ปธน.ตุรกีขู่ไม่รับผู้อพยพ หากอียูไม่ยกเว้นวีซ่าให้ตุรกี
ประธานาธิบดีเรเจป ทายยิป แอร์โดอัน ของตุรกี ขู่ว่ารัฐสภาตุรกีจะไม่ผ่านความเห็นชอบ ต่อข้อตกลงเรื่องผู้อพยพที่ทำกับสหภาพยุโรป (อียู) หากพลเมืองตุรกีไม่ได้รับการยกเว้นวีซ่าเข้าประเทศในกลุ่มเชงเก้น
ประธานาธิบดีแอร์โดอัน ยังระบุด้วยว่า จนถึงบัดนี้อียูยังไม่ส่งมอบความช่วยเหลือมูลค่า 6,000 ล้านยูโรสำหรับช่วยผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงดังกล่าวที่อียูได้ให้คำมั่นไว้ก่อนหน้านี้
ประธานาธิบดีเรเจป ทายยิป แอร์โดอัน ของตุรกี ขู่ว่ารัฐสภาตุรกีจะไม่ผ่านความเห็นชอบ ต่อข้อตกลงเรื่องผู้อพยพที่ทำกับสหภาพยุโรป (อียู) หากพลเมืองตุรกีไม่ได้รับการยกเว้นวีซ่าเข้าประเทศในกลุ่มเชงเก้น
ประธานาธิบดีแอร์โดอัน ยังระบุด้วยว่า จนถึงบัดนี้อียูยังไม่ส่งมอบความช่วยเหลือมูลค่า 6,000 ล้านยูโรสำหรับช่วยผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงดังกล่าวที่อียูได้ให้คำมั่นไว้ก่อนหน้านี้
ประเด็นเรื่องการยกเว้นวีซ่าให้ชาวตุรกีสามารถเดินทางเข้าประเทศกลุ่มเชงเก้นได้อย่างเสรี ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ตุรกีเรียกร้องในการทำข้อตกลงเรื่องผู้อพยพกับอียู แต่อียูระบุว่า ตุรกีจำต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข 72 ประการให้ได้ภายในสิ้นเดือน มิ.ย.นี้ จึงจะได้รับสิทธิพิเศษด้านวีซ่าดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม หนึ่งในเงื่อนไขที่ว่านี้ รวมถึงการแก้ไขกฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายของตุรกี ซึ่งกลุ่มเพื่อสิทธิมนุษยชนในอียูกล่าวหารัฐบาลตุรกีว่า ใช้กฎหมายดังกล่าวในการควบคุมสื่อมวลชนและกลุ่มผู้เห็นต่าง ขณะที่รัฐบาลตุรกีปฏิเสธข้อกล่าวหา และว่านี่เป็นเงื่อนไขที่ “เจ้าเล่ห์” ของอียู หลายฝ่ายเกรงว่า ข้อตกลงเรื่องผู้อพยพระหว่างอียูและตุรกีอาจพังครืน หากไม่สามารถแก้ไขข้อขัดแย้งเรื่องวีซ่าได้
ทั้งนี้ ข้อตกลงเรื่องผู้อพยพที่อียูทำกับตุรกีเมื่อเดือน มี.ค. มีเป้าหมายสำคัญในการยับยั้งคลื่นผู้อพยพไม่ให้หลั่งไหลเข้าอียู ซึ่งภายใต้ข้อตกลงนี้ กำหนดให้ส่งตัวผู้เดินทางเข้ากรีซอย่างผิดกฎหมายตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค.เป็นต้นมากลับไปยังตุรกี หากผู้นั้นไม่ได้ยื่นเรื่องขอลี้ภัยหรือคำร้องขอลี้ภัยถูกปฏิเสธ และสำหรับผู้อพยพชาวซีเรียแต่ละรายที่ถูกส่งกลับตุรกี อียูก็จะรับชาวซีเรียที่ทำเรื่องขอลี้ภัยอย่างถูกต้อง 1 คนเข้าไปตั้งถิ่นฐานในอียูแทน
แสดงความคิดเห็น