหนังสือเล่มนี้
[15]
2. Цинковые мальчики [ซินโกเว มัลชิกี] หรือ “เด็กหนุ่มหุ้มสังกะสี”
[16]
แหล่งภาพ:
https://books.google.co.th/books/about/Boys_in_Zinc.html?id=4fEpDQAAQBAJ&source=kp_cover&redir_esc=y
ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อพ.ศ. 2534 เป็นเรื่องราวชีวิตและประสบการณ์ของทหารและผู้ที่เคยอาศัยและทำงานที่อัฟกานิสถานช่วงสงครามโซเวียตในอัฟกานิสถาน ระหว่างปีพ.ศ. 2522-2532 ซึ่งมีผู้บาดเจ็บและล้มตายถึง 50,000 คน ระบอบโซเวียตได้สั่งการให้สื่อต่างๆ สร้างภาพสงครามว่าดำเนินการไปเพื่อประโยชน์สุขของชาวอัฟกานิสถานโดยทหารนั้นไปช่วยก่อร่างสร้างรัฐสังคมนิยมอันเจริญรุ่งเรือง อีกทั้งได้ล้างสมองและสั่งการให้ทหารและผู้เกี่ยวข้องในสงครามเก็บความลับเกี่ยวกับความเป็นจริงที่ไปประสบที่อัฟกานิสถาน สั่งห้ามเปิดเผยและเปิดโปงความไร้เหตุผลป่าเถื่อนของสงครามนี้ ที่น่าเศร้าที่สุดคือเมื่อเหล่าทหารซึ่งส่วนใหญ่เป็นชายหนุ่มอายุราว 18-20 ปีนั้นเสียชีวิต ทางการจะนำร่างบรรจุไปในโลงสังกะสีและ “ปิดตาย” อันหมายความว่าครอบครัวของผู้เสียชีวิตไม่มีแม้แต่สิทธิที่จะขอเปิดโลงศพเพื่ออำลาบุคคลอันเป็นที่รัก นี้เองเป็นที่มาของชื่อหนังสืออันสื่อนัยความหลอกลวงของโฆษณาชวนเชื่อที่มีส่วนรับผิดชอบการตายและความสูญเสียอันยิ่งใหญ่: “ไม่มีใครอธิบายสาเหตุและรายละเอียดการเสียชีวิต งานศพนั้นจัดตอนกลางคืนเพื่อลดจำนวนฝูงชน และศิลาหลุมฝังศพนั้นจารึกถ้อยคำดังนี้ “เสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ด้านวิรัชกิจ” ซึ่งกลายเป็นการเกลื่อนคำของความหมายที่แท้จริง นั่นคือ เสียชีวิตระหว่างการรบ
[17] ความไม่เป็นธรรมและการกดขี่ข่มเหงประชาชนได้เปลี่ยนชีวิตผู้คนธรรมดาอย่างแม่ของทหารนายหนึ่งโดยสิ้นเชิง ดังนี้:
ครู่แรกที่ฉันรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นคือตอนที่ร้อยเอกคนหนึ่งจากศูนย์บัญชาการเดินทางมาถึง
‘พยายามทำใจดีๆ ไว้ครับ คุณแม่…’ นั่นเป็นคำที่เขาใช้เรียกฉัน
‘ลูกชายของฉันอยู่ที่ไหน’
‘อยู่ที่นี่ ที่มินสก์ พวกเขากำลังพาลูกชายแม่มาตอนนี้’
ฉันทรุดลงไปกับพื้น ‘แสงสว่างน้อยๆ ของฉัน แสงสว่างน้อยๆ ของฉัน’ ฉันลุกยืนและกระโจนไปที่ร้อยเอกคนนั้น ‘ทำไมแกรอด แต่ลูกชายของฉันตาย แกตัวใหญ่แข็งแรง ลูกชายของฉันตัวเล็กนิดเดียว แกเป็นผู้ชายเต็มตัวแต่ลูกชายฉันเป็นแค่เด็กคนหนึ่ง ทำไมแกถึงรอดกลับมา’
มีคนนำหีบศพเข้ามา ฉันโถมตัวลงไปที่โลง ฉันอยากจะนำร่างลูกออกมาจัดนอนแผ่(ให้เห็นกับตา)แต่พวกเขาไม่ยอมให้เราเปิดโลงเพื่อที่จะมองหน้าลูก จับตัวลูก… พวกนั้นได้จัดหาเครื่องแบบที่ขนาดพอดีกับตัวลูกหรือเปล่า
[18]
3. Чернобыльская молитва [เชร์โนบิลสกายา มาลิตวา] หรือ “บทภาวนาแห่งเชอร์โนบิล”
[19]
แหล่งภาพ:
https://books.google.co.th/books/about/Voices_from_Chernobyl.html?id=7D1Mp57Tn8YC&source=kp_cover&redir_esc=y
ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อพ.ศ. 2540 เป็นเรื่องราวชีวิตและประสบการณ์ของผู้ที่ประสบความสูญเสียในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพ บุคคลอันเป็นที่รัก ที่อยู่อาศัยและแม้กระทั่งความทรงจำ อันเป็นผลจากภัยพิบัติเชอร์โนบิลซึ่งเกิดเมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2529 เรื่องราวในหนังสือเล่มนี้ เช่นเดียวกับเรื่องเด็กหนุ่มหุ้มสังกะสี บ่งชี้ว่าทางการนั้นได้บิดเบือนความจริงในวิถีอันป่าเถื่อนและเลวร้าย เหยื่อของการทรยศหักหลังคือผู้คนธรรมดาไร้อำนาจที่ต้องสูญเสียแทบจะทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต: “ในช่วงเวลาสิบวันแรกที่สำคัญยิ่ง เมื่อแกนเครื่องปฏิกรณ์นั้นกำลังลุกไหม้และส่งสารกัมมันตภาพรังสีร้ายแรงมายังบริเวณใกล้เคียงอย่างต่อเนื่อง ทางการได้อ้างซ้ำๆ ว่าเข้าควบคุมสถานการณ์ได้เรียบร้อยแล้ว
[20] นี้เป็นการโกหกหลอกลวงประชาชนโดยระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จนิยมที่มิเพียงเข้าขั้นก่ออาชญากรรม แต่สะท้อนให้เห็นถึงความไร้มนุษยธรรมและไม่ใส่ใจประชาชนของตน สเวียตลานา อเล็กซิเยวิชใช้เวลากว่าสามปีในการสัมภาษณ์รวบรวมเรื่องราวชีวิตของผู้ที่เป็น “คนธรรมดาสามัญผู้ตอบคำถามที่สำคัญที่สุด
[21] คำถามเกี่ยวกับความสูญเสีย ความรัก ความตาย ความสุข ความทุกข์ทั้งหมดนี้เป็นแก่นและหัวใจแห่งมนุษยชาติ เช่นเดียวกับที่เชอร์โนบิลกลายเป็นแก่นแกนหลักแห่งชีวิตของพวกเขาแม้ทางการจะบังคับให้พวกเขาลืมทุกสิ่งทุกอย่างก็ตาม สเวียตลานา อเล็กซิเยวิชเองนั้นก็ประสบกับความสูญเสียและโศกนาฏกรรมอันเป็นผลจากอุบัติภัยเชอร์โนบิลเช่นกัน มารดาของเธอตาบอดและน้องสาวเสียชีวิตเพราะเหตุการณ์ดังกล่าว
[22]
ในเรื่องเล่าที่ชื่อว่า “บทพูดเดี่ยวเกี่ยวกับชีวิตทั้งชีวิตที่ลิขิตบนบานประตู”
[23] อันเป็นเรื่องราวของพ่อคนหนึ่งที่มิเพียงต้องสูญเสียบ้าน ต้องสูญเสียลูกสาวเพราะพิษกัมมันตรังสี แต่ยังต้องสูญเสียศักดิ์ศรีความเป็นคนโดยหลังจากที่ถูกสั่งให้อพยพแล้ว ผู้คนในเมืองใหม่ที่ตนอาศัยอยู่นั้นมองคนที่มาจากเชอร์โนบิลอย่างตนและครอบครัวอย่างเคลือบแคลงสงสัย นอกจากนี้ เมื่ออพยพออกจากบ้านโดยไม่ได้นำทรัพย์สินอะไรติดตัวไปเลย เขาตั้งใจกลับไป “ขโมย” ทรัพย์สินที่มีค่าที่สุดจากบ้านของตนเอง นั่นคือ บานประตูอันเป็นมรดกตกทอดในครอบครัว:
ประตูของเรา—มันเป็นเครื่องรางของพวกเรา เป็นสมบัติตกทอดของครอบครัว ร่างพ่อของฉันนอนแผ่บนประตู ฉันไม่รู้ว่าธรรมเนียมนี้เป็นของใคร มันไม่เป็นอย่างนี้ไปหมดทุกที่ แต่แม่ของฉันบอกว่าจะต้องวางร่างคนตายไปบนประตูบ้านตัวเอง
[24]
ความย้อนแย้งของสถานการณ์สะท้อนในตอนที่เขาถูกตำรวจไล่ล่าราวเป็นหัวขโมยคนหนึ่ง ราวกับว่าบ้านที่เขาไปเยือนนั้นไม่ใช่บ้านของเขาจริงๆ เมื่อได้ประตูบานนั้นมา เขาก็ต้องนำมาใช้ลูกสาวของตัวเองตามขนบของครอบครัว การเล่าเรื่องราวนี้แม้จะเจ็บปวด แม้จะไม่อาจทำให้ลูกสาวฟื้นคืนชีพ แม้จะไม่อาจกู้ชีวิตที่สูญหายไปกับเมืองที่ปิดตาย แม้จะไม่อาจโต้ตอบความโกหกหลอกลวงของทางการ แต่เขาก็ตั้งใจว่าจะขอเป็นส่วนร่วมในการบันทึกเรื่องราวแห่งการสูญเสียเพื่อเป็นสักขีพยานแห่งความรักที่มีต่อลูกสาว อีกทั้งต่อชีวิตที่หายไปและความตายที่ไม่หายไปไหน คอยติดตามเขาและครอบครัวเป็นเงาตามตัว:
ลูกสาวของฉันอายุหกขวบ ฉันกำลังเตรียมให้เธอเข้านอนบนเตียง และเธอกระซิบในหูฉันว่า “พ่อจ๋า หนูอยากมีชีวิตอยู่ หนูยังเล็กนัก” และฉันก็หลงคิดมาตลอดว่าลูกไม่เข้าใจอะไร
…
เราวางร่างลูกไว้บนบานประตู… ประตูที่พ่อของฉันเคยนอน จนพวกเขาเอาโลงศพเล็กๆ ออกมา โลงศพนั้นเล็กเหมือนกล่องที่ไว้ใส่ตุ๊กตายักษ์
ฉันอยากจะให้เรื่องนี้เป็นสักขีพยาน ลูกสาวของฉันตายเพราะเชอร์โนบิล และพวกนั้นอยากให้เราลืมทุกสิ่ง
[25]
เรื่องราวที่ฟังดูเหนือจริงแต่แท้จริงนั้นเป็นความจริงอันเจ็บปวดได้รับดัดแปลงเป็นภาพยนตร์สั้น (short film) กำกับโดยฮัวนิตา วิลสัน (Juanita Wilson) ผู้กำกับชาวไอร์แลนด์ ซึ่งได้รับเสนอชื่อเข้ารับรางวัลออสการ์ (Academy Award) ประจำปีพ.ศ. 2553
4. Время секонд хэнд [วรีมยา เซกอนด์ เคนด์] หรือ “เวลามือสอง”
[26]
แหล่งภาพ:
https://www.penguinrandomhouse.com/books/541184/secondhand-time-by-svetlana-alexievich/9780399588822/
ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อพ.ศ. 2556 หนังสือเล่มนี้บันทึกเรื่องเล่าของผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ระบอบโซเวียต อีกทั้งนำเสนอบทวิเคราะห์ชีวิตและห้วงคำนึงของผู้คนภายหลังระบอบโซเวียตล่มสลาย:
ฉันสำรวจระบอบสังคมนิยมใน “บ้าน” เพราะแม้ระบอบสังคมนิยมแบบทางการนั้นได้หายไปพร้อมกับพิธีต่างๆ และเสื้อผ้า แต่มันยังอยู่ในเบื้องลึกของมนุษย์ เมื่อยี่สิบถึงยี่สิบห้าปีที่แล้วเราคิดอย่างอาจหาญและไร้เดียงเสียเหลือเกินว่าเราจะอำลาประสบการณ์อันเลวร้ายและแทบจะไร้มนุษยธรรมอย่างง่ายดาย
การณ์กลับเป็นว่า มันไม่ง่ายเลย “มนุษย์สีแดง” ยังมีชีวิตอยู่ในตัวของเรา
[27]
ในประเทศที่ยังหนีไม่พ้นเงาเผด็จการและเบ็ดเสร็จนิยมแห่งอดีตอย่างเบลารุส ความเป็น “มนุษย์สีแดง” ผู้จำทนและจำนนต่อความไม่เป็นธรรมและอำนาจกดขี่ยังคงตามหลอกหลอนมิเพียงในรูปแบบระบอบการปกครองของผู้นำเผด็จการในปัจจุบัน แต่ในรูปแบบของความคิดและอารมณ์แห่งห้วงคำนึงเบื้องลึกอีกด้วย สเวียตลานา อเล็กซิเยวิช บันทึกเรื่องราวและวิเคราะห์สภาวะแห่งการเป็น “มนุษย์สีแดง” หรือเรียกอีกนามหนึ่งว่า советский человек “โซเวียตสกี เชโลเว็ก”
[28] ซึ่งแปลตรงตัวว่า “มนุษย์โซเวียต” อันได้คนที่นิยามอัตลักษณ์ของตนหรือของกลุ่มโดยอิงกับคุณค่า ลักษณะ มุมมอง วาทกรรมและโฆษณาชวนเชื่อแห่งระบอบคอมมิวนิสต์ อิงแนวโน้มการคิดเชิงวัตถุนิยม (materialism) และลัทธิส่วนรวมนิยมที่เน้นการถือครองกรรมสิทธิ์ร่วมกัน (collectivism) นอกจากนี้ สำหรับประเทศที่เคยเป็นรัฐบริวารของโซเวียตอย่างเป็นทางการ อัตลักษณ์แห่งมนุษย์โซเวียตยังสะท้อนในความรู้สึกโหยหาอดีต (nostalgia) สะท้อนในทัศนคตินั้นเต็มตื้นไปด้วยบรรยากาศช่วงเวลาก่อนที่กำแพงเบอร์ลินจะล่มสลายหรือก่อนที่ระบอบโซเวียตจะล่มสลายอย่างเป็นทางการ บรรดามนุษย์โซเวียตนั้นไม่จำเป็นที่จะต้องเห็นด้วยหรือสนับสนุนระบอบคอมมิวนิสต์ที่ล่มสลายไปเหมือนกันทุกคน แต่เนื่องจากเวลาในห้วงคำนึงซึ่งยึดโยงกับระบอบในอดีตนั้นไม่ตรงกับเวลาในโลกความเป็นจริงแห่งการเปิดประเทศ เปิดพรมแดนเพื่อการค้าเสรี มนุษย์โซเวียตนั้นจะต้องรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปและต้องพยายามกำหนดนิยามคำต่างๆ เช่น เสรีภาพ ปัจเจกชน ซึ่งล้วนเป็นคำที่ใช้เคยใช้เป็นส่วนหนึ่งของโฆษณาชวนเชื่อทางการเมือง เป็นคำที่ตนไม่เคยมีสิทธิและอำนาจ (agency) ที่จะกำหนดนิยามโดยอิสระเสรีมาก่อนในอดีต
5. Зачарованные смертью [ซาชาโรวานนเย สเมร์ชยู] หรือ “มนตราแห่งมรณา”
[29]
ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อพ.ศ. 2536 เป็นเรื่องราวของกลุ่มคนที่รู้จักและเกี่ยวพันกับผู้ที่ตัดสินใจฆ่าตัวตาย สเวียตลานา อเล็กซิเยวิชไม่ได้มุ่งสนใจเหตุการณ์การฆ่าตัวตายหรือเน้นสาเหตุและรายละเอียดการตายมากเท่ากับที่สนใจสำรวจเรื่องราวที่อยู่เบื้องหลังปัจเจกชนผู้เลือกทางแห่งความตาย ทางแห่งการลาและลืมโลกที่ตนเกิดมา อีกทั้งปัจเจกชนที่ต้องรับมือกับความสูญเสีย ดังสะท้อนใน“เรื่องราวของผู้ชายที่บินได้เหมือนนก: อิวาน มาโชเว็ตซ์—นักศึกษาปริญญาบัณฑิตจากภาควิชาปรัชญา”
[30] หนังสือเล่มนี้มิเพียงรวบรวมคำบอกเล่าจากพยานและเพื่อนของผู้ที่ฆ่าตัวตาย แต่ยังชี้ให้เห็นว่าในกลวิธีการเล่าเรื่องนั้น ผู้ที่มีชีวิตอยู่จะต้องรับมือกับประสบการณ์ที่มีร่วมกับผู้ตายและสายสัมพันธภาพกับผู้ตายที่ตามหลอกหลอนอย่างไร มีทัศนคติเกี่ยวกับความเป็นความตาย สังคมและค่านิยมในโลกปัจจุบันอย่างไร:
จากคำบอกเล่าของเพื่อนคนหนึ่งชื่อวลาดิมีร์ สตานิยูเควิช นักศึกษาปริญญาบัณฑิตจากภาควิชาปรัชญา:
… เขาอยากจะจากไปโดยที่ไม่มีใครทันสังเกตอยู่แล้ว ตอนนั้นเป็นช่วงหัวค่ำ ช่วงสนธยา แต่นักเรียนหลายๆ คนในหอพักที่อยู่ใกล้เคียงเห็นตอนที่เขากระโดด เขาเปิดอ้าหน้าต่างไว้กว้าง ยืนบนขอบหน้าต่างและมองลงมาข้างล่างอย่างนานสองนาน และแล้วก็หันหลังกลับและถีบตัวลงไปอย่างแรง และเขาก็เริ่มบิน… เขาบินลิ่วลงมาจากชั้นสิบสอง…
ผู้หญิงคนหนึ่งกำลังเดินผ่านพร้อมกับลูกชายตัวน้อย เด็กคนนั้นมองขึ้นมา:
“แม่ ดูสิ ผู้ชายคนนั้นกำลังบินเหมือนนก…”
เขาบินอยู่ประมาณห้าวินาที
[31]
เสียงของเพื่อนผุ้ตายนั้นผสานกับเสียงของผู้ตายราวกับว่าผู้ตายกำลังพูดผ่านกระบอกเสียงของผู้ที่มีชีวิตอยู่ ผู้ตายนั้นกลับฟื้นคืนชีพผ่านการเล่าเรื่องและการถ่ายทอดความทรงจำ ในตัวบทที่คัดตอนมาเบื้องล่าง เราจะได้ยินเสียงและเงาตัวตนของอิวาน มาโชเว็ตซ์ แฝงไปในน้ำเสียงของเพื่อน เงาแห่งอดีตนั้นทาบทาประสานเป็นเนื้อเดียวกับเลือดเนื้อแห่งปัจจุบัน:
“ฉันเสนอหัวข้อสารนิพนธ์ใหม่กับอาจารย์ของเรา นั่นคือหัวข้อ ‘สังคมนิยมในฐานะความผิดพลาดทางภูมิปัญญา’ อาจารย์ตอบว่า ‘ไร้สาระ’ ประหนึ่งว่าฉันประสบความสำเร็จในการถอดรหัสพระคัมภีร์หรือปริศนาโลกแตก แต่นะ ไร้สาระทั้งในแง่รูปแบบและความคิดสร้างสรรค์โดยเท่าเทียมกัน… ตาอาจารย์ลุงแก่พิศวงงงงวย นายรู้จักอาจารย์เขาดีนี่—อาจารย์ไม่เหมือนพวกคนหัวโบราณคร่ำครึ แต่สำหรับเขาแล้วทุกอย่างที่เกิดขึ้นนั้นเป็นโศกนาฏกรรมส่วนตัว ฉันจะต้องแก้สารนิพนธ์ แต่เขาจะแก้ชีวิตเขาได้อย่างไร”
คำบอกเล่านี้ไม่ใช่บทอธิบาย คำให้การ หรือข้อพิสูจน์ถึงแรงจูงใจในการฆ่าตัวตายเสมอไป (การที่อิวานตั้งคำถามระบอบอันนำไปสู่ความพยายามเปลี่ยนหัวข้อสารนิพนธ์ที่ไม่เป็นผล) หากเป็นห้วงแห่งมนตร์สะกด หรือการเพ่งสมาธิไปที่ความทรงจำเกี่ยวกับผู้ตาย อันเป็นห้วงที่ความจริงในใจของผู้เล่าและค่านิยมกระแสหลักของสังคมเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงออกมา (ผู้ตายอาจไม่มองว่าตนเป็นเหยื่อ แต่กลับมองว่าอาจารย์ซึ่งถูกระบอบล้างสมองนั้นเป็นเหยื่อที่แท้จริง) เมื่อมนุษย์เกี่ยวพันและโยงกันอย่างแทบจะแยกออกจากกันไม่ได้นี่คือหนทางที่เราจะสามารถฟังเสียงและเข้าใจเศษเสี้ยวส่วนหนึ่งของชีวิตผู้ตาย
สเวียตลานา อเล็กซิเยวิชกล่าวทิ้งท้ายว่า "ฉันค้นชีวิตเพื่อหาความเห็นต่างๆ เสาะหานัยและรายละเอียดต่างๆ เนื่องจากฉันสนใจชีวิต ไม่ได้สนใจเหตุการณ์ในตัวของมันเอง ไม่สนใจสงครามในตัวของมันเอง ไม่สนใจเชอร์โนบิลในตัวของมันเอง ไม่สนใจการฆ่าตัวตายในตัวของมันเอง ที่ฉันสนใจคือสิ่งที่เกิดกับมนุษย์ สิ่งที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ในยุคสมัยของเรา
[32] และความเข้าใจมนุษย์นี้อาจนำพาไปสู่ความเข้าใจสภาพการณ์และทัศนคติที่ทุกวันนี้ยังคงเป็นโซ่ตรวนที่ทำให้ผู้คนยังคงติดกับและตกเป็นทาสของระบอบเผด็จการ ในบทสัมภาษณ์หนึ่ง เธอตั้งคำถามและยกประเด็นสำคัญที่ดังสะท้อนในงานเขียนของเธอทุกงาน ดังนี้
เรื่องเดียวที่ฉันรู้สึกเจ็บปวดคือเหตุใดเราถึงไม่เรียนรู้จากความทุกข์ทรมานที่ผ่านมา เหตุใดเราไม่ลุกขึ้นมาพูดว่าฉันไม่อยากเป็นทาส(ระบอบ)อีกต่อไป เหตุใดเราต้องทนทุกข์ทรมานครั้งแล้วครั้งเล่า เหตุใดมันถึงกลายเป็นภาระและชะตากรรมของเรา… ฉันไม่มีคำตอบ แต่ฉันอยากให้หนังสือที่ฉันเขียนคอยกระตุ้นและผลักดันให้ผู้อ่านตั้งคำถามเหล่านี้กับตัวเอง (และหาคำตอบด้วยตัวเอง)
[33]
เรื่องเล่าจากโลกแห่งการสูญเสียนี้อาจจะช่วยกู้ช่วงเวลาชีวิตที่ถูกปล้นไปและช่วยกู้ศักดิ์ศรีที่เรากำลังจะสูญเสีย อนุสรณ์สถานแห่งบาดแผลและความรุนแรงที่ก่อร่างสร้างด้วยตัวอักษร เสียงและชีวิตของปัจเจกชนหลายๆ คนนั้น ไม่ได้มีไว้เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์และผู้คนในอดีตมากเท่าเพื่อเยียวยาและพิทักษ์รักษาความหวังที่ยังพอมีหลงเหลืออยู่ในจิตวิญญาณมนุษย์ที่ผ่านความทุกข์ยากอย่างทรงพลังและน่าอัศจรรย์
ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่นักเขียนรางวัลโนเบล สเวียตลานา อเล็กซิเยวิชจากเบลารุส มอบแด่มวลมนุษยชาติ พ่วงด้วยคำถามที่ว่า
ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะลืมตาตื่นขึ้นมาใช้ชีวิตอย่างแท้จริงอยู่ใน “เวลามือหนึ่ง” แห่งปัจจุบันกาลและลุกขึ้นมาลงมือเปลี่ยนแปลงสังคมให้เป็นไปอย่างที่เราใฝ่ฝันหา?
***
พิเศษ สำหรับผู้ที่สนใจจะทำความรู้จักสเวียตลานา อเล็กซิเยวิช อย่างลึกซึ้งและร่วมอ่านวิเคราะห์งานเขียนของสเวียตลานา อเล็กซิเยวิช กับคนรุ่นใหม่
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสถานทูตยูเครนประจำประเทศไทย และหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ขอเชิญทุกท่านเข้าร่วมงาน "Ukraine in Focus: History, Tourism, Arts and Culture" ในวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 ณ ห้อง Auditorium ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมทางวิชาการ สามารถสแกน QR code บนโปสเตอร์เพื่อลงทะเบียนได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ
รายละเอียดเพิ่มเติมโปรดคลิกที่นี่
https://goo.gl/forms/SPMAu5B6D11Cl4572
[1] บทความนี้เป็นฉบับย่อ ดัดแปลง และปรับปรุงแก้ไขใหม่ของ วริตตา ศรีรัตนา.“สเวียตลานา อเล็กซิเยวิช และเรื่องเล่าจากโลกแห่งการสูญเสีย”. วารสารยุโรปศึกษา. ปีที่ 22 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม), 2557: 159-187. (พิมพ์เมื่อพ.ศ.2559)
[2] Marples, David. “Belarusian Writers and the Soviet Past”. Belarus Digest. 2 November 2015.
http://belarusdigest.com/story/belarusian-writers-and-soviet-past-23621
[3] “The Nobel Prize in Literature 2015 Press Release”. Nobelprize.org. 8 October 2015.
http://www.nobelprize.org/nobel_prizes/literature/laureates/2015/press.html บทแปลภาษาไทยจากตัวบทนี้ทั้งหมดเป็นของผู้เขียนบทความ
[4] สำนวนแปลเป็นของผู้เขียนบทความนี้
[5] Ibid.
[6] Alter, Alexandra. “Svetlana Alexievich, Belarussian Voice of Survivors, Wins Nobel Prize in Literature”. The New York Times. 8 October 2015.
http://www.nytimes.com/2015/10/09/books/svetlana-alexievich-nobel-prize-literature.html?_r=0
[7] Segal, Corinne. “Svetlana Alexievich, investigative journalist from Belarus, wins Nobel Prize in Literature”. PBS.org. 8 October 2015.
http://www.pbs.org/newshour/rundown/svetlana-alexievich-investigative-journalist-belarus-wins-nobel-prize-literature/
[8] Kellogg, Carolyn. “Svetlana Alexievich wins Nobel Prize in Literature”. Los Angeles Times. 8 October 2015.
http://www.latimes.com/books/jacketcopy/la-et-jc-nobel-prize-in-literature-svetlana-alexievich-20151007-story.html บทแปลภาษาไทยจากตัวบทนี้ทั้งหมดเป็นของผู้เขียนบทความ
[9] Ibid.
[10] Lucic, Ana. “A Conversation with Svetlana Alexievich”. Dalkey Archive Press.
http://www.dalkeyarchive.com/a-conversation-with-svetlana-alexievich-by-ana-lucic/ บทแปลภาษาไทยจากตัวบทนี้ทั้งหมดเป็นของผู้เขียนบทความ
[11] Ibid.
[12] Lyotard, Jean-François. The Postmodern Condition: A Report on Knowledge. Trans. Geoff Bennington and Brian Massumi. Foreword. Fredric Jameson. Theory and History of Literature. Vol. 10 (Manchester: Manchester University Press, 1985), p. xxiv.
[13] Lucic, Ana. “A Conversation with Svetlana Alexievich”. Dalkey Archive Press.
http://www.dalkeyarchive.com/a-conversation-with-svetlana-alexievich-by-ana-lucic/
[14] สำนวนแปลเป็นของผู้เขียนบทความนี้
[15] Alexievich, Svetlana. “Introduction (from War's Unwomanly Face by Svetlana Alexievich)”. Trans. Keith Hammond and Lyudmilla Lezhneva.
marxists.org. Transcribed and HTML Markup. Sally Ryan.
https://www.marxists.org/subject/women/subject/war/wuf00.htm บทแปลภาษาไทยจากตัวบทนี้ทั้งหมดเป็นของผู้เขียนบทความ
[16] สำนวนแปลเป็นของผู้เขียนบทความนี้
[17] Heinemann, Larry. “Introduction”. Zinky Boys: Soviet Voices from the Afghanistan War. Svetlana Alexievich, Trans. Julia and Robin Whitby. Intro. Larry Heinneman (New York: W.W. Norton & Company, 1992), p. x. บทแปลภาษาไทยจากตัวบทนี้ทั้งหมดเป็นของผู้เขียนบทความ
[18] Alexievich, Svetlana. Zinky Boys: Soviet Voices from the Afghanistan War. Trans. Julia and Robin Whitby. Intro. Larry Heinneman (New York: W.W. Norton & Company, 1992), p. 52. บทแปลภาษาไทยจากตัวบทนี้ทั้งหมดเป็นของผู้เขียนบทความ
[19] สำนวนแปลเป็นของผู้เขียนบทความนี้
[20] Gessen, Keith. “Translator’s Preface”. Voices from Chernobyl: The Oral History of a Nuclear Disaster. Svetlana Alexievich. Trans. and Preface. Keith Gessen (New York: Picador, 2006), p. xi. บทแปลภาษาไทยจากตัวบทนี้ทั้งหมดเป็นของผู้เขียนบทความ
[21] Alexievich, Svetlana. Voices from Chernobyl: The Oral History of a Nuclear Disaster. Trans. and Preface. Keith Gessen (New York: Picador, 2006), p. 236. บทแปลภาษาไทยจากตัวบทนี้ทั้งหมดเป็นของผู้เขียนบทความ
[22] von Nahmen, Alexandra. “Writing for Peace: How Mighty is the Pen?”. In the Interview: The Award-Winning Writer Svetlana Alexievich. Deutsche Welle. 12 October 2013.
http://www.dw.com/en/writing-for-peace-how-mighty-is-the-pen/a-17154291
[23] Alexievich, Svetlana. Voices from Chernobyl: The Oral History of a Nuclear Disaster. Trans. and Preface. Keith Gessen (New York: Picador, 2006), p. 31.
[24] Ibid., p. 32.
[25] Ibid., p. 33.
[26] สำนวนแปลเป็นของผู้เขียนบทความนี้
[27] Yákovleva, Elena. “Saying a long farewell to the inner Red Man”. Russia beyond the Headlines. 14 October 2013.
http://rbth.com/literature/2013/10/14/saying_a_long_farewell_to_the_inner_red_man_30791.html
[28] Titarenko, Larissa. “Post-Soviet National Identity: Belarusian Approaches and Paradoxes”. Filosofija. Sociologija. 2007. T. 18. Nr. 4 (Vilnius: Lithuanian Academy of Sciences Publishers, 2007), p. 85.
[29] สำนวนแปลเป็นของผู้เขียนบทความนี้
[30] ผู้อ่านที่สนใจสามารถอ่านบทแปลภาษาอังกฤษของ “เรื่องราวของผู้ชายที่บินได้เหมือนนก: อิวาน มาโชเว็ตซ์—นักศึกษาปริญญาบัณฑิตจากภาควิชาปรัชญา” “The Story of the Man Who Flew Like a Bird: Ivan Mashovets—Graduate Student of the Philosophy Department” ที่คัดตอนจากหนังสือเล่มนี้ได้ที่
http://www.nybooks.com/articles/archives/2015/nov/19/man-who-flew/
[31] Alexievich, Svetlana. “The Man Who Flew”. Trans. Jamey Gambrell. The New York Review of Books. 19 November 2015.
http://www.nybooks.com/articles/archives/2015/nov/19/man-who-flew/
[32] Alexievich, Svetlana. “A Search for Eternal Man: In Lieu of Biography”. Voices from Big Utopia. 2006.
http://alexievich.info/indexEN.html บทแปลภาษาไทยจากตัวบทนี้ทั้งหมดเป็นของผู้เขียนบทความ
[33] von Nahmen, Alexandra. “Writing for Peace: How Mighty is the Pen?”. In the Interview: The Award-Winning Writer Svetlana Alexievich. Deutsche Welle. 12 October 2013.
http://www.dw.com/en/writing-for-peace-how-mighty-is-the-pen/a-17154291
เกี่ยวกับผู้เขียน: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วริตตา ศรีรัตนา เป็นประธานหลักสูตร PhD in European Studies (PEUS) และอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาอังกฤษ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Verita.s@chula.ac.th
[full-post]