นักเศรษฐศาสตร์ชี้ สังคมไทยเสี่ยงเข้าสู่ภาวะแก่ก่อนรวย
นักเศรษฐศาสตร์ ร่วมถกความท้าทายของเศรษฐกิจไทย ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ไทยจะเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยอย่างรวดเร็ว แต่เป็นไปได้ที่จะเข้าสู่ภาวะประเทศร่ำรวยช้ากว่า โดยยังเผชิญกับปัญหาการกระจายรายได้ไม่เท่าเทียม เติบโตช้า และมีความผันผวนสูง ในอีกด้านหนึ่ง จะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล โดยขณะนี้กว่าครึ่งของประชากรเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และเข้าถึงมือถือได้ 150 เปอร์เซ็นต์
ดร. กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์ จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ชี้ว่าประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็ว โดยขณะนี้สัดส่วนคนที่อยู่ในวัยแรงงาน คือคนที่มีอายุ 15-64 ปี ต่อคนที่อายุสูงวัยกว่า 65 ปี มีสัดส่วนเท่ากับ 7 ต่อ 1 แต่ในอีกใม่ถึง 10 ปีข้างหน้า สัดส่วนนี้ จะเป็น 3:1 ซึ่งโครงสร้างประชากรเช่นนี้จะกระทบต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจอย่างมาก ขณะที่เพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เป็นคู่แข่งทางเศรษกิจของไทยยังมีวัยแรงงานอยู่ในอีก 10-20 ปีข้างหน้า
ดร.กิริฎาระบุด้วยว่า ความไม่เท่าเทียมทางรายได้ของไทย แม้จะลดลงแล้ว แต่เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย ก็จะพบว่าไทยยังคงมีรายได้เหลื่อมล้ำสูงที่สุด ขณะที่อีกด้าน แนวโน้มของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและเครื่องมือสื่อสารในไทยกำลังมาแรง โดยกว่าครึ่งของประชากรเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และเข้าถึงมือถือ 150 เปอร์เซ็นต์ แนวโน้มเช่นนี้ทำให้ธุรกิจภาคบริการเฟื่องฟูได้ง่ายขึ้น และชี้ให้เห็นแนวโน้มว่าไทยจะเข้าสู่ภาวะของเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างชัดเจน
ดร.กิริฎา นำเสนอแบบจำลองที่อาจจะผสมผสานกันสองแบบคือ การเน้นการพัฒนาอุตสหากรรม ซึ่งจะทำให้ไทยไปสู่ภาวะที่เป็นประเทศที่มีรายได้สูงภายในปี ค.ศ.2028 ซึ่งในกรณีนี้สัดส่วนของภาคอุตสาหกรรมจะสูงมากราว 60 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ หรือจีดีพี แต่ก็จะส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม ผสมผสานกับอีกรูปแบบคือ การพัฒนาด้านภาคเกษตรแนวใหม่ กับภาคบริการให้มากขึ้น เพราะที่ผ่านมา ไทยลงทุนไปกับอุตสาหกรรมมากแล้วแต่ยังความสำคัญกับภาคบริการค่อนข้างน้อย ถ้าพัฒนาไปในแนวทางนี้ก็จะเป็นประเทศรายได้สูงในปี ค.ศ.2028 เช่นเดียวกันแต่ที่ดีกว่าคือจะผลิตจีดีพีได้มากขึ้นและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า และมีการกระจายรายได้ค่อนข้างดี
ดร.ประกิจ ณรงค์ตะณุพล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรมพลาสติก จำกัด ระบุว่า ความท้าทายที่สำคัญอีกประการของไทยคือภาวะเศรษฐกิจที่ขึ้นลงแบบผันผวนมาก เป็นการโตช้าพร้อมความเสี่ยงตลอดเวลา ซึ่งส่งผลให้ธุรกิจในระบบอาจจะยืนระยะไม่ได้ และตายในระยะสั้นก่อนจะพบกับการเติบโตทางเศรษฐกิจอีกครั้ง
ด้าน ดร. พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด ระบุว่าภาวะเศรษฐกิจของไทยจะเริ่มไม่เป็นไปอย่างที่เคยชินในรูปแบบเดิม ๆ จะคาดหวังว่าไทยจะเติบโตได้เรื่อย ๆ โดยไม่เจอวิกฤตไม่ได้ เพราะวิกฤตจะเกิดขึ้นบ่อย ๆ และการเติบโตอย่างมากเช่นที่เคยเกิดในอดีตคงเป็นไปได้ยาก
ทั้งนี้ ดร.พิพัฒน์ชี้ว่า ไทยไม่ใช่ประเทศแรกหรือประเทศเดียวที่เข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัย แต่ไทยเป็นประเทศที่เข้าสู่ภาวะสูงวัยก่อนที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่ระดับประเทศร่ำรวย ซึ่งคำถามที่สำคัญคือ ในภาวะที่คนสูงอายุมากขึ้น ระบบและทรัพยากรที่มีอยู่เพียงพอสำหรับการดูแลผู้สูงอายุหรือไม่ โดยดร.พิพัฒน์ระบุว่าทางเลือกของไทยอาจจะไม่ได้มีอยู่มากนัก แต่ต้องดูตัวแบบของประเทศที่พัฒนาไปก่อนและเข้าสู่ภาวะสูงวัยก่อนไทย เช่น ญี่ปุ่น ซึ่งพัฒนาศักยภาพของคน ทำให้ประชากรทุกคนผลิตสินค้าได้ดีขึ้น ค่าแรงดีขึ้น แต่ไทยยังคงนำเข้าแรงงานราคาถูก ซึ่งไม่ได้แก้ปัญหาระยะยาว
นอกจากนี้ ดร. พิพัฒน์ชี้ว่า ยังมีความท้าทายอื่น ๆ เช่นประเทศที่เป็นต้นทางแรงงานราคาถูกดึงแรงงานกลับไป ไทยจะแข่งขันอย่างไร ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นกัมพูชา หรือพม่า กำลังไล่ตามไทยมาเรื่อย ๆ และในส่วนของภาคเกษตรและภาคบริการจะเพิ่มคุณภาพและผลิตผลได้อย่างไร

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.