Posted: 11 Dec 2018 01:56 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Tue, 2018-12-11 16:56
ประกาศหัวหน้า คสช. 21/2561 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แก้นิยาม "ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง" ที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินใหม่ โดยตัด "กรรมการของหน่วยงานอื่นของรัฐ" ออกจากนิยาม ซึ่งจะมีผลทำให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยทั่วประเทศ กรรมการในบอร์ดสุขภาพทั้งคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ฯลฯ รวมทั้งกรรมการในองค์กรมหาชน รอดจากการยื่นบัญชีทรัพย์สิน
11 ธ.ค. 2561 ตามที่มีข่าวกรรมการสภามหาวิทยาลัย และกรรมการในบอร์ดสาธารณสุขต่างๆ ทั้งคณะกรรมการสาธารณสุขแห่งชาติ (สช.) คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) สถาบันสภาเภสัชกรรม ฯลฯ ยื่นใบลาออกเพื่อเลี่ยงการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินส่วนตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ภายหลังจากที่มีการออกประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง กำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ลงนามโดยประธาน ป.ป.ช. เมื่อ 21 กันยายน 2561 และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2561 โดยผลของประกาศนอกจากกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินแล้ว ยังมีกรรมการในองค์กรมหาชน 55 แห่งรวมอยู่ด้วย ส่งผลให้หลายหน่วยงานต้องคัดเลือกกรรมการคนใหม่นั้น
ล่าสุดวันนี้ (11 ธ.ค.) ราชกิจานุเบกษาเผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 21 /2561 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยมีรายละเอียดดังนี้
คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 21 /2561
เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้มีความเห็นและข้อเสนอแนะ มายังคณะรักษาความสงบแห่งชาติเกี่ยวกับประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง กำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 พ.ศ. 2561 ที่กำหนดให้กรรมการและผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานอื่นของรัฐทุกแห่งต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยเฉพาะการกำหนดตำแหน่งตามมาตรา 102 (7) ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงซึ่งได้มีการนิยามความหมายไว้ในมาตรา 4 ให้ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงหมายความรวมถึง กรรมการและผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานอื่นของรัฐ จึงส่งผลให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่สามารถใช้ดุลพินิจ กำหนดตำแหน่งเฉพาะหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งให้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงได้ แต่เนื่องจากการที่ประกาศดังกล่าวกำหนดให้กรรมการและผู้บริหารสูงสุดในหน่วยงานอื่นของรัฐทุกแห่ง ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ส่งผลให้การบริหารจัดการภายในหน่วยงานบางแห่ง ประสบปัญหา
ดังนั้น เพื่อให้การตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน รวมถึงการป้องกันการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตามหลักธรรมาภิบาล และเป็นไปตามหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งควรให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติในการพิจารณาใช้ดุลยพินิจกำหนด ตำแหน่งซึ่งมีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอันเป็นส่วนสำคัญของการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิกความในบทนิยามคำว่า “ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง” ในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน" “ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง” หมายความว่า ผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง ทบวง กรมหรือส่วนราชการที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลซึ่งมิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสำหรับข้าราชการพลเรือน และปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการเหล่าทัพ สำหรับข้าราชการทหาร และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และให้หมายความรวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดกรุงเทพมหานคร กรรมการและผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจ หัวหน้าหน่วยงานขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ แต่ไม่รวมถึงผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นตามที่กฎหมายกำหนด ผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานอื่นของรัฐตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด หรือผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งเทียบเท่า ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด ”
ข้อ 2 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสองของมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 “ในกรณีที่มีปัญหาการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจในการตีความและวินิจฉัย ทั้งนี้ มติในการวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ”
ข้อ 3 ให้ยกเลิกข้อ 5 แห่งประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง กำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ตามมาตรา 102 พ.ศ. 2561
ข้อ 4 เพื่อประโยชน์ของการกำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ให้สำนักงาน ป.ป.ช. เร่งดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเสียใหม่ให้ถูกต้องและสอดคล้องกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งนี้เสนอต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อประกาศใช้ต่อไป
ข้อ 5 ในกรณีที่เห็นสมควรนายกรัฐมนตรีอาจเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ แก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งนี้ได้
ข้อ 6 คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจำนุเบกษาเป็นต้นไป
สั่ง ณ วันที่ 11 ธันวาคม พุทธศักราช 2561 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าก่อนหน้านี้ประธาน ป.ป.ช. ลงนามเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายนออก "ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง กําหนดตําแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561" เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา โดยมีผลเลื่อนเวลาการใช้บังคับการยื่นบัญชีทรัพย์สิน ให้กรรมการของหน่วยงานอื่นของรัฐหลายหน่วยงาน จากเดิม 2 ธันวาคม 2561 เป็น 1 กุมภาพันธ์ 2562 มาแล้ว ก่อนที่หัวหน้า คสช. จะใช้มาตรา 44 เพื่อแก้ไขนิยามใน พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ดังกล่าว[full-post]
แสดงความคิดเห็น