Posted: 25 Sep 2018 08:47 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Tue, 2018-09-25 22:47


ตุลาการผู้แถลง เห็นว่ากลุ่มเดินมิตรภาพใช้เสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่การชุมนุมมั่วสุมทางการเมืองตามคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 แต่ก็เห็นว่าการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสกัดไม่ให้ผู้ชุมนุมเดินออกจากธรรมศาสตร์ไม่เป็นการละเมิดสิทธิเพราะมีอำนาจตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ

25 ก.ย. 2561 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เวลา 14.00 น. ศาลปกครองการ ได้นัดฟังการพิจารณาคดีครั้งแรกในคดีที่ ตัวแทนกลุ่มเดินมิตรภาพคือ เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ณัฐวุฒิ อุปปะ และนิมิมิตร์ เทียนอุดม ยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ, พ.ต.อ.ฤทธินันท์ ปุ้ยพันธวงศ์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรคลองหลวง, พล.ต.ท.สุรพงษ์ ถนอมจิตร ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานี และพล.ต.ต.สมหมาย ประสิทธิ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1,3 และ4 เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1- 7 ต่อศาลปกครอง จากกรณีที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจปิดกั้นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้แจ้งการชุมนุมสาธารณะต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจล่วงหน้าแล้ว ในช่วงพิธีเปิดกิจกรรมเดินมิตรภาพวันที่ 19-21 ม.ค. 2561

เวลา 14.00 น. ศาลออกนั่งพิจารณาคดี ตุลาการเจ้าของสำนวนได้สรุปข้อเท็จจริงและประเด็นคดีให้องค์คณะตุลาการศาลปกครองและคู่กรณีฟัง โดยองค์คณะเห็นว่ามีประเด็นพิจารณาในคดีนี้ทั้งหมด 3 ประเด็น คือ

1.ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 โต้แย้งว่าคดีนี้ไม่อยู่ในบังคับกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธิพิจารณาคดีปกครอง ตามข้อ 13 ผู้ฟ้องคดีทั้ง 4คน จึงไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้อง เนื่องจากเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 จึงต้องพิจารณาว่าผู้ฟ้องมีสิทธินำคดีนี้มาฟ้องศาลปกครองหรือไม่

2.การที่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 4 คนขอให้มีคำบังคับให้ผู้ถูกฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลการชุมนุมสาธารณะ จนกว่าจะเสร็จสิ้นการชุมนุม ศาลต้องออกคำบังคับหรือไม่

3.ผู้ถูกฟ้องคดีในฐานเจ้าพนักงานตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะได้ปิดกั้นการชุมนุมอันสงบปราศจากอาวุธถือเป็นการละเมิดเสรีภาพในการชุมนุมของผู้ฟ้องคดีหรือไม่ และถ้าหากเป็นการละเมิดเสรีภาพในการชุมนุม สำนักงานตำรวจแห่งชาติที่เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1ต้องชดใช้ค่าเสียหายหรือไม่
สรุปข้อเท็จจริงในคดี People Go

องค์คณะตุลาการได้สรุปข้อเท็จจริงความว่า เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ฟ้องคดีที่ 1 เป็นผู้จัดการชุมนุมและที่เหลือเป็นผู้ร่วมการชุมนุมในนามเครือข่ายประชาชน People Go Network ได้ร่วมจัดกิจกรรม “We Walk เดินมิตรภาพ” จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตถึงจังหวัดขอนแก่น เพื่อยืนยันสิทธิของประชาชนใน 4 ประเด็น ได้แก่เรื่องหลักประกันสุขภาพ นโยบายไมทำลายความมั่นคงทางอาหาร กฎหมายที่จะไม่ลดทอนสิทธิมนุษยชนสิทธิชุมนุม และรัฐธรรมนูญต้องมาจากการมีส่วนร่วมและรับฟังอย่างรอบด้าน

นอกจากนั้นผู้ฟ้องคดีได้แจ้งการชุมนุมต่อพ.ต.อ.ฤทธินันท์ ปุ้ยพันธวงศ์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรคลองหลวง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ 2558 แล้วเมื่อวันที่ 17 ม.ค.2561 โดยใช้ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ต.อ.ฤทธินันท์จึงได้ทำหนังสือตอบกลับผู้แจ้งจัดการชุมนุมตามมาตรา 11 พ.ร.บ.ชุมนุมฯ แต่ภายหลังพ.ต.อ.ฤทธินันท์ได้รับแจ้งจากฝ่ายสืบสวนและเจ้าหน้าที่ความมั่นคงฝ่ายทหารว่าผู้จัดกิจกรรมมีการขายเสื้อที่มีข้อความ “ช่วยกันคนละชื่อ ปลดอาวุธ คสช.” และมีการร่วมกันลงชื่อเสนอกฎหมายยกเลิกประกาศ คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 3/2558

พ.ต.อ.ฤทธินันท์จึงมีหนังสือถึงเลิศศักดิ์ ว่าตามที่ตนได้รับรายงานมาเห็นว่าพฤติการดังกล่าวไม่ใช่การชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ แต่เป็นการมั่วสุมหรือเป็นชุมนุมทางการเมือง ซึ่งขัดต่อคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. หากเลิศศักดิ์ต้องการชุมนุมต่อให้ดำเนินการขออนุญาตผู้มีอำนาจต่อไป ทั้งนี้เลิศศักดิ์ได้ทำหนังสือถึงพ.ต.อ.ฤทธินันท์ยืนยันการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมตามกฎหมาย

ต่อมาในวันที่ 20ม.ค.2561 ผู้ฟ้องคดีทั้ง 4 คนและเครือข่ายรวมประมาณ 100 คน ได้เดินออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่มีตำรวจประมาณ 200 นาย ตั้งแถวหน้ากระดานปิดกั้นไม่ให้ผู้ชุมนุมเดินออกไป ผู้ถูกฟ้องคดีแจ้งว่าไม่สามารถเปิดทางให้เดินออกไปได้จนทำให้ผู้ชุมนุมบางส่วนทยอยกลับ จน 16.00น. ผู้ชุมนุมเดินออกจาก มธ.ทางประตูอื่นและเดินไปขอพักที่วัดลาดทรายในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และวันต่อมาผู้ชุมนุมเดินออกจากวันลาดทรายในเวลา 6.00น.เพื่อเริ่มทำกิจกรรมวันที่สอง ตำรวจและทหารได้ตั้งด่านบริเวณทางเข้าวัดตรวจบัตรประชาชนและซักประวัติทุกคนที่ผ่าน และตรวจรถยนต์และตรวจสำเนาทะเบียนรถทุกคันและมีการกักรถกระบะที่ใช้คนสัมภาระและน้ำดื่มเพื่อตรวจค้น

ผู้ฟ้องคดีทั้ง 4 คนเห็นว่าการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่เป็นการปิดกั้นการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธและยังมีการควบคุมตัวผู้ฟ้องคดีที่ 3 และยังปฏิเสธไม่ให้มีทนายความเข้าร่วมฟังการสอบปากคำโดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าไม่ใช่กระบวนการยุติธรรมทางอญา อีกทั้งยังมีการกดดันเจ้าของสถานที่ไม่ให้พวกเขาใช้สถานที่พักในตอนกลางคืนด้วย ซึ่งการกระทำดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2-4 ในฐานะเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมและเจ้าพนักงานในสังกัดมีลักษณะเป็นปฏิบัติการทางปกครอง และเป็นการละเมิดการปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยต่อผู้ฟ้อง

ทั้งนี้ผู้ถูกฟ้องทั้งหมดเห็นว่าการกระทำของพวกตนเป็นการดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่ตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว ไม่มีการใช้อำนาจเกินขอบเขตที่เป็นการละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของผู้ฟ้องและผู้ร่วมชุมนุม จึงไม่เป็นการละเมิดตามมาตรา 240 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ได้โต้แย้งว่าการชุมนุมของผู้ฟ้องคดีไม่ใช่การใช้สิทธิเสรีภาพในขอบเขตของรัฐธรรมนูญและมาตรา 6 วรรคสอง ในพ.ร.บ.ชุมนุมฯ เนื่องจากเป็นการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปเป็นการขัดต่อคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 การกระทำตามคำสั่งนี้จึงไม่อยู่ในบังคับกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธิพิจารณาคดีปกครอง ตามข้อ 13 ผู้ฟ้องคดีจึงไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้อง
ตัวแทน People Go แถลง เชื่อมั่นรัฐธรรมนูญมากกว่าคำสั่งหัวหน้าคสช.

นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้ฟ้องคดีที่ เป็นตัวแทน แถลงต่อศาลด้วยวาจาเพิ่มเติมว่าที่ข้อเท็จจริงระบุว่าในเหตุการณ์วันที่ 20 ม.ค. ตนออกจากมหาวิทยาลัยได้นั้น ที่จริงแล้วตนติดอยู่ในมหาวิทยาลัยกับผู้ชุมนุมรวมประมาณ 50 คน จนถึง 18.00 น. ที่เจ้าหน้าที่ได้ถอนกำลังออกไปแล้ว

นอกจากนั้น พวกเขาเห็นว่าเสรีภาพการชุมนุมเป็นเรื่องสำคัญและเป็นเครื่องมือของประชาชนในการใช้สิทธิเสรีภาพตามกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาของประชาชน พวกเขาได้พยายามทุกวิถีทางในการยืนหนังสือ ประชุมร่วมกับหน่วยงานรัฐ แต่ไม่ได้รับการแก้ไข และพวกเขาเชื่อว่าพวกตนมีเสรีภาพในการชุมนุมและเคารพกฎหมายจึงมีการแจ้งจัดการชุมนุมและเจ้าหน้าที่มีหน้าที่รับแจ้งรวมถึงอำนวยความสะดวก แต่เหตุการณ์ไม่เป็นเช่นนั้น ในการแจ้งการชุมนุม พวกตนได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบชัดเจนว่าจะเดินทางไปที่ไหน พักที่ไหน ได้แจ้งรายละเอียดทั้งหมด

พวกเขาแถลงอีกว่า พวกเขามีคำถามว่าระหว่างคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 กับรัฐธรรมนูญจะต้องยึดถืออะไรเพราะพวกเขาเชื่อมั่นในรัฐธรมนูญ ในการเดินของพวกเขาตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงขอนแก่นได้ชุมนุมกันโดยสงบและปราศจากอาวุธ ไม่ได้ก่อความวุ่นวายแต่พวกเขาพบว่าพวกเขาไม่สามารถเข้าที่พักได้ตามแผนเพราะการกดดันของเจ้าหน้าที่ได้สร้างความหวาดกลัวแก่วัด แก่กรรมการวัด และผู้เข้าร่วมชุมนุม และพวกเขายังได้เห็นว่าคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองทำให้พวกเขาสามารถเดินไปจนถึงขอนแก่นได้ เพราะเจ้าหน้าที่บอกว่าถ้าไม่มีคำสั่งศาลพวกเขาก็ต้องยึดตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558
ตุลาการผู้แถลงคดีเห็นว่าองค์คณะควรยกฟ้อง

ตุลาการศาลปกครองผู้แถลงคดีได้มีความเห็นว่าผู้ฟ้องได้แจ้งการชุมนุมต่อผู้ถูกฟ้องที่ 2 แล้วและได้ทำหนังสือตอบกลับโดยไม่ได้แจ้งให้แก้ไขการชุมนุม มาตรา 7-8 หรือขัดมาตรา 11 พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และผู้ถูกฟ้องที่ 2-4 เป็นเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมไม่ได้อาศัยอำนาจคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 การที่ผู้ถูกฟ้องปิดกั้นเส้นทาง ติดตามควบคุมและไม่ให้เข้าพักในสถานที่ที่ผู้ชุมนุมไป เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการใช้อำนาจปกครองคดีจึงอยู่ในอำนาจศาล ดังนั้นข้ออ้างของผู้ถูกฟ้องที่ 3 ที่ว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครองจึงฟังไม่ขึ้น

ตุลาการผู้แถลงคดีได้แถลงต่อว่าผู้จัดการชุมนุมได้แจ้งจัดการชุมนุมแล้วและผู้ถูกฟ้องได้สรุปสาระการชุมนุม เห็นว่าผู้ฟ้องกับพวกได้ชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธและได้แจ้งจัดการชุมนุมตามมาตรา 10 ในพ.ร.บ.ชุมนุมฯแล้วโดยผู้รับแจ้งไม่ได้สั่งให้ผู้ฟ้องแก้ไขการชุมนุมการชุมนุมนี้จึงเป็นการใช้เสรีภาพการชุมนุมตามมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญ 2560 จึงมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่าผู้ถูกฟ้องได้ละเมิดและก่อความเสียหายหรือไม่

ประเด็นการละเมิดนี้ ตุลาการฯ เห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และ 3 ได้สั่งการให้ตำรวจควบคุมฝูงชนสกัดไม่ให้ประชาชนออกจาก มธ. มีการจัดน้ำดื่มและรถสุขาให้กับผู้ชุมนุม และเห็นว่าการชุมนุมดังกล่าวอยู่ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์.และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย และเป็นทางเข้าออกของมหาวิทยาลัย หากเดินทางออกไปอาจมีผลต่อการจราจรผู้ถูกฟ้องจึงมีอำนาจตามมาตรา 19 พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และแม้ว่าจะมีการให้เจ้าหน้าที่ติดตามการชุมนุมก็เป็นไปเพื่อรายงานสถานการณ์ ไม่ปรากฏว่าได้ขัดขวางการหรือให้ทำยุติการชุมนุม

ตุลาการฯ แถลงอีกว่า นอกจากนั้นในวันที่ 20 จากการตั้งด่านตรวจค้นก็ไม่พบสิ่งผิดกฎหมายและไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหาย และยังเห็นว่าตำรวจมีหน้าที่รักษาความปลอดภัย การปฏิบัติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4จึงชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 19 พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ส่วนผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ภาค 2 และภาค 3 ผู้ถูกฟ้องที่ 5-7 ได้ดำเนินการและออกมาตรการบรรเทาทุกข์ ไม่ปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องที่ 5-7 ปิดกั้นการชุมนุม จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบตามมาตรา 19 พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เช่นเดียวกัน

ดังนั้นจึงฟังได้ว่า ผู้ถูกฟ้องที่ 2-7 ได้กระทำตามอำนาจตามกฎหมายไม่ได้ปิดกั้นการชุมนุม จึงไม่เป็นการละเมิด ดังนั้นสำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงไม่ต้องชดใช้ เห็นควรให้พิพากษายกฟ้อง และได้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 28 ก.ย. 2561

ด้านนิมิตร์ ได้ให้สำภาษณ์กับประชาไทด้วยว่า ไม่ได้คาดหวังกับคำพิพากษามาก เพราะไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร ก็ยังเชื่อว่าการชุมนุมสาธารณะเพื่อเรียกร้องให้รัฐแก้ไขปัญหาของประชาชนเป็นเรื่องที่ถูกต้องและสามารถทำได้ตามรัฐธรรมนูญ เจ้าหน้าที่ไม่มีสิทธิตามกฎหมายพิเศษในการเข้ามาละเมิดการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน พร้อมยืนยันว่าการชุมนุมเป็นเครืองมือของประชาชน


กิจกรรมเดินมิตรภาพ หรือ We Walk เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นโดยเครือข่าย People Go ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มเครือข่ายภาคประชาชนที่พัฒนามาจาก 97 องค์กร ที่มีทั้งคณาจารย์ นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน นิสิต นักศึกษา และองค์กรเครือข่ายชาวบ้านจากทั่วประเทศเข้ามาทำงานร่วมกัน ร่วมกันเดินเท้าจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ไปยังจังหวัดขอนแก่น ระยะทางกว่า 450 กิโลเมตรเพื่อเชื่อมร้อยประชาชนที่มีความคิดเห็นแตกต่าง ร่วมกันแสดงความคิดเห็นสะท้อนปัญหา สร้างความเข้าใจกัน ยืนยันสิทธิของประชาชนทุกด้านในการมีส่วนร่วมพัฒนาประเทศ เริ่มต้นเปิดกิจกรรมเมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2561 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเริ่มออกเดินทางเมื่อวันที่ 20 ม.ค. สิ้นสุดกิจกรรมเมื่อวันที่ 24 ก.พ.

แสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

    ขับเคลื่อนโดย Blogger.