3 องค์กรสิทธิฯหารือ สนช. หวั่นร่างแก้ไข พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ กระทบเสรีภาพออนไลน์
ตัวแทนจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เครือข่ายพลเมืองเน็ต และไพรเวซี อินเตอร์เนชั่นแนล ร่วมกันหารือและยื่นจดหมายให้กับ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และพล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ โดยแสดงความกังวลว่า จะมีการปรับแก้ให้เข้มงวดขึ้น และกระทบต่อเสรีภาพผู้ใช้งานสื่อออนไลน์
โดยตัวแทนทั้ง 3 องค์กรได้ร่วมหารือกับ พล.ต.อ. ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ในฐานะประธานกรรมการวิสามัญพิจารณาร่าง แก้ไขพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งผ่านชั้นกฤษฎีกาเข้าสู่การพิจารณารายมาตราในขณะนี้
น.ส. พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ รองประธานกรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวกับบีบีซีว่า วันนี้ทำได้เพียงยื่นจดหมายและหารือสั้นๆ ไม่สามารถอภิปรายได้มากอย่างที่คาดไว้ เนื่องจากสภานิติบัญญัติมีการประชุมอนุมัติงบประมาณ แต่เบื้องต้นนั้น ทั้ง 3 องค์กรต้องการให้ทางกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ได้รับทราบข้อกังวลเกี่ยวกับการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันมีลักษณ์ที่เคร่งครัดมากอยู่แล้ว
ทั้งนี้ ตัวแทนขององค์กรทั้ง 3 ระบุว่ามีมาตราที่น่าห่วงกังวล ได้แก่ มาตรา 14, 15, และ 20 โดย มาตรา 14 นั้น เป็นการกำหนดโทษอาญาสำหรับผู้กระทำผิดโดยการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งกำหนดลักษณะความผิดไว้ 4 ประการคือ 1 นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน 2 นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน 3 นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา 4 นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้
มาตรา 14 นี้ยังกำหนดโทษผู้เผยแพร่ต่อโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลเท็จด้วย ซึ่ง น.ส. พรเพ็ญระบุว่ามีความกังวลอย่ายิ่งว่ามาตรา 14 อาจถูกตีความเพื่อใช้ลงโทษในความผิดฐานหมิ่นประมาทและดำเนินคดีอาญากับผู้โพสต์ข้อมูลทางออนไลน์ที่ “ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน” ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายกว้าง ดังนั้น การแสดงความเห็นที่ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อความปลอดภัยสาธารณะหรือความมั่นคงปลอดภัยของประเทศก็อาจมีความผิดอาญาได้
สำหรับมาตรา 15 ของร่างแก้ไขฯ เป็นการกำหนดโทษให้ตัวกลางต้องรับผิด เท่ากับผู้กระทำความผิดตามมาตรา 14 หากผู้ให้บริการไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าตนไม่ได้ให้ความร่วมมือ ยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจให้มีการกระทำความผิด ซึ่งนายอาทิตย์ นายอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ตกล่าวการบัญญัติเช่นนี้เป็นการผลักภาระในการพิสูจน์ความบริสุทธิ์แก่ผู้ให้บริการ และอาจทำให้ผู้ให้บริการเซ็นเซอร์ตนเอง เพื่อหลีกเลี่ยงการรับโทษปรับ ถูกสั่งระงับหรือยุติการดำเนินกิจการ อันจะเป็นการไม่เคารพสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกของผู้อื่น
นายอาทิตย์กล่าวต่อไปว่า สำหรับมาตรา 20 ในร่างฯ ฉบับนี้ เปิดช่องให้ผู้มีอำนาจสั่งระงับการเผยแพร่หรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่อาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน แม้ว่าไม่ได้ขัดต่อกฎหมายใดก็ตาม
สำหรับการหารือในวันนี้ดำเนินไปอย่างค่อนข้างรวบรัดเนื่องจากเวลาน้อย กรรมาธิการฯ ได้นัดตัวแทนทั้ง 3 องค์กรหารืออีกครั้งใน 2 สัปดาห์ถัดไป ซึ่งจะมีการพิจารณารายมาตราอีกครั้ง
แสดงความคิดเห็น