องค์กรสิทธิฯ หนุน พ.ร.บ.อุ้มหาย พร้อมแนะนานาชาติช่วยย้ำไทยทำตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ ด้วย
เพิ่มเติมข้อมูล 13:03 น.
เมื่อวันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ และอนุมัติร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและบังคับบุคคลให้สูญหาย ซึ่งสอดคล้องกับอนุสัญญาดังกล่าว
ขณะที่นายแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียขององค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ “ฮิวแมนไรท์วอทช์” (HRW) เผยแพร่แถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลไทยเร่งดำเนินการเพื่อให้ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายมีผลบังคับใช้โดยเร็ว เพราะที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่รัฐซึ่งเป็นผู้ก่อเหตุทรมานและอุ้มหายในประเทศไทยไม่เคยถูกลงโทษทางอาญาตามที่ควรจะเป็น เนื่องจากไทยไม่มีกฎหมายที่ระบุว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิด ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวกำหนดบทลงโทษจำคุกระหว่าง 20-30 ปีแก่ผู้กระทำผิด
นายอดัมส์ระบุว่าแม้ ครม.จะมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว แต่ก็ยังไม่ได้กำหนดกรอบเวลาดำเนินการที่ชัดเจน และที่ผ่านมา HRW ได้เรียกร้องอย่างต่อเนื่องกับรัฐบาลไทยทุกสมัยเรื่องการให้สัตยาบันอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ ซึ่งไทยลงนามเป็นภาคีตั้งแต่ปี 2555 และเสนอให้รัฐบาลปรับแก้บทลงโทษทางอาญาแก่ผู้กระทำความผิดฐานบังคับบุคคลสูญหาย แต่คณะทำงานว่าด้วยการบังคับบุคคลสูญหายของสหประชาชาติ รวมถึงเครือข่ายสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ประเมินว่าสถิติบุคคลถูกอุ้มหายในไทยตั้งแต่ปี 2523 อาจมีสูงกว่าจำนวนคดีที่เป็นทางการ เพราะครอบครัวผู้สูญหายกังวลเรื่องความปลอดภัย จึงไม่กล้าเปิดเผยข้อมูล
นอกจากนี้ HRW ยังเรียกร้องให้นานาประเทศร่วมกันย้ำต่อรัฐบาลไทยให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขและพันธกิจในฐานะประเทศภาคีอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี ซึ่งไทยร่วมเป็นภาคีตั้งแต่ปี 2550 แต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ควบคุมตัวผู้ต่อต้านรัฐบาล และผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนใต้ โดยใช้วิธีคุมตัวในที่ปิดลับ ผู้ถูกควบคุมตัวหลายรายร้องเรียนว่าเจ้าหน้าที่ใช้วิธีทรมานและปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม มีการทำร้ายร่างกาย ใช้ไฟฟ้าช็อต และปิดกั้นการหายใจ และทาง HRW ได้ยื่นหนังสือทักท้วงเรื่องดังกล่าวมาตลอด แต่ทางการไทยปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และตอบโต้ว่าผู้เปิดเผยเรื่องดังกล่าวต้องการใส่ร้ายป้ายสีทำลายภาพลักษณ์ประเทศ
ด้านมูลนิธิผสานวัฒนธรรมซึ่งทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและติดตามกรณีการอุ้มหายในภาคใต้อย่างต่อเนื่อง ได้ออกแถลงการณ์ชื่นชมความคืบหน้าของรัฐบาลในเรื่องดังกล่าว และแสดงความชื่นชมต่อคณะทำงานของกรมคุ้มครองสิทธิ กระทรวงยุติธรรม และ มีข้อเสนอว่า ให้ประเทศไทยเร่งพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้และดำเนินการให้การบังคับใช้กฎหมายสอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ไทยลงนามหรือเป็นรัฐภาคี และการแก้ไขปรับเปลี่ยนโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหากมีข้อให้คงไว้ซึ่งมาตรฐานสากลและไม่เปลี่ยนแปลงเนื้อหาต่างไปจากร่างเดิมในเนื้อหาสาระสำคัญ รวมทั้งการให้ความรู้เรื่องกฎหมายฉบับนี้ต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างต่อเนื่องและให้ได้ประสิทธิผลในการป้องกันทรมานและอุ้มหายได้จริง
ก่อนหน้านี้ พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวกับบีบีซีไทยว่ารัฐบาลทหารเป็นทหารสมัยใหม่ที่ผ่านการศึกษาและเรียนรู้จากสังคมมามากพอสมควร จึงเข้าใจดีว่ากฎหมายและสิทธิมนุษยชนคืออะไร แต่การอ้างว่าสิทธิมนุษยชนคือการที่คนเราสามารถทำผิดกฎหมายได้หรือการมีสิทธิโดยไร้ขอบเขตโดยปราศจากความรับผิดชอบนั่นไม่ถูกต้อง ไม่มีใครไร้เดียงสาขนาดว่าไม่รู้ว่าหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานคืออะไร แต่ต้องแยกให้ออกว่าอะไรคือเส้นแบ่งระหว่างกฎหมายและสิทธิมนุษยชน

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.